ภาวะตลาดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 10, 2012 17:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะตลาดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศเยอรมนี

***********************************

ภาพรวมตลาด

ถึงแม้ประเทศเยอรมนีจะเป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่มีชื่อเสียงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของเยอรมนีจัดได้ว่าเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมากอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากเยอรมนีมีช่างฝีมือผู้ชำนาญทางด้านการเจียระไน การตกแต่งและออกแบบเพชร พลอย เป็นที่รู้จักและยอมรับในภูมิภาคยุโรป โดยแหล่งผลิตเครื่องประดับที่สำคัญๆ ของเยอรมนีส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นเมืองสำคัญในเรื่องสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่เมืองอีดาร์โอเบอร์สไตน์ (Idar Oberstein), ฟอร์ซไฮม์ (Pforzheim) และสตุทการ์ด (Stuttgart) เป็นต้น

จากสถิติในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา หากแยกสินค้าตามหมวดประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย Luxury goods ในประเทศเยอรมนีและตลาดโลก จะพบว่าหมวดสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า น้ำหอม เครื่องสำอาง มีแนวโน้มการขยายตัวลดลง สวนทางกับตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่คือ นาฬิกา เครื่องประดับพลอย เครื่องประดับเงินและทอง ฯลฯ

พฤติกรรมผู้บริโภค

ตามปกติ ผู้บริโภคชาวเยอรมนีจะนิยมซื้อเครื่องประดับที่มีคุณภาพดี ราคาค่อนข้างสูง และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวเยอรมนีนิยมอัญมณีที่ประดับพลอยเพิ่มมากขึ้น เพราะพลอยนั้นมีความงดงาม ความสว่างสดใส

รวมถึงมีความหมายตามประเภทของพลอยแต่ละชนิด ซึ่งสามารถสื่อให้เห็นถึงบุคคลิกและภาพลักษณ์เฉพาะตัวของผู้สวมใส่ได้ รวมทั้งความเชื่อเรื่องของสุขภาพ

ในปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังคงเปราะบาง ทำให้การซื้อสินค้าอัญณีและเครื่องประดับในเยอรมนีมีแนวโน้มลดลงบ้าง ราคากลายเป็นปัจจัยสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการช่วยพิจารณาตัดสินใจซื้อ ประกอบกับราคาทองคำที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเยอรมนีซื้อเครื่องประดับที่มีราคาถูกและประหยัดลงกว่าเดิม โดยจะนิยมซื้อสินค้าเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับเทียมที่ชุบโลหะเพิ่มมากขึ้น สำหรับวัยรุ่นและชาวต่างชาติในประเทศเยอรมนีนั้น จะนิยมซื้อเครื่องประดับที่มีราคาถูกหรือราคาปานกลาง ส่วนชาวเยอรมนีที่มีรายได้เฉลี่ยสูง จะนิยมซื้อเครื่องประดับแท้ เครื่องประดับด้วยเพชร พลอยและอัญมณีมีค่าอื่นๆ ซึ่งมีรูปแบบสวยงาม มีเอกลักษณ์ โดดเด่น สง่างาม ส่วนใหญ่ทำมาจากแพลทินัมหรือทองคำขาว เป็นต้น

แนวโน้มสินค้าและผลิตภัณฑ์

ผู้บริโภคชาวเยอรมนีนิยมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีการออกแบบพิเศษ เรียบง่าย แลดูทันสมัยและมีความละเอียด ปราณีต อ่อนช้อย งดงาม หรือสินค้าในแนวแฟชั่นที่มีการออกแบบทันสมัย ใช้วัสดุที่ราคาไม่สูงมาก โดยสร้อยคอเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด สำหรับแนวโน้มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดเยอรมนี ปี 2555/2556 แยกได้ดังนี้

  • สร้อยคอ จะเน้นชิ้นงานที่ผสมผสานระหว่างเงิน ทอง และทองสัมฤทธิ์ ส่วนการออกแบบ เน้นการใช้ เพชร หินสีและพลอยสีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยพิจาณาจากการเลือกชุดที่สวมใส่ด้วยเป็นหลัก ในปัจจุบัน ประชากรชาวเยอรมนียังคงนิยมคติพจน์ที่ว่า Less is more ซึ่งหมายถึงเครื่องประดับ เรียบง่าย แต่แลดูมีสไตล์และมีคุณค่า นอกจากนี้ สร้อยคอแบบโซ่เรียงเป็นชั้นๆ เสริมด้วยลูกปัดแก้ว มุก หินหลากสี ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น หรือสร้อยคอที่เน้นสไตล์ย้อนยุคแบบ Vintage
  • สร้อยข้อมือ แนวโน้มสินค้าจะเป็นแบบลวดลายหลากสี ประดับด้วยพลอย ลูกปัดแก้ว หินหลากสี สไตล์อินเดีย มีขนาดชิ้นเล็ก ไม่ใหญ่ oversize
  • แหวน แนวโน้มที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง คือ แหวนที่มีลวยลายเป็นรูปลายดอกไม้ และใช้หินหลากสีมาประดับ
  • เครื่องประดับเพชรที่ตัวเรือนทำด้วยแพลทินัม หรือเครื่องประดับที่ทำจากแพลทินัมล้วน และเครื่อง ประดับที่มีแบรนด์ ยี่ห้อดังต่างๆ มีแนวโน้มสินค้าในปี 2555 เป็นสินค้ารูปทรง Oceanographic หรือเครื่องประดับที่ใช้เปลือกหอยจริง ลูกปัด ไข่มุก
  • เครื่องประดับสำหรับสุภาพบุรุษ ผู้ชายชาวเยอรมนีดูแลเอาใจใส่เรื่องการแต่งกาย และติดตามแฟชั่นเพิ่มมากขึ้น สินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดเยอรมนี ได้แก่ นาฬิกาและเครื่องประดับเงิน โดยเฉพาะ แหวน สร้อยคอ จี้ประดับต่างๆ แต่ยังคงมีลักษณะค่อนข้างเรียบ ไม่หวือหวา แต่แลดูทันสมัยและมีดีไซน์
การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศเยอรมนี

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เยอรมนีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก โดยเฉลี่ยเป็นมูลค่าประมาณ 17,967.71 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 36.40 เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด

สำหรับปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมมีมูลค่า 23,708.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6,255.24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.84 โดยมีการนำเข้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ (EU Suppression) ออสเตรีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา เรียงมูลค่าจากมากไปหาน้อยตามลำดับ โดยมีสัดส่วนจากการนำเข้าของ 5 ประเทศนี้ รวมประมาณร้อยละ 54.03 ของการนำเข้าทั้งหมด ตามรายละเอียด ดังนี้

ตาราง - การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศเยอรมนี แยกตามรายประเทศ
ประเทศ          มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)                  สัดส่วน (ร้อยละ)              อัตราการขยายตัว
                  2552       2553       2554       2552     2553     2554          (ร้อยละ)
จากทั่วโลก       12,742.13  17,452.88  23,708.12    100.00   100.00   100.00           35.84

1.สวิตเซอร์แลนด์   2,341.98   3,166.11   3,960.15     18.38    18.14    16.70           25.08
2.EU Suppression1,514.32   2,027.81   3,343.96     11.88    11.62    14.11           64.91
3.ออสเตรีย       1,056.85   1,518.71   2,236.16      8.29     8.70     9.43           47.24
4.แอฟริกาใต้      1,006.29   1,380.18   2,036.90      7.90     7.91     8.59           47.58
5.สหรัฐอเมริกา      702.97     993.76   1,232.83      5.52     5.69     5.20           24.06
6.เบลเยี่ยม         723.16   1,011.16   1,210.56      5.68     5.80     5.11           19.66
7.สหราชอาณาจักร    589.35     739.16     812.31      4.63     4.24     3.43            9.90
8.ฝรั่งเศส          428.62     553.89     795.45      3.36     3.17     3.36           43.61
9.รัสเซีย           428.26     582.09     741.08      3.36     3.34     3.13           27.31
10.จีน             466.36     569.21     668.96      3.66     3.26     2.82           17.52

17.ไทย            241.86     333.63     306.07      1.90     1.91     1.29           -8.26
ที่มา- world trade atlas

          จากสถิติการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญๆ ของเยอรมนี แยกตามพิกัดสินค้า H.S. Code สามารถเรียงลำดับมูลค่าการนำเข้าจากมากไปหาน้อยได้ ดังนี้
          1. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป (พิกัด H.S. 7108) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 3,595.17 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 4,450.46 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.77 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด  มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 886.74 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.88
          2. เศษของโลหะที่มีค่าต่างๆ  (พิกัด H.S. 7112) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 3,221.04 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 4,295.10 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.12 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด  มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1,076.17 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.43
          3. แพลทินัม  (พิกัด H.S. 7110)  ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 3,164.19 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 3,815.62 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.09 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด  มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 444.89 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.20
          4. เหรียญต่างๆ (พิกัด H.S. 7118)  ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 1,885.94 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,789.94 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.77 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด  มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1,212.81 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.90
          5. เครื่องประดับแท้ (พิกัด H.S. 7113)  ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 - 2554) เยอรมนีนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 1,213.11 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในปี 2554 เยอรมนีนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,490.06 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.29 ของการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 250.30 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.19  สำหรับสินค้าเครื่องประดับแท้นี้ ประเทศไทยจัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของเยอรมนี รองจากประเทศเดนมาร์ก

ตาราง — การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศเยอรมนี แยกตามประเภทสินค้าสำคัญต่างๆ

ประเทศ          มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)                  สัดส่วน (ร้อยละ)              อัตราการขยายตัว
                  2552       2553       2554       2552     2553     2554          (ร้อยละ)
จากทั่วโลก      12,742.13   17,452.88  23,708.12    100.00   100.00   100.00          35.84

1.ทองคำที่ยัง     2,771.33    3,563.72   4,450.46     21.75    20.42    18.77          24.88
ไม่ได้ขึ้นรูป(H.S. 7108)
2.เศษของโลหะ   2,149.11    3,218.93   4,295.10     16.87    18.44    18.12          33.43
มีค่าต่างๆ (H.S. 7112)
3.แพลทินัม       2,306.22    3,370.73   3,815.62     18.10    19.31    16.09         13.20
(H.S. 7110)
4.เหรียญต่างๆ    1,290.77    1,577.13   2,789.94     10.13     9.04    11.77         76.90
(H.S. 7118)
5.เครื่องประดับแท้   909.52    1,239.76   1,490.06      7.14     7.10     6.29         20.19
(H.S. 7113)
ที่มา- world trade atlas

การส่งออกจากไทยเข้าสู่ประเทศเยอรมนี
          ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเข้าสู่เยอรมนีคิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 238.02 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 13.19 เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด
          สำหรับในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวเข้าสู่เยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 286.77 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 2.33 ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 11 ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2554 เพิ่มขึ้น 53.11 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.73 สินค้าไทยที่ส่งออกเข้าสู่ประเทศเยอรมนี เรียงมูลค่าจากมากไปหาน้อย ได้แก่
          1. เครื่องประดับแท้ ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 202.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.41 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.47 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  4 ของไทย
          1.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้สู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 127.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.99 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.48 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  3 ของไทย
          1.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 43.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.53 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.80 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่  9 ของไทย
          1.3 เครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 31.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.89 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 2 ของไทย
          2. เครื่องประดับเทียม ปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้สู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 32.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.64 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 201.05 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 3 ของไทย
          3. อัญมณี ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.00 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.86 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 11 ของไทย
          4. โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้ เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.48 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 8 ของไทย
          5. พลอย ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11.20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.54 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.36 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 9 ของไทยจัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 9 ของไทย
          6. อัญมณีสังเคราะห์ในปี 2554 ไทยส่งออกสินค้ารายการนี้เข้าสู่ประเทศเยอรมนี รวมมูลค่าทั้งสิ้น 9.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.98 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.73 จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 16 ของไทย
          ที่มา- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยความร่วมมือของกรมศุลกากร

ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศเยอรมนี
          1. ตัวแทนนำเข้า  เนื่องจากสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับบางชนิดเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ภายใต้ชื่อเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ทำให้ตัวแทนนำเข้าหรือตัวแทนจัดจำหน่ายมีบทบาทอย่างยิ่ง เพราะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีแบรนด์ยี่ห้อดังๆ นั้น มักจะมีการวางจำหน่ายตามร้านขายปลีกบางแห่งและเป็นการจำหน่ายที่มีขีดจำกัดในวงแคบเท่านั้น
          2. ผู้ค้าส่ง ในปัจจุบัน บทบาทของผู้ค้าส่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเยอรมนีได้ลดความสำคัญลงบ้างเล็กน้อย เนื่องจากร้านค้าปลีกที่มีสาขา(chain stores) จะสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในเยอรมนีหรือนำเข้าจากต่างประเทศโดยตรง แต่ก็ยังจัดเป็นช่องทางสำคัญในการกระจายสินค้าอีกทางหนึ่ง เพราะผู้ค้าส่งรายเล็กบางรายเลือกเจาะตลาดเฉพาะที่ในบางท้องถิ่น และมีความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง สร้างความเชื่อถือและมั่นใจแก่ผู้ค้าปลีก นอกจากนี้ ผู้ค้าส่งบางรายยังมีโชว์รูมประเภท cash and carry จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ค้าปลีกโดยตรง เช่น ที่เมืองเค้าช์บอยเรน (Kaufbeuren) และฟอร์ซไฮม์ (Pforzheim) เป็นต้น
          3. ห้างสรรพสินค้า เป็นแหล่งจำหน่ายปลีกขนาดใหญ่ที่มีสินค้าค่อนข้างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ห้างดิสเคาน์เตอร์ ซึ่งจัดแผนกสำหรับสินค้าประเภท non food รวมถึงแม้กระทั่งร้านขายน้ำหอม ร้านค้าอื่นๆเป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนทางการค้าประมาณร้อยละ 30 ของยอดขายทั้งหมด
          4. การขายสินค้าผ่าน Catalogue, Internet หรือผ่านทาง TV Shopping  ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าการขายสินค้าผ่าน catalogue, Internet และ TV Shopping จะไม่มีการโชว์สินค้าหน้าร้าน เพียงแค่เห็นรูปแบบและราคาสินค้า แต่ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้บริโภคพิจารณาสั่งซื้อสินค้าได้ โดยผ่านทางระบบ on-line หรือสั่งซื้อโดยตรงที่ร้านเอง ซึ่งในประเทศเยอรมนี จะมีระบบการแลกเปลี่ยนและรับคืนสินค้า โดยกำหนดระยะเวลาคืนสินค้าภายในระยะเวลา 7-14 วันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้า

อัตราภาษีนำเข้า
          อัตราภาษีนำเข้าจากประเทศไทยสู่สหภาพยุโรปของทุกหมวด/รายการสินค้า สามารถหาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://ec.europa.eu/taxation_customs/dds2/taric/taric_consultation.jsp?Lang=en&Screen=0&redirectionDate=20110210
    รายการ                                             พิกัด H.S             อัตราภาษีนำเข้าจากไทย
1.อัญมณี              1.ไข่มุก                               7101                       0%
                    2.เพชร                               7102                       0%
                    3.พลอย                               7103                       0%
2.เครื่องประดับแท้      1.ทำด้วยเงิน                         711311                     2.5%
                    2.ทำด้วยทองคำ                       711319                     2.5%
                    3.ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ                 711320                     4.0%
3.เครื่องประดับเทียม                                       711790                     4.0%
4.อัญมณีสังเคราะห์                                           7104                       0%
5.ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป                                        7108                       0%
6.แพลทินัม                                                 7110                       0%
7.โลหะสามัญ โลหะมี    1.ฝุ่นและผงของรัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ      710510                       0%
ค่าหรือเงินและของอื่นๆ     ที่ได้จากธรรมชาติหรือการสังเคราะห์
ที่หุ้มด้วยโลหะมีค่า         ของเพชร
                    2.เงิน(รวมถึงเงินชุบด้วยทองคำ หรือ       710610                       0%
                      แพลทินัม)ยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต)
                      หรืออยู่ในลักษณะกึ่งสำเร็จรูปเป็นแผง
                    3.หุ้มติดด้วยเงินที่ไม่ได้ทำมากไปกว่าขั้น      710710                       0%
                      กึ่งสำเร็จรูป
                    4.หุ้มติดด้วยทองคำ ไม่ได้ทำมากไปกว่า      710910                       0%
                      ขั้นกึ่งสำเร็จรูป
                    5.ประกอบด้วย เงิน ทอง ที่หุ้มติดด้วย         7111                       0%
                      แพลทินัมที่ไม่ได้ทำมากไปกว่าขั้นกึ่ง
                      สำเร็จรูป
                    6.เครื่องทองหรือเครื่องเงิน ทำด้วยโล      711420                     2.0%
                      หะสามัญที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า
                    7.ประกอบด้วยตัวแคตตะไลต์ที่มีลักษณะ       711590                     3.0%
                      แบบผ้าหรือตะแกรงทำด้วยแพลทินัม
                    8.ประกอบด้วยไข่มุกธรรมชาติ หรือไข่     71162080                     2.5%
                      มุกเลี้ยง
8.เหรียญต่างๆ                                              7118                       0%
มาตรการที่มิใช่ภาษี

1. เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง มีอาการแพ้สารโลหะที่เป็นส่วนผสมของเครื่องประดับ โดยเฉพาะสาร นิเกิ้ล สหภาพยุโรปจึงได้ตั้งกฎระเบียบที่จำกัดปริมาณนิเกิ้ลที่ปล่อยจากเครื่องประดับ โดยกำหนดให้เครื่องประดับที่มีการสวมใส่และมีการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงและเป็นเวลานานติดต่อกัน เช่น ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน สายนาฬิกา กระดุมประเภท rivet buttons ซิปที่ใช้บนเสื้อผ้า จะต้องไม่มีการปล่อยระดับสารนิเกิ้ล (migration) เกินกว่า 0.5 ไมโครกรัม/ตร.ซม./สัปดาห์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแพ้ของผิวหนังได้ ยกเว้นแต่ว่าเครื่องประดับนั้นจะมีการเคลือบ (coat) อย่างดีและมีระยะเวลาการใช้งานอย่างน้อย 2 ปี เพื่อควบคุมไม่ให้ปริมาณสารนิเกิ้ลที่ปล่อยออกมาเกินระดับสูงสุดตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ซึ่งกฎระเบียบนี้ยังครอบคลุมถึงชิ้นส่วนเครื่องประดับประเภทที่ใช้ในการทำ body piercing ต่างๆ โดยกำหนดการปล่อยสารนิเกิ้ลไม่เกินกว่า 0.2 ไมโครกรัม/ตร.ซม./สัปดาห์

2. สำหรับเครื่องประดับเงินและทองนั้น สหภาพยุโรปกำหนดให้ตีตราประทับแจ้งส่วนผสมของเงินและทองลงบนเครื่องประดับ โดยจะต้องมีส่วนผสมของเงินตั้งแต่ 800/1000 ขึ้นไป สำหรับทองนั้นการตีตราจะแยกส่วนผสมของทองออกเป็น 330/1000, 375/1000, 500/1000 และ 585/1000 สำหรับเครื่องประดับเงินและทองของไทยที่มีการตีตราแจ้งส่วนผสมเนื้อทองเป็นร้อยละ ก็ได้รับการอนุโลม อนุญาตให้นำเข้าและมิได้มีการบังคับให้ตีตราแจ้งสัดส่วนของส่วนผสมที่เป็นเงินและทอง ตามข้อกำหนดของเยอรมนีและสหภาพยุโรปแต่อย่างใด

แนวทางในการขยายตลาดส่งออกและข้อเสนอแนะ

1. สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเยอรมนี มีชื่อเสียงในเรื่องความ สามารถพิเศษในการหุงหรือเผาพลอย การขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือ การเจียระไนพลอย รวมถึงการประกอบตัวเรือนที่ปราณีต เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกไทยยังคงต้องคอยระวังและเฝ้าจับตาดูประเทศคู่แข่งสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม จีน ฮ่องกง และตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่เร่งการผลิตสินค้าเครื่องประดับเพิ่มสูงขึ้น และมีแน้วโน้มการส่งออกเข้าสู่ประเทศเยอรมนีเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าจากประเทศเหล่านี้มีคุณภาพ และความประณีตก็ไม่ด้อยไปกว่าสินค้าของไทยเท่าใดนัก

2. เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยที่สูง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดสินค้าการรับจ้างผลิต (OEM) ของไทยยังไม่สามารถสู้กับสินค้าของคู่แข่งในเอเชียได้ เช่น จีน และเวียดนาม เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการออกแบบและการเจียระไนเพิ่มมากขึ้น

3. ประชากรชาวเยอรมนีส่วนใหญ่ มีความรู้และเป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด การขายสินค้าตามแคตตาล็อกและทางอินเตอร์เน็ต จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นช่องทางการค้าที่มีศักยภาพที่ดี ผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วิธีนี้ สำหรับการขายสินค้าโดยตรงแก่ผู้บริโภคชาวเยอรมนีได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีจำนวนประชากรชาวเยอรมนีส่วนหนึ่งที่แพ้สารโลหะที่เป็นส่วนผสมของเครื่องประดับ เช่น สารนิเกิ้ล ดังนั้นในการเสนอขาย หากสามารถเสนอขายสินค้าปลอดสารดังกล่าวและระบุข้อดีของสินค้าว่าไม่มีส่วนผสมนั้น ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้

4. ในปัจจุบัน สุภาพสตรีชาวเยอรมนี (อายุระหว่าง 28 — 67 ปี) มีอาชีพและทำงานหารายได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เป็นแม่บ้านเหมือนในสมัยก่อน และเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในที่ทำงานให้ดูดีขึ้น ลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อเครื่องประดับแท้และใส่เครื่องประดับเป็นประจำทุกวัน ไม่ได้ใส่เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น จัดเป็นกลุ่มลูกค้าที่ควรจับตามองและให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยอาจจะต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวทางด้านรสนิยม รูปแบบ ดีไซน์ และแนวโน้มความต้องการสินค้า เป็นต้น แม้ว่าสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปี 2555 ยังคงไม่ดีเท่าที่ควร และราคาทองคำที่ยังขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้เครื่องประดับที่มีแบรนด์ ยี่ห้อดังต่างๆ รวมถึงเครื่องประดับเพชรที่ตัวเรือนทำด้วยแพลทินัม หรือเครื่องประดับที่ทำจากแพลทินัมล้วน เริ่มมีบทบาทมากกว่าเครื่องประดับที่ทำมาจากทองคำ

5. ในช่วงภาวะเศรษฐกิจยุโรปถดถอยนั้น หลายบริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานออกเป็นบางส่วน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งในฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศอื่นๆ รวมถึงการประท้วงเพื่อขอขึ้นค่าแรง ซึ่งปัญหาเหล่านี้นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชน ผู้คนมีกำลังซื้อที่น้อยลงประกอบกับราคาสินค้าเองก็มีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้บริโภคจะต้องคิดไตร่ตรองเมื่อจะซื้อสินค้าราคาสูง อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับเงินยังเป็นที่นิยมของตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และเครื่องประดับพลอยเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้หญิงสูงอายุเพิ่มมากขึ้น

6. อัตราการขยายตัวของสินค้าเครื่องประดับของสุภาพบุรุษ มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้านาฬิกา เครื่องประดับเงิน เช่น แหวน สร้อยคอ จี้ประดับต่างๆ ได้รับความนิยมในตลาดเยอรมนีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ชายชาวเยอรมนีดูแลเอาใจใส่เรื่องการแต่งกายและติดตามแฟชั่นเพิ่มขึ้น สินค้ารายการนี้ค่อนข้างเป็นสินค้าที่มีราคาขนาดกลางหรือราคาค่อนข้างสูง อาศัยรูปแบบ ดีไซน์และคุณภาพวัสดุที่ดี ผู้ประกอบการเครื่องประดับเงินของไทยควรจะศึกษารสนิยม วัฒนธรรมการแต่งกายของผู้ชายชาวเยอรมนีและยุโรปเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของตลาดยุโรป สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยต่อไป

**********************************************************************************

จัดทำโดย นายอาทิตย์ กองเกตุ ผู้ช่วยดำเนินการฯ คนที่ 1

สคต.แฟรงก์เฟิร์ต

เมษายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ