สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนเมษายน 2555
รายงานการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจญี่ปุ่นจัดทำโดย Nikkei และ NTT Resonant ระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2555 โดยสอบถามความคิดเห็นของนักธุรกิจวัย 20-50 ปี จำนวน 577 ราย ต่อสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ผลิตในเอเชีย โดยสอบถามว่าสินค้าจากผู้ผลิตในเอเชียรายใดที่ต้องการจะซื้อมาครอบครอง ปรากฎว่า Samsung จากเกาหลี นำเป็นอันดับที่ 1 ร้อยละ 30.7 ตามด้วย LG จากเกาหลีเช่นกัน ร้อยละ 21.1 อันดับ 3 Acer จากไต้หวัน ร้อยละ 17.9 อันดับ 4 Lenovo จากจีน ร้อยละ 16.6
ส่วนคำถามที่ว่า สินค้าจากผู้ผลิตในเอเชียรายใดที่มีไว้ในครอบครองแล้ว ปรากฎว่า LG นำเป็นลำดับที่ 1 ร้อยละ 9.5 ส่วน Samsung ลำดับที่ 2 ร้อยละ 8.5
ส่วนสินค้าของ Haier จากจีนที่ซื้อธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตญี่ปุ่น Sanyo นั้นมีผู้ตอบว่าต้องการจะซื้อเพียงร้อยละ 8.1
ประเภทของสินค้าที่ต้องการจะซื้อได้แก่ โทรทัศน์ ร้อยละ 49.5 คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 43 เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา และสมาร์ทโฟน ร้อยละ 29 เท่ากัน แต่ตู้เย็น และ เครื่องซักผ้ายังนิยมที่จะใช้ของในประเทศอยู่
ส่วนเหตุผลที่ซื้อนั้น อันดับที่ 1 คือ ราคาถูก รองลงมาคือ ใช้งานง่าย และ ออกแบบดี สำหรับสมาร์ทโฟน ร้อยละ 57.9 ซื้อเพราะมีฟังค์ชั่นใช้งานได้หลากหลาย ร้อยละ 31.6 ซื้อเพราะราคาถูก และร้อยละ 26.3 ซื้อเพราะแบรนด์น่าเชื่อถือ
ส่วนคำถามเรื่องบริการหลังการขาย และภาพพจน์ของแบรนด์ ร้อยละ 48.2-51.8 ตอบว่าพอใจ แสดงให้เห็นว่าสินค้าของเกาหลี ไต้หวัน และจีนจะต้องปรับปรุงบริการหลังการขาย และภาพพจน์ของแบรนด์เพื่อที่จะสามารถขยายตลาดในญี่ปุ่นได้
2.1 บริษัท Sharp ประกาศขายหุ้นกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทลูก Sharp Display Product ซึ่งเป็นบริษัทผลิตจอภาพ LCD ให้แก่บริษัทจากไต้หวัน Hon Hai Precision Industry โดย Hon Hai จะเข้าครองโรงงานผลิต LCD ที่เมืองซาไก จังหวัดโอซากา ทำให้ Hon Hai กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Sharp นอกจากนี้ยังจะขายหุ้นให้กับ 2 บริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ คือ Toppan Printing และ Dai Nippon Printing ในเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ ยอดขายของ Hon Hai และ Sharp ใกล้เคียงกันเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบัน Hon Hai มียอดขายสูงกว่าถึง 4 เท่า โดยรับผลิตสินค้ายอดนิยมของบริษัท Apple Inc.
ปัจจุบันโรงงานที่ซาไกของ Sharp ทำการผลิตเพียงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิต เนื่องจากยอดขายโทรทัศน์ตกต่ำ บริษัทขาดทุนถึง 2.9 แสนล้านเยนในปีงบประมาณ 2012 (-เมษายน 2012) และในปี 2013 Sharp จะลดการรับพนักงานใหม่ลงเหลือเพียง 130 ตำแหน่ง โดยเป็นวิศวกร 80 ตำแหน่ง และร้อยละ 10 ของพนักงานใหม่จะรับคนต่างชาติ นับว่าเป็นการรับพนักงานใหม่ที่น้อยที่สุดตั้งแต่ปี 1983
2.2 ส่วนบริษัท Sony เช่นกันวางแผนที่จะลดพนักงานจำนวนถึง 10,000 รายทั่วโลก หรือประมาณร้อยละ 6 ของพนักงานทั้งหมด บริษัทประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกัน โดยมีความพยายามที่จะควบรวมฝ่ายเคมีภัณฑ์ และฝ่ายโทรทัศน์ LCD ขนาดกลางเข้าด้วยกัน Sony มีการปรับโครงสร้างบริษัทหลายครั้ง แต่ครั้งที่ผ่านๆมา จะเน้นขาย และควบรวมการผลิต แต่ในครั้งนี้จะรวมฝ่ายขายและฝ่ายบริหารด้วย ในวันที่ 1 เมษายน Sony, Toshiba และ Hitachi ได้ควบรวมกิจการผลิตโทรทัศน์LCD ขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าด้วยกัน
2.3 ยอดจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน และประเทศกำลังพัฒนา ประกอบกับค่าเงินเยนที่ลดต่ำลงทำให้บริษัท Daikin มีผลประกอบการได้กำไรราว 100 พันล้านเยน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปี 2011 ยอดขายเครื่องปรับอากาศในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 ในปี 2011 และคาดว่าจะเพิ่มร้อยละ 25 ในปี 2012 บริษัทเตรียมจะตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในมณฑลซูโจวในเดือนนี้
นอกจากนี้ ยอดขายในประเทศตุรกี ซึ่งบริษัทได้เข้าควบกิจการผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในประเทศในฤดูร้อนปีที่แล้ว ส่วนในยุโรปที่ความต้องการเครื่องปรับอากาศราคาถูกเพิ่มสูงขึ้น บริษัทวางแผนที่จะตัดราคาโดยใช้กลยุทธ์การจัดซื้ออะไหล่ คาดว่าผลประกอบการทั้งปีจะมีกำไรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 อยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านเยน
2.4 Panasonic จะทำการทดลองหุ่นยนต์ที่ใช้สระผมในร้านเสริมสวย หุ่นยนต์นี้จะเป็นรุ่นใหม่มีแขนจำนวน 24 ข้าง โดยพัฒนาจากหุ่นยนต์ต้นแบบที่ผลิตในปี 2010 ที่มีแขนจำนวน 16 ข้าง สามารถสระผม และใส่ครีมนวดให้ลูกค้าได้ภายใน 15 นาที รวมทั้งมีการเกาหนังศีรษะอีกด้วย โดยจะทำการทดลองไปพร้อมกับช่างทำผมที่ร้าน Super Hair Seo ที่เมืองนิชิโนมิยะ จังหวัดเฮียวโกะ บริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถผลิตรุ่นที่สามารถใช้งานได้จริงภายในปีนี้ โดยหวังว่าหุ่นยนต์นี้จะสามารถช่วยผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือผู้พิการได้
ยอดการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีมูลค่า 7.07 แสนล้านเยน ลดลง ร้อยละ 6 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยสินค้าบางหมวดปรับตัวลดลงเล็กน้อย ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 4.4 คอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 2 ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 7.8 ส่วนสินค้าที่ลดลงค่อนข้างมากคือ เครื่องจักรธุรกิจลดลงร้อยละ 35.2 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 อุปกรณ์ส่งสัญญาณไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1
ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนมกราคม 2555 มีการปรับตัวลดลงมูลค่า 6.48 แสนล้านเยน โดยลดลงร้อยละ 8.6 จากเดือนมกราคม ปี 2553 การนำเข้าสินค้าที่ลดลง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 40.5 ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 16 เครื่องจักรธุรกิจลดลงร้อยละ 34.5 แผงวงจรลดลงร้อยละ 23.9 ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 หลอดไฟร้อยละ 47.5 อุปกรณ์สื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.9 ระบบสื่อสารวิทยุ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48
---------------------------------------------------
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา
24 เมษายน 2555