ข้อมูลด้านการตลาดธุรกิจสปาในสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 26, 2012 17:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลด้านการตลาดธุรกิจสปาในสิงคโปร์

1. ภาพรวมของอุตสาหกรรมสปาในสิงคโปร์
  • อุตสาหกรรมสปาในสิงคโปร์ ทำรายได้ประมาณปีละ 1.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์

ในปัจจุบัน มีธุรกิจสปาและสถานบริการนวดในสิงคโปร์มากกว่า 500 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกิจการสปาลักษณะ Day Spa และกิจการขนาดเล็กในเขตชุมชนต่างๆ ส่งผลให้มีการแข่งขันทางธุรกิจในระดับสูง และตลาดกลายเป็นของผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้บริการได้ตามความประสงค์ โดยรูปแบบลักษณะสปาในสิงคโปร์จำแนกได้ 5 ประเภท คือ

1) Destination Spa เป็นสปาที่เน้นการรักษาความงามและสุขภาพ ลดความตึงเครียด ซึ่งจะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านฟิตเนส มีกิจกรรมต่างๆ และโปรแกรมลดความอ้วนเข้ามาเสริม

2) Hotel/Resort Spa เป็นสปาที่อยู่ในโรงแรม หรือ Resort เน้นการให้บริการสปาและนวดรักษาความงามและสุขภาพ

3) Day Spa เป็นสปาให้บริการระยะสั้น ไม่มีที่พัก ให้บริการสปาและนวดเพื่อผ่อนคลายความเครียด และการเสริมความงาม

4) Club Spa เป็นสปาให้บริการด้านฟิตเนสเป็นหลักสำคัญ

5) Medical Spa เป็นสปาให้บริการก่อนและหลังการทำศัลยกรรม มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการรักษาความงามและสุขภาพ มีแพทย์ให้คำแนะนำและตรวจร่างกาย นอกจากพนักงานสปาที่ให้บริการ

  • การให้บริการสปาในสิงคโปร์ เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการนวด (Massage) และการทำ Treatment ทั้งใบหน้าและลำตัวด้วยการใช้ Essence Oil โดยใช้เครื่องหอมเข้าช่วยในการผ่อนคลาย หรือเรียกว่า Aromatheraphy ลักษณะการให้บริการมีทั้งแบบไทยบาหลี อินเดีย จีน สวีเดน และยุโรป
  • กลุ่มผู้บริโภค มีทั้งกลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมในอดีตที่ถือว่า การใช้บริการ สปาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เนื่องจากมีค่าบริการสูง และกลุ่มรายได้ระดับกลาง ที่เริ่มมีความกระตือรือร้นในการดูแลสุขภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น เลือกใช้บริการสปาและการนวดเพื่อสุขภาพและผ่อนคลายความเครียด นอกจากนี้ ยังรับบริการด้านการทำเล็บ การนวดหน้า การบำรุงรักษาผิวพรรณอีกด้วย
  • คาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมสปาในสิงคโปร์ จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-6 ต่อปี โดยปี 2555-2557 คาดการณ์มูลค่า ตามตารางข้างล่างนี้

คาดการณ์มูลค่าการเติบอุตสาหกรรมสปาในสิงคโปร์ ปี 2555-2557

                                           2555        2556        2557
สปา                                       347.7       367.5       385.9
    -ณ โรงแรมและ Resort                   201.8       209.9       217.3
    -สปาอื่นๆ                               145.9       157.6       168.6
Other Health & Wellness Tourism        1,030.90    1,080.40    1,129.00
Total                                  1,378.60    1,447.90    1,514.90
ที่มา :  Euromonitor International

2. กิจการสปาไทย/นวดไทยในสิงคโปร์
          สถานบริการสปาไทยที่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบสปาไทยในสิงคโปร์ โดยมีผู้บริหารเป็นคนไทยและพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนไทย มี 2  แห่ง คือ
          1. บริษัทเบญจพรรณสปา
          2. บริษัทอยุธยาสปา

3. กฎ/ระเบียบ/ข้อกำหนดและขั้นตอนใน การจัดตั้งธุรกิจสปาในสิงคโปร์
          สิงคโปร์ไม่จำกัดการลงทุนขั้นเริ่มแรก   ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจว่าจะลงทุนเองทั้งหมดหรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น
          - ขั้นตอนการจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติ
          1. การจดทะเบียนบริษัท ต้องยื่นขอต่อ Accounting & Corporate Regulatory Authority
(ACRA) ภายใต้ Foreign Companies โดยการยื่นขอเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
             1.1 ยื่นขอจดทะเบียนชื่อบริษัท (application for approval of name)  เมื่อยื่นแบบฟอร์มแล้ว ACRA จะอนุมัติภายใน 1 วัน ยกเว้นกรณีที่มีข้อขัดแย้ง เช่น คำในชื่อบริษัทมีคำที่ห้ามใช้ หรือความหมายคลุมเครือ และชื่อบริษัทซ้ำกับบริษัทที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทำให้ต้องใช้เวลาแก้ไขและยื่นเอกสารอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ หากผู้ที่มีอำนาจในการลงนามของบริษัทอยู่ต่างประเทศ การจดทะเบียนชื่อบริษัทก็จะใช้เวลาเพิ่มขึ้น
          1.2 ยื่นขอจดทะเบียนบริษัท/ธุรกิจ (application to register a business) เมื่อได้รับอนุมัติการจดทะเบียนชื่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว  ต้องยื่นขอจดทะเบียนบริษัทต่อไป ซึ่ง ACRA แนะนำให้ผู้ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทสามารถมอบอำนาจให้สำนักงานทนายความในสิงคโปร์เป็นตัวแทนในการขอจดทะเบียนบริษัท  ทั้งนี้  ACRA จะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งบริษัทภายใน 15 นาที หลังจากที่จ่ายเงินค่าจดทะเบียนบริษัท อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจัดตั้งธุรกิจที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม  ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการอนุมัติการจดทะเบียนบริษัท ประมาณ 14-60 วัน (ข้อมูลรายละเอียดจาก Website : www.acra.gov.sg  และ  www.bizfile.gov.sg)

2. คุณสมบัติของผู้ที่สามารถยื่นขอจดทะเบียนบริษัท  มีดังนี้
          - อายุอย่างน้อย 18 ปีบริบูรณ์
          - ไม่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลาย

3. ข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นประกอบการจดทะเบียนบริษัท
          - แบบฟอร์มการจดทะเบียนบริษัท และลงนามโดยผู้จัดตั้งบริษัท
          - แผนการดำเนินธุรกิจ (Business Plan) โดยประมาณควรจะมีเนื้อหา 10 หน้า
          - พาสปอร์ต/บัตรประชาชน (Certificate of Identity) ของผู้ขอจัดตั้งบริษัท
          - รายละเอียดของผู้ถือหุ้น (ไม่มีข้อจำกัดว่าผู้ถือหุ้นจะต้องเป็นสัญชาติสิงคโปร์)
          - รายละเอียดของเลขานุการบริษัท (ต้องเป็นบุคคลที่พำนักถาวรในสิงคโปร์) พร้อมหนังสือแต่งตั้ง
          - รายละเอียดกรรมการ 2 คน  (ต้องเป็นบุคคลที่พำนักถาวรในสิงคโปร์)  พร้อมหนังสือแต่งตั้ง เพื่อดำเนินการแทนบริษัท โดยแต่งตั้งให้เป็น “ผู้อำนวยการ”(Director)  1 คน
          - รายละเอียดสถานที่ตั้งบริษัท/ที่อยู่ในสิงคโปร์

4. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน
          4.1 การยื่นขอจดทะเบียนชื่อบริษัท  ค่าธรรมเนียม 15 เหรียญสิงคโปร์  มีอายุใช้
ได้ 60 วัน ผู้ยื่นขอจะต้องจดทะเบียนบริษัทให้แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าว หากผู้ยื่นขอต้องการเวลาเพิ่มขึ้นอีก  60 วัน จะต้องยื่นหนังสือขอต่อเวลา พร้อมค่าธรรมเนียม 10 เหรียญสิงคโปร์
          4.2 การยื่นขอจดทะเบียนบริษัท แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
            4.2.1 Foreign Company with Share Capital ค่าธรรมเนียม 300 เหรียญสิงคโปร์
            4.2.2 Foreign Company without Share Capital ค่าธรรมเนียม 1,200 เหรียญ-
สิงคโปร์

5. การขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจบริการ (สปา/นวดไทย)
          - ต้องขอใบอนุญาตจาก Singapore Police Force  ควบคู่ไปกับช่วงที่ดำเนินการขอจดทะเบียนบริษัท
          - การพำนักในสิงคโปร์ ของนักลงทุนต่างชาติ
          นักลงทุนต่างชาติต้องยื่นขอ EntrePass จากกระทรวงแรงงงาน (Ministry of Manpower) สิงคโปร์ ภายใต้  Entrepreneur Foreigners ซึ่งระยะเวลาในการขอ EntrePass ประมาณ 4-8 สัปดาห์ มีอายุ 1-2 ปี เมื่อหมดอายุก็ขอต่ออายุได้ หากธุรกิจยังดำเนินการอยู่ และอนุญาตให้บุคคลนั้นๆนำครอบครัวเข้ามาพำนักในประเทศด้วยได้ โดยจะต้องยื่นขอ Dependent Pass ให้กับสมาชิกของครอบครัวในเวลาเดียวกัน
          อนึ่ง สำหรับนักธุรกิจที่จัดตั้งธุรกิจสปาในสิงคโปร์ เมื่อจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว บริษัทต้องสมัครเป็นสมาชิกของ The Spa Association Singapore อีกทั้งพนักงานผู้ให้การบริการของบริษัทจะต้องได้รับประกาศนียบัตรรับรองวิชาชีพจาก The Spa Association Singapore  ด้วย

4. โอกาสและช่องทางของธุรกิจสปาและผลิตภัณฑ์สปาของไทย
          (1) สิงคโปร์เป็นตลาดการค้าเสรีและเป็นศูนย์กลางด้านการค้า ที่มีศักยภาพแก่ธุรกิจประเภทต่างๆ รวมถึงธุรกิจสปา บริษัทไทยสามารถจัดตั้งธุรกิจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  การดำเนินธุรกิจคล่องตัว เนื่องจากสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย อัตราภาษีที่แข่งขันได้ (ภาษีนิติบุคคลร้อยละ 17) ระบบการทำงานที่เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ
          (2)  หน่วยงาน Singapore Tourism Board (STB) ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางแห่งการบริการสปา และให้นักท่องเที่ยวใช้บริการสปาในสิงคโปร์มากขึ้น ทั้งนี้ จากการจดบันทึกของ STB มีนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์เดือนละประมาณ 900,000 คน  ซึ่งธุรกิจสปาจะได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยว
          (3) บริษัทไทยสามารถส่งสินค้าผลิตภัณฑ์สปาเข้ามาจำหน่ายในสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากแหล่งผลิตทั่วโลก สินค้าฯ ที่ได้รับความนิยม อาทิ ลูกประคบ น้ำมันนวด สมุนไพร เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทไทยสามารถใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการส่งออกต่อ (re-export) สินค้าผลิตภัณฑ์ สปาไทยไปสู่ประเทศที่สามเพื่อขยายการส่งออกอีกด้วย
          (4) การแต่งตั้งบริษัทตัวแทนเพื่อจำหน่ายสินค้าฯในสิงคโปร์ เป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์สปาไทยสู่ตลาดสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในปัจจุบันชาวสิงคโปร์หันมาใช้ผลิตภัณฑ์สปาเพื่อสุขภาพมากขึ้น
          (5)  การร่วมลงทุนกับสิงคโปร์ นับเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจสปาของไทยในสิงคโปร์ได้อีกทางหนึ่ง  อีกทั้งจะทำให้การจัดหาพนักงานสปาทำได้สะดวกขึ้น

5. ขั้นตอนการนำพนักงานสปาไทยไปทำงานในสิงคโปร์
          5.1 สิงคโปร์กำหนดนโยบายในการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 6  ประเภท  ดังนี้
              1. Employment Pass (EP) สำหรับระดับบริหารและวิชาชีพชั้นสูง
              2. Personalised Employment Pass (PEP) สำหรับ Global Talent
              3. S Pass  สำหรับวิชาชีพที่มีฝีมือระดับปานกลาง
              4. Work Permit (Foreign Worker : FW) สำหรับ แรงงานต่างชาติ กึ่งฝีมือ (Semi-skilled worker) และแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled worker) อายุระหว่าง 16—50 ปี ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 1,800 เหรียญสิงคโปร์ ซึ่งจะมีการควบคุม โดยการเก็บค่าธรรมเนียม(Levy)จากนายจ้าง การกำหนดสัดส่วน ของแรงงานท้องถิ่นกับแรงงานต่างชาติ  การกำหนดประเทศที่อนุญาตให้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
              5. Work Permit (Foreign Domestic Worker : FDW) สำหรับคนงานต่างชาติที่ทำงาน รับใช้ในบ้าน มีอายุระหว่าง  23—50 ปี  และต้องมีการศึกษาอย่างน้อยระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
6.          อื่นๆ ได้แก่ ใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ประกอบการ  ใบอนุญาตฝึกงาน Work  Holiday
Programme และ Long- Term Social Visit  ใบอนุญาตทำงานของนักศึกษา และใบอนุญาตทำงานพี่เลี้ยงเด็ก

          5.2 พนักงานสปาไทยที่จะเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ สามารถยื่นขอใบอนุญาตต่อ Employmtne Pass Department, Ministry of Manpower  ภายใต้ใบอนุญาต 2 ประเภท ดังนี้
          (1) Employment Pass  (EP)  ใบอนุญาตทำงานประเภท EP สำหรับ คนต่างชาติระดับวิชาชีพชั้นสูง (Professional) และระดับบริหาร (Executive) มีการศึกษาระดับปริญญาหรืออนุปริญญา (Degree or Dploma) และมีเงินเดือนประจำขั้นต่ำ 2,500 เหรียญสิงคโปร์ โดยเป็น Employment Pass ระดับ Q1 อนึ่ง EP แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
          -  ระดับ  P1 เงินเดือนมากกว่า 7,000 เหรียญสิงคโปร์ขึ้นไป
          -  ระดับ P2 เงินเดือนมากกว่า 3,500 และไม่เกิน 7,000  เหรียญสิงคโปร์
          -  ระดับ Q1 เงินเดือนขั้นต่ำ 2,500 เหรียญสิงคโปร์ และไม่เกิน 3,500 เหรียญสิงคโปร์
          ทั้งนี้ การขอใบอนุญาตทำงานภายใต้ Employment Pass สำหรับผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและเชี่ยวชาญด้านต่างๆ สามารถจ้างได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสัดส่วนการจ้างงาน
          (2) S Pass  ใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างชาติที่มีฝีมือแรงงานในระดับกลาง (mid-level skilled worker) มีการศึกษาระดับปริญญาหรืออนุปริญญา (Degree or Dploma) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เทคนิค(หลักสูตรเต็มเวลาอย่างน้อย 1 ปี) และได้รับเงินเดือนประจำขั้นต่ำ  1,800  เหรียญสิงคโปร์
          ทั้งนี้ การอนุญาตจ้างงานภายใต้ S Pass  มีสัดส่วนพนักงานต่างชาติต่อพนักงานท้องถิ่นในอัตรา 1 : 4

6. ปัญหาอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์
          (1) สิงคโปร์เป็นตลาดสินค้าและบริการที่จำกัด มีประชากรเพียง 5.8 ล้านคน  มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจสูงมาก ทำให้การแข่งขันทางการค้าอยู่ในระดับสูง ดังนั้น สินค้าไทยจึงต้องแข่งขันด้วยคุณภาพและแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเรียกร้องความสนใจผู้บริโภค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าฯ
          (2) การจ้างแรงงานด้านธุรกิจบริการจากไทยจะมีอุปสรรค โดยการยื่นขอใบอนุญาตจ้างแรงงานไทยต่อ  Ministry of Manpower (MOM) จะประสบปัญหาที่ MOM ไม่มีการชี้แจงเหตุผลใดๆ หากไม่อนุญาต
          (3) หน่วยงาน Workforce Development Agency  ได้ออกกฎระเบียบกำหนด Skill Standard ใหม่ภายใต้ National Skills Recognition System (NSRS) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ได้เพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น คือ พนักงานสปา/นวดแผนไทย จะต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมและได้รับประกาศนียบัตรการนวดมาตรฐานโดยมีระยะเวลาฝึกอบรมตั้งแต่ 4 เดือน - 2 ปี  โดยฝึกอบรมการนวดที่รวมถึง Full-body massage with oil,  Full-body massage without oil,  Manicure-pedicure และ Face treatment  ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ธุรกิจสปาของไทยในสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจเฉพาะนวดตัวและนวดเท้าเท่านั้น ไม่มีการให้บริการด้าน  Manicure-pedicure และ Face treatment  ดังนั้น เงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการเพิ่มภาระและต้นทุนให้กับผู้ประกอบการสปา/นวดแผนไทยในสิงคโปร์
          (4) ปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งพนักงานไทยไม่มีความชำนาญในภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง
          (5)  ปัญหาค่าครองชีพที่มีอัตราสูงถึง 3 เท่าของอัตราค่าครองชีพในประเทศไทย

7.  หน่วยงานส่งเสริมธุรกิจสปาในสิงคโปร์
          (1) Workforce Development Agency (WDA)
          หน่วยงานภายใต้ Ministry of Manpower ให้การส่งเสริมและสนับสนุนแก่ชาวสิงคโปร์ เข้ารับการฝึกอบรมด้านวิชาชีพต่างๆ ภายใต้โปรแกรม Continuing Education Training (CET) ซึ่งมีโปรแกรมหนึ่งที่ให้สนับสนุนการฝึกอบรมด้านสปา คือ Tourism Workforce Skills Certification (WSQ)
          (2) Singapore Tourism Board (STB)
          หน่วยงานของภาครัฐสิงคโปร์ให้การส่งเสริมและสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อจัดให้สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางแห่งการบริการสปาและให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยด้านธุรกิจบริการในสิงคโปร์มากขึ้นโดย เฉพาะการเสนอ “special package” ที่ผนวกการให้บริการสปาและการรักษาสุขภาพรวมกับการท่องเที่ยวในสิงคโปร์
          (3) สมาคมสปาของสิงคโปร์ (The Spa Association Singapore : SAS)
          จัดตั้งขึ้นเมื่อปี  2541 ด้วยการสนับสนุนของ Singapore Tourism Board โดยมีจุดประสงค์สำคัญๆ ได้แก่ เพื่อสร้างมาตรฐานและการให้บริการของอุตสาหกรรมสปาในสิงคโปร์ สร้างเครื่อข่ายและโอกาสให้ธุรกิจสปามีการเติบโตทั้งในประเทศและนานาชาติ สนับสนุนให้มีการศึกษาฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ระหว่างสมาชิก และเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ  สมาคมฯ มีคณะกรรมการ (Executive Committee) ที่ได้รับการคัดเลือกและอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 2 ปี เพื่อช่วยเป็นหัวหอกในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสปา และมีสมาชิกภายใต้กลุ่ม  Ordinary Membership และ Associate Membership
          (4) Singapore Spa Institute
          จัดตั้งเมื่อปี 2540  นับเป็นศูนย์การศึกษาวิชาชีพด้านสปาแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจาก Singapore Workforce Development Agency (WDA) โดยทำการสอนและฝึกอบรมสปาด้านต่างๆให้ผู้เรียนได้รับประกาศนียบัตรชั้นต้นและชั้นสูง รวมถึง Diploma ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนและอัตราค่าเรียน สรุป ดังนี้
          - Spa Therapy จำนวน 235 ชั่วโมง
          - Spa Services, Beauty Therapy จำนวน 210 ชั่วโมง
          - Spa Services, Body Therapy จำนวน 210 ชั่วโมง
          - ค่าเรียน 588.50 เหรียญสิงคโปร์ต่อหลักสูตร
          (5) Spa Wellness Academy
          จัดตั้งเมื่อปี 2548 เป็นศูนย์การศึกษาวิชาชีพด้านสปาอีกแห่งหนึ่ง ทำการสอนและฝึกอบรมภายใต้การสนับสนุนของ Workforce Development Agency (WDA) ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรชั้นต้นและชั้นสูง หลักสูตรการเรียนการสอนและอัตราค่าเรียน สรุป ดังนี้
          - Thai Massage, Nuad Phan Bo-ran จำนวน 120 ชั่วโมง ค่าเรียน 1,668 เหรียญสิงคโปร์
          - Sport Massage จำนวน 71.5 ชั่วโมง ค่าเรียน 950 เหรียญสิงคโปร์
          - Full Body Massage without Oil จำนวน 71.5 ชั่วโมง ค่าเรียน 950 เหรียญสิงคโปร์
          - Full Body Massage with Oil จำนวน 71.5 ชั่วโมง ค่าเรียน 950 เหรียญสิงคโปร์
          - Holistic Massage จำนวน 150 ชั่วโมง ค่าเรียน 2,115  เหรียญสิงคโปร์

8. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
          1) ธุรกิจสปาในสิงคโปร์มีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากค่าเช่าพื้นที่มีราคาสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดธุรกิจสปามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับบริษัทธุรกิจสปาที่โรงแรมและ Resort ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทใหญ่มีเงินทุนสูงและเปิดกิจการหลายสาขาในเขตธุรกิจและเขตท่องเที่ยว ส่วนธุรกิจสปาขนาดเล็กซึ่งจะเป็นธุรกิจวงการเสริมสวยรวมสปา ที่เปิดเป็นร้านเล็กๆตามศูนย์การค้าชานเมืองและให้บริการผู้บริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่
          2) โอกาสที่บริษัทไทยจะเข้ามาขยายตลาดในสิงคโปร์มีค่อนข้างสูง เนื่องจากสปาไทยได้รับความนิยม และนวดแผนโบราณไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลาย พนักงานไทยมีความชำนาญในการนวด รวมถึงการให้บริการที่อ่อนโยนและมีความเป็นไทย ดังนั้น บริษัทไทยที่ต้องการทำธุรกิจสปาในสิงคโปร์ อาจทำโดยการร่วมทุนกับบริษัทสิงคโปร์ หรือการขาย Franchise ในรูปแบบ Resort/Hotel Spa หรือแบบ Day Spa โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก
          3) สินค้าผลิตภัณฑ์สปาของไทยมีศักยภาพสูง ทั้งคุณภาพและการบรรจุภัณฑ์ อาจจะเน้นเรื่องคุณสมบัติในการช่วยผ่อนคลายและเสริมความงามที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรไทยให้มีลักษณะเด่นเฉพาะ เพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างและได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งนี้ การที่สิงคโปร์เปิดธุรกิจสปามากขึ้น ส่งผลให้ไทยได้รับผลประโยชน์ในการที่สิงคโปร์นำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกิจสปาเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการจดบันทึกของ International Enterprise (IE) Singapore ปรากฎว่า สิงคโปร์นำเข้า Essential Oils Perfumery Cosmetic Etc (HS 33) จากไทยประมาณมูลค่า 55 ล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อปี ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5 ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10 รองจาก  ฝรั่งเศส  สหรัฐฯ  อิตาลี   สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมัน สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และจีน
          4) การส่งเสริมประชาสัมพันธ์สปาไทยในสิงคโปร์ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ชาวสิงคโปร์หันมานิยมใช้บริการสปาไทยและนวดแผนโบราณไทย และจะส่งผลต่อเนื่องให้ชาวสิงคโปร์เมื่อมีโอกาสไปท่องเที่ยวในไทย จะไปใช้บริการสปาไทยและนวดแผนโบราณไทย ทั้งนี้ การส่งเสริมประชาสัมพันธ์อาจทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การนำคณะผู้แทนการค้าไทยจัด Networking ในสิงคโปร์ การลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารที่เกี่ยวข้อง และการส่ง/แจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ถึงผู้บริโภคโดยตรง
          5) ธุรกิจสปาในสิงคโปร์นับว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยที่สิงคโปร์ได้เปรียบไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์สปา ภาษีที่ต้องเสียคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods & Services Tax : GST) ร้อยละ 7 อีกทั้งเครื่องมืออุปกรณ์สปาต่างๆมีความทันสมัยและเทคโนโลยีสูง อย่างไรก็ตาม การให้บริการนวดแผนโบราณยังอยู่ในรูปแบบที่รวมกันทั้งไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย และพนักงานให้การบริการไม่อ่อนโยนเช่นการบริการของพนักงานไทย
          6) การเปิดกิจการ Integrated Resorts (IRs) 2 แห่ง ณ Resort World Sentosa และ Marina Bay Sands เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจสปาในสิงคโปร์ และจะสามารถช่วยให้สถานสปาเดิมในเขตของ IRs ทั้ง 2 แห่ง มีการเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากสามารถให้บริการแก่ลูกค้าที่มาเยือนคาสิโน นอกจากนี้ ในช่วงเวลาการแข่งขัน Formula One (F1) ในเดือนกันยายนของทุกปี (ปี 2555 เป็นครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2555) ที่เป็นการแข่งขันตอนกลางคืน จะมีนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น นับเป็นอีกแรงหนึ่งที่สามารถช่วยให้สถานสปาของโรงแรมและ Resort ที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีการแข่งขันให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
          7) การส่งเสริมให้สถานะภาพของสิงคโปร์เป็นศูนย์ Medical Tourism ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยสนับสนุนกิจการสปาเพื่อสุขภาพด้วย โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวเพื่อใช้บริการ Medical Maladies ที่ให้บริการ Specialist Centre, Hospital, Hotel, Convention Centre และสปา ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง Treatment และ Recuperation

                                ------------------------------------------

                        ที่มา :  Ministry of Trade and Industry, International Enterprise (IE) Singapore,
                                  ACRA, The Spa Association Singapore, The Straits Times & Euromonitor
                                                                สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์
                                                                                           เมษายน ๒๕๕๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ