การนำเข้าผลไม้สดและแห้งในตลาดฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 3, 2012 17:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การนำเข้าผลไม้สดและแห้งในตลาดฮ่องกง

1.ตัวเลขการค้า

จากสถิติทางการฮ่องกง: ไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้สดและแห้งที่สำคัญของฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2554 ฮ่องกงนำเข้าผลไม้ (SITC 057: fruit and nut(not including oil nuts) fresh or dried) จากทั่วโลก เป็น มูลค่า 2,880 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา(ร้อยละ 47.5) ชิลี (ร้อยละ 9.7) อิหร่าน(ร้อยละ 7.2) และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่สอง ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.3 คิดเป็นมูลค่า 298 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของฮ่องกง ในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้เขตหนาว และถั่วต่างๆ

จากสถิติทางการไทย : ฮ่องกงถือเป็นตลาดผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งที่สำคัญเป็นอันดับสองของไทย รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2554 ไทยส่งออกผลไม้มาฮ่องกงเป็นมูลค่า 155.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.16

ประเภทผลไม้หลักที่ฮ่องกงนำเข้าจากไทยในปี 2554
 ลำดับ          สินค้า               มูลค่า(ล้านเหรียญสหรัฐ)    อัตราขยายตัว(%)
  1        ลำใย                        43.6                53.74
  2        ทุเรียน                       40.9                71.09
  3        กล้วย                        32.4             5,578.31
  4        มังคุด                        14.4                -10.3
  5        ผลไม้ประเภทส้ม                 1.5                 2.13
  6        เงาะ                         1.1                97.78
  7        ลิ้นจี่                          0.8                -6.49
  8        มะม่วง                        0.5                 8.83
ราคาปลีกและขายส่ง(เมษายน 2555)

หน่วย: เหรียญฮ่องกง

รายการสินค้า      ตลาดสด                    ขายส่ง
                Wanchai        Yau Ma Tei Wholesale Market
ลำไย            $36/ก.ก.     น้ำหนัก  12 ก.ก./$300       $25/ก.ก.
เงาะ            $44/ก.ก.     น้ำหนัก  12 ก.ก./$200       $16/ก.ก.
มังคุด            $27/ก.ก.     น้ำหนัก 10 ก.ก./ $150       $ 15/ก.ก.
กล้วยไข่          $39/ก.ก.     น้ำหนัก 14 ก.ก./$230        $16.50/ก.ก.
มะม่วง
น้ำดอกไม้         $12-15/ใบ    น้ำหนัก 5 ก.ก./$220         $16.50/ก.ก.
เขียวเสวย        $10/ใบ       น้ำหนัก 10ก.ก./150          $15/ก.ก.
ทุเรียน           $29/ก.ก.     น้ำหนัก  1ก.ก./13-14        $13-14/ก.ก.
หมอนทอง
ชมพู่             $57/ก.ก.     น้ำหนัก 8 ก.ก./300          $37.50/ก.ก.
หมายเหตุ :   1. การชั่งน้ำหนักของผลไม้สดในตลาดฮ่องกงจะคิดราคาต่อปอนด์
            2. อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญฮ่องกง เท่ากับ 4.00 บาท

2. ลักษณะการนำเข้า :
          ฮ่องกงนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเอง โดยจะนำเข้าผ่านทั้งทางเรือ ทางอากาศและทางรถยนต์ ผลไม้ที่นำเข้าส่วนหนึ่งใช้บริโภคภายในประเทศ และอีกส่วนจะส่งต่อเข้าไปขายในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในเมืองแถบมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ติดกัน สัดส่วนการส่งต่อไปขายในจีนอาจลดลงเล็กน้อยเนื่องจากจีนเริ่มมีการนำเข้าตรงมากขึ้น แต่ผลไม้ที่มีคุณภาพสูง และราคาแพงก็ยังนิยมส่งผ่านฮ่องกงอยู่

3.แนวโน้มความต้องการผลไม้สดไทยในฮ่องกง
          การนำเข้าผลไม้สดจากไทย จะเป็นไปตามฤดูกาลของผลผลิตที่ออกในประเทศไทย โดยในเดือนเมษายน มีหลายชนิด เช่น  ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ชมพู่ทับทิม มะม่วงน้ำดอกไม้/เขียวเสวย
          โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ชะนี กระดุม ซึ่งหมอนทองจะเป็นที่นิยมมากที่สุด สำหรับผลไม้ที่เป็นที่นิยมตลอดทั้งปี ได้แก่ กล้วยไข่ ส้มโอ มะพร้าวอ่อน สับปะรด ลองกอง
          ในช่วงมิถุนายน — กรกฏาคม ความต้องการผลไม้ไทยจะลดลง เนื่องจากช่วงนี้ ผลผลิตของไทยลดลงประกอบกับมีผลไม้เขตหนาวเริ่มทะยอยเข้ามาในตลาดมากขึ้น อาทิ เชอรี่จากอเมริกา และลิ้นจี่จากจีน
          อย่างไรก็ตาม หากถ้าเป็นประเภทผลไม้เขตร้อน(Tropical Fruit) แล้ว ผลไม้จากไทยจะเป็นที่นิยมอันดับแรกของตลาดฮ่องกง เพราะความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพและรสชาด
          การแข่งขันในตลาดฮ่องกง มีค่อนข้างสูง ทั้งจากผลไม้ประเภทเดียวกันและผลไม้ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ผลไม้แปลกๆ จากประเทศต่างๆ มักนิยมมาทดสอบตลาดในฮ่องกง การนำเข้าผลไม้จากไทยในปีที่ผ่านมาลดลง เนื่องจากค่าเงินบาททำให้สินค้าไทยแพง ผู้บริโภคหันไปบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่า ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าผู้บริโภคที่นิยมผลไม้ไทยส่วนใหญ่จะเป็นวัยผู้ใหญ่แล้ว คนรุ่นใหม่มักนิยมบริโภคผลไม้ฤดูหนาว หรือถั่วต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าผลไม้เขตร้อน รับประทานยาก มีกลิ่นรุนแรง ดังนั้น การแปรรูปให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าต่อร่างกาย จะช่วยให้ขยายตลาดนี้ได้เพิ่มมากขึ้น

4. ลักษณะการค้าผลไม้สดในฮ่องกง
          -  รูปแบบการซื้อขาย แต่เดิมการซื้อขายผลไม้สดระหว่างฮ่องกงและไทย ส่วนใหญ่ใช้วิธีการขายแบบฝากขาย (Consignment) แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนวิธีการนำเข้าโดยการสั่งซื้อ และชำระเงินผ่านธนาคาร หรือเปิด L/C หรือเป็นระบบหุ้นส่วนกับเจ้าของสวน โดยกำไรจะแบ่งกันตามสัดส่วน  ผู้นำเข้ารายใหญ่รายหนึ่งในฮ่องกง กล่าวว่า เขาดำเนินธุรกิจค้าผลไม้ไทยมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยร่วมทุนกับเจ้าของฟาร์มผลไม้สดไทยในจังหวัดจันทบุรีโดยแบ่งผลกำไรตามสัดส่วน ผู้ค้าปลีกผลไม้ ทั้งที่เป็นห้างขนาดใหญ่ มีหลายสาขา หรือเป็นร้านเฉพาะ (fruit stand)   จะไม่นำเข้าผลไม้เองจะติดต่อสั่งซื้อผ่านผู้นำเข้า หรือผู้ค้าส่งในตลาดค้าส่ง
          - การกระจายสินค้า
          1. นำเข้าทางบก ทางเรือ และทางอากาศ  และกระจายไปยังตลาดขายส่งผลไม้
          - ของหน่วยงานรัฐบาล(Agriculture Fisheries and Conservation Department) มี 2 แห่ง ด้วยกัน คือ  Cheung Sha Wan Wholesale Food Marke ฝั่งเกาลูน และ Western Wholesale Food Market ฝั่งฮ่องกง
         - ของภาคเอกชน ได้แก่ ตลาดขายส่ง Yau Ma Tei  Fruit Market ฝั่งเกาลูน Yau Ma Tei Wholesale Market มีผู้นำเข้าและร้านค้าขายส่ง ประมาณ 350 ร้านค้า โดยเป็นการเช่าจากเอกชน ดูแลโดย Food and Environment Hygiene Department
          2. ตลาดค้าส่งผลไม้ ก็จะกระจายไปตามร้านค้าปลีก/ห้างสรรพสินค้า ตามคำสั่งซื้อที่แจ้งไว้ล่วงหน้าไว้ต่อไป

5. การบรรจุภัณฑ์
          ผลไม้สดจากไทย จะส่งออกมาในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่เป็น กล่อง/ตระกร้า  ระบุบริษัทนำเข้า/ส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีทั้งชื่อบริษัทและยี่ห้อ อาทิ ยี่ห้อ OP , TIGER ,  TP, Snack, Dragon ระบุรายละเอียดของผลไม้ ชนิด น้ำหนักรวมทั้งแหล่งที่มา Product from Thailand
          การขายปลีกในซุปเปอร์มาเก็ต หรือร้านค้าปลีกเฉพาะจะแกะใส่กล่องโฟม ใส่พาสติกคลุม เป็นลูกๆ และชั่งเป็นปอนด์  ไม่ได้เน้นความสวยของ Packaging แต่จะดูความสดที่ผิว/เนื้อผลไม้

6 . พฤติกรรมผู้บริโภค
          - ชาวฮ่องกงจะเลือกรับประทานผลไม้สด ตามฤดูกาล เพื่อให้ได้รสชาดและคุณภาพที่ดีที่สุด
          - ชาวฮ่องกงจะซื้อผลไม้จากซุปเปอร์มาเก็ต ร้านค้าผลไม้ และในตลาดสดขึ้นอยู่กับความสะดวกโดยจะซื้อครั้งละไม่มาก แต่บ่อยครั้ง
          - ผลไม้ที่มีสรรพคุณดีต่อสุขภาพ และมีกรรมวิธีในการปลูกที่ปลอดสารพิษ สารปนเปื้อน จะเป็นที่นิยม
          - ชาวฮ่องกงรู้จักและคุ้นเคยอาหารไทยและสินค้าไทยเป็นอย่างดี นิยมที่จะเลือกที่จะซื้อโดยตรง กับร้านค้าเล็กๆ ของไทยย่านสนามบินเก่า(Kai Tak Airport) หรือตลาดสด Wanchai
          ฝั่งฮ่องกง ที่มีการสั่งซื้อและส่งทางสายการบินเกือบทุกวัน เพื่อที่จะได้ของสดและมีคุณภาพ  แต่มูลค่าอาจไม่ปรากฏในสถิติของทางการ

7. ปัญหา และอุปสรรค
          - การแข่งขันด้านราคา ทั้งจากสินค้าประเภทเดียวกันและสินค้าประเภทอื่น ที่มีผลผลิตในช่วงเดียวกันกับผลไม้จากไทย
          - คุณภาพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูกาลของผลไม้ที่พยายามเร่งส่งผลผลิตเข้าตลาดเพื่อขายได้ราคา มักจะเกิดกับทุเรียน ซึ่งจะเป็นการทำลายตลาดในระยะยาว
          - ผลกระทบจากค่าเงินบาท ทำให้ราคาที่ไม่คงที่ ทำให้ผู้นำเข้าลังเลในการสั่งซื้อ
          - การเร่งกระจายสินค้าเมื่อผลผลิตล้นตลาด ทำให้มีผลกระทบกับราคาผลไม้ที่ผู้นำเข้าฮ่องกง ได้สั่งซื้อล่วงหน้าไว้ก่อนหน้า
          - การควบคุมระบบตลาดซื้อ-ขายผลไม้ของนักธุรกิจฮ่องกง ที่สามารถควบคุมได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ Supply Side โดยการเข้าร่วมลงทุนดำเนินการในขั้นตอนผลิตจนกระทั่งถึงDemand Side  คือขายในตลาดต่างประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้อย่างแท้จริง มีไม่มากเท่าที่ควร โดยได้เฉพาะค่าแรงงานเท่านั้น
          - ผู้บริโภคที่นิยมผลไม้ไทยในส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเก่า วัยผู้ใหญ่ คนรุ่นใหม่มักนิยมบริโภค ผลไม้ฤดูหนาว เนื่องจากเห็นว่ารับประทานยาก มีกลิ่นรุนแรง ดังนั้นการแปรรูปให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์และคุณค่าต่อร่างกาย จะช่วยให้ขยายตลาดนี้ได้เพิ่มมากขึ้น

8. ข้อเสนอแนะ

ภายในประเทศ
          - ควรมีการวิจัยและศึกษา และขยายพันธ์ให้กับเกษตรกรผลิตสินค้าที่ออกมามีคุณภาพ
          - กำหนดมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ส่งออกทุกรายใช้เป็นมาตรฐานกำหนดขนาดสินค้าของตน เพื่อให้กการกำหนดราคาและคุณภาพมาตรฐานเป็นไปในทางเดียวกัน
          - ปรับปรุงการขนส่งที่รวดเร็ว เพื่อให้สินค้าถึงปลายทางได้เร็วที่สุด เช่น การจัดเที่ยวคาร์โก้ขนส่งสินค้า จากแหล่งเพาะปลูกผลไม้ไทยไปยังต่างประเทศ ในช่วงฤดูที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
          - กำหนด Zoning  การเพาะปลูกเพื่อสามารถบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ
          - จัดระเบียบการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร
          - วิจัยพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

ต่างประเทศ
          - เข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องที่จัดในฮ่องกง(HOFEX, FOOD EXPO และ  ASIA Fruit Logistica )
          - จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาเก็ตในฮ่องกง เช่น ห้าง Jusco, City Super, Sogo,
          Wellcome
          - จัดคณะผู้นำเข้าฮ่องกงเดินทางไปเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยเพื่อสั่งซื้อล่วงหน้า
          - จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างการยอมรับผลไม้จากประเทศไทย ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งขยายไปถึงคนรุ่นใหม่ๆ ด้วย
          - จัดทำ Road Map การค้าผลไม้ไทยเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ยั่งยืน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
          - รายงานความเคลื่อนไหวของตลาดแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ต่อเนื่องและทันเวลา

                         --------------------------------------------------------

                                                                   สำนักงานส่งเสริมการในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง
                                                                                               เมษายน 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ