นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประเทศเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 12, 2012 15:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์

ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประเทศเยอรมนี

***********************************

สินค้าเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเยอรมนีประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดในยุโรปตะวันตก คือมีจำนวนประชากรทั้งสิ้นมากกว่า 83 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มนั้น จัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและบทบาทโดยตรงต่อประชากรชาวเยอรมนี เพราะประชาชนจำเป็นต้องใช้และบริโภคสินค้าทุกวัน สำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนั้น จะต้องเป็นสินค้ามีความปลอดภัยและผ่านการตรวจสอบมาตรฐานตามกฎระเบียบต่างๆจำนวนมาก ทำให้ประเทศเยอรมนีต้องคิดค้น ศึกษา วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกล สำหรับอุตสาหกรรมแขนงนี้อยู่ตลอดเวลา รวมถึงการที่ประเทศเยอรมนี เป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรม นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเครื่องจักรกลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้สินค้าเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์ ของอุตสาหกรรมอาหารจากประเทศเยอรมนี เป็นที่ยอมรับและนิยมไปทั่วโลก เช่นเดียวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมแขนงอื่นๆ

นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนีจัดเป็นประเทศผู้นำ ในการส่งออกสินค้าเครื่องจักรกลสำหรับผลิตขนมและของหวานมากที่สุดในโลก โดยประเทศเยอรมนีถือครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าเครื่องจักรกลดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณผลผลิตเครื่องจักรผลิตขนมหวานทั่วโลก กล่าวคือ ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตเครื่องจักรมูลค่าเฉลี่ยปีละ 550 ล้านยูโร โดยมีมูลค่าการผลิตเครื่องจักรดังกล่าวจากทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 2.2 พันล้านยูโร และยังคงมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ประเทศเยอรมนีสามารถผลิตขนมและของหวานเฉลี่ยปีละ 14 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2558 จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นจำนวนปีละ 15.5 ล้านตัน โดยสินค้าขนมและของหวานส่วนใหญ่จัดส่งและจำหน่ายให้แก่ประเทศในยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกามากที่สุด

แม้ว่าในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและความต้องการซื้อสินค้าจะลดลงบ้าง ผู้ประกอบการ / ผู้ผลิตสินค้าและโรงงานต่างๆ ยังคงต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยและนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุด มาใช้ในอุตสาหกรรมของตนอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญในเรื่องการลงทุนของอุตสาหกรรมแขนงนี้ คือ การบรรจุภัณฑ์สินค้า บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก ได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรกลเกี่ยวกับการบรรจุภัณฑ์ มีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 60 ชองการลงทุนซื้อเครื่องจักรทั้งหมด มูลค่าการซื้อเครื่องจักรดังกล่าวทั่วโลกเฉลี่ยปีละประมาณ 13.2 พันล้านยูโรและมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ11.40 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ประเทศเยอรมนีส่งออกสินค้าเครื่องจักรสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 3.9 พันล้านยูโร โดยคิดเป็นการส่งออกประมาณร้อยละ 80 ของการส่งออกเครื่องจักรในอุตสาหกรรมแขนงนี้ทั้งหมด สำหรับประเทศคู่ค้าที่เยอรมนีส่งออกเครื่องจักรนี้มากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน มีมูลค่าการส่งออกประมาณปีละ 483 ล้านยูโร รองลงมาได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยประมาณปีละ 413 ล้านยูโร อันดับต่อมาได้แก่ประเทศรัสเซียและบราซิล มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 247 ล้านยูโรและ 99 ล้านยูโร ตามลำดับ

สำหรับขบวนการผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของเยอรมนีนั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสุขอนามัยของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ในขบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอาหารนั้น จะต้องมีขั้นตอนการผลิตที่ทันสมัย สะอาด ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค (Food Safety) โดยแบ่งแยกลักษณะการตรวจสอบสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ในเรื่องความปลอดภัยสำคัญต่างๆ ดังนี้

  • ปราศจากเชื้อ Salmonella
  • การใช้สารเคมีธรรมชาติ ในการดูแลรักษาและทำความสะอาดเครื่องจักรต่างๆ และไม่มีเชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อนโดยเฉพาะเครื่องจักรที่ผลิตทำเนยต่างๆ
  • การตรวจวัดค่า PH และ Oxygen และจะต้องไม่มีส่วนผสมของสารเคมี
  • ตรวจสอบคุณภาพและอายุการใช้งานของเครื่องจักร เรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยในขบวนการผลิต
  • การตรวจวัดค่า Rapid Microbial ในเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศเยอรมนี

ชาวเยอรมนีนิยมบริโภคสินค้าอาหารตามหมวดหมู่สำคัญต่างๆ เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ นม เนยและผลิตภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดต่างๆ, ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ทำจากเนื้อสัตว์, ขนมปัง (ไม่รวมคุ๊กกี้), ขนมเค็ก ขนมหวานอื่นๆ

ผู้บริโภคชาวเยอรมนี ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเน้นเรื่องคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยเป็นหลัก โดยจะต้องไม่มีสารปรุงแต่ง สารพิษตกค้างในอาหารและเครื่องดื่ม มีหน่วยงานที่จะคอยตรวจสอบ ควบคุมและรักษาคุณภาพสินค้าอยู่เสมอ โดยสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมในตลาดเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ประชากรเยอรมนีนิยมการทำอาหารง่ายๆ ไม่ซับซ้อน พร้อมกับการซื้อวัตถุดิบ เครื่องปรุงที่หาได้ในท้องตลาดโดยทั่วไป โดยมีการบริโภคอาหารสดที่ปรุงเองเพิ่มมากขึ้น ชาวเยอรมนีพิจารณาเรื่องคุณภาพสินค้ามากกว่าเรื่องของราคาสินค้า และยังคงนิยมบริโภคอาหารจากภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อาหารไทย ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม เป็นต้น นอกจากนี้ประชากรเยอรมนียังมีความต้องการสินค้าอาหารสำเร็จรูป (Ready to Eat) จากเอเชียเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสำเร็จรูปจากไทย ซึ่งเป็นอาหารเอเชียที่นิยมสูงสุด เพราะชื่นชอบในรสชาติของอาหารไทย ตลอดจนคุณค่าทางโภชนาการเรื่องสมุนไพรและการจัดเตรียมที่ง่าย ไม่ซับซ้อน

สำหรับสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็งนั้น จะได้รับความนิยมจากกลุ่มคนโสด ครอบครัวขนาดเล็ก กลุ่มผู้หญิงทำงานและกลุ่มคนสูงอายุ เพราะสามารถจัดเตรียมได้ง่าย สะดวกและประหยัดเวลา

ในปัจจุบัน ปริมาณการใช้ขวดพลาสติกจากปิโตรเลียม (PET) ทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.1 และคาดว่าจะมีปริมาณขยะนี้เกือบ 19.1 ล้านตันในปี 2560 ทำให้ประเทศเยอรมนีหาวิธีการลดปริมาณขยะเป็นพิษ ประเทศเยอรมนีจึงเป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่มีเรื่องจัดเก็บเงินค่ามัดจำขวดน้ำและเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต ลดปริมาณขยะ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฝึกวินัยประชาชนพร้อมกันไปอีกด้วย

นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ ประเทศเยอรมนี เป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีชื่อเสียงทางด้านเครื่องจักรกลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้นวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเยอรมนี เป็นที่ยอมรับและนิยมไปทั่วโลก โดยในปี 2555 นี้ มีนวัตกรรมด้านเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้

  • การใช้เครื่องผสมสินค้าน้ำผลไม้ต่างๆร่วมกับนม ผสมออกมาเป็นเครื่องดื่มแบบโยเกิร์ต ซึ่งจะเน้นในเรื่องของความสะอาด ปลอดภัย เป็นหลัก ผลิตโดยบริษัท Krones และได้พัฒนาสินค้าเครื่องจักร ตามขบวนการ GEA Process Engineering
  • เครื่องจักร Hass-Mondomix ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องการหมุน โดยใช้ระบบ aseptic processing system และมีเสถียรภาพการทำงานที่ดีขึ้น ใช้ในการผลิตสินค้าและสามารถผลิตได้ปริมาณจำนวน 3,000 กิโลต่อชั่วโมง
  • Multipond’s adaptive filter software โปรแกรม Software ที่ใช้ในการชั่งน้ำหนักสินค้า ส่วนผสม โดยคำนวณตามความเร็วที่ตั้งไว้ ซึ่งได้คิดค้น พัฒนาเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ไม่ขัดข้องในเรื่องระบบการทำงาน เหมือนเครื่องรุ่นก่อน รวมทั้งมีการติดตั้งที่ง่ายขึ้นและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
  • เทคนิค Behn + Bates เป็นการใช้เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อใช้ในการผลิตถุงใส่สินค้าอาหาร รวมถึงการปิดผนึกสินค้าด้วยระบบอุลตร้าซาวน์ เพื่อป้องกันและเก็บรักษา ถนอมสินค้าอาหารได้นานเพิ่มขึ้น
  • Cabinplant เครื่องแยกสินค้าด้วยระบบ Sensor สามารถแยกสินค้าไปตามช่องเข้าสู่ขบวนการผลิตขั้นตอนต่อไป เป็นครื่องแยกสินค้ารุ่นใหม่ที่สามารถแยกสินค้าหนักได้มากกว่าเดิม เหมาะสำหรับเนื้อสัตว์ปีก สินค้าสดอื่นๆ เป็นต้น
  • Atlas Material Testing Technology เป็นเครื่องตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยใช้ระบบแสง Xenon เพื่อช่วยในการคำนวณระยะเวลาการหมดอายุของสินค้าต่อไป มีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎระเบียบ Safety R & D โดยจะนำไปใช้ กับการตรวจสอบบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งระบบนี้จะสามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
  • Jung Process System เป็นเครื่องที่ช่วยปั้ม มีแรงมากขึ้น 2 เท่า โดยจะใช้กับระบบเครื่องจักรรุ่นช่วงศตวรรษที่ 1990 หรือ High-pressure รุ่นHyghSpin 90DF
  • Multivac’s PrePack System เป็นระบบการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับอาหารสด และสามารถรองรับกับสภาพห้องที่มีอุณหภูมิสูงได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตหากประเทศไทยต้องการขยายสินค้าอาหารสด ชนิด Ready to cook in PrePack ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเช่นเดียวกันนี้
  • ภาชนะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มร้อน ตามระบบ Smart Lid ซึ่งช่วยเรื่องการเก็บความร้อนให้ยาวนานเพิ่มขึ้น รวมถึงการปิดฝาได้สนิทมากขึ้น ไม่หกเลอะเทอะง่ายเหมือนระบบฝาปิดรุ่นก่อน พร้อมกับระบบการเตือนเรื่องความร้อน หากภาชนะบรรจุเครื่องดื่มหรือน้ำร้อนแล้วนั้น ฝาที่ปิดจะเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเข้มไปเป็นสีแดง
  • Coolwave Processing เป็นนวัตกรรมเรื่องการถนอมอาหารของเครื่องดื่มน้ำผลไม้สด ซึ่งค้นคิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย Spoilage ไม่ให้เจิญเติบโตและขยายพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทำให้คุณภาพของน้ำผลไม้ลดลง ซึ่งกระบวนการนี้จะรักษาคุณภาพสินค้าได้นานมากขึ้น เก็บรักษาสินค้าเครื่องดื่มน้ำผลไม้สดนี้ ได้นานมากกว่า 21 วัน
  • บริษัทเยอรมนี M?hlenchemie ได้พัฒนา Enzyme ในการอบขนม ซึ่งสามารถถนอมอาหารได้นานมากขึ้นถึง 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบบการบรรจุภัณฑ์สินค้าเครื่องดื่ม โดยใช้ Tetra Pak เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นขบวนการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ตั้งแต่ขบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งและจำหน่ายสินค้า ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มไทยหลายรายได้ใช้ Tetra Pak มาบรรจุสินค้าเครื่องดื่มของตนแล้ว

นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการออกแบบและ redesign ที่น่าใจ
  • การออกแบบเครื่องดื่มสำหรับเด็ก โดยฉลากที่พิมพ์บน high-end polyvinyl chloride film เป็นสีสันรูปการ์ตูนที่เป็นฮีโรของเด็ก เช่น Spider Man, Captain America , Green Goblin และ Daredevil และรูปทรงของขวดเครื่องดื่มจะทำเป็นทรง Teardrop- Shape
  • การออกแบบและเพิ่มสีสันลงบรรบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างเรียกร้องความสนใจได้เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ภาชนะกระดาษ Foil สำหรับบรรจุเค็กต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ต้องการในงานแต่งงานของชาวเยอรมนี
  • เทคนิคการพิมพ์ heat shrink sleeves ยังคงเป็นที่นิยมและครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 12 สำหรับฉลากสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวอีกร้อยละ 4.5 — 5 ต่อปี และมีแนวโน้มความนิยมจนถึงปี 2558 สำหรับวัสดุที่นิยมได้แก่ polyvinyl chloride (PVC), glycol-modified polyethylene terephthalate, PET-G, polylactide (PLA)
  • บริษัท Doehler ได้เสนอสีธรรมชาติ natural colors ใช้ในการทำอาหารซึ่งทำจากแครอทสีดำ black carrots และไม่มีสารเคมีตกค้างตรงตามความต้องการของการติดฉลาก clean labeling และสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก
ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. สินค้าที่นำเข้าสู่สหภาพยุโรป จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและมีใบรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยต่างๆ จากหน่วยงานตรวจสอบที่ได้รับการยอมรับของสหภาพยุโรป เช่น GLOBALGAP, Food Safety เป็นต้น ซึ่งหากตรวจพบสินค้าว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพของพลเมืองในทวีปยุโรป มีสารเคมีปนเปื้อน สินค้าจะถูกทำลายหรือส่งกลับประเทศ หรือการให้รายละเอียดบนฉลากสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้บริโภคไม่ครบถ้วนก็อาจเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถส่งออกสินค้ามาสู่สหภาพยุโรปได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะศึกษาเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นประโยชน์ รวมถึงข้อบังคับและกฎระเบียบการติดฉลากสินค้าอาหารและเครื่องดื่มให้เข้าใจชัดเจน เพื่อนำมาประยุกต์และพัฒนาขบวนการผลิตสินค้าไทยให้มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานสินค้ายุโรปและนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยต่อไป

2. การลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม (PET) และใช้พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตและบรรจุภัณฑ์ (Bio Plactic) หรือการการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก (Recycled Content) เป็นส่วนผสมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสในการดึงดูดลูกค้าให้หันมาซื้อสินค้าอาหารไทยและมีส่วนช่วยในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกทั้งในทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีวัตถุดิบที่มีศักยภาพ ได้แก่ อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะนำผลิตพลาสติกชีวภาพได้เป็นอย่างดี ดังนั้นภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน เพื่อสร้างศักยภาพการบรรจุภัณฑ์พลาสติกของไทยให้เป็นที่ยอมรับและสนองความต้องการของตลาดโลกในระยะยาวต่อไป

3. เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยที่สูง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดสินค้าการรับจ้างผลิต (OEM) ของไทยยังไม่สามารถสู้กับสินค้าของคู่แข่งในเอเชียได้ เช่น จีน และเวียดนาม เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีใหม่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเป็นหลัก

4. ประชากรชาวเยอรมนีส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าอาหารเป็นอย่างยิ่ง โดยเน้นเรื่องคุณค่าทางอาหารเป็นหลัก จึงเป็นโอกาสของสินค้าอาหารไทยที่จะนำสมุนไพรต่างๆ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่จะต้องชี้แจงคุณสมบัติและประโยชน์ทางโภชนาการ ให้ประชาชนชาวเยอรมนีทราบ เพื่อกระตุ้นให้ซื้อและบริโภคสินค้าอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น

5. ผู้ผลิต / ผู้ประกอบการไทยควรหาโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการจัดแสดงสินค้าเครื่องจักรที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุด นำไปใช้ในขบวนการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดแสดงเครื่องจักรสำหรับการบรรจุภัณฑ์อาหารที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรมแขนงนี้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีล่าสุดนี้ ไปใช้ผลิตสินค้าและประยุกต์ใช้งานต่อไป งานแสดงสินค้าที่น่าสนใจ ได้แก่

5.1 งานแสดงสินค้า Anuga FoodTec ณ เมืองโคโลญจน์

5.2 งานแสดงสินค้า Interpack ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ

**********************************************************************************

จัดทำโดย นายอาทิตย์ กองเกตุ ผู้ช่วยดำเนินการฯ คนที่ 1

สคต.แฟรงก์เฟิร์ต

เมษายน 2555

งานแสดงสินค้า Anuga FoodTec

งานแสดงสินค้า Anuga FoodTec เป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องจักรที่ผลิตและแปรรูปอาหาร รวมถึงเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจรที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมีผู้จัดงานคือ K?lnmesse (เป็นองค์กรบริหารแบบเอกชน แต่มีเครือข่ายสนับสนุนจากภาครัฐ และเป็นผู้ร่วมจัดงาน Thaifex) นับเป็นงานที่ผู้ผลิตในวงการอุตสาหกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจะพลาดไม่ได้ เพราะมีการจัดแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อใช้ในขบวนการผลิตสินค้าตามโรงงานต่างๆ งานนี้จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมเป็นประจำทุกๆ 3 ปี จัดแสดงที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม 2555 และจัดแสดงเป็นครั้งที่ 6 มีการจัดแสดงตามกลุ่มประเภทสินค้าที่สำคัญ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

(1) Process Technology

(2) Packaging Technology

(3) Food Safety and Quality Management

งาน Aunga FoodTEC นี้มีพื้นที่แสดงสินค้ากว่า 120,000 ตารางเมตร มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 1,300 รายจาก 35 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 16 โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากประเทศเยอรมนีจำนวน 646 รายคิดเป็นร้อยละ 49.69 และจากต่างประเทศจำนวน 654 รายหรือร้อยละ 51.31 ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด ประเทศที่เข้าร่วมงานมากใน 5 อันดับแรกของยุโรปนอกจากเยอรมนี ได้แก่ อิตาลี 164 ราย เนเธอร์แลนด์ 88 ฝรั่งเศส 59 ราย เดนมาร์ก 44 รายและสหราชอาณาจักร 33 ราย นอกจากนี้ยังมีประเทศที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรและการบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจากเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน 15 ราย และจีน 12 ราย

ในปี 2555 มีผู้ชมงานที่เป็นนักธุรกิจและผู้ผลิตในวงการอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 34,000 ราย (ร้อยละ 65.4 มาจากต่างประเทศ) ผู้ชมงาน 5 อันดับแรกมาจากประเทศเยอรมนี อิตาลี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย

การเข้าเยี่ยมชมงาน Anuga FoodTec จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าไทยจะได้เรียนรู้ ศึกษาและนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้ในขบวนการผลิต สินค้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและรักษาคุณค่าทางโภชนาการพิ่มมากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยเข้าสู่สหภาพยุโรป และนำรายได้กลับสู่ประเทศไทยต่อไป

************************************************************************************

งานแสดงสินค้า Interpack

งานแสดงสินค้า Interpack เป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร รวมถึงเครื่องจักรกลสำหรับการผลิตขนมและของหวานต่างๆ และวัตถุดิบสำหรับการบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมีผู้จัดงานคือ Messe D?sseldorf นับเป็นงานที่ผู้ผลิต ในวงการอุตสาหกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มต้องให้ความสนใจ เพราะจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุด มาใช้ในขบวนการบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ งาน Interpack นี้จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมเป็นประจำทุกๆ 3 ปี จัดแสดงที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี โดยจะจัดงานครั้งหน้า ระหว่างวันที่ 8 -14 พฤษภาคม 2555 แยกการจัดแสดงตามกลุ่มประเภทสินค้าที่สำคัญ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

(1) Processes and machinery for the packaging

(2) Packaging Materials

(3) Processes and machinery for confectionery and bakery

(4) Services

งาน Interpack นี้มีพื้นที่แสดงสินค้ากว่า 175,000 ตารางเมตร มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น 2,703 รายจาก 59 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากประเทศเยอรมนีจำนวน 805 รายคิดเป็นร้อยละ 29.78 และจากต่างประเทศจำนวน 1,898 รายหรือร้อยละ 70.22 ของผู้ร่วมแสดงสินค้าทั้งหมด

ในปี 2553 มีผู้ชมงานที่เป็นนักธุรกิจและผู้ผลิตในวงการอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 166,000 ราย (ร้อยละ 60 มาจากต่างประเทศ) ผู้ชมงาน 5 อันดับแรกมาจากประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี และเบลเยี่ยม การเข้าเยี่ยมชมงาน Interpack จึงเป็นโอกาสที่ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าไทยจะได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเรื่องการบรรจุภัณฑ์สินค้าไทยให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ถูกต้องตามกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของสหภาพยุโรปต่อไป

*******************************************************************************


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ