สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนมีนาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2012 14:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนมีนาคม 2555

1. สถานการณ์การตลาด

1.1 เนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยเฉพาะโทรทัศน์ คู่แข่งจากเกาหลี บริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นจึงหันไปหาตลาดจอภาพที่ใช้ในวงการธุรกิจ หรือ วงการการแพทย์ Sharp วางแผนจะทำการตลาดจอภาพ LCD ขนาดใหญ่แบบมีขาตั้ง โดยมีขนาดระหว่าง 60-80 นิ้ว โดยขนาด 70 นิ้วจำหน่ายที่ราคาประมาณ 750,000 เยน สามารถใช้สำหรับการประชุม conference หรือเป็นสื่อการสอนทางไกล โดยจับคู่ขายพร้อมกับพริ้นเตอร์ คาดว่าจะจำหน่ายจำนวน 1 ล้านยูนิต Sony ผู้ผลิตจอภาพรุ่นใหม่แบบออร์แกนิกส์ออกรุ่นใหม่ 6 รุ่นในปีที่แล้ว รวมทั้งขนาด 17 และ 25 นิ้วที่ผลิตให้ตรงกับมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกา และยุโรป

ส่วน Panasonic ซึ่งตั้งเป้าจอภาพที่ตลาดรถยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์เตรียมจะออกจอภาพ LCD ขนาด 20 นิ้วที่มีความคมชัด 4 เท่าของโทรทัศน์ที่มีความละเอียดสูง

1.2 ผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตโทรทัศน์จอแบนชั้นนำ ได้แก่ Sharp, Panasonic และ Sony ในปี 2554 คาดว่าจะขาดทุนรวมกันถึง 1.3 ล้านล้านเยนSharp มีผลประกอบการขาดทุน 2.9 แสนล้านเยน โดยในปี 2552 บริษัทได้ลงทุนจำนวน 4.3 แสนล้านเยน สร้างโรงงาน LCD ในโอซากา แต่จากการที่ตลาด LCD โลกซบเซา ทำให้ยอดขายในต่างประเทศลดลง คิดเป็นร้อยละ 47 ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท อย่างไรก็ตาม Sharp หวังว่าจะสามารถทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย Panasonic มีผลประกอบการขาดทุน 7.8 แสนล้านเยน ซึ่งมากที่สุดในประวัติการณ์ บริษัทวางแผนที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจ เน้นสินค้าประหยัดพลังงาน รวมทั้งแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริด

ส่วน Sony นั้นยอดขายร้อยละ 70 มาจากตลาดต่างประเทศ วางกลยุทธ์ที่จะเสนอความบันเทิง เช่น เพลง ภาพยนต์ เกมส์ออนไลน์สำหรับสมาร์ทโฟน รวมทั้งรุกตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดเครื่องมือแพทย์ โดยนำเสนออุปกรณ์วีดิโอ และตัวจับภาพต่างๆ Sony ลดเป้ายอดขายโทรทัศน์ลงครึ่งหนึ่งเหลือจำนวน 20 ล้านเครื่องในปีที่แล้ว และยกเลิกการร่วมทุนกับ Samsung ในการผลิต LCD

1.3 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนบริษัทในการลงทุนโครงการชุมชนฉลาด (Smart community) ในเอเชีย เช่น บริษัท Toshiba ในประเทศเวียดนาม รวมทั้ง ร่วมกับ Hitachi และ Mitsubishi ในโครงการอีก 2 แห่งในเมืองเทียนจิน ประเทศจีน ส่วนในไทย ให้การสนับสนุนบริษัท NTT Data Corp และ Itochu เพื่อดำเนินการด้านระบบการจัดการพลังงาน และก่อสร้าง รวมทั้งระบบป้องกันน้ำท่วม

2. ความเคลื่อนไหวของบริษัท

2.1 Panasonic ได้เปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง โดย Mr. Kazuhiro Tsuga ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และ Mr. Shusaku Nagae เป็นรองประธาน Mr. Tsuga วัย 55 ปี นับเป็นประธานอายุน้อยที่สุดคนแรกที่ไม่ได้มาจากครอบครัวผู้ก่อตั้งบริษัท และประกาศว่าจะเน้นธุรกิจในเรื่องสิ่งแวดล้อมการประหยัดพลังงาน โดยการรวมเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี่การประหยัดพลังงาน ซึ่งผลกำไรไม่ได้เพียงมาจากยอดขายเท่านั้น แต่มาจากการบริการหลังการขาย และการบำรุงรักษาด้วย บริษัทตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเมื่อบริษัทครบรอบการก่อตั้ง 100 ปี ในปี 2018

ทั้งนี้ บริษัทจะผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดถึงร้อยละ 24 ภายในปี 2013ปัจจุบันบริษัท Sunpower ของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกคือร้อยละ 22 โดย Panasonic อยู่ที่ร้อยละ 21.6 บริษัทฯเริ่มผลิตสินค้าที่โรงงานในมาเลเซียซึ่งลดต้นทุนได้ร้อยละ 10 และหวังที่จะเพิ่มยอดขายในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนตลาดภายในประเทศของบริษัทฯเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่าร้อยละ 20 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 25 ในปี 2011และตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำร้อยละ 35 ในปี 2012

นอกจากนี้ ในปี 2016 บริษัทฯจะผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นตู้เย็น ในแอฟริกาเหนือเพื่อบริหารต้นทุน และเพิ่มความต้องการสินค้าในตลาดโดยจะผลิตสินค้าให้ตรงกับรสนิยมของตลาดในปี 2012 บริษัทได้เริ่มตั้งโรงงานในประเทศกำลังพัฒนา เช่นเวียดนาม และบราซิล และจะเปิด ศูนย์วิจัย และพัฒนาสินค้าในรัสเซีย และดูไบ ส่วนในแอฟริกา ได้เริ่มจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่ไนจีเรียแล้ว

2.2 บริษัท Hyundai LED Co.วางแผนที่จะบุกตลาดหลอดไฟฟ้า LED ในญี่ปุ่นโดยจะจำหน่ายสินค้าตั้งแต่หลอดไฟฟ้าที่ใช้ในสำนักงาน ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ เช่นศูนย์การค้าเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน จากค่าเงินวอนที่ตกต่ำ และต้นทุนการผลิตที่ต่ำทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าสินค้าญี่ปุ่นครึ่งหนึ่ง โดยทำสัญญากับบริษัท Meiyu-Techno Co. เป็นตัวแทนจำหน่ายเน้นหลอดไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ภายนอกอาคาร ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ผลิตญี่ปุ่นไม่ค่อยให้ความสนใจนัก

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะจำหน่ายสินค้าในปี 2012 สูงถึง 1 พันล้านเยน และ 5 พันล้านเยนในปี 2015

3. สถานการณ์การผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในตลาดโลก

ในปี 2011 ปริมาณการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ของบริษัทญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 5 อยู่ที่ 40.6 ล้านล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 20 ของตลาดโลก จากการแข็งค่าของเงินเยนทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง แต่จากความต้องการสินค้าที่ประหยัดพลังงาน คาดว่าปริมาณการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ในปี 2012 อยู่ที่ 41.3 ล้านล้านเยน โดยสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 บริการสารสนเทศ ร้อยละ 4 คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 3 และส่วนประกอบอิเล็คทรอนิกส์ ร้อยละ 2 ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะลดลงได้แก่ อุปกรณ์แสดงผล ลดลงร้อยละ 3 อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ ร้อยละ 2 ส่วนอุปกรณ์สื่อสารปริมาณการผลิตทรงตัวเท่าเดิม (รายละเอียดดังกราฟด้านล่าง)

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

21 มีนาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ