รายงานภาวะการนำเข้าเครื่องใช้ในบ้าน บนโต๊ะอาหาร ทำด้วยพอร์ซเลน ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 3, 2012 15:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานภาวะการนำเข้าเครื่องใช้ในบ้าน บนโต๊ะอาหาร ทำด้วยพอร์ซเลน

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

--------------------------------------------

1.การนำเข้า

1.1. สินค้า: เครื่องใช้ในบ้านและบนโต๊ะอาหาร ทำด้วยพอร์ซเลนหรือไชน่า (H.S code 6911)

1.2. การนำเข้ารวม: การนำเข้าผลิตภัณฑ์พอร์ซเลนสำหรับใช้ในบ้านส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน 59% เยอรมัน 7% อินโดนีเซียและศรีลังกา 4% ฝรั่งเศส ไทย ญี่ปุ่น 3% อิตาลี อังกฤษ และตุรกี ประมาณ 2% ตามลำดับ

โดยการนำเข้า ปี 2553 มูลค่า 67.1 ล้านเหรียญสรอ. เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลง 5.9% การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารพอร์ซเลนในภาพรวม มีอัตราการขยายตัวลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลง

1.3. การนำเข้าจากไทย :

ปี 2551 มูลค่า 3.5 ล้านเหรียญสรอ.

ปี 2552 มูลค่า 1.6 ล้านเหรียญสรอ. หรือลดลง 55%

ปี 2553 มูลค่า 2.0 ล้านเหรียญสรอ. หรือเพิ่มขึ้น 27%

2. การผลิตในประเทศ : ไม่มี

3. ปริมาณและมูลค่าการส่งออกต่อ : ปี 2553 มีปริมาณ 19,710 ตัน มูลค่า 53.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกต่อที่สำคัญคือ อิหร่าน อาร์เมเนีย เทนซาเนีย อัลจีเรีย อินเดีย บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน เคนย่าและอาเซอร์ไบจัน เป็นต้น

4.ช่องทางการนำเข้าสู่ตลาด : สินค้าเครื่องใช้ในบ้านและเครื่องครัวในประเทศสหรัฐอาหรับฯมีช่องทางการจำหน่ายดังต่อไปนี้

4.1. ผู้นำเข้า/ค้าส่ง เป็นผู้นำเข้าและเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าเครื่องครัวและเครื่องแก้ว เพื่อจำหน่ายให้ร้านค้าปลีก จัดส่งให้กับโรงแรม ภัตตราคาร และส่งออกต่อ

4.2. นายหน้าค้าต่าง(Commission Agent) เป็นผู้รวบรวมคำสั่งซื้อของผู้นำเข้ารายย่อยหลายรายเพื่อสั่งซื้อสินค้า โดยคิดค่านายหน้า จากผู้ส่งออก ประมาณร้อยละ 2-3

4.3. ห้างสรรพสินค้า/ซูปเปอร์มาร์เกต ที่มีสาขาหลายแห่งนำเข้าสินค้าเองโดยตรง เพื่อขายในร้านค้าเครือข่ายของตน

4.4. บริษัทจัดหาสินค้าให้กับโรงแรม เป็นผู้นำเข้าสินค้าที่ใช้ในโรงแรมรวมทั้งเครื่องใช้สำหรับโต๊ะอาหาร

5. ภาะวะการแข่งขันในตลาด : สินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ เป็นการแข่งขันราคาระหว่างผู้นำเข้า สินค้าไทยเผชิญกับภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งในด้านคุณภาพและราคากับจีนและอินโดนีเซีย ทำให้สินค้าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

6. ฤดูกาล

6.1. ฤดูกาลสั่งซื้อ : ตลอดปี

6.2. ฤดูกาลจำหน่าย : เครื่องใช้ในบ้านมีการซื้อหาเกือบตลอดปี เป็นสินค้าจำนงนมากสำหรับใช้ในโรงแรมและร้านอาหาร แต่ช่วงที่จะซื้อกันมากประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เพราะชาวต่างชาติจำนวนมากที่เข้าไปทำงานอยู่ในประเทศนิยมเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในช่วงเวลานี้และซื้อหาเครื่องใช้ในบ้าน เป็นของฝากของขวัญ

7. กฏเกณฑ์และระเบียบการนำเข้า

7.1. ภาษีนำเข้า : 5% จากราคาซีไอเอฟดูไบ

7.2. การให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร : ไม่มี

7.3.เอกสารประกอบการนำเข้า: Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทยและ Legalize จากสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเทศไทย Bill of Lading และ Packing List

8. สรุป

แนวโน้มการนำเข้าผลิตภัณฑ์พอร์ซเลน ในปี 2555 จะขยายตัวมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่ขณะนี้ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สินค้านี้ไม่มีการผลิตในยูเออี จึงต้องอาศัยการนำเข้า สินค้าเพื่อสนองความต้องใช้ในประเทศ สินค้าบางส่วนเพื่อการใช้ทดแทนของเดิมที่มีการแตกหักเสียหาย นอกจากนี้สินค้าที่นำเข้าประมาณ 60% เพื่อใช้เป็นสินค้าสำหรับส่งออกต่อการแข่งขันในตลาดนี้ จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมากขึ้น และเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค สินค้านำเข้าเพื่อใช้ในโรงแรมนิยมสีขาว

สินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาด ขณะนี้ไทยจะต้องแข่งขันกับสินค้าจีน อินโดนีเซียและศรีลังกา เป็นคู่แข่งขันที่ส่งสินค้าคุณภาพดีราคาถูกไปจำหน่ายมากในยูเออีขณะนี้

-----------------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

เมษายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ