เศรษฐกิจกวางตุ้งกับโอกาสของธุรกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 3, 2012 13:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจกวางตุ้งกับโอกาสของธุรกิจไทย

มณฑลกวางตุ้งถือได้ว่าเป็นมณฑลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นอันดับต้นๆของจีนในเรื่องเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าผลผลิตมวลรวมของมณฑลในปี 2011 มูลค่า 5.3 ล้านล้านหยวน โดยนับเป็นร้อยละ 11.2 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมทั้งหมดของจีน ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา มูลค่าผลผลิตรวมทางอุตสาหกรรมของกวางตุ้งสูงกว่าสิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวันได้ตามลำดับ รวมถึงยังมีการคาดการณ์ว่าขนาดเศรษฐกิจของมณฑลจะสูงกว่าเกาหลีใต้ได้ภายในเวลาห้าปี

นอกจากนี้กวางตุ้งยังมีมูลค่าการส่งออก และมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นอันดับหนึ่งในประเทศอีกด้วย โดยในปี 2011 มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 17.4 และร้อยละ 16.3 ตามลำดับ ดังนั้นมณฑลกวางตุ้งจึงเป็นที่ที่น่าสนใจยิ่งสำหรับธุรกิจไทยในการขยายช่องทางค้าขายเข้าไปเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า

สภาพโดยสังเขป

มณฑลกวางตุ้งตั้งอยู่ทางแนวชายฝั่งทะเลตอนใต้ของจีน มีพื้นที่ 179,757 ตร. กม. ทิศเหนือติดกับมณฑลหูหนานและมณฑลเจียงซี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมณฑลฝูเจี้ยน ทิศตะวันตกติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติกว่างซีจ้วง ทิศใต้ติดกับทะเลจีนใต้ และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า โดยถือเป็นพื้นที่ยุทธศาตร์ด้านเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ เป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน

จากการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติ ณ สิ้นปี 2010 มณฑลกวางตุ้งมีประชากรทั้งหมด 104.3 ล้านคน มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ประชากรร้อยละ 76.4 อยู่ในช่วงอายุ 15-64 ปี มณฑลกวางตุ้งมี 21 เมืองใหญ่ 23 เมืองระดับอำเภอ 41 อำเภอ และ 3 เขตปกครองตนเอง มีนครกว่างโจว เป็นเมืองเอก มณฑลกวางตุ้งเป็นที่ตั้งของเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งถือเป็นเขตธุรกิจที่สำคัญเขตหนึ่งของของโลก เป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกมากมาย

เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta หรือ PRD)

เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta หรือ PRD) ตั้งอยู่ที่บริเวณปากแม่น้ำจูเจียงสู่ทะเลจีนใต้ โดยเกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ กว่างโจว เซินเจิ้น ฝอซาน จูไห่ เจียงเหมิน จงซาน ตงก่วน สี่อำเภอภายใต้การปกครองของฮุ่ยโจว และสี่อำเภอภายใต้การปกครองของจ้าวชิ่ง

เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta หรือ PRD) ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจจีนนับตั้งแต่มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรศ 1970 โดยรัฐบาลจีนต้องการที่จะให้ PRD รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊าเป็นประตูทางเศรษฐกิจในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไปสู่ทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งทำให้ PRD กลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคทางเศรษฐกิจชั้นนำและศูนย์การผลิตที่สำคัญของจีนและของโลก ถือเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดและร่ำรวยที่สุดภูมิภาคหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วง 3 ทศวรรศที่ผ่านมา เป็นฐานการผลิตหลักแหล่งหนึ่งของโลกซึ่งผลิตสินค้าอิเลคทรอนิคส์ ของเล่น เสื้อผ้า สิ่งทอ พลาสติก สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

สภาพเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง

กว่า 30 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่จีนเปิดประเทศและเกิดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มณฑลกวางตุ้งมีอัตราการเติบโตและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าทึ่ง ถือเป็นมณฑลที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกโดยมีเมืองในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงเป็นตัวนำ มีอัตราการนำเข้าและส่งออกสูงที่สุดในประเทศ รายได้หลักของมณฑลฯมาจากการผลิตและส่งออกสินค้า โดยตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกวางตุ้งคือฮ่องกง โดยในปี 2011 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1.22 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ยังมีตลาดส่งออกหลักรายอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และอาเซียน

ทั้งนี้ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากประเทศสหรัฐอเมริการวมถึงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ได้ส่งผลกระทบต่อจีนรวมถึงมณฑลกวางตุ้งทำให้มูลค่าผลผลิตมวลรวมมีอัตราการเติบโตที่ลดลง เหลือประมาณร้อยละ 10 ในปี 2011 จากร้อยละ 12.2 ในปี 2010 แต่อัตราการเติบโตยังมีตัวเลขที่มากกว่าเป้าของมณฑลฯ และมากกว่า จึงทำให้มูลค่าผลผลิตมวลรวมของกวางตุ้งมีอันดับสูงที่สุดในมณฑลทั้งหมดของประเทศจีน ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วในช่วง 3 ทศวรรศที่ผ่านมามณฑลกวางตุ้งมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 19 ต่อปี ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภูมิภาคทางเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในประเทศ

แต่การที่ประเทศจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลกวางตุ้งได้แสดงบทบาทของการเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับตลาดโลกมาเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรศนั้น กลับถือเป็นดาบสองคมต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศในสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เนื่องด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการส่งออกเป็นสำคัญรวมกับการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายๆเรื่อง ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดความสามารถในการบริหารจัดการและความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนรวมถึงความสามารถในการกระจายฐานลูกค้าเพื่อบริหารความเสี่ยง จึงส่งผลให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมาจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป เช่นวิกฤติทางการเงินของสหรัฐ ปัญหาหนี้สินในยุโรป ซึ่งทำให้ลูกค้ามีจำนวนน้อยลง ในขณะที่ปัญหาค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจ จนทำให้มีผู้ประกอบการในกวางตุ้งต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2008 สภาอุตสาหกรรมฮ่องกงประเมินว่าโรงงานสัญชาติฮ่องกงร้อยละ 10 จากจำนวนทั้งหมด 6-7 หมื่นโรงในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงจะต้องปิดตัวลง นับเป็นสถิติการปิดตัวสูงที่สุดในรอบ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มิได้บานปลายหรือส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้มณฑลกวางตุ้งต้องเจอกับสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากกิจการที่ได้รับผลกระทบส่วนมากจะเป็นผู้ผลิตสินค้าที่เน้นเรื่องราคาถูก คุณภาพต่ำ และเน้นแรงงานเป็นสำคัญ โดยจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมเบา ในขณะที่การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในปัจจุบันของมณฑล ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมูลค่าทางห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Value) โดยผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อน ไฮเทค ใช้ความชำนาญเฉพาะทางและเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้ผู้ผลิตในมณฑลกวางตุ้งเริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางมุ่งหน้าไปสู่อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ๆมากขึ้น

อนาคตของมณฑลกวางตุ้งกับโอกาสของธุรกิจไทย

ผลกระทบของวิกฤตทางเศรษฐกิจต่อภาคการส่งออกของจีนทำให้หลายฝ่ายมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไข ในส่วนของรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งก็ได้ตระหนักอย่างเป็นอย่างดีว่าทางมณฑลจำเป็นจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นผลสำเร็จ โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับโครงสร้างและเพิ่มศักยภาพให้แก่ตนเอง

ทั้งนี้จะเห็นได้จาก "แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2011-2015)" ของมณฑลกวางตุ้งที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เพิ่มผลงานของภาคบริการ และยกระดับการขยายตัวของเมือง รวมถึงเน้นการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงพัฒนาธุรกิจในภาคการบริการ นอกจากนี้มณฑลฯยังเน้นเป็นอย่างมากในเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจะเห็นได้จากการที่เทศบาลมณฑลฯได้เสนอให้ลดเป้าการเติบโตของมูลค่าผลผลิตมวลรวมจากเลขสองหลักในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเหลือประมาณร้อยละ 8 ต่อปี และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ได้มีการประกาศใช้ "แผนการพัฒนาสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง" โดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) ที่มุ่งเน้นให้เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงมีอิสรภาพในแผนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และกระชับความสัมพันธ์กับฮ่องกงและมาเก๊าในส่วนของอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่เช่น การบริการทางการเงิน การบริการทางจัดประชุมและแสดงสินค้า โลจิสติก บริการข้อมูล บริการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริการเชิงพานิชย์ อุตสาหกรรมการบริการเอาท์ซอร์ส การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยมีเป้าหมายภายในปี 2020 เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียงร่วมกับฮ่องกงและมาเก๊าจะกลายเป็นมหานครที่มีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกและมีความแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและการบริการสมัยใหม่

จากข้อมูลในข้างต้นจะเห็นได้ว่าประเทศจีนรวมถึงมณฑลกวางตุ้งกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจโดยเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตของโลกในช่วง 3 ทศวรรศที่ผ่านมา กลายเป็นผู้บริโภคของโลก โดยให้ลดการพึ่งพาโลกภายนอกและมุ่งเน้นไปที่ตลาดภายในประเทศซึ่งถือเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็เตรียมที่จะยกระดับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่สูงขึ้นโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบการจัดการใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมในระดับโลก โดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 7 ประเภท คือ เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) เทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่ (Next Generation IT) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) อุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูง (High-end Equipment Manufacturing) พลังงานทางเลือก (Alternative Energy) วัสดุทางเลือก (Alternative Materials) และอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก (Alternative Energy Vehicle Industries)

นอกจากนี้จีนยังได้เน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเรื่องอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อม และการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่นั้น จีนต้องการส่งเสริมการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การบริหารจัดการและองค์ความรู้ที่ทันสมัยเป็นอย่างมาก

การที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญมากขึ้นกับตลาดการบริโภคภายในประเทศ การส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าในภาคบริการนั้น ถือเป็นโอกาสที่สำคัญของธุรกิจไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลกวางตุ้ง เนื่องจากมณฑลกวางตุ้งเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนดังจะเห็นได้จาก

1.ยอดการค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นจาก 9 พันล้านหยวนในปี 1978 เป็น 2.02 ล้านล้านหยวนในปี 2011 คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 19 ต่อปีในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับมณฑลอื่นในประเทศ มณฑลกวางตุ้งมียอดการค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคสูงที่สุด ในรอบ 28 ปีที่ผ่านมา

2.รายได้หลังหักภาษีต่อครัวเรือน (Household Disposable Income) ทั้งในและนอกเขตเมืองของมณฑลกวางตุ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 7.5 และ 10.3 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

3.ยอดการใช้จ่ายต่อครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองในปี 2009 เป็นอันดับหนึ่งของประเทศแซงหน้ามณฑลเจ้อเจียง และฝูเจี้ยน ส่วนยอดการใช้จ่ายต่อครัวเรือนที่อาศัยอยู่นอกตัวเมืองเป็นอันดับสามของประเทศ

4.อัตราการออมเงินของครัวเรือน (Household Savings) ในปี 2010 สูงถึง 3.7 ล้านล้านหยวน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริโภคใช้จ่ายของครัวเรือนในกวางตุ้ง

ในภาพรวมแล้วการพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับที่หนึ่งของไทยครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยและเป็นเมืองท่าสำคัญในการกระจายสินค้าไปยังมณฑลต่างๆของจีน เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นการบริโภคในประเทศจะผลักดันให้ผู้ประกอบการจีนส่วนมากที่ประสบปัญหาจากการส่งออกหันมาให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศมากขึ่น ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวเมื่อมองในระยะสั้นจะยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาเนื่องจากทางผู้ประกอบการจีนยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวจากตลาดส่งออกมาเป็นตลาดภายในประเทศ แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวนั้น จะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจส่วนใหญ่เนื่องจากคู่แข่งในตลาดต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ในอีกแง่นึง การที่ประเทศจีนหันมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศนั้นถือเป็นปัจจัยบวกต่อผู้ประกอบการไทยเช่นกัน โดยนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศนี้จะทำให้เงินในระบบหมุนเวียนด้วยสภาพคล่องมากขึ้นกล่าวคือประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นซึ่งถือเป็นโอกาสของสินค้าไทยมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับประเทศจีนทั้งทางตรงและทางอ้อมจำเป็นที่จะต้องติดตามความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงพยายามแสวงหาวิธีและโอกาสใหม่ๆในการปรับเปลี่ยนกลยุทธเพื่อให้สามารถรับมือกับจีนในภาพลักษณ์ใหม่ได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่นนโยบายการของมณฑลในการยกระดับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่สูงขึ้นโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบการจัดการใหม่ๆ เข้ามาและเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 7 ประเภทดังที่กล่าวในข้างต้น ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าไทยจะได้รับประโยชน์หรือสามารถสร้างโอกาสจากการเน้นพัฒนาอุสาหกรรมเหล่านี้ได้ในทางใดทางหนึ่งหรือไม่

ขณะเดียวกัน การที่จีนเน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเรื่องอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรของไทยก็มีความเชี่ยวชาญและมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรมาเป็นเวลานาน จึงถือเป็นโอกาสทองของธุรกิจไทยในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเกษตรกรรม และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลกที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสทางการค้า ในส่วนของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานนั้น สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือสินค้าประเภท สินค้าเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์สปา สมุนไพรไทย ก็มีโอกาสนำเข้ามาเปิดตลาด ส่วนธุรกิจบริการก็มีความน่าสนใจ เช่น ธุรกิจสปาไทย ธุรกิจร้านอาหารไทย เป็นต้น

โดยส่วนภาครัฐของไทยเองก็พร้อมจะให้การสนับสนุนกับการขยายการค้าระหว่างประเทศกับจีนให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มการขยายตัวการส่งออกไว้ที่ร้อยละ 20 25 ทำให้ยังมั่นใจได้ว่าโอกาสของธุรกิจไทยในมณฑลกวางตุ้งจะยังมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง

---------------------------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

มีนาคม 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ