สถานการณ์การค้าภาพรวมสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศบราซิล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 11:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์การค้าภาพรวมสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศบราซิล

ประเทศบราซิล เป็นประเทศผู้ผลิต และผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญรายหนึ่งของโลก โดยมีสินค้าที่ผลิต และส่งออกที่สำคัญ คือ

ภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าที่สำคัญ

1.ถั่วเหลือง

บราซิลเป็นผลิตรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ สามารถผลิตได้ประมาณปีละ 60-70 ล้านตัน โดยมีการส่งออกประมาณร้อยละ 35-40 ของผลผลิตทั้งหมดหรือประมาณ 25 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกลำดับที่ 1 ของโลก

2.เนื้อไก่

บราซิลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน โดยสามารถผลิตเนื้อไก่ได้ประมาณปีละ 10-12 ล้านตัน โดยมีการส่งออกประมาณร้อยละ 18-22 หรือประมาณ 2.5-3 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกลำดับที่ 1 ของโลก

3.เนื้อวัว

บราซิลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ โดยสามารถผลิตเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์ได้ประมาณปีละ 8-10 ล้านตัน มีการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20 ของผลผลิต หรือประมาณ 2-2.5 ล้านตันต่อปีในปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 1 ของโลก

4.เนื้อหมู

บราซิลเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก โดยสามารถผลิตได้ประมาณปีละ 3 ล้านตัน รองจาก จีน สหรัฐ สหภาพยุโรป ตามลำดับ ในจำนวนนี้มีการส่งออกร้อยละ 20-25 ของผลผลิต หรือประมาณ 800,000 ตันต่อปี

5.น้ำส้ม

บราซิลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับที่ 1 ในการผลิตน้ำส้มในโลกโดยสามารถผลิตได้ประมาณปีละ1.5-1.7 ล้านตัน มีการส่งออกประมาณ ร้อยละ 70 ของผลผลิตหรือประมาณ 1.3-1.4 ล้านตันต่อปี เป็นผู้ส่งออกน้ำส้มในลำดับที่ 1 ของโลก

6.กาแฟ

บราซิลเป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถผลิตได้ประมาณปีละ 36 ล้านตัน และส่งออกร้อยละ 65 ของผลผลิตหรือประมาณ 24 ล้านตันต่อปี 7.น้ำตาล บราซิลเป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถผลิตได้ประมาณปีละ 28-32 ล้าน และส่งออกร้อยละ65 ของผลผลิตหรือประมาณ 18-20 ล้านตันต่อปี

ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว บราซิลถือเป็นคู่ค้า และคู่แข่งรายสำคัญของไทยในสินค้าเกษตร และอาหาร กล่าวคือ ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากบราซิล เช่น ถั่วเหลือง เป็นต้น และเป็นคู่แข่งของไทยในสินค้า เช่น น้ำตาล เนื้อไก่ เป็นต้น

อุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญมากสำหรับประเทศบราซิล โดยเชื่อว่ามีบริษัทที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอาหารประมาณ 60,000 บริษัท มีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 8 ล้านคน หรือร้อยละ 12 ของจำนวนแรงงานของทั้งประเทศบราซิลที่มีประมาณกว่า 70 ล้านคน โดยมีความสำคัญในภาคการผลิตที่มีสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติถึงร้อยละ 10 หรือมูลค่าประมาณ 247,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนต่อการส่งออกของบราซิลถึงร้อยละ 30-35 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของบราซิล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 79,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การบริโภคภายในประเทศ

ในด้านการบริโภคภายในประเทศ อุตสาหกรรมอาหาร มียอดจำหน่ายต่อปีประมาณ 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นับเฉพาะสินค้าอาหารสำเร็จรูปเท่านั้น) มีอัตราเติบโตของตลาดต่อปีประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี ในปี 2011 เติบโตร้อยละ 7.5 โดยมีการชื้อขายผ่านระบบค้าปลีกใน Hypermarket ร้อยละ 45 และ Supermarket ร้อยละ 55 ซึ่งร้านค้าที่มีความนิยม เช่น Wallmart, Pao de Acugar, Carrefour, Extra เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนร้านค้าในระบบประมาณถึง 1,500 ร้าน

การนำเข้าสินค้าอาหาร

บราซิลมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทั่วโลก ในปี 2011 รวมมูลค่าประมาณ 2,200-2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยประมาณ 22-25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเครื่องปรุงต่างๆ เช่น ปลาทูน่าและชาร์ดีนกระป๋อง และแช่แข็ง ผลไม้แห้ง ผลไม้กระป๋อง (ผลไม้ที่บราซิลผลิตไม่ได้หรือไม่พอ เช่น ลำใย เงาะ มังคุด สัปปะรด ลิ้นจี่ เป็นต้น)

การส่งออกสินค้าอาหาร

ในปี 2011 บราซิลส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลกมูลค่าประมาณ 79,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งมาประเทศไทยประมาณ 115 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าหลัก ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำตาล เนื้อวัว เป็นต้น

สำหรับตลาดการส่งออกอาหารของไทยมายังบราซิลนั้น นอกจากสินค้าประเภทอาหารทะเลกระป๋อง และแช่แข็งแล้ว ก็มีลู่ทางด้าน ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แห้งในผลไม้ที่บราซิลไม่มี เช่น ลำใย เงาะ มังคุด เป็นต้น ส่วนปริมาณการนำเข้าอาหารประเภทอื่นๆ จากไทยมีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากอาหารไทยยังเป็นที่รู้จักไม่มากนัก และยังมีร้านอาหารไทยไม่มาก ได้แก่ เครื่องปรุงอาหารต่างๆ เช่น ซอสปรุงรส เครื่องปรุงรส เป็นต้น

การนำเข้าสินค้าอาหารสำเร็จรูปนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากการนำเข้าสินค้าอาหารต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานด้านสุขอนามัยของบราซิล และมีกฎระเบียบด้านการนำเข้าอื่นๆ ที่เข้มงวด ตลอดจนต้องมีการขออนุญาตนำเข้าก่อน (Import Licence)

การคิดภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยประมาณ
IPI            Tax on Industrialized Products  0%
ICMS           (Tax on Good and Service Circulation) 12% (VAT)
II             Imports Tax 10%

สภาพตลาดร้านอาหารไทย

อาหารไทยในบราซิลยังเป็นที่รู้จักน้อย และหาทานได้ยาก เนื่องจาก รสชาติที่ไม่คุ้นเคย คือคน บราซิลโดยทั่วไปไม่นิยมทานอาหารรสเผ็ด นอกจากนั้น การที่ประเทศไทย และอาหารไทยยังเป็นที่รู้จักน้อย เนื่องจากความลำบากในการเดินทางที่ค่อนข้างไกล (เดินทางใช้เวลากว่า 29 ชั่วโมง) และสายการบินที่ให้บริหารน้อย ทำให้จำนวนนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวบราซิลที่ไปประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มากนักประมาณปีละ 20,000 คน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่สูงของบราซิลทำให้อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวบราซิลมีจำนวนมากขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพิ่มขึ้น และมีผู้สนใจขอข้อมูลสินค้าด้านอาหารมากขึ้น ทำให้เชื่อว่ายังมีแนวโน้มของตลาดที่จะขยายตัวได้ในอนาคตอีกมาก

ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในบราซิล (ที่ขายอาหารไทยมากกว่าร้อยละ 80 ของเมนูอาหารของร้าน) ทั้งสิ้น 9 ร้าน

.................................................

สคต. ณ นครเซาเปาโล

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ