สรุปผลการเข้าร่วมฟังการโต้วาที เรื่อง ” วันแห่งทรัพย์สินทางปัญญา ”
สมาคมอุตสาหกรรมเยอรมัน ได้จัดการสัมมนา โต้วาที ภายใต้หัวข้อ ” วันแห่งทรัพย์สินทางปัญญา ” ณ ตึกที่ทำการของสมาคมฯ กรุงเบอร์ลิน มีผู้สนใจลงทะเบียนจะเข้าร่วมงานจำนวน 406 ราย ประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัทเอกชน สนง.ทนายความสิทธิบัตร และข้าราชการจากกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงยุติธรรมเยอรมนีและสำนักงานสิทธิบัตรเยอรมนี
ผู้พูดในการโต้วาทีประกอบด้วยบุคคลสำคัญ 5 ท่าน เป็นตัวแทนจากบริษัท เซนน์ไฮเซอร์ อิเล็กทรอนิก ประธานสำนักงานสิทธิบัตรเยอรมนี อาจารย์จากมหาวิทยาลัย นครฮัมบูร์ก รองผอ. สำนักสิทธิบัตรโลก และหัวหน้าแผนกสิทธิบัตรของบริษัท โฟล์คสวาเก้น มีการแลกเปลี่ยนข้อคิด ความเห็นประสบการณ์ สรุป
สาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้า ทันสมัย การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ก็เพื่อคุ้มครองความคิดของผู้ประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา การนำไปใช้ประโยชน์ใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ซึ่งในโลกปัจจุบันที่ทันสมัย มีการสื่อสารรวดเร็วมาก มีการค้าแบบไร้พรมแดนทำให้กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการจดทะเบียนสิทธิบัตรจะล้าสมัยบ้างกฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกประกาศใช้เมื่อ 5 พฤษภาคม 1936 (พ.ศ. 2479) ความร่วมมือกันระหว่างนานาชาติยังมีน้อย ไม่เพียงพอและบกพร่อง ยังมีการจดทะเบียนซ้ำซ้อนอยู่บ้าง ผลงานของเยอรมนีทั่วโลกต่างยอมรับว่าแม่นยำ มีคุณภาพดีเขื่อถือได้ แต่ใช้เวลาในการดำเนินการนานมาก ประมาณร้อยละ 47 ของผู้ที่ยื่นขอทั้งหมดจะได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตร อีกประมาณร้อยละ 20 ดำเนินการต่อไปไม่ได้เพราะขาดทุนทรัพย์ การละเมิด ฝ่าฝืนลิขสิทธิ์ เป็นสิ่งที่พบเห็นทุกวันทั่วโลก มีการติดตาม กวาดล้างจับกุมสินค้าลอกเลียนแบบเสมอเป็นความเสียหายมูลค่าราวปีละกว่า 50,000 ล้านยูโร บริษัทในเยอรมนีเสียหายด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเล็ก ไม่ทราบว่าสินค้าถูกลอกเลียนแบบ ไม่มีเวลาหรือมีทุนทรัพย์น้อย แหล่งผู้ผลิตสินค้าปลอมส่วนใหญ่จะเป็นประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งจีนด้วย แต่ปัจจุบัน จีนยอมรับระบบสิทธิบัตรแล้ว นอกจากนี้ ประธานสำนักสิทธิบัตรจีนพูดภาษาเยอรมันดีมาก จะมีส่วนช่วยให้จีนเป็นผู้นำในเรื่องสิทธิบัตรได้ ซึ่งปัจจุบันในจีนมีการแจ้งขอจดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มากเป็นอันดับที่สามของโลก และในอนาคตมีแนวโน้มเป็นผู้นำอันดับที่ 1 สิ่งที่ได้พบเห็นเป็นประจำทุกวันที่นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ คือการใช้อินเตอร์เนตดาวน์โหลดข้อมูล เพลงและภาพยนตร์ จะเป็นการตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันอยู่เรื่อยมา
2. เพื่อให้มีการป้องกัน การลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำผิด มีประสิทธิภาพรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับใช้อินเตอร์เนต สหรัฐอเมริกาได้ร่างกฎระเบียบใหม่ ACTA แต่ก็ถูกต่อต้านจากหลายๆ ฝ่ายเพราะเห็นว่า เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป ปัญหาของระบบสิทธิบัตรอีกประการหนึ่ง คือ ระยะเวลาการคุ้มครอง เช่น สำหรับสิ่งพิมพ์มีอายุ 70 ปี แต่นักเขียน เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับประโยชน์น้อย มาตรการเกี่ยวกับบทลงโทษผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็สมควรที่จะได้รับการแก้ไข เพราะเมื่อถูกลงโทษจ่ายค่าปรับแล้ว ก็เริ่มผลิตสินค้าปลอมยี่ห้ออื่นๆ ต่อไป
3. การป้องกันที่น่าจะได้ผล คือ การปลูกฝัง สร้างความคิด ค่านิยมผู้บริโภคมากขึ้น ให้เข้าใจว่าตราบใดที่ยังมีผู้ใช้สินค้าปลอม การผลิต ลอกเลียนแบบสินค้าก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป และอาจจะทำให้กิจการที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถึงกับล้มละลายได้ เกิดเป็นผลกระทบกับตนเองได้ด้วย เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าปลอมเหล่านี้ได้มาจากเจ้าหน้าที่ คนงานในกิจการแอบนำต้นแบบข้อมูลออกไปจากกิจการ หรือมีการใช้ระบบอินเตอร์เนตเจาะข้อมูลของกิจการ การให้ความรู้ผู้ประกอบการในเรื่องการปกป้อง ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ในกิจการให้มีความปลอดภัยสูงสุดก็เป็นเรื่องที่จำเป็นด้วย
4. ปัจจุบัน ในเยอรมนีมีพรรคการเมืองชื่อ Piraten (พรรคโจรสลัด) ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นตามลำดับ ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ใน 2 แคว้นของเยอรมนี มีแนวความคิดที่ต้องการยกเลิกระบบทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับอินเตอร์เนต อยากให้มีการปรับปรุง เปิดกว้างมากขึ้นเห็นว่า อินเตอร์เนตเป็นพื้นที่ทำธุรกรรมของกิจการต่างๆ การใช้งานใดๆ และระบบที่เกี่ยวข้องควรเป็นส่วนรวมมากขึ้น เพราะปัจจุบัน ผู้ประกอบการมุ่งทำการค้าแบบกอบโกยเงิน มุ่งหวังผลกำไรมาก มีการปกป้องรักษาผลประโยชน์กันมาก มีการจำกัดขอบเขตเสรีภาพผู้บริโภคมากเกินไป กฏเกณฑ์ต่างๆ และที่ทำขึ้นใหม่มีความซับซ้อน เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ในยุคที่ขาดอินเตอร์เนตไม่ได้เช่นนี้ ควรให้ประโยชน์ผู้บริโภคมากขึ้น
************************************************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
เมษายน 2555