ข้อมูลตลาดสินค้าอาหารในอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 14:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลตลาดสินค้าอาหารในอิหร่าน

๑.โอกาสทางการตลาด

อิหร่านเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า ๗๖ ล้านคน และประชากรร้อยละ ๙๘ นับถือศาสนาอิสลาม ประชาชนชาวอิหร่านจึงมีความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลเช่นเดียวกันทั้งประเทศ ดังนั้นสินค้าอาหารที่จำหน่ายหรือบริโภคในอิหร่านจะต้องเป็นอาหารฮาลาลทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดอาหารฮาลาลในอิหร่านมีขนาดใหญ่เท่ากับจำนวนประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว

นอกจากนี้ อิหร่านมีสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดต่อทั้งทางบกและทางทะเลกับประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น รัสเซีย อาเซอร์ไบจาน เตอร์เมนิสถาน ตูรกี อิรัก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และประเทศทางตอนใต้ติดกับอ่าวเปอร์เซีย เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้นับถือศาสนาอิสลาม อิหร่านจึงสามารถใช้เป็นศูนย์กลางขนส่งเพื่อส่งสินค้าฮาลาลเข้าสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรรวมกันกว่า ๓๐๐ ล้านคนอีกด้วย

รัฐบาลอิหร่านได้นำหลักศาสนาอิสลามมาใช้เป็นหลักในการปกครองและใช้เป็นแนวทางในการกำหนดตัวบทกฏหมายภายในประเทศ เมื่อรัฐบาลต้องการออกกฎหมายใหม่ ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองจากรัฐสภา ก่อนส่งให้ผู้นำอาวุโสทางศาสนาพิจารณาเห็นชอบ แล้วบังคับใช้เป็นกฏหมาย ส่งผลให้กฎหมายและระเบียบต่างๆ อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลจากผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาและกฎหมายอิสลามทั้งสิ้น

ประชาชนชาวอิหร่านนับถือศาสนาอิสลามและปฎิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด และจากการที่ศาสนาอิสลามกำหนดแนวทางและควบคุมความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์อย่างละเอียด รวมทั้งมีข้อกำหนดต่างๆ สำหรับชาวอิสลามในการดำรงชีวิตในทุกมิติ เช่น การบริโภคอาหาร การดื่ม การแต่งกาย การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ การเตรียมและปรุงอาหารต่างๆ ในอิหร่าน จึงต้องกระทำอย่างถูกต้องตามหลักฮาลาล ซึ่งชาวอิหร่านจะให้ความสำคัญกับอาหารฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารอื่นใดที่น่าสงสัยว่าไม่ถูกต้องตามหลักฮาลาล ส่งผลให้อาหารที่ผลิตในอิหร่านเป็นอาหารที่ถูกต้องตามหลักฮาลาลไปโดยปริยาย

พฤติกรรมการบริโภคของชาวอิหร่านจะให้ความสำคัญต่อการบริโภคอาหารเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัฒนธรรมอิหร่านให้ความสำคัญต่อการประกอบอาหารที่ปราณีตเพื่อรับรองแขกที่มาเยือนและเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน ชาวอิหร่านจึงมีความต้องการบริโภคอาหารสูง และถึงแม้ว่าอิหร่านจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ชาวอิหร่านมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 12,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จึงมีกำลังซื้ออาหารบริโภคพอสมควร ดังจะเห็นจากที่ชาวอิหร่านมีปริมาณการบริโภคอาหารสูงเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น อังกฤษ ซึ่งปรากฎการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับประเทศอาหรับอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ชาวอิหร่านนิยมซื้ออาหารเป็นจำนวนที่ละมากๆ และเก็บในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งในบ้าน แม่บ้านชาวอิหร่านนิยมประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน ทั้งนี้ อาหารแช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปได้รับความนิยมพอสมควร โดยชาวอิหร่านนิยมรับประทานอาหารอิตาเลี่ยน เช่น พิซซ่าหรือลาซันย่าแช่แข็ง แม่บ้านชาวอิหร่านส่วนใหญ่จะเป็นผู้จับจ่ายซื้ออาหารและผลไม้เข้าบ้าน โดยจะซื้ออาหารตามร้านขนมปัง ร้านขายเนื้อสัตว์ ร้านผลไม้ที่ตั้งอยู่ทั่วไปในอิหร่าน

          ชาวอิหร่านนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านพร้อมครอบครัว โดยจะสั่งอาหารประเภทย่างเป็นส่วนใหญ่ เช่น กาบาบไก่        กาบาบเนื้อ หรือกาบาบแกะ  อย่างไรก็ดี พบว่าชาวอิหร่านไม่นิยมรับประทานอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยมีรสชาติไม่ถูกปากชาวอิหร่านนัก ปัจจุบัน ในกรุงเตหะราน มีร้านอาหารไทยเพียงร้านเดียวเท่านั้น

๒.ตลาดสินค้าอาหารอิหร่าน

ข้อมูลจาก United Nations Commodity Trade Statistics บ่งชี้ว่าในปี 2010 ขนาดตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของอิหร่านมีมูลค่ากว่า 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศประมาณ 7.37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นมูลค่าการส่งออกอาหารประมาณ 5.04 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ภายหลังจากที่รัฐบาลอิหร่านเปิดตลาดอาหารและอนุญาตให้นำเข้าสินค้าอาหารตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา อิหร่านนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ สินค้าอาหารสำเร็จรูป ชา กาแฟ ผัก ผลไม้ ผลิตภันฑ์ นมและเนย เครื่องดื่มไร่แอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ และของหวานชนิดต่างๆ ระหว่างปี 2004- 2010 อิหร่านนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 491 หรือจาก 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 7.371 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อุตสาหกรรมอิหร่านประกอบด้วยบริษัทและโรงงานที่ผลิตอาหารจำนวนทั้งสิ้น 12,198 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 12 ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในอิหร่าน และมีแรงงานเป็นจำนวนหว่า 328,000 คน หรือประมาณร้อยละ 16.1% ของแรงงานทั้งหมดในอิหร่าน อิหร่านลงทุนในอุตสาหกรรมอิหร่านเป็นมูลค่ากว่า 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 18 ของมูลค่าการลงทุนในอิหร่านทั้งหมด

สินค้าอาหารที่สำคัญของไทยไปอิหร่านได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและผักกระป๋องแปรรูป

สถิติสินค้าอาหารไทยส่งออกไปอิหร่านระหว่างปี 2551-2554

หน่วยล้านเหรียญสหรัฐฯ

     สินค้าสำคัญส่งออกไปอิหร่าน        2551   2552   2553   2554            อัตราขยายตัว (%)
                                                               2551    2552   2553     2554
1 ข้าว                            79.6   16.0   36.9  150.1    -60.3  -79.89  130.66  306.66
2 น้ำตาลทราย                      12.0    4.1      -   51.6    -81.6  -65.67       0       0
3 ผลไม้กระป๋องและแปรรูป             15.1   17.1   27.0   42.6    117.3   13.49    57.6   57.77
4 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป         2.7    2.9    8.1   9.34     32.6    9.21  178.03      15
5 ผักกระป๋องและแปรรูป                2.1    5.6    7.8    7.3    -21.2  162.08   40.38   -6.48
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

          สินค้าไทยที่สามารถขยายตลาดในอิหร่านเพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้าอาหารกระป๋อง เช่น ข้าวโพดอ่อนกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่ากระป๋อง ผลไม้สดของไทย เช่น มะขามหวาน สัปปะรดสด  สินค้าประเภทแป้งทอดกรอบ น้ำมันพืชจากรำข้าวของไทย น้ำผลไม้ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำว่านหางจระเข้ ข้าวหอมมะลิ
          สินค้าไทยที่มีโอกาสเปิดตลาดใหม่ในอิหร่านได้แก่ ผลไม้สด เช่น มะม่วง มังคุด เงาะ และส้มโอ บะหมี่สำเร็จรูป เครื่องดื่มต่างๆ เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง อาหารไทยแช่แข็ง เช่น แกงไก่ ข้าวผัดกระเพราแช่แข็ง ซอสปรุงรสต่างๆ เช่น น้ำปลา น้ำจิ้มไก่ ซอสเผ็ด ผลไม้แห้งต่างๆ ขนมกรุบกรอบ และลูกอมชนิดต่างๆ เครื่องเทศปรุงอาหารชนิดต่างๆ

๓.ช่องทางการตลาด/การกระจายสินค้า
          ช่องทางการตลาดสินค้าอาหารในอิหร่านจะประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิตอาหาร กลุ่มผู้นำเข้า กลุ่มพ่อค้าคนกลางที่ดูแลและอำนวยความสะดวกในเรื่องการกระจายสินค้าอาหารไปสู่ร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งที่กระจายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจะต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าตามกฎหมายของอิหร่าน และจะเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตนำเข้า การแข่งขันด้านการตลาดระหว่างผู้ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากสินค้าอาหารที่นำเข้าส่วนใหญ่ เพื่อชดเชยสินค้าที่ขาดแคลนภายในประเทศ
          ผู้นำเข้าอาหารจากไทย สามารถจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลไทยผ่าน Chain Store ห้างค้าปลีก หรือร้านค้าย่อยที่ตั้งอยู่ทั่วไปในอิหร่าน สำหรับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะเป็นของรัฐบาล โดยหน่วยงานราชการหรือมูลนิธิต่างๆ ในอิหร่านจะเป็นผู้บริหารจัดการ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในอิหร่าน มีดังต่อไปนี้
          ก.ห้าง Shahrvand Chain Stores เป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเทศบาลกรุงเตหะราน (Municipality of Tehran) โดยห้าง Shahrvand จะจำหน่ายสินค้าในราคาที่ได้รับการอุดหนุนหรือกำหนดโดยรัฐบาล และมีสาขากระจายอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ในกรุงเตหะราน การออกแบบสถานที่ส่วนใหญ่จะจัดให้มีส่วนบริเวณด้านนอกของห้างเป็นลานตลาดสดเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทผัก ผลไม้ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ฯลฯ
          ข.ห้าง Refah Chain Stores เป็นห้างค้าปลีกภายใต้การดูแลของธนาคารมิลลี่แห่งชาติอิหร่าน (Mille Bank of Iran) ซึ่งเป็นของรัฐบาลอิหร่าน ปัจจุบัน มีสาขาทั่วประเทศ 120 สาขา และมีสินค้าให้เลือกซื้อตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
          ค.ห้าง Etka  Chain Stores เป็นห้างค้าปลีกภายใต้กระทรวงพิทักษ์การรุกรานแห่งชาติอิหร่าน (Ministry of Defense) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูกแก่คนยากจนในอิหร่าน
          ง.ห้าง Qhod Store เป็นห้างค้าปลีกที่อยู่ภายใต้ความดูแลของมูลนิธิเพื่อกิจการผู้อ่อนแอและผู้พิการแห่งการปฏิวัติอิสลาม โดยห้างนี้มีชื่อเรียกก่อนการปฏิวัติว่า Korosh Store และเปลี่ยนชื่อภายหลังการปฏิวัติเป็น Qhod Store
          จ.ห้าง Kowthar  Chain Store เป็นห้างค้าปลีกภายใต้มูลนิธิเพื่อผู้พลีชีพแห่งการปฏิวัติอิสลาม มีทั้งหมด 12 สาขาในกรุงเตหะราน
          ฉ.ห้าง Fishing Chain Store ในปี 1992 ห้าง Fishing Chain Store ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนผู้ปลดเกษียณอายุ (Pension Fund of Construction Jihad) และเป็นห้างที่ทำการจำหน่ายอาหารทะเล และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูปในอิหร่าน
          ช.ห้างอุตสาหกรรมน้ำมัน (Industry of Oil Store) เป็นร้านค้าปลีกภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน สินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
          ซ.ห้าง Zendeghi-Behtar Store เป็นร้านค้าปลีกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 โดยบริษัท Gold Iran เป็นห้างที่ขายสินค้าประเภทอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั่วประเทศอิหร่าน
          ฌ.ห้าง Shahr va Rosta Store ก่อตั้งในปี 1943 โดยความร่วมมือของบริษัทชาวเยอรมันนี เดิมชื่อ Ferdowsi Store หลังการปฏิวัติเปลี่ยนชื่อเป็น Shahr va Rosta Store ดำเนินกิจการแบบสหกรณ์บริษัท อยู่ภายใต้ความดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจและการพาณิชย์แห่งชาติอิหร่าน
          ญ.ห้าง Hyper Star นักลงทุนชาวฝรั่งเศสได้ลงทุนก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในเครือคาร์ฟูร์เป็นแห่งแรกในกรุงเตหะราน โดยสร้างขึ้นในบริเวณพื้นที่ตะวันออกของกรุงเตหะราน ใกล้กับสนามกีฬา Azadi Stadium ซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชากรฐานะปานกลางอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

๔.ขั้นตอนในการนำเข้าสินค้าและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง
          หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องมาตรฐานอาหารฮาลาลในอิหร่านได้แก่ The Institute of Standard and Industrial Research of Iran, The Veterinary Organization of Iran และ The Ministry of Health and Medical Affairs, Islamic Chamber Research & information Center นอกจากนี้ รัฐสภาอิหร่านได้ก่อตั้ง Food Industry Sub-committee และ I.R. of Iran's Halal Supreme Council เป็นองค์กรสูงสุดในการกำกับดูแลและปกป้องการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในอิหร่าน ผู้ผลิตอาหารอิหร่าน สามารถขอใช้ตราฮาลาลจากหน่วยงานนานาชาติ ได้แก่ International Halal food Organization และ Research Center of Islamic Chamber ที่ตั้งอยู่ในกรุงเตหะราน (www.icric.org)
          ในอิหร่าน การติดเครื่องหมายฮาลาลสำหรับสินค้าอาหารจากต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ และที่ผ่านมา ตราฮาลาลที่ออกจากคณะกรรมการกลางอิสลามของประเทศไทยได้รับการยอมรับในอิหร่าน และแม้ว่าอาหารบางชนิดจะเป็นอาหารฮาลาล แต่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติหรือเติมแต่งรสชาติ อาจสร้างความสงสัยต่อผู้บริโภคได้ เช่น น้ำมันที่เป็นส่วนประกอบในปลากระป๋อง หรือซอสปรุงรส เป็นต้น เครื่องหมายฮาลาลจึงที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคในอิหร่านเป็นอย่างมาก สินค้าอาหารแปรรูปไทยที่ส่งออกไปอิหร่านที่ควรติดเครื่องหมายฮาลาล ได้ อาหารกระป๋อง น้ำผลไม้ สารปรุงแต่งรสชาติ เยลลี่ น้ำมันพืช เป็นต้น
          ทั้งนี้ สินค้าอาหารที่ผลิตในอิหร่านยังไม่มีการบังคับให้มีเครื่องหมายฮาลาลประทับ เนื่องจากผู้บริโภคชาวอิหร่านจะทราบว่าอาหารที่ผลิตในอิหร่านทุกชนิดจะถูกต้องตามหลักฮาลาล ดังนั้น ผู้บริโภคอิหร่านจะตรวจสอบเรื่องอาหารฮาลาลเฉพาะกับอาหารที่ผลิตจากประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมเป็นพิเศษ เช่น สินค้าจากไทย จีน บราซิล สหภาพยุโรป เป็นต้น
          กฎระเบียบการออกใบรับรองสินค้าฮาลาล ศูนย์ Islamic Chamber Research and Information Center (ICRIC) ซึ่งเป็นองค์กรในเครือ Organization of Islamic Conference ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องกฎ ระเบียบการออกใบรับรองสินค้าฮาลาล เพื่อความสมบูรณ์และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในโลกมุสลิม ดังต่อไปนี้ (แปลอย่างไม่เป็นทางการ)

มาตรา ๑ นิยาม
          อาหารฮาลาล หมายถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับอนุญาตบนพื้นฐานของกฎอิสลามที่เรียกว่า "ฮาลาล"

หมายเหตุ ๑: คณะกรรมการฮาลาลยอมรับว่าการตีความเรื่องเนื้อสัตว์และวิธีการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ระหว่างสาขาของอิสลาม ยังไม่สอดคล้องกันอยู่บ้าง ทั้งนี้ คณะกรรมการฮาลาลจะพิจารณาความเชื่อพื้นฐานของนิติศาสตร์อิสลาม หรือจากองค์กรศาสนานิติศาสตร์อิสลามสูงสุด เช่น Assembly of Islamic Jurisprudence of the Organization of Islamic Conference (OIC)  และ The World Forum for Proximity of Islamic Schools of Thought  เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินการและในบ้างกรณีจะเสนอเรื่องต่อ Islamic Jurisprudence Research Committee เพื่อหาทางออก ซึ่งจะผ่านการพิจารณาจาก The Jurisprudence Assemblies ที่เป็นที่ยอมรับของ OIC ก่อน

มาตรา ๒  มาตรฐานทั่วไป
          ๒.๑  ผลิตภัณฑ์จะต้องไม่มีวัตถุดิบต้องห้ามหรือไม่อนุญาตตามกฎอิสลาม
          ๒.๒  ผลิตภัณฑ์จะต้องไม่ได้ถูกสัมผัสด้วยวิธีการใดๆ หรือจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายศาสนาอิสลาม ทั้งในช่วงการเตรียมการ การดำเนินการ การขนส่งและการเก็บรักษา
          ๒.๓  ในช่วงการเตรียมการ ดำเนินการ ขนส่งและเก็บรักษาสินค้า ผลิตภัณฑ์จะต้องไม่สัมผัสกับสารอาหารที่ไม่ได้รับการยอมรับจากกฎศาสนาอิสลาม

หมายเหตุ ๒:  อาหารฮาลาลไม่สามารถผลิต ขนส่ง และเก็บรักษาในโรงงานหรือในสายการผลิตที่มีสินค้าหรือวัตถุที่เป็นฮาราม (Haraam) ร่วมผลิต ขนส่ง และเก็บรักษา นอกจากจะมีผู้สังเกตการณ์ชาวมุสลิมมีส่วนเข้าร่วมในกระบวนการผลิตและการจัดการเพื่อป้องกันการสัมผัสระหว่างอาหารฮาลาลและอาหารฮาราม

หมายเหตุ ๓:  ในกรณีที่อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการการผลิต ขนส่งและเก็บรักษา กับสินค้าฮารามและอาลาลร่วมกัน อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เหล่านั้นจะต้องทำความสะอาดและชำระล้างตามกฎอิสลาม โดยชาวมุสลิมจะเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการทุกขั้นตอน หมายเหตุ ๔: เมื่อใบรับรองฮาลาลหมดอายุ ผู้ขอใบรับรองจะต้องขอต่อใบอนุญาตและขอรับการตรวจสอบตามขั้นตอนที่กำหนด

มาตรา ๓  ขอบเขต และการผนวก
          ๓.๑  ตามศาสนาอิสลามอันศักดิ์สิทธิ สินค้าอาหารและแหล่งที่มาของอาหารเป็นฮาลาลและได้รับอนุญาต ยกเว้นมีแหล่งที่มาและวัตถุดิบดังต่อไปนี้
          ๓.๒  การผลิตสินค้าอาหารจากสัตว์ต่อไปนี้ ไม่ได้รับการยอมรับและอนุญาต
               ก. สุกรทุกชนิด และหมีป่า
               ข. สุนัขทุกชนิด งู และลิง
               ค. สัตว์กินเนื้อทุกชนิดที่มีกรงเล็บและฟันหน้า เช่น สิงโต เสือ หมี และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
               ง. นกล่าเหยื่อ เช่น นกแร้ง และนกอื่นๆ ที่คล้ายกัน
               จ. สัตว์ที่เป็นอันตราย เช่น หนู กิ้งกือ แมงป่อง และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
               ฉ. สัตว์ที่ห้ามฆ่าตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น มด ผึ้ง และนกหัวขวาน
               ช. สัตว์ที่สิงสู่อยู่กับมนุษย์โดยทั่วไป โดยการซ่อนเร้นหรืออย่างไม่เต็มใจ เช่น แมลงปรสิต แมลงวัน แมลงดูดเลือด และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
               ซ. สัตว์ที่อาศัยทั้งในน้ำและบนดิน (สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ) เช่น กบ จระเข้ และสัตว์อื่นๆ ที่คล้ายกัน
               ฌ. สัตว์ทะเลใดๆ ที่ไม่มีเกล็ด (ที่มีอันตรายและเป็นพิษ)
               ญ. สัตว์ใดๆ ที่ไม่ได้ถูกฆ่าเป็นอาหารตามหลักกฎหมายศาสนาอิสลาม
               ฎ. เลือดหรืออาหารที่ผสมเลือด
               ฏ  สัตว์ใดๆ ที่อาศัยในน้ำ (สัตว์น้ำ) และไม่ได้ล่าตามหลักกฎหมายอิสลาม (ไม่ได้ถูกจับขณะมีชีวิตขึ้นจากน้ำหรือถูกล่าให้ตาย)
          ๓.๓  อาหารอินทรีย์และพืชทุกชนิดได้รับอนุญาต เว้นแต่นิติศาสตร์อิสลามพิพากษาไม่อนุญาตไว้ เนื่องจากมีส่วนผสมของสารอันตราย แอลกอฮอล์ หรือสิ่งมึนเมา (อย่างไรก็ดี คำพิพากษาจะขึ้นกับคณะนิติศาสตร์ศาสนา ภายใต้การกำกับดูแลของ Organization of Islamic conference)
          ๓.๔ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีอันตรายหรือเครื่องดื่มทุกชนิดที่เป็นของมึนเมาไม่ได้รับการยอมรับ และถือว่าเป็นฮาลาม
          ๓.๕  สารปรุงแต่งที่ผลิตสารตามมาตรา ๓ ถือว่าไม่ได้รับการยอมรับ (เช่น สาร Gelatin ที่ผลิตจากหนังหรือกระดูกของสุกรหรือวัว ที่ไม่ได้ถูกฆ่าสัตว์เป็นอาหารตามกฎอิสลาม)
          ๓.๖ การฆ่าสัตว์ที่มีชิวิตเพื่อเป็นอาหารบนพื้นดิน จำเป็นต้องปฎิบัติตามกฎศาสนาอิสลาม ดังนี้
               ก.  การฆ่าสัตว์เป็นอาหาร จำเป็นต้องกระทำโดยชาวมุสลิมที่มีความศรัทธาและมีความรู้ในเรื่องการฆ่าตามหลักอิสลาม
               ข.  สัตว์จะต้องถูกฆ่าเป็นอาหารตามหลักศาสนาอิสลาม
               ค.  ก่อนการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร สัตว์จะต้องมีชีวิตอยู่ และมีสัญญานว่ายังมีชีวิตอยู่ชัดแจ้ง
               ง.  จะต้องประกาศคำว่า "Besm-e-Allah" (In the name of God) ก่อนการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร
               จ.  อุปกรณ์การฆ่าสัตว์เป็นอาหารต้องทำจากเหล็กมีคม
               ฉ.  ในระหว่างการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร หลอดลมและหลอดอาหาร เส้นเลือดแดง และเส้นเลือดทั้งหมดบริเวณลำคอ จะต้องถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง
               ช. สัตว์จะต้องหันไปทาง Qibla (ทิศการสวดของชาวมุสลิม Mecca)

มาตรา ๔:  พันธะกรณีและความจำเป็นของอาหารฮาลาล
          ๔.๑  ตราฮาลาลของศูนย์ฯ หรือเทียบเท่า จะต้องติดบนฉลากสินค้า
          ๔.๒  ความเชื่อถือที่ได้รับจากศูนย์ฯ ไม่มีวันหมดอายุ
          ขั้นตอนในการขอตราฮาลาลในอิหร่าน ศูนย์ Islamic Chamber Research and Information Center (ICRIC) ได้กำหนดขั้นตอนในการขอตราฮาลาลในอิหร่าน ดังต่อไปนี้
          ๑   ให้ยื่นขอใบรับรองฮาลาลอย่างเป็นทางการ ณ ICRIC พร้อมแนบเอกสารดังต่อไปนี้
              ก.ชื่อและรายละเอียดของบริษัทหรือโรงงาน
              ข.ชื่อและรายละเอียดที่อยู่ของบริษัทหรือสำนักงานใหญ่
              ค.ชื่อและรายละเอียดของสินค้าหรือบริการที่ต้องการตราฮาลาล
              ง.สำเนาทะเบียนบริษัท
              จ.สำเนาใบอนุญาตโรงงาน
              ฉ.เสนอชื่อผู้ประสานงาน หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร (สามารถส่งข้อมูลที่ info@halalworld.org)
          ๒  ติดต่อประสานงานจะนัดหมาย โดยผู้ประสานงานติดต่อฝ่ายเลขาฯ ของ ICRIC เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่ (On-site visit) และดำเนินการตามขั้นตอนตรวจสอบจนแล้วเสร็จ
          ๓  ผู้ตรวจสอบเตรียมรายงานผลการตรวจสอบพร้อมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลจากห้องทดลองเสนอแก่คณะกรรมการฮาลาล
          ๔  ผลการตัดสินใจ ประกาศผล รายงานผล
          ๕  มอบตราฮาลาล และใบรับรองฮาลาลแก่ผู้ยื่นขอ

ขั้นตอนการการดำเนินการเพื่อนำเข้าสินค้าอาหารฮาลาลเข้าสู่ตลาดอิหร่านมี 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
          ขั้นที่ ๑  จดทะเบียนรับรองการเป็นตัวแทนหรือผู้แทนจำหน่ายจากผู้ส่งออกไทยอย่างเป็นทางการ
          ขั้นที่ ๒  ขอใบอนุญาตแก่โรงงานผลิตอาหารในไทย
          ขั้นที่ ๓  ขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า
          ขั้นที่ ๔  นำเข้าสินค้าและดำเนินการด้านพิธีการตรวจปล่อยสินค้าเข้าอิหร่าน

ขั้นที่ ๑ จดทะเบียนรับรองการเป็นตัวแทนหรือผู้แทนจำหน่ายจากผู้ส่งออกอย่างเป็นทางการ
          ตามกฎระเบียบการค้าและการนำเข้าสินค้าอาหาร เครื่องสำอางและยาของอิหร่าน กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในอิหร่านเท่านั้นและเป็นผู้ดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import Permit) จากกระทรวงพาณิชย์ของอิหร่าน โดยผู้นำเข้าอิหร่านจะต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทน Agent  ในยี่ห้อสินค้า รุ่น หรือแบบสินค้าของโรงงาน จากผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตในไทยก่อน ซึ่งมีหลักฐานเป็นใบรับรองการเป็นตัวแทนหรือผู้แทนจากผู้ส่งออกอย่างเป็นทางการระหว่างผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าอิหร่าน ผู้นำเข้าอิหร่านจะนำใบรับรองการเป็นตัวแทนไปยื่นลงทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์อิหร่าน โดยยื่นทั้งต้นฉบับและสำเนาอย่างละ ๑ ฉบับ พร้อมด้วยสำเนาใบอนุญาตการเป็นผู้นำเข้า (Import Permit)  (ในกรณีนี้อาจหมายถึงการเป็นตัวแทนแต่ผู้เดียว Exclusive Agent ในยี่ห้อ หรือรุ่นหรือแบบสินค้าของผู้ส่งออกก็ได้ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็น Exclusive Agent หรือ Exclusive Importer ของผู้ส่งออกหรือโรงงานผู้ผลิตแต่อย่างใด)
          กระทรวงพาณิชย์อิหร่านจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ ๓-๔ วัน และออกหนังสือนำส่งตรวจโรงงานไทย เพื่อให้ผู้นำเข้านำไปยื่นต่อกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ศาสตร์ เพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตโรงงานไทยต่อไป  โดยสรุปหลักฐานที่ผู้นำเข้าอิหร่านต้องการจากผู้ส่งออกไทย ได้แก่
          ก.ใบรับรองการเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการอย่างน้อยหนึ่งปี จากโรงงานหรือบริษัทแม่ในไทย
          ข.ใบรับรองฯ จะต้องประทับตราจากสภาหอการค้าไทยและ สถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายขึ้นกับชนิดเอกสารและระเบียบของหน่วยงานนั้นๆ
          ค.เอกสารอื่นๆ เช่น รายการสินค้า เอกสารประกอบกิจการโรงงาน เป็นต้น

          ข้อสังเกต:  ผู้นำเข้าจำเป็นต้องให้ผู้ส่งออกหรือโรงงานไทยออกใบรับรองการเป็นตัวแทนล่วงหน้าก่อนมีการสั่งสินค้าจริง เนื่องจากผู้นำเข้ายังไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากทางการอิหร่านก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ ปี

ขั้นที่ ๒   ขอใบอนุญาตแก่โรงงานผลิตอาหารในไทย
          เมื่อกระทรวงพาณิชย์อิหร่านออกหนังสือนำส่งตรวจโรงงานไทยให้ผู้นำเข้าแล้ว ผู้นำเข้าจะนำหนังสือดังกล่าว ไปยื่นต่อกระทรวงสาธารณะสุขและแพทย์ศาสตร์อิหร่าน เพื่อขอใบอนุญาตส่งออกสินค้าจากโรงงานไทยที่ผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดอิหร่าน โดยมีขั้นตอนและเอกสารดังต่อไปนี้ (แสดงดังแผนภูมิ 3)
          ก.ยื่นหนังสือนำส่งตรวจโรงงานไทยตามที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์อิหร่านจากขั้นตอนที่ ๑
          ข.ชำระค่าขอตรวจโรงงานไทย ๕,๔๐๐ เหรียญสหรัฐฯ
          ค.ยื่นเอกสารประกอบการขอตรวจโรงงานต่อกระทรวงสาธารณะสุขและแพทย์ศาสตร์อิหร่านดังต่อไปนี้ -เอกสารรับรอง GMP โดยใบรับรองสาธารณสุข ตามกฎระเบียบข้อที่ ๑๖ ของกฎหมายสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และสินค้าสุขภาพของอิหร่าน Law of Foodstuff, Beverage, Cosmetics & Hygienic Products กำหนดว่าจะต้องมีเอกสารใบรับรองต้นฉบับจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศผู้ผลิต และรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านในประเทศที่ตั้งของผู้ผลิต
          - ข้อมูล Product Master File และ Plant Master File ซึ่งเป็นข้อมูลรับรองการเป็นผู้ผลิตสินค้าจริง พร้อมทั้งบันทึกขั้นตอนการผลิตของโรงงานในแผ่น VCD หรือ DVD
          - รายการสินค้าที่ต้องการนำเข้าหรืออาจนำเข้า พร้อมตัวอย่างสินค้าของแต่ละชนิด
          - เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยในอิหร่านที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการคุณภาพของผู้นำเข้า
          ง.คณะกรรมการตรวจสอบฯ จะพิจารณาเอกสารและตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด โดยหากไม่มีข้อสงสัย คณะกรรมการฯ จะอนุมัติออกใบอนุญาตโรงงานแก่ผู้นำเข้า (ในกรณีนี้ เมื่อผู้นำเข้าสั่งซื้อสินค้าเดิมจากผู้ส่งออกหรือโรงงานเดิมที่ผ่านการอนุญาตแล้ว ก็สามารถกล่าวอ้างเลขที่ของใบอนุญาตได้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น)
          จ.แต่หากคณะกรรมการฯ มีความแคลงใจว่าข้อมูลที่ยื่นมิใช่เป็นโรงงานผู้ผลิตตามที่กล่าวอ้าง คณะกรรมการฯ อาจจะลงคะแนนเสียงให้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้ายการวิเคราะห์ทางเคมีเดินทางไปสำรวจโรงงานในประเทศผู้ผลิตฯ เพื่อตรวจสอบและยืนยันการผลิตตามมาตรฐาน โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
          - ผู้นำเข้าทำจดหมายเสนอชื่อเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอิหร่านเพื่อเดินทางไปตรวจสอบโรงงานในประเทศไทย โดยกระบวนการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอิหร่านและขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ ๔ เดือน
          - ระยะเวลาการตรวจโรงงาน ประกอบด้วยการเดินทางไปกลับ ๑ วัน ตรวจโรงงาน ๒ วันต่อหนึ่งโรงงาน
          - ค่าใช้จ่ายประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน ซึ่งค่าใช่จ่ายที่เกิดขึ้นจากการนำเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ตรวจโรงงานในไทยจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ยื่นขอหรือโรงงานไทย
          - ทั้งนี้ กระบวนการผลิตและห้องปฎิบัติทางเคมี (Laboratory) ทั้งหมด ควรอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่หากอยู่คนละสถานที่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่อิหร่านก่อนการเดินทาง
          ฉ.ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเดินทางกลับจากการตรวจโรงงานในไทยแล้ว ก็จะนำเสนอผลการตรวจโรงงานเสนอแก่คณะกรรมการฯ เพื่อลงคะแนนเสียงว่าโรงงานผ่านหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ เดือนหลังจากเดินทางกลับจากไทย และหากผลการลงคะแนนเสียงผ่าน จึงจะออกใบอนุญาตโรงงานของไทย เพื่อให้ผู้นำเข้าไปดำเนินการขั้นขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าต่อไป

ขั้นที่ ๓   ขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า
          ภายหลังจากโรงงานไทยผ่านการตรวจสอบแล้ว ผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตตรวจสอบสินค้าที่ต้องการนำเข้าจากโรงงานนั้นๆ ไปยื่นต่อกระทรวงสาธารณะสุขและแพทย์ศาสตร์อิหร่านตรวจสอบ โดยมีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
          ก.ยื่นหนังสือนำส่งตรวจโรงงานไทยตามที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์อิหร่าน ตามขั้นตอนที่ ๑
          ข.ยื่นหนังสือใบอนุญาตโรงงาน ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณะสุขและแพทย์ศาสตร์อิหร่าน ตามขั้นตอนที่ ๒
          ค.ยื่นเอกสารประกอบการขอตรวจโรงงานต่อกระทรวงสาธารณะสุขและแพทย์ศาสตร์อิหร่านดังต่อไปนี้
          - ใบอนุญาตการขายสินค้า Certificate of Free Sale  ในประเทศผู้ผลิต  เอกสาร Certificate of Free Sale เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และออกหรือรับรองจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า (เช่น สาธารณสุข, เกษตรกรรม, ปศุสัตว์, พาณิชย์, เทศบาล และอื่นๆ) ซึ่งในกรณีนี้ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขไทย เอกสาร Certificate of Free Sale ต้องระบุให้ชัดเจนว่า สินค้าดังกล่าวภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ระบุได้ขายอยู่แล้วอย่างเสรีในประเทศผู้ผลิต (แหล่งกำเนิด) โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น (.under relevant brand names are being freely sold in the producing country (of origin) with no limitation what so ever.) และจะต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
          ก. ชื่อประเทศผู้ผลิต
          ข. ชื่อโรงงานผู้ผลิต
          ค. ชื่อสินค้า
          ง. ชื่อเครื่องหมายการค้า (Brand name)
          จ. ชื่อเครื่องหมายการค้าย่อย  (Sub Brand)
          ทั้งนี้ โรงงานผู้ผลิตหรือบริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้า (Brand holder) สามารถออกเอกสาร Certificate of Free Sale เองได้ แต่จะต้องได้รับการรับรองการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตั้งอยู่ และจะต้องรับรองทั้งข้อความและเนื้อหา (Text) ที่ปรากฏในเอกสาร  Certificate of Free Sale จากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า
          เอกสาร Certificate of Free Sale ที่ออกโดยจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า หรือโรงงานผู้ผลิต หรือบริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้า และจะต้องประทับตรารับรองจากสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศแหล่งกำเนิด และรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศแห่งอิหร่าน เอกสาร Certificate of Free Sale จะมีอายุ 3 ปี นับจากวันที่ออกเอกสาร
          - เอกสาร Health Certificate  เป็นเอกสารเพื่อรับประกันสุขลักษณะของสินค้านำเข้า และออกหรือรับรองจากหน่วยงานที่มีอำนาจทางสาธารณะสุขของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า ทั้งนี้ โรงงานผู้ผลิต สามารถออกเอกสาร Health Certificate เองได้ แต่จะต้องได้รับการรับรองทั้งข้อความและเนื้อหา (Text) ที่ปรากฏในเอกสาร  Health Certificate จากหน่วยงานที่มีอำนาจสาธารณะสุขของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า เอกสาร Health Certificate ที่ออกโดยจากหน่วยงานที่มีอำนาจทางสาธารณะสุขของประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า หรือโรงงานผู้ผลิตจะต้องประทับตรารับรองจากสถานเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศแหล่งกำเนิด และรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศแห่งอิหร่าน
          เอกสาร Health Certificate มีสองประเภท ได้แก่
          ๑) เอกสาร Health Certificate ที่มีระยะเวลากำหนด และ ๒) เอกสาร Health Certificate ที่เกี่ยวข้องการกับการขนส่ง (related to the consignment)

          ๑)เอกสาร Health Certificate
          ที่มีระยะเวลากำหนด เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับสินค้าที่ผ่านกรรมวิธีและวัตถุดิบที่มีใบอนุญาตนำเข้าทางสาธารณสุข (processed products and its raw material having import health license) มีระยะเวลา ๑ ปี โดยจะต้องมีรายละเอียดในเอกสาร ดังต่อไปนี้
import health license) มีระยะเวลา ๑ ปี โดยจะต้องมีรายละเอียดในเอกสาร ดังต่อไปนี้
          ก.No of certificate:
          ข.Date of issue (D/M/Y):
          ค.Validation: one year:
          ง.Name of Manufacturer:
          จ.Address of Manufacturer:
          ฉ.Name of Representative in IRAN:
          ช.Name of Product (s):
          ซ.Brand name: ฌ.Type & Grade of Packaging:
          ญ.Iranian Ministry of Health Register No:
          ฎ.We certify that the product(s) is/are exported during the date (from...to...) is deserved for human consumption and will not be harmful for human health.
          ฏ.This product(s) is/are free from: BSE&FMD (for Bovin products) DIOXIN (for products with animal origin)

          ๒)เอกสาร Health Certificate ที่เกี่ยวข้องการกับการขนส่ง (related to the consignment) เป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขนถ่าย โดยจะต้องมีรายละเอียดในเอกสาร ดังต่อไปนี้
          ก.No of certificate:
          ข.Date of issue (D/M/Y):
          ค.Name of Manufacturer:
          ง.Address of Manufacturer:
          จ.Invoice No and Date/LC/weight/BL no/..:
          ฉ.Name of Product (s):
          ช.Brand name:
          ซ.Type & Grade of Packaging:
          ฌ.We certify that the product(s) is/are exported is deserved for human consumption and will not be harmful for human health.
          ญ.This product(s) is/are free from: BSE&FMD (for Bovin products) DIOXIN (for products with animal origin)
          - ใบ Farsi-written Plan  ผู้นำเข้าจะต้องลงทะเบียนใบรายละเอียดสินค้าที่จะนำเข้าเป็นภาษาท้องถิ่น (ฟาร์ซี) และระบุรายละเอียดสินค้าเป็นภาษาท้องถิ่น (ฟาร์ซี) ที่เรียกว่า Farsi-written Plan ซึ่งจะประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
          ก.ชื่อสินค้า (Product Name)
          ข.ชื่อผู้ผลิต (Manufacturer Name)
          ค.แหล่งผลิต (ประเทศ) (Manufacturing Country)
          ง.วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ และเลขที่สินค้า (Manufacturing and Expiration Dates, Manufacturing Serial Number)
          จ.วิธีการใช้สินค้า (ถ้ามี) (Instruction to Use)
          ฉ.ข้อระวัง (ถ้ามี) (Probable Risk)
          ช.เลขที่ใบอนุญาตส่งออกจากกระทรวงสาธารณสุขฯ (Import Permission Number issued by Ministry of Heath)
          ซ.หากสินค้าได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ และเลขที่สินค้าบนหีบห่อไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุเป็นภาษาฟาร์ซีอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ ต้องมีประโยคเป็นภาษาฟาร์ซีเพิ่มเติมว่า  "วันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ และเลขที่สินค้าได้พิมพ์อยู่บนหีบห่อของสินค้าแล้ว" ทั้งนี่เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคท้องถิ่น และในกรณีที่สินค้าไม่สามารถจัดพิมพ์บนสินค้าได้ เพราะไม่มีพื้นที่หรือสินค้ามีขนาดเล็กเกินไป ก็ให้ระบุอยู่บนหีบห่อในหน่วยเล็กที่สุดที่บรรจุสินค้า
          - ผู้นำเข้าทำหนังสือรับรองความรับผิดชอบทั้งหมดในการนำเข้าสินค้า
          ง.ชำระค่าใช้จ่าย ๙๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ต่อกลุ่มชนิดสินค้า
          จ.คณะกรรมการฯ ใช้เวลาอีกประมาณ ๓๐-๔๕ วัน หากผ่าน จะออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้า เพื่อดำเนินด้านพิธีการศุลกากรกับศุลกากรอิหร่านได้

ขั้นที่ ๔ ดำเนินการนำเข้า
          ผู้นำเข้าจะนำใบอนุญาตนำเข้าสินค้าไปยื่นต่อศุลกากรอิหร่านเพื่อตรวจปล่อยสินค้าจากท่าเรือ หรือสนามบิน โดยกระทรวงสาธารณสุขฯ อิหร่านจะกักสินค้าไว้ในโกดังสินค้านำเข้า และไม่อนุญาตให้จำหน่ายจนกว่าสินค้าที่นำเข้าจริงจะผ่านการตรวจสอบ โดยใช้เอกสารเช่นเดียวกับขั้นที่ ๓ มาใช้ในการตรวจปล่อยใน Shipment เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขฯ จะสุ่มตรวจสินค้าไปตรวจในห้องปฏิบัติการทางเคมี วิเคราะห์ส่วนผสม เปรียบเทียบกับผลที่แจ้งตามขั้นที่ ๓ ซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ ๒ เดือน หากผ่าน ก็จะออกหมายเลขอนุญาต และให้ผู้นำเข้านำสินค้าสินค้าไปจำหน่ายได้ ทั้งนี้ ผู้นำเข้าอิหร่านอาจต้องการหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย แต่ไม่จำเป็นต้องประทับตรารับรองจาก สถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทย

๕.ข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารในอิหร่าน
          อิหร่านเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศและสภาพดินเหมาะสมในการเพาะปลูกทำการเกษตร ทำให้สินค้าเกษตรของอิหร่าน เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ มีคุณภาพสูง และรสชาติดี ซึ่งจากข้อมูลของ Food and Agriculture Organization of the United Nations อิหร่านเป็นประเทศที่ผลิตอาหารสูงติดอันดับสิบประเทศแรกของโลก และผลิตอาหารหนึ่งในสามของสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในโลก อิหร่านเป็นแหล่งผลิต พิชตาชิโอ อินทพาลัม ทับทิม ลูกเบอรี่ แอบเปิ้ล หญ้าฝรั่ง ส้ม องุ่น ถั่ว และลูกเกด โดยผลผลิตสินค้าเกษตรของอิหร่านทั้งหมดประมาณ ๘๖.๓ ล้านตัน ประกอบด้วยผลผลิตธัญพืช ๖๔ ล้านตัน ผลไม้ ๑๓ ล้านตัน และอาหารสัตว์ ๙.๓ ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ทางตอนใต้ของอิหร่านติดกับอ่าวเปอร์เซียและทะเลโอมาน อิหร่านมีทรัพยากรประมงและสัตว์ทะเลมหาศาลที่สามารถผลิตอาหารทะเลได้ โดยปัจจุบัน อิหร่านผลิตอาหารทะเลได้ประมาณ ๔๗๐,๐๐๐ ตันต่อปี
          อุตสาหกรรมอาหารของอิหร่านเริ่มต้นครั้งแรกจากการก่อตั้งโรงงานน้ำตาล Kahrizak ในทศวรรษที่ ๑๙ และในปี ๑๙๓๐ ได้ก่อตั้งโรงงานอาหารกระป๋องเป็นครั้งแรก และได้ขยายกิจการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารของอิหร่านสามารถผลิตอาหารตามมาตรฐานโลกและส่งออกสินค้าอาหารเกือบทุกชนิด อุตสาหกรรมอาหารอิหร่านมีโรงงานผลิตอาหารจำนวนกว่า ๑๒,๐๐๐ แห่ง หรือร้อยละ ๑๒ ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ และรองรับแรงงานกว่า ๓๒๐,๐๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๑ ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดของอิหร่าน
          อิหร่านมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๘ ของการลงทุนในภาคอุสาหกรรมทั้งหมดของอิหร่าน และผลิตสินค้าเกษตรได้ประมาณ ๘๕ ล้านตันต่อปี อุตสาหกรรมอาหารอิหร่านประกอบด้วยโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ซึ่งสร้างงานประมาณร้อยละ ๑๕.๑ และร้อยละ ๑๓.๕ ตามลำดับ ในขณะที่ สร้างมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๑๗ และร้อยละ ๑๐ ตามลำดับ
          ปัจจุบัน ประเทศเยอรมัน ฮอลแลนด์ อังกฤษ และมาเลเซีย ได้ลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในอิหร่าน โดยนักธุรกิจอิหร่านมีความต้องการร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศนับถือศาสนาอิสลามเป็นพิเศษ

๖.ข้อเสนอแนะ
          ตลาดอิหร่านเป็นตลาดใหม่ที่เป็น Blue Ocean ที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกด้านอาหารไทยควรให้ความสนใจ ด้วยเหตุผลที่ว่า อิหร่านเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูง มีประชากรถึง ๗๖ ล้านคน ซึ่งเป็นฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง  อิหร่านจึงมีความต้องการบริโภคอาหารสูง และจากการที่อิหร่านมีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน ทำให้ประชาชนมีอำนาจการชื้อสูง
          นอกจากนี้ ปัจจุบัน อิหร่านไม่สามารถผลิตอาหารพอเพียงต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากไทย เช่น สินค้าข้าว เป็นต้น
          ทั้งนี้ อิหร่านเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบค่อนข้างมาก ทำให้มีคู่แข่งขันน้อย จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยฉวยโอกาสแปลงอุปสรรคให้เป็นโอกาสทางการค้า โดยการสร้างและขยายตลาดอาหารของตนเองก่อนประเทศคู่แข่งอื่นๆ
          นอกจากนี้ อิหร่านยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการขนส่งที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้เป็นศูนย์กลางเพื่อขนส่งสินค้าอาหารไทยไปประเทศอื่นๆ เช่นตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ตลอดจนไปถึงตลาดในสหภาพยุโรป อีกด้วย
          สำหรับสินค้าข้าวของไทย ผู้บริโภคอิหร่านยังไม่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทยมากนัก เนื่องจากข้าวไทยมีภาพลักษณ์เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ราคาถูก อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าอิหร่านเริ่มหันมาให้ความสนใจนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยมากขึ้น เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี ผู้ส่งออกไทยควรทราบว่าข้าวหอมที่ชาวอิหร่านนิยมบริโภค จะต้องเป็นข้าวชนิดที่หุงแล้วแห้งร่วน ไม่เกาะกันเป็นก้อน ซึ่งมีเฉพาะในข้าวหอมอิหร่าน และข้าวบาสมาติกของอินเดียและปากีสถาน ทำให้ข้าวไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ดังนั้น การที่จะขยายตลาดข้าวหอมมะลิในอิหร่านได้ จึงจำเป็นต้องค้นคิดและเผยแพร่วิธีการหุงข้าวหอมมะลิให้ร่วนและไม่เกาะกันเป็นก้อนตามความนิยมของชาวอิหร่าน และต้องปรับพฤติกรรมผู้บริโภคอิหร่านให้หันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย โดยการโฆษณาเผยแพร่ความรู้ เรื่องคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย และค้นคิดวิธีการหุงข้าวหอมมะลิไทยให้ถูกปากประชาชนอิหร่าน อันจะช่วยให้ชาวอิหร่านปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อข้าวหอมมะลิไทยและหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย เพื่อผลักดันให้ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดอิหร่านมากขึ้น
          ในส่วนของสินค้าอาหารกระป๋อง สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมและติดตลาดอย่างยิ่งได้แก่สินค้าข้าวโพดอ่อนกระป่องและสับปะรดกระป๋อง ซึ่งครองตลาดในอิหร่านเกือบทั้งหมด สินค้าประเภทแป้งทอดกรอบและน้ำมันพืชจากรำข้าวเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในตลาดอิหร่าน สินค้าประเภทผลไม้สดของไทยได้รับความนิยมจากชาวอิหร่านเช่นกัน เนื่องจากชาวอิหร่านชอบอาหารที่มีรสเปรี้ยว โดยเฉพาะมะขามหวานไทยได้รับความนิยมสูงสุด ผลไม้ไทยที่น่าจะมีโอกาสส่งออกไปอิหร่านได้แก่ มะม่วง มังคุด สัปปะรดสด และส้มโอ
          อุปสรรคสำคัญในการเปิดตลาดสินค้าในอิหร่านคือเรื่องการตรวจสอบคุณภาพอาหารตามมาตรฐานและระเบียบการนำเข้าของทางการอิหร่านที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ผู้นำเข้าอิหร่านที่นำเข้าอาหารจากประเทศอื่นอยู่แล้ว มักจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะกีดกันไม่ให้ผู้นำเข้ารายอื่นนำเข้าอาหารชนิดเดียวกันจากไทย ถึงแม้ว่าอาหารจะมีคุณภาพดีกว่าอย่างมากก็ตาม
          ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการส่งออกอาหารไปอิหร่าน จึงควรเริ่มจากการแสวงหาผู้นำเข้าอาหารชาวอิหร่านที่เชื่อถือได้ และร่วมมือกันฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดตลาดอาหารไทยในอิหร่านให้ได้ โดยเมื่อสินค้าอาหารไทยเข้าสู่ตลาดอิหร่านแล้ว ก็จะควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวอิหร่านตระหนักถึงคุณภาพของอาหารไทยต่อไป
          สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว (Unilateral sanction) ต่ออิหร่าน โดยใช้มาตรการให้ธนาคาร/สถาบันการเงินทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ให้ยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยปฏิเสธรับ L/C และระงับการทำธุรกรรมกับอิหร่านโดยสิ้นเชิง จึงขอให้ผู้ส่งออกไทยพิจารณารับชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดจากผู้นำเข้าอิหร่านแทน L/C ผ่านระบบ T/T (Telegraphic Transfer) เช่น SWIFT เป็นต้น และหากเป็นไปได้ ขอให้ผู้นำเข้าอิหร่านโอนเงินสดชำระค่าสินค้าส่วนใหญ่ก่อนส่งสินค้าออกจากท่าเรือ เพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ขอให้ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการทำการค้ากับอิหร่าน พิจารณาถึงชนิดสินค้า วิธีการโอนเงิน วิธีการขนส่ง และคู่ค้าชาวอิหร่านก่อนว่าอยู่ในบัญชีดำของสหประชาชาติหรือสหรัฐอเมริกา หรือไม่ อย่างไร ก่อนทำการค้าระหว่างกัน
          อุปสรรคสำคัญในการเปิดตลาดอิหร่าน 3 ประการ ได้แก่
          ๑.อิหร่านเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าอาหารค่อนข้างมาก
          ๒.อิหร่านถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากนานาชาติ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยปฏิเสธรับ L/C จากธนาคารในอิหร่าน และระงับการทำธุรกรรมกับอิหร่าน
          ๓.ในปี 2555 อัตราแลกเปลี่ยนในอิหร่านผันผวนและเงินท้องถิ่น (เรียล) อ่อนค่าลงมาก ทำให้ผู้นำเข้าประสบปัญหาแลกเงินเหรียญสหรัฐฯ เพื่อชำระค่าสินค้า สืบเนื่องจากปัญหาการคว่ำบาตรจากนานาชาติ บริษัทและนักธุรกิจจากประเทศตะวันตกหลีกเลี่ยงที่จะทำการค้ากับอิหร่าน ซึ่งเป็นโอกาสทองของผู้ส่งออกไทยที่จะขยายตลาดอาหารในอิหร่าน ด้วยเหตุผลดังนี้
             ๑.ตลาดอิหร่านมีคู่แข่งขันน้อย ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเปิดตลาดและครองส่วนแบ่งตลาดได้ก่อนประเทศคู่แข่งอื่นๆ
             ๒.นักธุรกิจอิหร่านสนใจที่จะทำการค้ากับประเทศจากตะวันออกไกลมากกว่าประเทศจากตะวันตก
             ๓.นักธุรกิจอิหร่านยินดีที่จะชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด โดยอาจแบ่งยอดชำระเป็นงวดๆ ทำให้ผู้ส่งออกสามารถรับเงินสดได้ทันที
             ๔.อิหร่านเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการขนส่งที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้เป็นศูนย์กลางเพื่อขนส่งสินค้าอาหารไทยไปประเทศอื่นๆ เช่นตะวันออกกลางและเอเชียกลาง
          ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการส่งออกเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Iran Food & Hospitality ณ กรุงเตหะราน ทุกปี โดยมุ่งเน้นให้ผู้ส่งออกอาหารของไทยพบปะเจรจาการค้ากับผ้ำนเข้าอิหร่าน ผู้ส่งออกที่สนใจเจาะตลาดอิหร่านสามารถร่วมกิจกรรมกับกรมฯ เพื่อนำเสนอสินค้าอาหาร โดยผู้ส่งออกจะได้ศึกษาตลาด สำรวจตลาด และเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาและขยายตลาดสินค้าอาหารในอิหร่านต่อไป
                                 ............................................



                                                              สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน
                                                                                            พฤษภาคม 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ