ภาวะตลาดถุงมือยาง....ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 23, 2012 11:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะตลาดถุงมือยาง....ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

1. สินค้า & ภาวะตลาด

ถุงมือยางสำหรับใช้ในทางการแพทย์ (Medical Glove) สำหรับใช้ในครัวเรือน(Household Glove) และอุตสาหกรรม HS. code 4015

จากสถิติการนำเข้าของยูเออีล่าสุดที่แสดงมูลค่าการนำเข้า ในช่วง 3 ปี (2551-2553) พอสรุปได้ดังนี้

ปี 2551 มูลค่า 17.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2552 มูลค่า 19.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.7%

ปี 2553 มูลค่า 18.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวลดลง 5.7 3%

ประเทศคู่ค้าที่นำเข้ามากในปี 2553 จาก มาเลเซีย สัดส่วน 43.8% จีน 15.0% อังกฤษและไทย 6.2% สหรัฐฯ 5.6% อินเดีย 4.0% อัฟริกาใต้ 2.1% ปากีสถาน เวียตนาม และออสเตรีย 1.7% และ 1.6% ตามลำดับ

การนำเข้าจากไทย

มีมูลค่าการนำเข้าและสัดส่วนตลาด พอสรุปได้ดังนี้

ปี 2551 มูลค่า 6 แสนเหรียญสหรัฐ สัดส่วนตลาด 3.6%

ปี 2552 มูลค่า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าขยายตัว 133.3% สัดส่วนตลาด 7.4%

ปี 2553 มูลค่า 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าหดตัวลง 21.3% สัดส่วนตลาด 6.2%

2. การผลิตในประเทศ&ส่งออกต่อ (Re-export)

ไม่มีการผลิตสินค้านี้ในประเทศ แต่ยูเออีมีรัฐดูไบเป็นศูนย์กลางการจัดซื้อเพื่อส่งออกต่อสินค้าเครื่องใช้ทางการแพทย์ สถิติการส่งออกสินค้านี้ของยูเออีปี 2553 มูลค่า 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดรองรับที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศอิหร่าน อิรัค เคนย่า ปากีสถาน เทนซาเนีย อาร์เมเนีย อัฟกานิสถาน กาตาร์ เยเมน และรัสเซีย เป็นต้น บางส่วนจะสั่งซื้อจากบริษัทในดูไบแต่สินค้าจะจัดส่งตรงไปประเทศผู้ซื้อ จึงมีการนำเข้าตลดอดปี หรือตามออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศ

3. ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด :
          - ผู้นำเข้า             ร้อยละ  : 80
          - นายหน้าค้าต่าง        ร้อยละ  : 20

4. การแข่งขัน&คู่แข่งขัน

มีการแข่งขันในด้านราคาสูงระหว่างประเทศผู้นำเข้าด้วยกัน โดยมีคู่แข่งขันที่สำคัญคือมาเลเซียมีมูลค่าสูงสุดติดต่อมาเหลายปีและมีสัดส่วนตลาดขยายตัวขึ้น อุตสาหกรรมถุงมือยางเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกในขณะนี้ ด้วยส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึงร้อยละ 60 ในขณะที่ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 22 คาดว่าการส่งออกถุงมือยางของมาเลเซียจะสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558

สินค้าของมาเลเซียได้รับการยอมรับในตลาดเพราะผลิตตามมาตรฐานที่สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (U.S. Food and Drug)กำหนด อีกทั้งมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ถุงมือยางของมาเลเซียมีคุณภาพสูง

5. ภาษีนำเข้าจากราคา CIF

หากผู้นำเข้าได้รับเอกสารรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าเป็นสินค้าที่นำเข้าเพื่อใช้ในโรงพยาบาลของรัฐจะไม่เสียภาษีนำเข้า หากไม่มีเอกสารรับรองดังกล่าวหรือเป็นสินค้าสำหรับจำหน่ายทั่วไปจะเสียภาษีร้อยละ 5 จากราคาซีไอเอฟดูไบ สำหรับสินค้าผ่านแดนหรือที่นำเข้าผ่านเขตอุตสาหกรรมพิเศษไม่เสียภาษีนำเข้าเช่นกัน

6. เอกสารประกอบการนำเข้า

Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of Lading และ Packing List

7. มาตรฐานและกฏระเบียบอื่น ๆ

สินค้าต้องมี Safety mark, Safety glove ของสหรัฐฯ ผ่านมาตฐานเป็นที่ยอมรับ เช่น FDA, ADA, CE mark, กำหนดเวลาหมดอายุถุงมือศัลยกรรมนับจากวันผลิต 3 ปี และต้องระบุประเทศผู้ผลิต

8.สินค้าและขนาดบรรจุ

ความต้องการของถุงมือยางภายในประเทศนั้นมีภาวะที่คงตัว เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง ดังนั้นการแข่งขันจะอยู่ที่คุณภาพและการตลาดเป็นหลัก และในปัจจุบันมีผู้นำเข้าถุงมือยางเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้มีการแข่งขันกันสูง

ตลาดถุงมือยางในยูเออีแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 3 ประเภท คือ

1. ถุงมือยางสำหรับใช้ในทางการแพทย์ (Medical Glove) ซึ่งแบ่งย่อยเป็น

  • Surgical Glove ใช้ในทางศัลยกรรม มีลักษณะเนื้อบาง แข็งแรง มีความยาวถึงข้อศอกโดยผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อ 100% ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  • Examination Glove ใช้ในงานตรวจโรคมีลักษณะบางกระชับมือ สั้นแค่ข้อมือ ไม่มีข้างซ้ายขวา ใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยไม่มีการนำกลับมาใช้อีก

คุณลักษณะถุงมือทางแพทย์ที่ยูเออีต้องการ ได้แก่ NRL, powder-free NRL, non-NRL, Free Powdered & Lated Surgical Gloves ขนาดถุงมือที่นิยม 7-9 นิ้ว ใช้ได้ทั้ง 2 มือ (Ambidextrous)

2. ถุงมือยางสำหรับใช้ในครัวเรือน (Household Glove) เป็นถุงมือยางที่แม่บ้านใช้ในการทำ ความสะอาด ซักล้าง มีขนาดใหญ่ แข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน มีอายุการใช้งานนาน สวมใส่สบาย

นอกจากนั้นมีการถุงมือยางสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Glove) มีขนาดใหญ่ แข็งแรงเพื่อความทนทานต่องานในโรงงานอุตสาหกรรม

10. สรุป&แนวโน้ม

1. ความต้องการใช้ถุงมือยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคติดต่อต่างๆ อีกทั้งการติดเชื้อและเผยแพร่ของไวรัสอันตราย อาทิ ไข้หวัดนก และโรคเอดส์ คาดว่าความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกจะขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5-10 ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นราว 1,000 ล้านคู่ต่อปี ซึ่งรวมถึงความต้องการในยูเออีที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้การที่ประชาชนให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ มีการประกันสุขภาพ มีความสะดวกที่จะไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย การตรวจสอบและรักษาโรคมีมากขึ้นทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ต้องใช้สินค้าถุงมือยางมากขึ้น

2. ถุงมือยางทางการแพทย์เป็นสินค้าที่สั่งซื้อครั้งละจำนวนมาก ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อขึ้นอยู่กับราคา ขณะนี้ราคาเฉลี่ยของไทยอยู่ในระดับกลาง ซึ่งมีราคาแพงกว่าสินค้าจากมาเลเซีย จีน และอินเดีย แต่เฉลี่ยถูกกว่าสินค้าสหรัฐฯ และอังกฤษ

3. ถุงมือยางของไทยที่รู้จักในประเทศนี้เป็นสินค้าภายใต้ยี่ห้อของต่างประเทศ และจะต้องแข่งขันกับสินค้าที่ติดตลาดอยู่แล้วกว่า 15 ยี่ห้อ หากผู้ส่งออกของไทยต้องการขยายตลาดนี้ อาจจะต้องเริ่มต้นติดต่อกับบริษัทที่ส่งออกต่อสินค้า

4. คู่แข่งขันบางประเทศส่งสินค้าราคาถูกกว่าไทยโดยลดจำนวนถุงมือลง เนื้อถุงมือไม่หนาตามมาตรฐาน ทำลูกค้าไม่เชื่อถือ

5. งานแสดงสินค้าสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ Arab Health จัดขึ้นในรัฐดูไบ และกรมส่งเสริมการส่งออกนำคณะผู้การค้าเข้าร่วมงานภายใต้ Thailand Pavilion ทุกปี

**********************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

มีนาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ