ภาวะตลาดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับตลาดผลไม้สดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 3, 2012 16:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะตลาดและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับตลาดผลไม้สดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

***********************************

ภาพรวมตลาด

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีพื้นที่จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป และมักประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้อุตสาหกรรมทุกแขนงภายในประเทศ ต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ามาแปรรูป พร้อมทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงคืนสู่ตลาดโลกต่อไป

ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรของประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีเพียงประมาณร้อยละ 40 ของความต้องการสินค้าเกษตรทั้งหมด แม้ว่าตลาดผลไม้สวิสเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดผลไม้จากประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป แต่ก็จัดเป็นตลาดพรีเมี่ยมที่มีอำนาจการซื้อสินค้าสูง และมีมูลค่าการนำเข้าผลไม้มากกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายผลไม้ในประเทศทั้งหมด สาเหตุมาจากลักษณะภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก พื้นที่ 2 ใน 3 ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมดเป็นที่ราบสูงสลับกับหุบเขา มีเทือกเขาแอลป์ทอดยาวตลอดแนวของประเทศ สามารถทำการเพาะปลูกได้เพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงภูมิอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็นตลอดทั้งปี ส่งผลให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพาะปลูกผลไม้ได้บางชนิดเท่านั้น ทำให้ประชาชนชาวสวิสต้องบริโภคผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถแยกผลไม้ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

(1) ผลไม้ที่ปลูกในประเทศ เช่น แอปเปิ้ล เชอร์รี่

(2) ผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศยุโรปอื่น เช่น สตอเบอรี่ แพร์ เชอร์รี่ ลูกพรุน แอปริคอท

(3) ผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่สามารถเพาะปลูกในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ผลไม้ exotic ต่างๆ เช่น สัปปะรด กล้วย องุ่น ส้ม มะม่วง มะละกอ กีวี

พฤติกรรมผู้บริโภค

ประชากรชาวสวิส มีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารต่างๆ โดยพิจารณาเรื่องคุณภาพสินค้า คุณค่าทางโภชนการ ความสะอาดและถูกสุขอนามัย เป็นหลัก โดยให้ความใส่ใจในเรื่องราคาสินค้าเป็นอันดับรองลงมา นอกจากนี้ชาวสวิสส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ความนิยมในการบริโภคผลไม้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวตลาดสินค้าผลไม้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ในปัจจุบัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีประชากรจำนวนประมาณ 3 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก มีจำนวนประชากรเฉลี่ย 2.2 คนต่อ 1 ครัวเรือน ส่งผลต่อวิถีการบริโภคสินค้า ซึ่งเน้นสินค้าที่มีคุณภาพสูงเป็นหลัก ผลไม้ที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นผลไม้ที่สะดวกในการรับประทาน (เชิงกึ่งสำเร็จรูป) และเป็นสินค้าผลไม้ที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เหมาะสมต่อการบริโภคต่อ 1 ครั้ง

TOP 10 ผลไม้สดที่ชาวสวิสนิยมรับประมาณเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่

1. แอปเปิ้ล

2. ส้ม (รวม Orange และ Clementine)

3. กล้วย

4. องุ่น

5. สตอเบอรี่

6. เชอร์รี่

7. มะม่วง

8. แตงโม

9. ลูกแพร์

10. สับปะรด

การนำเข้าสินค้าผลไม้สดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นำเข้าผลไม้สดจากทั่วโลก โดยเฉลี่ยเป็นมูลค่าประมาณ 1,001.73 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16.74 เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด

สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นำเข้าผลไม้สดจากทั่วโลก รวมมีมูลค่า 239.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.44 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 โดยมีการนำเข้าจากประเทศสเปน อิตาลี ตุรกี สหรัฐอเมริกา คอสตาริก้า เรียงมูลค่าจากมากไปหาน้อยตามลำดับ โดยมีสัดส่วนจากการนำเข้าของ 5 ประเทศนี้ รวมประมาณร้อยละ 63.65 ของการนำเข้าทั้งหมด ตามรายละเอียดดังนี้

ตาราง — การนำเข้าสินค้าผลไม้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แยกตามรายประเทศ
      ประเทศ              มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)               สัดส่วน (ร้อยละ)                อัตราการขยายตัว
                  2554    ม.ค. — มี.ค.  ม.ค. — มี.ค.    2554   ม.ค. — มี.ค.  ม.ค. — มี.ค.       (ร้อยละ)
                              2554        2555                     2554        2555
จากทั่วโลก      1,080.60       237.33      239.77     100.00        100.00      100.00         1.03

1.สเปน          219.85        51.23       71.05      20.35         21.59       29.63        38.67
2.อิตาลี          192.44        40.08       32.48      17.81         16.89       13.55       -18.96
3.ตุรกี            79.56        22.26       21.85       7.36          9.38        9.11        -1.84
4.สหรัฐอเมริกา     47.35        13.51       15.30       4.38          5.70        6.38        13.23
5.คอสตาริก้า       33.41         8.57       11.94       3.09          3.61        4.98        39.33
6.แอฟริกาใต้       31.55         8.56        9.29       2.92          3.61        3.88         8.49
7.โคลัมเบีย        25.18         5.24        8.62       2.33          2.21        3.60        64.42
8.เปรู            17.74         4.76        8.55       1.64          2.01        3.57        79.37
9.เอควาดอร์       32.70         9.64        7.21       3.03          4.06        3.01       -25.19
10.อิสราเอล       11.83         3.53        6.50       1.10          1.49        2.71        84.25

21.ไทย            5.19         1.13        1.21       0.48          0.48        0.51         6.81
ที่มา- world trade atlas

          จากสถิติการนำเข้าผลไม้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แยกตามพิกัดสินค้า H.S. Code สามารถเรียงลำดับมูลค่าการนำเข้าจากมากไปหาน้อยได้ ดังนี้
          1. ผลไม้ตะกูล ส้ม มะนาว (พิกัด H.S. 0805) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 — 2554) สวิสนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 163.18 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 สวิสนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 61.60 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.69 ของการนำเข้าสินค้าผลไม้ทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.03 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.00 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศสเปน(ร้อยละ 59.27) อิตาลี(ร้อยละ 28.00) อิสราเอล(ร้อยละ 6.31) สหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 2.96) บราซิล(ร้อยละ 1.31)
          2. ผลไม้ตะกูลถั่ว (พิกัด H.S. 0802) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 — 2554) สวิสนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 157.91 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 สวิสนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 46.62 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.45 ของการนำเข้าสินค้าผลไม้ทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.03 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.71 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศตุรกี(ร้อยละ 36.96) สหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 24.54) อิตาลี(ร้อยละ 10.86) สเปน(ร้อยละ 7.48) ฝรั่งเศส(ร้อยละ 4.92)
          3. กล้วย (พิกัด H.S. 0803) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 — 2554) สวิสนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ย ปีละ 103.22 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 สวิสนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 27.23 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.36 ของการนำเข้าสินค้าผลไม้ทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าลดลง 1.60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลงร้อยละ 5.55 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศโคลัมเบีย(ร้อยละ 29.87) เอควาดอร์(ร้อยละ 26.13) คอสตาริก้า(ร้อยละ 23.54) เปรู(ร้อยละ 13.89) โดมินิกัน รีพับบลิค(ร้อยละ 3.09) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 0.24) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
          4. สับปะรด (พิกัด H.S. 0804) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 — 2554) สวิสนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ย ปีละ 96.45 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 สวิสนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 24.94 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.40 ของการนำเข้าสินค้าผลไม้ทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.88 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศคอสตาริก้า(ร้อยละ 21.10) เปรู(ร้อยละ 17.72) สเปน(ร้อยละ 15.43) อิสราเอล(ร้อยละ 7.38) ตุรกี(ร้อยละ 6.52) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 2.38) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 9 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
          5. องุ่น (พิกัด H.S.0806) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 — 2554) สวิสนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 88.06 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 สวิสนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 10.23 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.27 ของการนำเข้าสินค้าผลไม้ทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าลดลง 0.72 ล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลงร้อยละ 6.55 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศแอฟริกาใต้(ร้อยละ 57.19) ตุรกี(ร้อยละ 12.64) ชิลี (ร้อยละ 11.94) สหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 4.75) นามิเบีย(ร้อยละ 4.41)
          6. แตงโม มะละกอ (พิกัด H.S.0807) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552 — 2554) สวิสนำเข้าสินค้าดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 65.89 ล้านเหรียญสหรัฐ
          ในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 สวิสนำเข้าสินค้ารายการนี้รวมมูลค่าทั้งสิ้น 5.14 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.15 ของการนำเข้าสินค้าผลไม้ทั้งหมด มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.45 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศบราซิล(ร้อยละ 40.29) ฮอนดูรัส(ร้อยละ 23.27) โมรอคโค(ร้อยละ 11.95) คอสตาริก้า(ร้อยละ 4.82) แอฟริกาใต้(ร้อยละ 3.68) สำหรับประเทศไทย(ร้อยละ 2.36) จัดเป็นคู่ค้าลำดับที่ 8 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ตาราง — การนำเข้าสินค้าผลไม้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แยกตามประเภทสินค้าสำคัญต่างๆ
      ประเทศ                   มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ)               สัดส่วน (ร้อยละ)              อัตราการขยายตัว
                       2554    ม.ค. — มี.ค.  ม.ค. — มี.ค.    2554   ม.ค. — มี.ค.  ม.ค. — มี.ค.     (ร้อยละ)
                                   2554        2555                     2554        2555
จากทั่วโลก           1,080.60       237.33       239.77     100.00       100.00       100.00       1.03
1.ส้ม มะนาว           162.00        57.57        61.60      14.99        24.26        25.69       7.00
(H.S. 0805)
2.ผลไม้ตระกูลถั่ว        181.50        46.30        46.62      16.80        19.51        19.45       0.71
(H.S. 0802)
3.กล้วย               107.50        28.83        27.23       9.95        12.15        11.36      -5.55
(H.S. 0803)
4.สับปะรด             106.93        21.16        24.94       9.90         8.92        10.40      17.88
(H.S. 0804)
5.องุ่น                 97.51        10.95        10.23       9.03         4.62         4.27      -6.55
(H.S. 0806)
6.แตงโม มะละกอ        69.13         4.69         5.14       6.40         1.98         2.15       9.62
(H.S. 0807)
ที่มา- world trade atlas

การส่งออกจากไทยเข้าสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

          ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกผลไม้สดและแช่เย็นเข้าสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1.77 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7.37 เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด มีส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.41 ของมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยทั้งหมด
          สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. — มี.ค. 2555 ประเทศไทยส่งออกสินค้าผลไม้สดและแช่เย็น เข้าสู่สวิตเซอร์แลนด์ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 0.48 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.37 ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด จัดเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 17 ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกปี 2555 เพิ่มขึ้น 0.08 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.99 ผลไม้สดสำคัญของไทยที่ส่งออกเข้าสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ สับปะรด มะละกอ กล้วย ลิ้นจี่ เป็นต้น สำหรับผลไม้อื่นที่มีศักยภาพได้แก่ มะม่วง มะขามหวาน กล้วยไข่ มะพร้าวน้ำหอม (โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมที่ปอกเปลือกด้านนอกแล้ว)

อัตราภาษีนำเข้า

          * ผลไม้สด (พิกัด H.S. 08) อัตราภาษีนำเข้า 0.00 -10.00 สวิสฟรังก์ ต่อ 100 กิโลกรัม
นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 2.5
          อัตราภาษีนำเข้าจากประเทศไทยสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของทุกหมวด/รายการสินค้า สามารถหาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://xtares.admin.ch/tares/main/mainFormFiller.do;jsessionid=T2tNPQRVnXDwV81fSt2MzHLJQGYRQTKgmvcSzF3y12W1XcngtptG!1016373306?l=en&chemicalSearchType=cas

หมายเหตุ
          1. ผลไม้นำเข้าจากประเทศยุโรปอื่นๆ จะต้องเสียระวางภาษีตามฤดูกาล ก่อนจะนำเข้าสู่สวิตเซอร์แลนด์หมายความว่า หากจะนำเข้าผลไม้ในช่วงฤดูกาลที่มีผลไม้สวิสท้องถิ่นชนิดเดียวกันวางจำหน่าย ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีในปริมาณเพิ่มมากกว่าในช่วงฤดูกาลที่ไม่มีผลไม้สวิสท้องถิ่นวางขาย นอกจากนี้ อัตราภาษียังขึ้นอยู่กับปริมาณโควต้าของสินค้าผลไม้ในแต่ละช่วงของปีอีกด้วย
          2. ผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศจากทั่วโลกอื่นๆ เช่น สับปะรด ไม่มีภาษีนำเข้าและไม่มีการกำหนดปริมาณการนำเข้า

มาตรการที่มิใช่ภาษี
          กฎระเบียบต่างๆ ผลไม้นำเข้าจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎของภาครัฐ แยกกฎระเบียบสำคัญต่างๆ ได้แก่
          * Global GAP สำหรับสินค้านำเข้า และ Swiss GAP สำหรับสินค้าท้องถิ่น
          * กฎหมายว่าด้วยสินค้าเพื่อการบริโภค (มาตรา 817.0)
          * กฎระเบียบว่าด้วยการปนเปื้อนของสารเคมีและสารตกค้างในสินค้า (มาตรา 817.021.23)
          * กฎระเบียบว่าด้วยสาร additive ต่างๆ ในผลไม้ (มาตรา 817.022.31)
          * กฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยของผู้บริโภค (มาตรา 817.024.1)

          ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลรายละเอียดกฎระเบียบข้างต้นใน 3 ภาษาราชการของสวิตเซอร์แลนด์ ได้จากเว็บไซด์ ดังนี้
          www.admin.ch/ch/d/sr/sr.html (ภาษาเยอรมัน)
          www.admin.ch/ch/f/sr/sr.html (ภาษาฝรั่งเศส)
          www.admin.ch/ch/i/sr/sr.html (ภาษาอิตาลี)

          นอกจากนี้ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานสินค้าสำคัญต่างๆ ได้แก่
          1. มาตรฐานด้านสุขอนามัย เพื่อเป็นการยืนยันว่าสินค้าได้มีการตรวจสอบ และเป็นไปตามกฏระเบียบของประเทศผู้นำเข้า การนำเข้าผลไม้ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary certificate) แนบไปกับสินค้าทุกครั้ง โดยใบรับรองดังกล่าวต้องผ่านขั้นตอนการตรวจรับรองโดยหน่วยงาน National Plant Protection Organization (NPPO) สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ดังกล่าว คือ กรมวิชาการเกษตร โดยสินค้าที่จะสามารถส่งออกได้จะต้องมาจากแปลงของเกษตรกรที่ได้รับการรับรองระบบ GAP และผ่านการคัดบรรจุจากโรงงานที่ได้รับการรับรองระบบ GMP
          2. มาตรฐานทางการตลาด กำหนดมาตรฐานทางการตลาดครอบคลุมในเรื่องความสดและบรรจุภัณฑ์ของพืช ผักและผลไม้ ซึ่งผลไม้นำเข้าจะต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดชื่อ ทีอยู่ของผู้ผลิต ลักษณะสินค้า ประเทศต้นกำเนิด และขนาดของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน
          3. มาตรฐานของกลุ่มผู้นำเข้าภาคเอกชน (Private Initiatives) เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริษัทเอกชน มาตรฐานที่สำคัญ ได้แก่
             3.1 Euro-retailier Produce Working Group : EUREP สำหรับผัก ผลไม้ สินค้าปศุสัตว์ และ ไม้ดอก เพื่อให้ผู้บริโภคในยุโรปได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคสินค้าเกษตร รวมถึงขบวนการผลิตที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
             3.2 Fair Trade สัญลักษณ์การค้าเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจรับรองจาก FLO (Fairtrade Labelling Organisations International) โดยมีหลักเกณฑ์หลายประการ อาทิเช่น การซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่สูงและเป็นธรรม การช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาการผลิต การบริหารจัดการและการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

แนวทางในการขยายตลาดส่งออกและข้อเสนอแนะ

          1. สับปะรดสดที่จำหน่ายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศในทวีปอเมริกาใต้ นิยมตัดผลเมื่อยังไม่สุกเต็มที่และขนส่งมาทางเรือ ก่อนที่จะบ่มให้สุกและจำหน่ายแก่ผู้บริโภคชาวสวิสต่อไป สำหรับสับปะรดไทยส่วนมากตัดเมื่อแก่จัดและส่งมาทางเครื่องบิน ทำให้มีราคาต่อหน่วยสูงกว่าสับปะรดจากอเมริกาใต้เป็นอย่างมาก โดยเฉลี่ยราคาจะสูงกว่าถึงประมาณร้อยละ 100 - 250
          2. สินค้าลิ้นจี่สดจากประเทศไทย มีราคาจำหน่ายที่ไม่แพงมากนัก และมีราคาใกล้เคียงกับลิ้นจี่ที่นำเข้ามาจากมาดากัสการ์ อัตราการขยายตัวและการเจาะตลาดใหม่ๆ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ยังคงสดใส สำหรับสินค้าลำไยสดนั้น เนื่องจากช่วงผลผลิตลำไยส่งออกของไทย เป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันที่ประเทศในยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์มีผลไม้ท้องถิ่นออกวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ทำให้ลำไยสดจากไทยไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวสวิสเท่าที่ควร นอกจากนี้ ความสดของผลไม้ไทย ยังจัดเป็นข้อเสียเปรียบทางการค้าอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการไทยจึงควรพัฒนาคุณภาพและการบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ให้สามารถเก็บรักษาสินค้าได้ยาวนานขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดสวิสได้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
          3. ประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา สามารถส่งออกผลไม้ที่คล้ายคลึงกับผลไม้ไทย เช่น มะม่วง มะละกอ ลิ้นจี่ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีราคาจำหน่ายถูกกว่าผลไม้จากประเทศไทยมาก เนื่องจากมีปริมาณการผลิตที่สูงมาก และขนส่งมาทางเรือ จึงมีความได้เปรียบในเรื่องค่าขนส่งที่ต่ำกว่าผลไม้จากไทยอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวสวิสยังชอบรสชาดของผลไม้ไทยมากกว่า
          4. ผลไม้ที่ขายในตลาดประเทศสวิตเซอร์แลนด์จำนวนมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผลไม้เมืองหนาวและเป็นผลไม้จากประเทศต่างๆในยุโรป ในขณะที่ผลไม้จากประเทศไทยเป็นผลไม้เมืองร้อนและยังไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยแพร่หลายเท่าที่ควร ผู้ประกอบการไทยควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและให้ความร่วมมือกับผู้นำเข้าในการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้นำเข้าในการนำสินค้าดังกล่าวเข้าไปวางจำหน่ายตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อให้ชาวสวิสและยุโรปรู้จักประโยชน์และรสชาติของผลไม้ไทย Thai Exotic Fruits และเป็นแรงกระตุ้นให้ซื้อผลไม้ไทยเหล่านั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกในระยะยาวอย่างต่อเนื่องต่อไป
          5. บริษัท HPW AG ผู้นำเข้าผลไม้รายสำคัญรายหนึ่งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้ความเห็นว่า ผลไม้ไทยมีคุณภาพดี โดยเฉพาะสับปะรด มะม่วง มะละกอ ซึ่งบริษัทได้เพิ่มปริมาณการนำเข้าจากไทยมาโดยตลอด แต่มีสิ่งที่ผู้นำเข้ากังวล คือ เรื่องสารเคมีตกค้างและปัญหา GMO บริษัทผู้นำเข้าดังกล่าวจึงต้องการเห็นประเทศไทยคำนึงถึงเรื่องกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเข้าสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ได้กำหนดห้ามการนำเข้าพืชที่ตัดต่อสารพันธุกรรม GMOs รวมถึงสินค้าอาหารที่มี GMOs เป็นส่วนผสม ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษและต้องตรวจสอบไม่ให้มี GMOs ผสมในผลิตภัณฑ์อาหารของตน ก่อนส่งสินค้าเหล่านี้เข้าสู่ยุโรปต่อไป

            **********************************************************************************


                                                             จัดทำโดย นายอาทิตย์ กองเกตุ ผู้ช่วยดำเนินการฯ คนที่ 1
                                                                                           สคต.แฟรงก์เฟิร์ต
                                                                                            พฤษภาคม 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ