ตลาดปลาสวยงามของเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 20, 2012 14:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลาดปลาสวยงามของเวียดนาม

เวียดนามตั้งอยู่บนพื้นที่ ๑ ใน ๓ ของแหล่งผลิตปลาสวยงามที่มีชื่อเสียงของโลก คือ อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งมีแม่น้ำหลายสายที่ตัดผ่านกันในประเทศ จึงสามารถเพาะเลี้ยงและผสมพันธุ์ปลาสวยงามที่หายากและมีมูลค่าสูงในทุกชนิดของน้ำ เช่นน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำอุ่นและน้ำจืด เพื่อการค้าทั้งในประเทศและการส่งออก ปลาสวยงามของเวียดนามจำนวนมากที่สามารถชนะการแข่งขันในการประกวดระดับโลก

การผลิต

ธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อการค้าของเวียดนาม เป็นธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามใช้เป็นโครงการสำหรับลดการว่างงาน เสริมรายได้เพื่อลดความยากจนของประชาชน มากกว่าจะสนับสนุนให้เป็นธุรกิจจริงจัง เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ผลิตรายย่อยและเรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงด้วยตนเอง มีบางรายใช้ทุนส่วนตัวเข้ารับการฝึกอบรมในต่างประเทศ แต่โดยที่พื้นที่ตั้งของประเทศมีความเหมาะสม มีแหล่งน้ำจำนวนมาก และมีอาหารตามธรรมชาติที่เพียงพอ ให้ฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงามหลายร้อยสายพันธุ์ขยายตัวทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ กรุงฮานอย นครไฮฟอง จังหวัดกว๋างนินห์ นครดานัง เมืองนาจาง จังหวัดบาเรีย — หวุงเต่า และพื้นที่เพาะเลี้ยงที่สำคัญที่สุดคือนครโฮจิมินห์

ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงามเฉพาะในนครโฮจิมินห์มีจำนวนผู้เลี้ยงเกือบ ๖๐๐ ครัวเรือน ซึ่งในจำนวนนี้ ๒๐๐ ครัวเรือนเลี้ยงเพื่อการส่งออก และมีร้านค้าเล็กๆ ที่ขายปลาสวยงามประมาณ ๕๐๐ ร้าน

ในปี ๒๕๕๔ นครโฮจิมินห์ผลิตปลาสวยงามได้ ๖๕ ล้านตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ๘.๓% และสมาคมปลาสวยงามนครโฮจิมินห์(Hochiminh City Ornamental Fish Association) ซึ่งดำเนินการภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม มีสมาชิกประมาณ ๘๐๐ คน ได้พยายามปรับปรุง การผลิตโดยทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผสมเทียม และทดลองให้อาหารเทียมที่ผลิตขึ้นเพื่อการเพิ่มเม็ดสีในตัวปลา

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงามประสบปัญหาความไม่แน่นอนของตลาด ทำให้บางช่วงจำนวนปลามีมากเกินความต้องการและบางช่วงขาดตลาด เกษตรกรจึงไม่กล้าขยายการลงทุนให้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่

แผนการพัฒนาการเลี้ยงปลาสวยงามของเวียดนาม นครโฮจิมินห์ ได้กำหนดแผน ๕ ปีของการพัฒนาธุรกิจการเลี้ยงปลาสวยงาม (๒๕๕๔ — ๒๕๕๘) คือ
  • จะมุ่งเน้นพัฒนาแหล่งเพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่ได้กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตกู๋จี (Cu Chi) และบิ่นห์ ชั้น (Binh Chanh)
  • จะสร้างโซนการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในเขตกู๋จี เพื่อการวิจัยและผสมพันธุ์ปลาสวยงามที่หายาก/ มีมูลค่าสูงรวมทั้งพัฒนาฟาร์มเลี้ยงปลาสวยงามที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการส่งออก
  • ภายในปี ๒๕๕๘ ผลผลิตปลาสวยงามในนครโฮจิมินห์จะมีถึง ๑๐๐ ล้านตัว ซึ่งจะสามารถส่งออกได้ ๒๐ — ๓๐ ล้านตัว คิดเป็นมูลค่า ๓๐ — ๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ผู้ผลิตปลาสวยงามทั้งหมดต้องมีพันธะในการควบคุมโรคของปลาสวยงามที่เลี้ยง และต้องมั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
  • นครโฮจิมินห์จะปรับปรุงและพัฒนาตลาดปลาสวยงาม ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงร้านค้าเล็กๆ บนถนน ๒ สาย ให้เป็นศูนย์การค้าปลาสวยงามของนครโฮจิมินห์
การส่งออก

ในปี ๒๕๕๔ เวียดนามส่งออกปลาสวยงามชนิดต่างๆ ไปยัง ๓๒ ประเทศ เป็นมูลค่า ๑๒ ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ๒๐% แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะสามารถส่งออกได้ถึง ๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดลูกค้าที่สำคัญ
  • ยุโรป (เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ สวิส เดนมาร์ก) มีสัดส่วนประมาณ ๖๗%
  • อเมริกา (เช่น บราซิล แคนาดา และสหรัฐฯ) มีสัดส่วนประมาณ ๑๘%
  • เอเชียแปซิฟิก (เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) มีสัดส่วนประมาณ ๑๕%
พันธุ์ปลา
  • ปลาสวยงามที่ผลิตได้มากที่สุด คือ ปลาคาร์พญี่ปุ่น ผลิตได้ถึง ๒๕% ตามด้วยปลาเจ็ดสี ๒๒%
  • หากพิจารณาด้านมูลค่า มีปลา ๕ ชนิด คือ discus fish (Symphysodon), Xiem fish, Seven—colour fish, Japanese carp และ Yellow fish มีมูลค่ารวมกันคิดเป็น ๙๐% ของมูลค่าปลาที่ผลิต
  • เป็นที่น่าสังเกตว่า ปลา discus ผลิตเพียง ๔.๑% ของผลผลิตทั้งหมด แต่มีมูลค่าถึง ๔๐.๓% ของมูลค่าปลาที่ผลิต และเริ่มเป็นปลาที่ทำกำไรจากการส่งออกมากที่สุด

ในนครโฮจิมินห์ มีผู้ส่งออกปลาสวยงามประมาณ ๑๐ ราย ส่งออกไปตลาดประชาคมเศรษฐกิจยุโรปประมาณ ๖๐% และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ ๒๕%

ระเบียบในการนำปลามีชีวิตเข้าเวียดนาม

สินค้าสัตว์น้ำมีชีวิตที่ต้องการนำเข้าประเทศเวียดนาม รวมทั้งปลาสวยงาม ต้องผ่านการตรวจโรคและได้รับอนุญาตให้นำเข้า (Quarantine import permits : QIP) จากกรมสุขอนามัยสัตว์ (Department of Animal Health) ภายใต้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ทั้งนี้ ผู้ส่งออกของไทยต้องประสานผู้นำเข้าในเวียดนามถึงกระบวนการและเอกสารที่ต้องแจ้ง เช่น ใบรับรองแหล่งกำเนิด ใบรับรองสุขอนามัยของปลามีชีวิตและการวิเคราะห์สารแอนตี้ไบโอติคที่ตกค้าง เป็นต้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาสินค้าไม่ผ่านด่านกักกัน

ข้อสังเกต/ข้อคิดเห็น

๑. ธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อการค้าของเวียดนาม เป็นธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามใช้เป็นโครงการสำหรับเสริมรายได้ ลดความยากจน ลดการว่างงานของประชาชนเขตนอกเมืองมากกว่าจะสนับสนุนให้เป็นธุรกิจจริงจัง แต่ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงามได้ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเฉพาะในนครโฮจิมินห์มีจำนวนผู้เลี้ยงเกือบ ๖๐๐ ครัวเรือน ( ในจำนวนนี้มี ๒๐๐ ครัวเรือนที่เลี้ยงเพื่อส่งออก ) ผลิตปลาสวยงามได้ปีละ ๖๕ ล้านตัว รัฐบาลเวียดนามจึงได้รับการเรียกร้องจากจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามในประเทศให้พัฒนาธุรกิจดังกล่าวให้มีความมั่นคงมากขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการส่งออก ดังนั้น โอกาสที่เวียดนามจะนำเข้าปลาสวยงามจากต่างประเทศ (รวมทั้งไทย) จึงอาจจะเป็นเพียงการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์เป็นส่วนใหญ่

๒. จากข้อมูลของสมาคมผู้เลี้ยงปลาสวยงามนครโฮจิมินห์ รัฐบาลเวียดนามไม่ได้ให้ความสนับสนุนใดๆ ทั้งในรูปของที่ดิน การใช้พื้นที่แหล่งน้ำ สินเชื่อและการหาตลาด ทำให้ธุรกิจปลาสวยงามของเวียดนามไม่สามารถทำกำไรจากการส่งออกได้มากเท่าที่พ่อค้าสิงคโปร์และไทยทำได้ปีละ ๓๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐและ ๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับและยังไม่แน่ใจว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้าเวียดนามจะสามารถทำกำไรจากธุรกิจได้มากเช่นเดียวกับพ่อค้าไทยและสิงคโปร์ จึงเป็นที่แปลกใจว่าเหตุใดตลาดส่งออกปลาสวยงามของไทย จึงมีเพียงสิงคโปร์ ขณะที่ตลาดส่งออกของเวียดนามมีถึง ๓๒ ประเทศ

๓. หากต้องการสร้างโอกาสให้ปลาสวยงามของเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์เข้าสู่ตลาดเวียดนาม ควรมีหน่วยงานเจ้าภาพที่ออกค่าใช้จ่ายในการเชิญผู้ค้าปลาสวยงามเวียดนาม เดินทางไปดูแหล่งเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม เพื่อพิจารณาคัดเลือกพันธุ์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเวียดนาม รวมทั้งดูวิธีการเพาะเลี้ยงและแหล่งเพาะเลี้ยงเพื่อให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผ่านการตรวจสอบด้านสุขอนามัยของสัตว์น้ำมีชีวิตที่จะเข้าเวียดนามโดยกรมสุขอนามัยสัตว์ (DAH) ของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม

---------------------------------------------

สคต.นครโฮจิมินห์

๑๗ เมษายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ