เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองมาร์เนาส์ของประเทศบราซิล (Manuas Free Trade Zone)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 13:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองมาร์เนาส์ของประเทศบราซิล (Manuas Free Trade Zone)

ประวัติความเป็นมา

ในปี คศ. 1967 ประธานาธิบดี Castello Branco ให้มีการก่อตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองมาร์เนาส์ (Manuas Free Trade Zone) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศ ขึ้น โดยมีหลักการสำคัญตามข้อกฎหมายคือ กำหนดให้พื้นที่ที่อยู่ในเขตภายในรัศมี 10,000 กิโลเมตร จากเมืองมาร์เนาส์ของบราซิลทั้งหมดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการค้าการลงทุนต่างๆ ตามที่รัฐบาลกำหนด และจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า SUFRAMA (Manuas Free Trade Zone Superinterdence) ให้มีหน้าที่ในการควบคุมการค้า การลงทุน และสิทธิประโยชน์ให้แก่บริษัทและผู้ลงทุนที่ลงทุน และมีกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้โดยเฉพาะทั้งนี้ การดำเนินงานของ SUFRAMA ให้มีสิทธิพิจารณาได้เอง โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือความเห็นชอบจากรัฐบาลหรือหน่วยงานในส่วนกลาง

สิทธิประโยชน์

สำหรับหน่วยงาน SUFRAMA นี้ เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงในสังกัดของ กระทรวงการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ (Ministry of Development, Industry and Foreign Trade: MDIC) มีหน้าที่ที่จะพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และคอยควบคุมการค้า และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจฯ นี้ให้เป็นไปตามที่รัฐบาลบราซิลกำหนดซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1.ส่วนลดอากรนำเข้า (Import Duty) ของสินค้านำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยมีส่วนลดจากอัตราปกติสูงสุด 88% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้ยกเว้นภาษีนำเข้าตามสัดส่วนของวัตถุดิบหรือส่วนประกอบภายในประเทศที่ใช้ในการผลิต ทั้งนี้ หน่วยงาน SUFRAMA จะมีหน้าที่พิจารณาให้สิทธิประโยชน์เป็นกรณีไป

2.ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอุตสาหกรรม (Tax On Industrialized products; IPI) ที่ปกติจะเรียกเก็บในอัตรา 10-18% ของราคาสินค้า

3.ได้รับส่วนลดภาษีนิติบุคคล (Income Tax) สูงสุด 75% จากจำนวนที่ต้องชำระตามปกติ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มเติมจากการลงทุนเดิม

4.ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (PIS) และภาษีขาย (COFINS) ที่ปกติจะต้องเสียจากราคาสินค้า 8-18% ในการซื้อขายสินค้าภายในเขตเศรษฐกิจฯ

5.ได้รับส่วนลดของภาษีขายหมุนเวียน (Merchandise Circulation Tax; ICMS) มากที่สุด 55-100% ของยอดที่ต้องชำระ หากสามารถแสดงค่าใช้จ่ายในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเขตเศรษฐกิจฯ ให้ดีขึ้น เช่น ช่วยเหลือด้านสังคม การท่องเที่ยว การศึกษา วิจัยและผลิตสินค้าใหม่ เป็นต้น

6.ได้รับการให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมในเก็บสินค้าคงคลังในโกดังของรัฐ หรือเอกชน (International Warehouses) ที่ให้บริการในเขตเศรษฐกิจ และไม่ต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้องในการให้บริการนั้นๆ เป็นเวลา 1-5 ปี ซึ่งบริษัทสามารถขอขยายได้สูงสุด 5 ปี

7.สามารถซื้อที่ดิน และมีกรรมสิทธิในที่ดินในเขตเศรษฐกิจฯ ในราคาเพียง 1.00 เฮฮัล (ประมาณ 19 บาท) ต่อ 1 พื้นที่ตารางเมตร แต่ต้องมีการดำเนินการจัดตั้งบริษัทหรือใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นๆ ไม่น้อยกว่า 30 % ของที่ดินที่ขอซื้อในราคาพิเศษนี้ภายใน 5 ปี ของการขอรับสิทธิประโยชน์

โดยทั่วไปเมื่อประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการผลิต และบริการต่างๆ ของบริษัทในเขตเศรษฐกิจฯ จะมีอัตราค่าใช้จ่ายต่ำกว่าอัตราปกติที่บริษัทที่ตั้ง และผลิตอยู่นอกเขตเศรษฐกิจฯ ต้องจ่ายอยู่ประมาณ 25%

สถานะปัจจุบัน

ปัจจุบันการผลิตของบริษัทในเขตเศรษฐกิจมาเนาส์นี้ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ที่เป็นอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอีกร้อยละ 40 เป็นอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ตัวอย่างบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งที่มีฐานการผลิตในเขตเศรษฐกิจฯ นี้ เช่น Coca Cola, Sumsung, LG, NOKIA, Panasonic, HONDA, Harley Devison เป็นต้น โดยมีการจ้างแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 500,000 คน และมีมูลค่าการส่งออกกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทั้งนี้ มีสินค้าสำคัญที่ผลิต เช่น โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ มอเตอร์ไชด์ เครื่องดื่ม โทรทัศน์สี อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สคต. ณ นครเซาเปาโล

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ