ตัวเลขและแนวโน้มการเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดนของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 25, 2012 14:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตัวเลขและแนวโน้มการเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดนของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ประเทศจีนได้รายงานตัวเลขการเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดน(ODI: Outbound Direct Investment)ในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่การเงิน(Non-financial sector)ของจีนหลังสิ้นสุดไตรมาสแรกปี ๒๐๑๒ ว่ามีการขยายตัวเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว กล่าวคือมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ ๙๔.๕ ซึ่งก็สอดรับกับช่วงเวลาที่ผ่านมาซึ่งจีนได้เข้าไปขยายการลงทุนโดยตรงในหลายๆประเทศไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปควบรวมกิจการหรือก่อสร้างฐานการผลิต โดยตัวเลขการลงทุนในไตรมาสแรกปี ๒๐๑๒ คิดเป็นมูลค่า ๑๖.๖๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการเข้าไปควบรวมกิจการ(Mergers and Acquisition)ร้อยละ ๔๐ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน ๖.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีขนาดการลงทุนแบบ ODI คิดเป็นอันดับ ๕ ของโลก โดยมียอดสะสม ODI ในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่การเงินทั้งสิ้น ๓๓๘.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากสถิติล่าสุดเดือนมีนาคม ๒๐๑๒ มีชาวจีนที่เซ็นสัญญาทำงานอยู่ต่างประเทศประมาณ ๘๐๙๐๐๐ คนซึ่งเพิ่มขึ้นจากมีนาคมของปีก่อนจำนวนราว ๔๐๐๐๐ คน

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของการเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดนของจีนปีนี้คาดว่าจะยังเติบโตในอัตราที่รวดเร็วแต่จะเป็นอัตราการเติบโตที่รักษาระดับคงที่ โดยการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงในต่างแดนหลังไตรมาสแรกคาดว่าจะไม่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดดังไตรมาสแรกปี ๒๐๑๒ ที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายต่างๆของรัฐที่บังคับใช้ในปี ๒๐๑๑ ทำให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่มีการสงวนท่าทีในการไปลงทุนข้ามชาติมากขึ้น

ทั้งนี้การขยายการเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดนของจีนถือเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปรวมทั้งวิกฤตการเงินที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

ท่าทีของนานาประเทศต่อการเปิดกว้างทางการลงทุนของจีน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่าหลายประเทศพร้อมที่จะเปิดรับการเข้าไปลงทุนจากจีนอย่างเต็มที่ โดยถ้าจะกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันแล้ว ประเทศต่างๆทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างแสวงหาเงินทุนการลงทุนเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตอนนี้ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศยุโรปต่างก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเองทั้งสิ้น จึงยากที่เงินลงทุนต่างแดนจะมาจากกลุ่มประเทศดังกล่าว ขณะเดียวกัน ประเทศจีนเองได้ถือโอกาสดังกล่าว เข้าไปขยายการลงทุนข้ามแดนยังหลายๆประเทศ ผลก็คือ กระแสตอบรับที่ดีจากนานาประเทศ โดยต่างยินดีที่เชื้อเชิญจีนเข้าไปลงทุน ทั้งนี้เหล่าผู้นำของประเทศพัฒนาแล้วอย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมณี รวมถึงอีกหลายประเทศ ต่างแสดงคำขอบคุณการเข้าไปลงทุนของจีน โดยคาดหวังว่าการลงทุนจากจีนจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และยินดีที่จะเปิดรับการลงทุนจากจีนในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดในเดือนมกราคม ๒๐๑๒ ประเทศจีนก็ได้สร้างข่าวใหญ่ในวงการการลงทุนด้วยการเข้าไปลงทุนครั้งใหญ่ในแถบยุโรป โดยบริษัท Sany Heavy Industry ยักษ์ใหญ่ด้านวงการก่อสร้างของจีนได้ประกาศแผนที่จะเข้าไปซื้อหุ้น ๙๐% จากบริษัท Putzmeister ยักษ์ใหญ่ด้านวงการก่อสร้างจากเยอรมณีเป็นวงเงินทั้งสิ้น ๓๒๔ ล้านยูโรหรือประมาณ ๔๒๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นข่าวใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมระดับโลกภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาเช่นนี้

การเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดนของจีนที่มากขึ้นเรื่อยๆ

เหล่าบริษัทจีนเองถือว่าได้รับแรงเสริมทั้งจากภายในและภายนอกที่จะไปลงทุนโดยตรงในต่างแดน จากแผนพัฒนา ๕ ปีฉบับที่ ๑๒ (ตั้งแต่ปี ๒๐๑๑ ถึงปี ๒๐๑๕) รัฐบาลจีนได้มีการกระตุ้นและสนับสนุนให้บริษัทในจีนออกไปหาตลาดและลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ยังออกนโยบายต่างๆมาดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมาบริษัทจีนมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นที่จะไปลงทุนต่างชาติ เนื่องจากผลประกอบการที่ทำได้จากธุรกิจในประเทศเองได้รับแรงกดดันจากกระแสค่าแรงงานที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนการดำเนินการต่างๆในประเทศยังค่อนข้างสูงอยู่

นอกจากนี้ การกีดกันสินค้านำเข้าจากจีนในเวทีการค้าโลกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จูงใจให้จีนไปลงทุนโดยตรงในต่างแดน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายๆบริษัทในจีนต่างต้องเผชิญกับการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีอากรหรือเรียกได้ว่าถูกกีดกันทางการค้า(Trade Protectionism)อย่างมาก เช่น เกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า เกณฑ์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้การเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งทางการค้าดังกล่าวได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้กับธุรกิจในต่างแดน

การให้เงินสนับสนุนบริษัทจีนเข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างแดนของรัฐบาล

ประเทศจีนได้มีการก่อตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือเหล่าบริษัทของตนไปลงทุนยังต่างประเทศ อาทิเช่น กองทุนพื่อการพัฒนาจีน-แอฟริกา(China-Africa Development Fund) กองทุนจีน-อาเซียน(China-ASEAN Fund) โดยรัฐบาลจีนก็ได้แบ่งสรรงบประมาณไปยังกองทุนดังกล่าว ซึ่งธนาคารที่อยู่ในความควบคุมของรัฐจะจัดสรรกองทุนเหล่านี้ไปยังภาคธุรกิจที่ไปลงทุนหรือมีความร่วมมือในต่างประเทศ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประเทศจีนได้มีรายงานว่า ในปี ๒๐๑๒ นี้จะมีการตั้งกองทุนไว้ช่วยเหลือบริษัทจีนเพื่อไปลงทุนประเทศแถบละตินอเมริกา(อเมริกาใต้)

สำหรับการร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เหมาะสมของจีนได้มีมาเป็นระยะๆในทุกปี โดยเรื่องการร้องเรียนพฤติกรรมทางการค้าของจีนนั้น ในปี ๒๐๑๑ มีการร้องเรียนอยู่ ๖๙ กรณีคิดเป็นมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ ๕.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีว่าด้วยเรื่องของการส่งออกที่ไม่เป็นธรรมที่ใช้เงินสนับสนุนจากรัฐ ทำให้มีความได้เปรียบบริษัทคู่แข่งและบริษัทท้องถิ่นในประเทศที่นำเข้าสินค้าจีนเป็นอย่างมาก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

๒๔ เมษายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ