ITHAI ร้านอาหารไทยรูปแบบใหม่ในอิตาลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2012 14:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ITHAI ร้านอาหารไทยรูปแบบใหม่ในอิตาลี

เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ มีร้านอาหารไทยชื่อ ITHAI เปิดใหม่ในเมืองปาดัว อิตาลี โดยมี Mr. Andrea Marcon กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ เมืองเวนิช เป็นเจ้าของ และได้เชิญ นายสมศักดิ์ สุริยะวงศ์ เอกอัคราชทูตไทย และข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมพิธีเปิด

ITHAI ที่ใช้ชื่อเต็มว่า ITHAI, Healthy Asian Food เป็นร้านอาหารไทยร้านแรกในเมืองปาดัว ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี อยู่ระหว่างเมืองโบโลนญาและเวนิช เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และเป็นเมืองนักศึกษา เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยสำคัญหลายแห่งของประเทศ

ความสำคัญของ ITHAI ไม่ใช่เพียงเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกของเมืองดังกล่าว หากแต่เป็นร้านอาหารรูปแบบใหม่ที่ต่างจากร้านอาหารไทยแบบเดิมๆคือใช้แนวประยุกต์ และนวัตกรรมใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า "Thai Street Food" เป็นแนวฟิวชั่น เป็นร้านที่ไม่มีครัว และทำอาหารบนเตาในร้าน มีเพียงอาหารที่ปรุงสำเร็จ และอุ่นอาหารเพื่อเสิร์ฟเท่านั้น

คนทั่วไปอาจจะมีคำถามว่าทำไม หากแต่ถ้าทราบกฎระเบียบต่างๆของอิตาลีจะเข้าใจได้ดี เพราะการเปิดร้านอาหารไทยในอิตาลี เป็นเรื่องยากและมีกฏเกณฑ์ที่ซับซ้อน รวมไปถึงการขอใบอนุญาตของพ่อครัวและเรื่องวีซ่าซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนการขยายร้านอาหารไทยในประเทศอิตาลีอย่างที่ควรจะเป็นได้

จุดเด่นของร้านอาหารไทยในร้าน ITHAI ไม่ใช่เพียงรสชาติ หากแต่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ จึงใช้ชื่อว่า ITHAI, Healthy Asian Food และได้เลือกสถานที่ตั้งร้านที่ดีที่สุดของเมืองคือ ถนนคนเดินซึ่งมีลักษณะเป็นซุ้มทางเดิน ที่เชื่อมต่อกันเป็นระยะทางยาว และยังสามารถตั้งโต๊ะบริเวณ Tenace ด้านนอก ทำนองเดียวกับร้านกาแฟบนทางเดินในปารีส ในบริเวณเดียวกันก็จะมีอาหารต่างชาติอยู่ด้วยเช่นร้านอาหารญี่ปุ่น เนื่องจากปาดัวเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่ชื่นชอบความทันสมัย และความเป็นสากลมากกว่าคนรุ่นเก่า ซึ่งชาวอิตาเลี่ยน ได้ชื่อว่าเป็นคนที่อนุรักษ์นิยมและยึดติดแต่อาหารพื้นเมืองของตนมาก

ITHAI เน้นวิถีชีวิตแบบคนเมือง แต่ไม่ได้ทิ้งรูปแบบความเป็นไทยของรสชาติอาหาร เน้นเมนูอาหารที่ทานง่ายๆ เช่น ผัดไทย ข้าวผัด ส้มตำ ปอเปี๊ยะ ที่ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศที่ดีต่อสุชภาพ แถมภาชนะ ช้อนส้อมยังใช้ของที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใบปาล์มเป็นจานใส่อาหาร และช้อนส้อมที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเช่น ไม้ไผ่ ซึ่งลูกค้าชื่นชอบมาก อาหารก็จะเน้นที่คุณภาพมากกว่าราคา ด้วยความที่เชื่อว่า คนรุ่นใหม่จะเป็นคนกลุ่มที่จะเดินทางไปเมืองไทยในอนาคต เพราะติดใจในรสชาติอาหารและชอบสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม

ITHAI เน้นการตกแต่งร้านเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ โดยใช้ของไม่มากนัก และออกแนวโมเดิร์นทั้งสี การออกแบบ และเฟอร์นิเจอร์ อาหารเบาๆแต่รสชาติดีไปกันได้ดีกับภาชนะที่เป็นธรรมชาติ ที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม

ด้วยรูปแบบที่ทันสมัยแต่คงไว้ด้วยเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเช่น ตัวหนังสือและตัวเลขไทย บวกกับความอ่อนหวานและอัธยาศัยไมตรีของพนักงานเสิร์ฟซึ่งเป็นคนไทย ยิ่งเพิ่มความนิยมชมชอบจากลูกค้าร้านมี ๔๘ ที่นั่งภายในร้าน และภายนอกอีก ๔๔ ที่นั่ง โดยมีเมนูอาหารแบ่งเป็น ๕ ประเภทคือ

ประเภทเส้น
  • ผัดไทย
  • ผัดวุ้นเส้น
  • Yasai Ramen
ประเภทซุป
  • ต้มยำกุ้ง
  • ต้มข่าไก่
ประเภทแกง
  • แกงเขียวหวานกุ้ง
  • แกงแดงผัก
  • มัสมั่นไก่
ประเภทข้าว
  • ข้าวผัดผักขม
  • Nasi Goreng
  • ข้าวหอมมะลิ
ประเภทสลัด
  • ยำมะละกอใส่กุ้ง
  • ส้มตำผลไม้
  • ยำปลาทูน่าใส่เอปเปิ้ล
ประเภทเครื่องเคียง
  • กุ้งห่มสไบ
  • ป่อเปี๊ยะกุ้งผสมเครื่องแกง

อาหารที่ด้รับความนิยมสูงสุดคือ ผัดไทย และแกงมัสมั่น นอกนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบลดหลั่นกันลงมาไม่ว่าจะเป็น ข้าวผัด ต้มยำกุ้ง ส้มตำ และปอเปี๊ยะ

ลูกค้าของร้านมีตั้งแต่ นักศึกษาไปจนถึงคนทำงาน แต่เป็นคนที่รสนิยมดี และโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงซึ่งระมัดระวังเรื่องสุขภาพมาก

เครื่องปรุงอาหารต่างๆ นำเข้าจากประเทศไทยโดยตรง และบางส่วนซึ่งก็เป็นของไทย ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตในอิตาลี

ร้าน ITHAI ที่ปาดัว เหมือนเป็นร้านต้นแบบของร้านอาหารไทยรูปแบบใหม่ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ ทาง Mr. Marcon ตั้งใจจะเปิดสาขาที่เมืองเวนิช เวโรนา โบโลนญา และเมืองอื่นๆทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลีต่อไป

ความสำเร็จของ ITHAI อาจจะป็นการเปิดศักราชใหม่ของร้านอาหารไทยในอิตาลี และเป็นช่องทางการขยายอาหารไทยในรูปแบบใหม่ โดยมีชาวอิตาเลียนเป็นผู้เบิกทาง หากแต่ส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ที่อยู่ร้าน ITHAI

Via Roma ๙๔/๙๖ Padova ( Padua ) Italy

Tel . ๐๔๙๐๙๗๑๔๖๒

e-mail info@ithai.it

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโรม

๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ