ฝางเฉิงก่าง - เมืองท่าอันดับหนึ่งของเขตปกครองตนเองกว่างซี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 21, 2012 14:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ฝางเฉิงก่าง - เมืองท่าอันดับหนึ่งของเขตปกครองตนเองกว่างซี

ฝางเฉิงก่างเป็นเมืองชายฝั่งทะเล ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขตฯ กว่างซี โดยทิศใต้ติดกับอ่าวเป่ยปู้ ทิศตะวันตกติดกับเวียดนาม และเป็นเมืองเดียวของจีนที่มีทำเลที่ตั้งติดกับประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งมีชายฝั่งยาว 584 กม. ฝางเฉิงก่างมีท่าเรือที่มีจุดเด่นคือ เป็นท่าเรือน้ำลึก มีทรายน้อย ระยะทางยาว กำบังลมได้ น้ำทะลไม่เป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว และระยะทางการขนส่งไปยังประเทศอาเซียนสั้นกว่าการขนส่งจากท่าเรือในมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งสามารถเดินเรือไปยังท่าเรือ 250 แห่งใน 70 กว่าประเทศ ท่าเรือฝางเฉิงก่าง จึงเป็นท่าเรืออันดับหนึ่งของเขตฯ กว่างซี และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกของจีน อีกทั้งยังเหมาะที่จะเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากมีการคมนาคมที่สะดวกทั้งทางน้ำและทางบก ดังนี้

1. มีท่าเรือขนาดใหญ่เล็กรวม 20 กว่าแห่ง และท่าเทียบเรือ 36 แห่ง โดยมีท่าเทียบเรือ 27 แห่ง ซึ่งสามารถจอดเรือที่มีกำลังการขนถ่าย 10,000 กว่าตัน และอีก 1 แห่งสำหรับการขนถ่าย 200,000 ตัน ในปี 2010 ท่าเรือฝางเฉิงก่างมีกำลังการขนถ่ายสินค้า 765 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.0 ของปริมาณการขนถ่ายของท่าเรือในเขตฯ กว่างซี จาก “แผนการพัฒนาเมืองฝางเฉิงก่าง 5 ปี ฉบับที่ 12 (ปี 2011- 2015)” ฝางเฉิงก่างจะสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกใหม่ 200 แห่งภายใน 5 ปี ซึ่งมีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้ามากกว่า 1,000 ล้านตัน/ปี ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ใช้ท่าเรือนี้ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ (Phosphoric Acid, Sulfuric Acid) และธัญพืชต่าง ๆ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่ (Iron Mine, Manganese Mine) ถ่านหิน ฯลฯ

2. มีทางหลวงชั้นหนึ่งตรงถึงท่าเรือ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับเมืองต่าง ๆ ของเขตฯ กว่างซี รวมถึงของมณฑลรอบข้าง กล่าวคือ ทิศเหนือเชื่อมกับทางหลวงนครหนานหนิง (153 กม.) ที่สามารถเชื่อมถึงมณฑลกุ้ยโจว (800 กม.) และยูนนาน (1,100 กม.) ทิศตะวันออกเชื่อมกับทางหลวงมณฑลกวางตุ้ง (665 กม.) ที่สามารถเชื่อมถึงมณฑลฮกเจี้ยนและเจียงซี ส่วนทิศตะวันตกเชื่อมกับทางหลวงเมืองตงซิง ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของฝางเฉิงก่างที่ติดกับเวียดนาม โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นเส้นแบ่งเขตแดน และสามารถเชื่อมต่อไปยังทางหลวงของประเทศอาเซียนโดย เส้นทาง R9 และ R12

3. มีเส้นทางรถไฟจากท่าเรือฝางเฉิงก่างที่เชื่อมกับเมืองต่างๆ ในภาคตะวันตกของจีน อันได้แก่ ฝางเฉิงก่าง - คุนหมิง (984 กม.) ฝางเฉิงก่าง — กุ้ยหยาง (945 กม.) ฝางเฉิงก่าง — เฉิงตู (1,927 กม.) และฝางเฉิงก่าง — ฉงชิ่ง (1,405 กม.) โดยเส้นทางรถไฟจากท่าเรือฝางเฉิงก่างถึงนครคุนหมิงสั้นกว่าจากท่าเรือจ้านเจียงในมณฑลกวางตุ้ง 279 กม.

จากการที่ฝางเฉิงก่างเป็นเมืองท่าเรือสำคัญ ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ภายใต้ “แผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้” ในการสร้างฝางเฉิงก่างให้เป็นฐานการผลิตเหล็กกล้าและพลังงาน ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ ฐานการแปรรูปอุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ทั้งนี้ โครงการที่ทางการท้องถิ่นส่งเสริมให้ลงทุน มีดังนี้ *

  • การก่อสร้างและบริหารสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานของท่าเรือ เช่น ถนน สะพาน ฯลฯ
  • ท่าเรือ เช่น คลังสินค้า บริการขนส่ง ฯลฯ
  • การแปรรูปอาหาร เช่น ธัญญหาร ผัก ผลไม้ สัตว์ทะเล สัตว์เลี้ยง ฯลฯ
  • การปลูกป่าไม้
  • การแปรรูปและใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่
  • การแปรรูปและใช้ประโยชน์จากยางสน
  • การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสัตว์น้ำ และการเก็บรักษาอาหารทะเล
  • น้ำตาล
  • การบุกเบิก ก่อสร้างและบริหารพลังงานจากน้ำ
  • อิเล็คทรอนิกส์
  • ยา
  • การบุกเบิกและบริหารสถานที่ท่องเที่ยว

ปัจจุบัน มีบริษัทขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างท่าเรือฝางเฉิงก่างและไทย 2 บริษัท คือ บริษัท SITC Container Lines (Shanghai) Co.,Ltd. และ บริษัท China Ocean Shipping Agency Co.,Ltd. (Fangchenggang Branch) โดยใช้เวลาเดินทางระหว่างไทยและท่าเรือฝางเฉิงก่างประมาณ 5 วัน ซึ่งสั้นกว่าการขนส่งไปยังท่าเรือในมณฑลกวางตุ้งที่ใช้เวลา 7 - 9 วัน ทั้งนี้ จากการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน — อาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการจีนเริ่มหันมาใช้ท่าเรือฝางเฉิงก่างขนส่งสินค้าระหว่างไทย — เขตฯ กว่างซีมากขึ้น สคต.หนานหนิงจึงเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาทางเลือกใหม่ ในการใช้เส้นทางทางทะเลดังกล่าว เพื่อขนส่งสินค้าไทยไปยังเขตฯ กว่างซีและภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ของท่าเรือฝางเฉิงก่าง

ที่มา * Fangchenggang Investment Promotion Bureau of Guangxi

..................................

สคต.หนานหนิง

มีนาคม 2012


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ