แนวโน้มการนำเข้าข้าวของซาอุดีอาระเบีย ปี พ.ศ. 2555
ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวซาอุฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อกลางวัน และมื้อเย็น ส่วนใหญ่จะบริโภคในรูปของข้าวหมก (ใส่เครื่องเทศต่างๆ)ร่วมกับเนื้อแพะ/แกะ/ไก่/วัว ทั้งนี้ ในปี 2553 ชาวซาอุฯ บริโภคข้าวในอัตราเฉลี่ย 43 กก./คน/ปี
ประเทศ 2554 2553 2552 % 2554/2553% 2553/2552 __________________________________________________________________________ อินเดีย 650 598 607 8.64 -1.44 ไทย *116 143 197 -18.78 -27.49 ปากีสถาน 180 199 162 -9.49 22.76 สหรัฐฯ 144 115 115 25.25 -0.09 ประเทศอื่นๆ 30 30 15 0.00 100.00 รวม 1,120 1,085 1,096 3.23 -1.01 __________________________________________________________________________ ที่มา: USDA, Jan 2012 * ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยไปซาอุฯ
ในปี 2554 มีการประมาณการณ์ไว้ว่าซาอุฯ มีการนำเข้าข้าวรวมทั้งสิ้น 1.12 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าจากอินเดียมากที่สุด 0.65 ล้านตัน ปากีสถาน 0.18 ล้านตัน สหรัฐฯ 0.14 ล้านตัน และไทย 0.11 ล้านตัน ตามลำดับ
สำหรับปี 2555 USDA คาดการณ์ว่าซาอุฯ จะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 1.10-1.15 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่คงตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวซาอุฯ มีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคข้าวบาสมาตินึ่ง (Parboiled Basmati Rice) เนื่องจากหุงต้มง่ายกว่าข้าวบาสมาติธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 มีปัจจัยเสี่ยงในส่วนของราคาข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ซาอุฯ อาจจะนำเข้าข้าวเกรดสูงจากต่างประเทศลดลง หรือนำเข้าข้าวราคาต่ำจากประเทศอื่นมาทดแทนในส่วนนี้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ปี 2554 ไทยส่งออกสินค้าข้าวไปซาอุฯ ทั้งสิ้น 115,983 ตัน มูลค่า 82.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยไปซาอุดีอาระเบีย ลดลงร้อยละ 18.78 และ 11.52 ตามลำดับ เมื่อจำแนกตามประเภทสินค้าพบว่าไทยส่งออกข้าวนึ่งไปซาอุดีอาระเบีย 45,700 ตัน ข้าวหอมมะลิ (เกรด B) 27,407 ตัน และข้าวหอมประทุมธานี 18,119 ตัน
ปี 2555 (มค.-มีค.) ไทยส่งออกข้าวไปซาอุฯ แล้ว 22,880 ตัน มูลค่า 18.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยไปซาอุดีอาระเบีย ลดลงร้อยละ 23.70 และ 12.42 ตามลำดับ การส่งออกข้าวไทยไปซาอุฯ ที่ลดลงในช่วงนี้ อาจเป็นผลจากราคาส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศคู่แข่งอื่นๆซึ่งสืบเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวฯภายในประเทศ
ตามปกติชาวซาอุฯ จะมีการใช้จ่าย/บริโภคสินค้ากลุ่มอาหารค่อนข้างมาก ช่วงเดือนถือศีลอด (รอมฏอน) ของทุกปี โดยในปี 2555 จะเริ่มถือศีลอดประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ดังนั้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ก็น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทย รวมทั้งข้าว ที่จะได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว
------------------------------------------
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์
6 พฤษภาคม 2555