ผลกระทบจากการคว่ำบาตรอิหร่านจากนานาชาติต่อเศรษฐกิจอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 28, 2012 11:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผลกระทบจากการคว่ำบาตรอิหร่านจากนานาชาติต่อเศรษฐกิจอิหร่าน

หลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอิหร่านอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการคว่ำบาตรของนานาชาติอย่างต่อเนื่อง แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่านมีไม่มากนัก เนื่องจากนักธุรกิจอิหร่านสามารถแสวงหาช่องทางหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรได้ เช่นการชำระเงินค่าสินค้าด้วยเงินสด T/T ผ่านธนาคารในประเทศที่สาม เป็นต้น

ทั้งนี้อิหร่านมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันระหว่างปี 2006-2011 เป็นมูลค่ากว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้อิหร่านมีกำลังซื้อมหาศาล และสามารถควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินสกุลท้องถิ่นแข็งค่ามาตลอด อย่างไรก็ดี ในปี 2555 การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมน้ำมันและธนาคารกลางของอิหร่าน และได้ดำเนินมาตรการตัดเส้นทางการเงินของธนาคารอิหร่านทั้งหมดจากระบบ SWIFT ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจอิหร่านน่าจะประสบปัญหามากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่านในหลายมิติ ดังต่อไปนี้

การที่สหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรไม่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน อาจทำให้รัฐบาลอิหร่านสูญเสียรายได้จากการขายน้ำมันถึงประมาณร้อยละ 50-70 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านแล้ว ทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันลดลงถึง 1 ล้านบาเรลต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการผลิตน้ำมันของอิหร่าน

การคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวระบบการเงินและการธนาคารของอิหร่าน ทำให้การชำระเงินผ่านธนาคารระหว่างประเทศชะงักงัน ส่งผลให้ธนาคารกลางอิหร่านขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้เงินสกุลท้องถิ่นหรือเงินเรียลของอิหร่านอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 40 หรือจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ประมาณ 12,000 เรียล ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ เป็นประมาณ 18,000 เรียล ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ภายในเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา

ปัญหาการชำระเงินระหว่างประเทศที่ทำได้ยากลำบาก ทำให้รัฐบาลอิหร่านเริ่มแสวงหาทางออกอื่นๆ เช่นการดำเนินการค้าระหว่างประเทศโดยใช้น้ำมันหรือทองคำแทนเงินตราต่างประเทศ หรือเสนอให้ต่างประเทศทำการค้ากับอิหร่านด้วยวิธี barters trade เป็นต้น

ปัญหาการคว่ำบาตรบริษัทขนส่งที่เป็นของ Islamic Republic of Iran Shipping Lines ของอิหร่าน ทำให้ต้นทุนการดำเนินการค้าระหว่างประเทศในอิหร่านสูงขึ้นกว่าร้อยละ 40 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการชาวอิหร่านหลายรายยุติการดำเนินธุรกิจหรือยกเลิกการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศชั่วคราว

ตั้งแต่ต้นปี 2555 ค่าเงินเรียลของอิหร่านอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าบางรายประสบปัญหาไม่สามารถแลกเงินเหรียญสหรัฐฯ เพื่อไปชำระค่าสินค้าได้ จึงมีผู้นำเข้าหลายรายจำเป็นต้องเจรจากับผู้ส่งออกเพื่อขอลดราคาสินค้าลงกว่าร้อยละ 10-15 เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

สคต ณ กรุงเตหะราน

มีนาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ