ภาวะการส่งออกสินค้าของเยอรมนียังคงเฟื่องฟูและสดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2012 11:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะการส่งออกสินค้าของเยอรมนียังคงเฟื่องฟูและสดใส

***********************************

ถึงแม้ว่าสถานการณ์และภาวะทางด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีทีท่าไม่ค่อยแจ่มใสนัก รวมถึงมีแนวโน้มที่ถดถอยลง แต่ประเทศเยอรมนียังคงเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้รวดเร็วและดีที่สุดของสหภาพยุโรป มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ยังคงเป็นภาคอุตสหากรรมที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ช่วยทำให้ภาคอุตสาหกรรมด้านอื่นๆของเยอรมนีฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากสถิติการค้าของประเทศเยอรมนี พบว่าการส่งออกสินค้าของประเทศเยอรมนี ปี 2554 ยังคงเฟื่องฟูมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 (ต.ค.- ธ.ค. 2554) เศรษฐกิจของเยอรมนี มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในสหภาพยุโรป มีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 0.2

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา (2552-2554) ประเทศเยอรมนีส่งออกสินค้ามีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 30,900.93 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2554 ที่ผ่านมาประเทศเยอรมนีส่งออกสินค้ารวมมูลค่าทั้งสิ้น 35,422.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจำนวน 6,330.57 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.77 สำหรับปริมาณการผลิตในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีมีปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมามาโดยตลอด และในปี 2554 เยอรมนีมีอัตราการผลิตขยายตัวร้อยละ 8.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เทียบกับปี 2553

ปัจจุบัน ประชาชนชาวเยอรมนีมีงานทำเพิ่มมากขึ้น อัตราการว่างงานของเยอรมนียังคงลดลงอย่างต่อเนื่องปี 2554 มีจำนวนประชากรที่ว่างงานอยู่ 7.38 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8.9 ของประชากรทั้งหมด ลดลงจำนวน 271,000 คนเมื่อเทียบกับปี2553 และในเดือน ก.พ. 2555 อัตราการว่างงานยังคงลดลง ชาวเยอรมนีมีคนตกงานลดลงจำนวน 550,000 คนเมื่อเทียบกับปี2553 และตกงานลดลงจำนวน 33,000 คน เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2555

นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ต่างคาดคะเนว่า ในอนาคตประเทศเยอรมนีจะเป็นประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน โดยในอดีตที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศผู้แข่งที่สำคัญของเยอรมนี แต่ปัจจุบันสินค้าของประเทศจีนได้ยึดส่วนแบ่งการตลาดสินค้าในหลายๆประเทศทั่วโลก ทำให้ตลาดส่งออกของสหรัฐอเมริกาลดลงจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 10 และตลาดส่งออกของจีนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 11 ซึ่งมูลค่าการส่งออกของจีนได้แซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว และหากเปรียบเทียบประเทศเยอรมนีกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร แล้วนั้น ประเทศเยอรมนีจัดเป็นประเทศผู้นำและจัดอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม สามารถแข่งขันกับประเทศอุตสาหกรรมเพื่อนบ้านและจากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

จากการสำรวจของ Hongkong and Shanghai Banking Corporation (HSBC) ภายใน 15 ปีข้างหน้าการส่งออกของประเทศเยอรมนียังคงสดใส โดยคาดว่าในปี 2019 ตลาดส่งออกของเยอรมนีจะขยายตัวมากกว่าอัตราการขยายตัวของสหภาพยุโรปโดยรวม และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยอาจขยายตัวมากกว่าร้อยละ 80 ของอัตราการขยายตัวในปัจจุบัน คือขยายตัวประมาณร้อยละ 3.6

สินค้าส่งออกสำคัญของเยอรมนีในปัจจุบันและในอนาคต ได้แก่

  • สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ * เครื่องจักรกล * มอเตอร์เครื่องยนต์* ผลิตภันฑ์ยา นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนีได้ขยายการลงทุนไปในประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น การลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา จีน บราซิล เม็กซิโก อินเดียและไทย เป็นต้น ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดสินค้ายานยนต์และตลาดสินค้าเครื่องบินและชิ้นส่วนประกอบต่างๆ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ของเยอรมนีที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศมาก ได้แก่ บริษัท Siemens AG เป็นบริษัทเยอรมนีที่ลงทุนในประเทศจีนมากที่สุด ในเรื่องสินค้าเครื่องจักรเครื่องบินและเทคโนโลยี ส่วนบริษัท MHM Holding GmbH และ Metro Cash & Carry International GmbH เป็นบริษัทเยอรมนีที่ลงทุนมากที่สุดในประเทศอินเดียสำหรับสินค้าอาหาร เป็นต้น
ตาราง สินค้าส่งออกสำคัญของประเทศเยอรมนี
         สินค้าส่งออก                                       ส่งออกไปประเทศ
1. Nuclear Reactors, Boilers,             จีน, สหรัฐฯ, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, รัสเซีย, ออสเตรีย, อิตาลี,
   Machinery and Mechanica                เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, สเปน
2. Vehicles, not Railway                  สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, จีน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, รัสเซีย, เบลเยี่ยม,
3. Electrical Machinery, Equipment and    ออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์
   Machinery                              ฝรั่งเศส, จีน, อิตาลี, สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์,
                                          สาธารณรัฐเช็ก, โปแลนด์, สเปน
4. Plastics and articles                  ฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, สหราช
                                          อาณาจักร, สาธารณรัฐเช็ก, สวิตเซอร์แลนด์, สหรัฐฯ
5. Pharmaceutical Products                เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์, สหรัฐฯ, สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สหราช
                                          อาณาจักร, ออสเตรีย, รัสเซีย, สเปน
6. Optical, Photographic,                 สหรัฐฯ, จีน, เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, รัสเซีย,
   Cinematographic and Measuring          สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, สเปน
7. Aircraft, Spacecraft and Parts         ฝรั่งเศส, จีน, สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ, อิตาลี, ชิลี, สเปน, ออสเตรีย
8. Mineral Fuels and Mineral Oils         EU Suppression, สหราชอาณาจักร, สาธารณรัฐเช็ก, เบลเยี่ยม, Non- EU
                                          Suppression,ฝรั่งเศส
9. Iron and Steel                         ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, โปแลนด์, เบลเยี่ยม, ออสเตรีย, สาธารณรัฐ
                                          เช็ก, สวิตเซอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, สเปน
10. Articles of Iron or Steel             จีน, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย, ไทย, ฮ่องกง
ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ตามที่แนวโน้มการส่งออกสินค้าของประเทศเยอรมนีส่อแววสดใสนั้น นับเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะส่งออกสินค้าเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆของเยอรมนี เพราะประเทศเยอรมนีจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและชิ้นส่วนบางชนิด เพื่อนำไปประกอบและผลิตสินค้าก่อนส่งออกไปขายตามประเทศต่างๆทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเลคโทนิค อุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับแท้พลอยสีต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องติดตามนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในขบวนการผลิตสินค้า เพื่อพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า พร้อมกับช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด

2. ผู้ประกอบการไทย ต้องให้ความสำคัญแก่การติดฉลากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชาวเยอรมนีให้ความสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นหากผู้ผลิตไทยมีฉลากสิ่งแวดล้อม ก็เปรียบเสมือนการมีแบรนด์เป็นของตนเอง สามารถสร้างจุดเด่นของสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศต่อไป

3. ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและค่าเงินบาทที่แข็งตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินค้าการรับจ้างผลิต (OEM) ของไทยยังไม่สามารถสู้กับสินค้าของคู่แข่งในเอเชียได้ เช่น จีน และเวียดนาม เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการออกแบบและคุณภาพสินค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้งาน

**********************************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

เมษายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ