ตลาดปลาสวยงามของสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 19, 2012 17:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลาดปลาสวยงามของสหรัฐ

ปลาสวยงามเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในสหรัฐฯ จากการสำรวจเจ้าของสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯในปี ๒๐๑๑ ของ American Pet Products Association (APPA) พบว่าประมาณร้อยละ ๔๐ เลี้ยงปลาสวยงาม ส่วนใหญ่ของตลาดปลาเลี้ยงสวยงามของสหรัฐฯเป็นปลาน้ำจืด เป็นปลาที่ได้รับความนิยมและมีวางจำหน่ายมากที่สุดในสหรัฐฯคือNeon Tetras, Angelfish, Betta (Siamese Fighting Fish), Kissing Gourami, Guppy (Fantail), Oscar, Mollies, Zebra Danios, Jack Dempsey, Swordtail Platy, Cichlids, และ Discus แหล่งอุตสาหกรรมธุรกิจการค้าและการนำเข้าปลาเลี้ยงที่สำคัญของสหรัฐฯคือรัฐแคลิฟอร์เนีย

แหล่งอุปทาน

ครึ่งหนึ่งของอุปทานปลาสวยงามในตลาดสหรัฐฯมาจากแหล่งเลี้ยงในสหรัฐฯและอีกครึ่งหนึ่งมาจากแหล่งอุปทานส่งออกจากประเทศในเอเซีย ปลาสวยงามที่เป็น tropical fish ที่มาจากแหล่งเพาะเลี้ยงในสหรัฐฯเกือบจะทั้งสิ้นมาจากภาคใต้ของรัฐฟลอริด้าประมาณร้อยละ ๙๐ - ๙๕ ของ tropical fish ที่จำหน่ายในร้านขายสัตว์เลี้ยงที่เป็น franchise ของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ มาจากรัฐฟลอริด้า แหล่งผลิตในสหรัฐฯ

สภาวะอากาศร้อนชื้นแบบเมืองร้อนและความอุดมสมบูรณ์ของน้ำทำให้รัฐฟลอริด้าเป็นรัฐที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฟาร์มผลิตปลาเลี้ยงที่เป็น tropical fish ของสหรัฐฯ อุตสาหกรรมฟาร์มผลิตปลาเลี้ยงของรัฐฟลอริด้ามีอายุประมาณ ๗๐ ปี และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทำรายได้หลักให้แก่รัฐ สถิติครั้งล่าสุดในปี ๒๐๐๗ ระบุยอดจำหน่ายว่าเท่ากับ ๓๒.๒ ล้านเหรียญฯ สินค้าที่มีปริมาณการจัดส่งทางอากาศออกจากสนามบิน Tampa International Airport มากเป็นอันดับหนึ่งคือ tropical fish

ฟลอริด้ามีฟาร์มผลิตปลาและไม้น้ำที่มีใบอนุญาตประกอบการกว่า ๒๐๐ ฟาร์มอยู่รวมกันหนาแน่นในบริเวณเมืองTampa แต่ละฟาร์มมีขนาดระหว่าง ๕ - ๑๐๐ เอเคอร์ และเป็นการขุดบ่อเลี้ยงบนพื้นดิน รองลงมาเป็นแหล่งเลี้ยงในเมืองไมอามี่ แต่ละฟาร์มมีขนาดระหว่าง ๑ - ๕ เอเคอร์ เป็นการเลี้ยงในบ่อคอนกรีตเหนือพื้นดิน จำนวนบ่อเลี้ยงปลาในแต่ละฟาร์มมีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย ทั้งที่เป็นการเลี้ยงกลางแจ้งและที่เป็นการเลี้ยงใน greenhouse ภาคธุรกิจนี้มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมีการจัดตั้ง Florida Tropical Fresh Farm Association คอยดูแลสมาชิกซึ่งปัจจุบันมีประมาณ ๒๓๑ ราย

นอกจากจะเป็นแหล่งฟาร์มเลี้ยงแล้ว รัฐฟลอริด้ายังเป็นแหล่งธุรกิจ transshipper ของปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากอเมริกาใต้และอาฟริกาที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ

ศักยภาพของแหล่งเลี้ยงในประเทศสหรัฐฯในการเป็นคู่แข่งขันกับสินค้านำเข้า

ศักยภาพในการเป็นคู่แข่งขันกับสินค้านำเข้าของปลาจากแหล่งเลี้ยงในสหรัฐฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฟลอริด้า

๑.ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับสูงมาก เงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนคือค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจะสามารถกระทำได้ในราคาที่ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการขนส่ง สินค้านำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบัน ในกรณีที่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเท่ากัน ผู้ประกอบการในรัฐฟลอริด้าได้เปรียบในเรื่องของมูลค่าสินค้าเพราะสามารถส่งสินค้าปลาที่มีขนาดใหญ่ได้ในจำนวนที่มากกว่าสินค้านำเข้า เพราะจะได้เปรียบในเรื่องของน้ำหนักสินค้า

๒.ความได้เปรียบในเรื่องระยะทางขนส่งทำให้ส่วนใหญ่ของปลาจากรัฐฟลอริด้าจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมวางจำหน่ายได้เร็วกว่า ในขณะที่ปลานำเข้าจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูให้ฟื้นจากการเดินทางในระยะไกลเป็นระยะเวลานานกว่าเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมจำหน่ย

๓.ความได้เปรียบในเรื่องความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าหลังจากได้รับคำสั่งซื้อที่ในบางครั้งสามารถกระทำได้ภายในเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมง

๔.ความได้เปรียบในเรื่องของความสามารถที่จะจัดส่งสินค้าให้ได้ตามชนิดขนาด และจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องมี "minimum order"

๕.ความได้เปรียบในเรื่องความช่วยเหลือจากภาครัฐและจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง University of Florida ที่ให้การสนับสนุนที่เป็นข้อมูลเทคโนโลยี่การเลี้ยง การวิเคราะห์วิจัยต่างๆ เพื่อให้ได้ปลาที่มีคุณภาพหรือปลาสายพันธุ์ใหม่ๆทำให้ผู้ผลิตในรัฐฟลอริด้าได้ เปรียบผู้ผลิตในหลายๆประเทศ นอกจากนี้ยังได้เปรียบในเรื่องของสามารถเข้าถึงอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพได้โดยสะดวก

๖.ความสามารถที่จะตอบสนองลูกค้า เนื่องจากรัฐฟอริด้ามีปลาน้ำจืดเสนอขายถึงกว่า๘๐๐ สายพันธุ์ พืชน้ำอีกประมาณ ๒๐๐ สายพันธุ์ และสัตว์น้ำและครึ่งบกครึ่งน้ำประเภทอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองสหรัฐฯและที่เป็นสายพันธุ์ของประเทศต่างๆ

๗.ได้เปรียบในเรื่องความเร็วในการรับรู้ข้อมูลตลาดการค้าที่รวมถึงชนิดของปลาที่กำลังได้รับความนิยมสูงในตลาดในแต่ละช่วงเวลา ในปี ๒๐๑๐ รัฐฟลอริด้าประสบปัญหาอากาศหนาวจัดผิดปกติส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรม การเลี้ยงและการผลิตปลา tropical fish มีรายงานความสูญเสียว่าสูงเกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ เปิดโอกาสให้ปลานำเข้าจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาแทนที่ในตลาด แหล่งอุปทานนำเข้า

ในบรรดาสัตว์เลี้ยงที่สหรัฐฯนำเข้า ปลาสวยงามเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีการนำเข้าสหรัฐฯมากที่สุด และส่วนใหญ่ของปลาสวยงามนำเข้าจะเป็นปลาน้ำจืดนำเข้าจากแหล่งอุปทานในเอเซีย

ในปี ๒๐๑๑ สหรัฐฯนำเข้าปลาสวยงามเป็นมูลค่า ๓๗.๒ ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็นมูลค่านำเข้าปลาทอง ๓.๕ ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ ๗.๑๗ และมูลค่านำเข้าปลาคราพ (Koi) ๒.๖๕ ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๗๔ ที่เหลือเป็นการนำเข้าปลาสายพันธุ์อื่นๆที่ไม่มีการระบุแยกชนิดของปลา

สถิตินำเข้าปลาสวยงามของสหรัฐฯเรียงตามลำดับแหล่งอุปทานในระหว่างปี ๒๐๐๙ - ๒๐๑๑

______________________________________________________________________________________

          แหล่งอุปทาน          มูลค่านาเข้า (ล้านเหรียญฯ)      ส่วนแบ่งตลาด (ร้อยละ)          % เปลี่ยนแปลง

มกราคม — ธันวาคม

                              ๒๐๐๙   ๒๐๑๐    ๒๐๑๑       ๒๐๐๙    ๒๐๑๐    ๒๐๑๑             ๑๑/๑๐

______________________________________________________________________________________

          ทั่วโลก              ๓๙.๐๖  ๓๗.๒๓   ๓๗.๒๐     ๑๐๐.๐๐  ๑๐๐.๐๐  ๑๐๐.๐๐             -๐.๐๖
          ๑. สิงค์โปร์           ๗.๒๔   ๗.๕๓    ๘.๐๓      ๑๘.๕๗   ๒๐.๒๔   ๒๑.๕๘              ๖.๕๕
          ๒. ไทย              ๖.๖๓   ๖.๕๗    ๗.๒๓      ๑๖.๙๗   ๑๗.๖๖   ๑๙.๔๔             ๑๐.๐๕
          ๓. อินโดนิเซีย         ๕.๒๐   ๔.๗๒    ๔.๓๖      ๑๓.๓๑   ๑๒.๖๘   ๑๑.๗๖             -๗.๓๐
          ๔. ศรีลังกา           ๒.๘๐   ๒.๔๖    ๒.๘๒       ๗.๑๗    ๖.๖๐    ๗.๕๘             ๑๔.๘๘
          ๕. ฟิลิปปินส์           ๒.๗๐   ๒.๓๐    ๒.๒๕       ๖.๙๓    ๖.๑๗    ๖.๐๔             -๒.๑๙
          ๖. ฮ่องกง            ๑.๕๕   ๑.๗๘    ๑.๘๖       ๓.๙๖    ๔.๗๙    ๕.๐๐              ๔.๒๖
          ๗. ญี่ปุ่น              ๑.๘๗   ๒.๐๐    ๑.๗๖       ๔.๗๘    ๕.๓๗    ๔.๗๒            -๑๒.๒๒
          ๘. ไต้หวัน            ๑.๐๗   ๑.๑๑    ๑.๓๗       ๒.๗๕    ๒.๙๘    ๓.๖๙             ๒๓.๖๒
          ๙. มาเลเซีย          ๑.๐๒   ๐.๗๙    ๐.๙๑       ๒.๖๐    ๒.๑๒    ๒.๔๕             ๑๕.๒๑
          ๑๐. จีน              ๑.๒๘   ๑.๒๔    ๐.๘๕       ๓.๒๙    ๓.๓๒    ๒.๓๐            -๓๐.๘๒

______________________________________________________________________________________

สถิตินำเข้าปลาทองของสหรัฐฯเรียงตามลำดับแหล่งอุปทานในระหว่างปี ๒๐๐๙ - ๒๐๑๑

______________________________________________________________________________________

          แหล่งอุปทาน          มูลค่านาเข้า (ล้านเหรียญฯ)      ส่วนแบ่งตลาด (ร้อยละ)          % เปลี่ยนแปลง

มกราคม — ธันวาคม

                              ๒๐๐๙   ๒๐๑๐    ๒๐๑๑       ๒๐๐๙    ๒๐๑๐    ๒๐๑๑             ๑๑/๑๐

______________________________________________________________________________________

          ทั่วโลก               ๔.๒๑   ๓.๗๗    ๓.๕๐     ๑๐๐.๐๐  ๑๐๐.๐๐   ๑๐๐.๐๐            -๗.๑๗
          ๑. ฮ่องกง            ๐.๘๔   ๐.๙๙    ๑.๑๒      ๑๙.๙๑   ๒๖.๔๑    ๓๑.๘๔            ๑๑.๙๑
          ๒. สิงค์โปร์           ๑.๐๗   ๐.๙๔    ๑.๐๕      ๒๕.๔๒   ๒๔.๘๑    ๒๙.๙๘            ๑๒.๑๗
          ๓. ไทย              ๑.๐๔   ๐.๙๒    ๐.๕๗      ๒๔.๗๘   ๒๔.๔๘    ๑๖.๓๓           -๓๘.๐๗
          ๔. จีน               ๐.๙๓   ๐.๖๑    ๐.๕๑      ๒๒.๐๒   ๑๖.๑๖    ๑๔.๕๖           -๑๖.๓๗

______________________________________________________________________________________

สถิตินำเข้าปลาคราพ (Koi) ของสหรัฐฯเรียงตามลำดับแหล่งอุปทานในระหว่างปี ๒๐๐๙ - ๒๐๑๑

______________________________________________________________________________________

          แหล่งอุปทาน          มูลค่านาเข้า (ล้านเหรียญฯ)      ส่วนแบ่งตลาด (ร้อยละ)          % เปลี่ยนแปลง

มกราคม — ธันวาคม

                              ๒๐๐๙   ๒๐๑๐    ๒๐๑๑       ๒๐๐๙    ๒๐๑๐    ๒๐๑๑            ๑๑/๑๐

______________________________________________________________________________________

          ทั่วโลก               ๒.๔๕   ๒.๕๒    ๒.๖๔     ๑๐๐.๐๐  ๑๐๐.๐๐  ๑๐๐.๐๐            ๔.๔๗
          ๑. ญี่ปุ่น              ๑.๗๕   ๑.๘๓    ๑.๖๐      ๗๑.๒๕   ๗๒.๖๘   ๖๐.๖๘          -๑๒.๕๕
          ๒. มาเลเซีย          ๐.๓๘   ๐.๔๓    ๐.๕๖      ๑๕.๔๕   ๑๖.๙๔   ๒๑.๐๕           ๓๐.๑๖
          ๓. ไทย              ๐.๐๗   ๐.๐๕    ๐.๑๔       ๒.๖๔    ๒.๑๐    ๕.๓๒          ๑๖๖.๑๐
          ๔. ไต้หวัน            ๐.๑๑   ๐.๐๙    ๐.๑๓       ๔.๓๓    ๓.๔๓    ๔.๙๖           ๕๑.๕๘

______________________________________________________________________________________

จุดขนถ่ายสินค้านำเข้าในสหรัฐฯ

ปลาเลี้ยงนำเข้าจะขนถ่ายขึ้นสหรัฐฯได้เฉพาะท่านำเข้าที่สหรัฐฯกำหนดไว้เท่านั้นคือท่านำเข้าที่เมือง Atlanta, Baltimore, Boston, Chicago, Dallas/Ft. Worth, Honolulu, Los Angeles, Miami, New Orleans, New York/Newark, Portland, San Francisco, และ Seattle หากมีความจำเป็นต้องนำเข้าที่ท่านำเข้าอื่นอาจจะยื่นคำร้องขอกับหน่วยงาน U.S. Fish and Wildlife Service ได้ในปี ๒๐๑๑ เกินกว่าครึ่งหรือประมาณร้อยละ ๖๖ ของมูลค่านำเข้าสหรัฐฯรวมทั้งสิ้นของสินค้าปลาเลี้ยงผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ร้อยละ ๑๑ ผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรซาวาน่า รัฐจอร์เจีย ร้อยละ ๖ ผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรนครนิวยอร์ค และร้อยละ ๕ ผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรไมอามี่ ร้อยละ ๖๗ ของมูลค่านำเข้าปลาทองผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส และร้อยละ ๒๕ ผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรนครนิวยอร์ค ร้อยละ ๔๔ ของมูลค่านำเข้าปลาคราพผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ร้อยละ ๒๓ ผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรนครนิวยอร์ค ร้อยละ ๑๔ ผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก และร้อยละ ๑๒ ผ่านขึ้นที่ด่านศุลกากรฮอนโนลูลู ภาษีนำเข้าปลาเลี้ยงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ แต่ผู้นำเข้าอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจัดการให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ และต้องจ่ายชำระค่าธรรมเนียมการตรวจหรือ"user fees" ให้แก่ U.S. Fish and Wildlife Service (USFWS) ค่าธรรมเนียมนี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละด่านนำเข้า การทำบรรจุภัณฑ์ส่งออก บนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่นำเข้าสหรัฐฯจะต้องระบุชื่อและที่อยู่ของshipper และ consignee ชื่อและสายพันธุ์ของปลาและจำนวนปลา ระบบการกระจายสินค้า ปลาที่ผ่านขึ้นที่ด่านนำเข้าและผ่านขบวนการตรวจของ USFWS และศุลกากรแล้ว จะถูกนำเข้าสู่ขบวนการปรับสภาพอากาศเพื่อให้ปลาปรับตัวเข้ากับอากาศนอกถุงที่ปลาถูกจัดส่งมาหลังจากนั้นการกระจายสินค้าปลาจะเกิดขึ้นทางใดทางหนึ่งใน ๒ ทาง คือ

(ก)ถูกปล่อยลงแท๊งของผู้ค้าส่ง ปลาเหล่านี้เรียกว่าเป็น "wholesale fish" หรือ

(ข)ถูกนำไปบรรจุใหม่และจัดส่งต่อออกไปโดยทันทียังผู้ค้าส่งหรือร้านที่อยู่ไกลออกไปในพื้นที่หรือมลรัฐอื่นๆปลาเหล่านี้เรียกว่าเป็น"tans-shipped fish" มีประมาณการณ์จำนวนผู้ค้าส่งในนครลอสแอนเจลิสว่ามีไม่เกิน ๑๒ ราย และมีประมาณการณ์ว่าผู้ ประกอบธุรกิจเป็น trans-shippers ในสหรัฐฯมีจำนวนหลายร้อยราย โดยปกติแล้วปลา "wholesale fish" จะมีราคาแพงกว่า ปลา "trans-shipped fish" หน่วยงานควบคุม

หน่วยงานควบคุมหลัก คือ U.S. Fish and Wildlife Service USFWS (www.fws.gov) และหน่วยงาน US Customs (www.customs.gov) ที่จะทำการตรวจสินค้านำเข้าเพื่อพิจารณามูลค่าสินค้าและเรียกเก็บภาษีถ้าจำเป็น

ตามกฎหมายสหรัฐฯ สัตว์ที่เกิด ผสมพันธุ์ หรือฟักตัวในที่กักขัง (breed in captivity) ถือว่าเป็นสัตว์ป่า ด้วยเช่นกัน ดังนั้นปลาเลี้ยงที่นำเข้าสหรัฐฯและการค้าปลาเลี้ยงข้ามมลรัฐ ทั้งที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติและมาจากการเพาะเลี้ยง อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงาน U.S. Fish and Wildlife Service (USFWS) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หน่วยงาน USFWS จะทำหน้าที่

๑.ออกใบอนุญาตนำเข้า ผู้นำเข้าปลาเลี้ยงจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าสัตว์ป่าออกให้โดย USFWS และในการนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องกรอกฟอร์ม Importation or Exportation of Fish or Wildlife (Form 3-177)

๒.ตรวจสอบสินค้าปลาเลี้ยงนำเข้าสหรัฐฯที่ด่านนำเข้า อาจจะหมายถึงการเปิดตู้ขนส่งดูสินค้าหรือการตรวจเอกสารแต่เพียงอย่างเดียว ผู้นำเข้าจะต้องติดต่อ USFWS ที่ด่านนำเข้าแจ้งการเดินทางมาถึงของสินค้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนที่สินค้าจะเดินทางมาถึงท่านำเข้า

๓.กำหนดด่านนำเข้าสัตว์ป่ารวมถึงปลาเลี้ยง ด่านนำเข้าเหล่านี้ได้แก่ Anchorage รัฐอลากส้า Atlanta รัฐจอร์เจีย Chicago รัฐอิลินอยส์ Los Angeles รัฐแคลิฟอร์เนีย Miami รัฐฟลอริด้า และ New Orleans รัฐหลุยเซียน่า การนำเข้าที่ด่านอื่นๆที่USFWS ไม่ได้กำหนดให้เป็นด่านนำเข้าสามารถกระทำได้ถ้าสินค้าที่นำเข้าไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตนำเข้า(ในกรณีที่ไม่ได้นำเข้าเพื่อการค้า)ผู้นำเข้ายื่นคำร้องและได้รับอนุญาตจากUSFWS และด่านนั้นมีเจ้าหน้าที่ของ USFWS ประจำและมีความ สามารถที่จะตรวจปลาได้

๔.กำหนดห้ามค้าสัตว์น้ำและปลาบางสายพันธุ์ที่สหรัฐฯกำหนดว่าเป็น "injurious wildlife" และอยู่ใต้การคุ้มครองของกฎหมาย Lacey Act ห้ามการนำเข้าสหรัฐฯและการค้าในสหรัฐฯหรือการค้าข้ามมลรัฐ สัตว์น้ำที่สหรัฐฯมีกฎหมายควบคุมห้ามการนำเข้า เช่น walking catfish, mitten crabs, zebra mussels, snakehead fishes และ Arowana

๕.ออกใบอนุญาตการค้า ผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกจะต้องมีใบอนุญาตประกอบการค้าสัตว์มีชีวิต นอกจากหน่วยงาน USFWS ของรัฐบาลกลางแล้ว การค้าสัตว์นำเข้ายังอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบของแต่ละมลรัฐที่อาจจะมีเพิ่มเติมขึ้นจากกฎหมายและกฎระเบียบของรัฐบาลกลาง แต่ละมลรัฐอาจจะมีข้อห้ามการนำเข้าไปยังมลรัฐปลา ไข่ปลา หรือตัวอ่อนปลาบางสายพันธุ์ที่กฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯไม่ห้ามการนำเข้า แต่ละมลรัฐอาจจะห้ามค้าปลีกปลาเลี้ยงบางสายพันธุ์ หรือกำหนดให้ผู้นำเข้าและผู้ค้าจดทะเบียนไว้กับมลรัฐ กรณีตัวอย่างเช่น ในกลางปี ๒๐๑๑ เมืองซานฟรานซิสโกพยายามจะออกกฎหมายห้ามธุรกิจค้าปลีกสัตว์เลี้ยงตั้งอยู่ในเขตเมือง ห้ามการค้าสัตว์เลี้ยงสุนัข แมว หนูถีบจักร และปลาที่มาจากการเพาะเลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทอง ปลาสายพันธุ์ Betta และ Guppy

ปัญหาและอุปสรรค

๑.ตลาดหลักของการบริโภคปลาเลี้ยงคือเด็กและคนหนุ่มสาว ปัจจุบันทัศนะคติการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มนี้เปลี่ยนไป รูปแบบของงานอดิเรกและการใช้เวลาว่างเปลี่ยนไปเช่นกัน ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสนใจกับการเล่นอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ใหม่ๆมากกว่าการเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรก

๒.ร้านค้าปลีกปลาสวยงามในตลาดสหรัฐฯที่เป็นร้านขนาดเล็กมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆตลาดค้าปลีกถูกถือครองโดยร้านค้าปลีกที่เป็นสาขาของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่เรียกว่า big box chain stores เพียงสองราย บริษัทธุรกิจที่ครองตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงคือ

ก.PetSmart, Inc., 19601 N. 27 th Avenue, Phoenix, AZ 85027, Tel: 623 580-6100, www.phx.corporate-ir.net เป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง (รวมถึงปลาเลี้ยงทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม) ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีสาขาทั่วสหรัฐฯ คานาดา และปัวโตริโก้ ประมาณ ๑,๒๓๒ สาขา ยอดจำหน่ายสินค้าและบริการในไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๐๑๑ ประมาณ ๑.๖ พันล้านเหรียญฯ ยอดจำหน่ายของทั้งปี ๒๐๑๑ ประมาณ ๖.๑ พันล้านเหรียญฯ มีประมาณการณ์ว่าในปี ๒๐๑๒ บริษัทฯมีส่วนแบ่งในตลาดการค้าสินค้าและบริการสัตว์เลี้ยงประมาณร้อยละ ๔๔.๓

ข.PETCO Animal Supplies Inc. เป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง (รวมถึงปลาเลี้ยงน้ำจืดและน้ำเค็ม) ใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นบริษัทส่วนบุคคลจึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายได้ และเป็นบริษัทเดียวที่มีสาขาอยู่ในทุกมลรัฐทั่วสหรัฐฯจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๑๐๐ แห่ง ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๒๐.๗

๓.ร้าน big box chain stores มีปลาวางจำหน่ายน้อยและเป็นปลาพื้นๆราคาถูกสำหรับเด็กหรือคนเริ่มต้นเลี้ยงปลา ในขณะที่ร้านขายปลาโดยเฉพาะที่เป็น independently own จะมีชนิดของปลาให้เลือกมากกว่าและปลามีราคาแพงกว่า แต่ร้านเหล่านี้มีจำนวนน้อยมากและส่วนใหญ่จะไม่ทำการนำเข้าเอง

๔.ธุรกิจการค้าปลาเลี้ยงเป็นธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุนสูงและต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ เป็นอุปสรรคต่อนักธุรกิจรายใหม่ๆที่ต้องการเข้าสู่ตลาด ดังนั้นการเติบโตของตลาดค้าปลีกจึงอยู่ในระดับต่ำมากซึ่งหมายถึงจำนวนผู้รับซื้อปลาที่มีจำนวนจำกัด ส่งผลทำให้การตลาดค้าส่งปลา tropical ในสหรัฐฯมีการแข่งขันกันสูงมาก

๕.เนื่องจากตลาดมีขนาดเล็กการแข่งขันในตลาดนำเข้าจึงอยู่ในระดับที่สูงมาก นอกจากจะเป็นการแข่งขันกันเองระหว่างผู้ส่งออกแล้วยังจะต้องแข่งขันกับผู้ผลิตปลาเลี้ยงภายในประเทศสหรัฐฯด้วย ๖.ข้อมูลตลาดรวมถึงข้อมูลการบริโภคมีน้อย

โอกาส

โอกาสที่จะช่วยให้สามารถประสบความสำเร็จในตลาดได้คือ

๑.ความสามารถที่จะนำเสนอปลาหลากหลายสายพันธุ์ให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯเลือก เนื่องจากสหรัฐฯเป็นประเทศใหญ่มากและผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่จะนิยมปลาเลี้ยงต่างชนิดกัน อย่างไรก็ดี สำหรับผู้บริโภคทั่วไปแล้วเงื่อนไขหลักในการเลือกชนิดของปลาคือสี ความง่ายในการเลี้ยงและการดูแลรักษา และราคา สำหรับผู้บริโภคที่เป็นนักเล่นปลาอย่างแท้จริงจะสนใจเลือกซื้อปลาพันธุ์ที่หายากหรือปลาแปลกๆ เช่น ปลาที่ผ่านการผสมพันธุ์ด้วยเทคโนโลยี่ใหม่ๆ เช่น ปลาเรืองแสง (Fluorescent Fish) หรือ GloFish ฎ เป็นต้น

๒. เงื่อนไขที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันที่ผู้ส่งออกจะต้องนำไปพิจารณาเพื่อหาโอกาสในการ แข่งขันในตลาด คือ -การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสินค้า -กรรมวิธีการขนส่งปลาที่จะลดจำนวนปลาตายในระหว่างการขนส่งให้มากที่สุด และที่จะช่วยรักษาคุณภาพของปลาไว้ได้อย่างดีที่สุดเมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง

๓.ใช้ประโยชน์สื่ออิเลคโทรนิกส์อินเตอร์เน็ทในการนำเสนอสินค้าทางไกลให้ผู้ซื้อในสหรัฐฯได้ทราบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครลอสแอนเจลิส

๔ เมษายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ