เศรษฐกิจมณฑลหูเป่ยกับโอกาสของธุรกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 15:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจมณฑลหูเป่ยกับโอกาสของธุรกิจไทย

มณฑลหูเป่ยได้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศจีนนับตั้งแต่ปี 1950 โดยกว่าหกทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่ขึ้นมากมายเนื่องจากมณฑลหูเป่ยเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธรรมชาติ ทั้งเหล็ก เหล็กกล้า ยิปซั่ม และโดยเฉพาะฟอสเฟต เกลือ ซิลิกา โกเมน หินมาร์ล ซึ่งมีมากที่สุดในประเทศจีน ด้วยทรัพยากรแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์นี้ทำให้มณฑลหูเป่ยกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมพื้นฐานระดับแนวหน้า โดยมีอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมไฟฟ้าเครื่องจักร สิ่งทอ เป็นเสาหลักในการพัฒนา นอกจากนี้มณฑลหูเป่ยยังเป็นหนึ่งในมณฑลที่มีภาคการเกษตรขนาดใหญ่ มีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญหลายอย่าง

สภาพโดยสังเขป

มณฑลหูเป่ย มีที่ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศจีน ระหว่างตอนกลางของแม่น้ำแยงซีกับทะเลสาบต้งถิง เขตแดนด้านทิศเหนือติดกับมณฑลเหอหนาน ทิศตะวันออกติดกับมณฑลอานฮุย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมณฑลเจียงซี ทิศใต้ติดกับมณฑลหูหนาน ทิศตะวันตกติดกับเมืองฉงชิ่ง และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับมณฑลส่านซี มีพื้นที่ทั้งหมด 185,900 ตร.กม. มีประชากร 61 ล้านคน โดยในปัจจุบันมี 21 เมืองเทศมณฑล 1 เขตปกครองพิเศษ 1 เขตพื้นที่ป่า 3 เทศบาลนคร 21 เทศบาลอำเภอและ 40 อำเภอ เมืองหลวงของมณฑลคือเมือง "อู่ฮั่น" เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ โดยเมืองอู่ฮั่นถูกเปรียบเปรยว่าเป็น "ถนนสายหลักไปสู่อีก 9 มณฑล" ซึ่งหากมองในทางการตลาดโดยนับมณฑลหูเป่ยเป็นศูนย์กลางจะมีผู้บริโภคถึง 400 ล้านคน จาก 6 มณฑลที่อยู่ล้อมรอบ และตั้งแต่รถไฟความเร็วสูงอู๋กว่าง (อู่ฮั่นกว่างโจว) รวมถึงสายอื่นๆ เปิดให้บริการ ทำให้สามารถเดินทางจากอู่ฮั่นไปยังเมืองอื่นๆ ในรัศมี 1,200 กม. ได้เร็วที่สุดภายในเวลาเพียง 4 ชม.

ดรรชนีทางเศรษฐกิจในปี 2554
  • ผลิตผลมวลรวมภายในมณฑลหูเป่ยมีตัวเลขอยู่ที่ 1.959 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 13.8% มีผลิตภัณฑ์มวลรวมโดยเฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 34,000 หยวน ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 10 ของประเทศจีน
  • ตัวเลขการขายปลีกสินค้าบริโภคทั้งหมดอยู่ที่ 7.93 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 18%
  • รายได้ของประชากรเมืองเพิ่มขึ้น 14% รายได้ของประชากรในชนบทเพิ่มขึ้น 18%
  • มีมูลค่าการส่งออก 336.1 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29.7% โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เยอรมนี ทั้งนี้สินค้าส่งที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป เหล็กกล้า
  • การค้าระหว่างไทย-หูเป่ยมีมูลค่ารวม 243.034 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,550 ล้านหยวน โดยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 124.791 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการส่งออกไปประเทศไทย 118.252 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.3 17.91 และ 22.98 ตามลำดับ ทั้งนี้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย คือ ชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร พลาสติก ธัญพืช ส่วนสินค้าที่ส่งออกไปประเทศไทย คือ ผัก เคมี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สิ่งทอ
  • การลงทุนของประเทศไทยที่เข้าไปลงทุนในมณฑลหูเป่ยนั้น โดยส่วนมากเป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่ ตัวอย่างบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุน เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่เซียงฝานและห้างโลตัสซูเปอร์สโตร์ที่หวู่ฮั่น), Summit Auto Seats ที่ดำเนินการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, China Vegetable Oil หรือ Huatai ที่ผลิตน้ำมันพืช เป็นต้น
ข้อมูลที่น่าสนใจของมณฑลหูเป่ย
  • มณฑลหูเป่ยเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายโครงการเช่นสนามบินนานชาติ "อู่ฮั่นเทียนเหอ" ที่รองรับผู้เดินทางมากกว่าสิบล้านคนในแต่ละปี และท่าเรือใหม่ที่อู่ฮั่นซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับระวางบรรทุกได้ถึงหนึ่งร้อยล้านตัน
  • ถนนสาธารณะมีความยาวทั้งหมด 3,673 กม. ยาวเป็นลำดับที่ 6 ของประเทศจีน ทางรถไฟที่เปิดทำการมีความยาวถึง 3,300 กม.
  • โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมมูลค่าแสนล้านหยวน สามารถบรรลุผลสำเร็จ โดยที่อุตสาหกรรมรถยนต์มีมูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านหยวน อุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเลียม อาหาร และการผลิตอุปกรณ์มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านหยวน อุตสาหกรรมเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านหยวน
  • ศูนย์กลางทางการเงินระดับภูมิภาคที่อู่ฮั่นกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา ซึ่งจะรองรับสำนักงานด้านการเงินจาก 17 ประเทศทั่วโลก โดยประกอบไปด้วย ธนาคาร บริษัทรักษาความปลอดภัย และบริษัทประกันรวมกัน 192 สำนักงาน
  • มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจของเทคโนโลยีระดับสูงมีมากกว่า 170,000 ล้านหยวน และภูมิภาคนี้มีความสามารถทางนวัตกรรมสูงเป็นลำดับที่ 8 ของประเทศจีน
สภาพทางเศรษฐกิจ

มณฑลหูเป่ยเป็นจุดศูนย์กลางทางด้านการคมนาคมและการติดต่อสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของจีนโดยมีเมืองอู่ฮั่น เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การธนาคาร การคมนาคม เทคโนโลยีและการศึกษา โดยมณฑลหูเป่ยเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมหนัก มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจของมณฑลหูเป่ยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขผลิตผลมวลรวมในปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าจะใกล้เคียงกับตัวเลขผลิตผลมวลรวมของประเทศกรีซในปี 2553 ที่ประมาณ 304.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 ล้านล้านหยวน ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 32 ของโลกจากการจัดอันดับของ World Bank

1. ภาคอุตสาหกรรม

มณฑลหูเป่ยเป็นแหล่งกำเนิดของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในประเทศจีน และเป็นฐานทางอุตสาหกรรมของจีนในปัจจุบัน โดยอุตสาหกรรมเครื่องจักรของมณฑลหูเป่ยเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลัษณ์ของมณฑลหูเป่ย โดยมีวิสาหกิจการผลิตเครื่องจักรรวมกว่า 3000 รายที่ดำเนินธุรกิจการผลิตรถยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือเครื่องจักรปิโตรเคมี เครื่องจักรเหมืองแร่ เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องจักรวิศวกรรม เครื่องจักรกลเกษตร เครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ทั้งหมด 13 ประเภท อุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่เมืองสือเย่น เซียงฝาน และอู่ฮั่น ส่วนฐานการผลิตเครื่องจักรประเภทอื่นๆ ส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองอี๋ชาง จิงโจว อู่ฮั่น หวงสือ ปี 2011 ยอดมูลค่า การผลิตในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรรวม 6 แสนล้านหยวน อยู่อันดับที่ 10 ของประเทศจีน ในจำนวนนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60

มณฑลหูเป่ยมีฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน มีเมืองอู่ฮั่นเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก มี Dongfeng Motor Corp และ Aeolux Automotive Co. เป็นผู้ผลิตหลักของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันตก ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติในนครอู่ฮั่นหลายร้อยบริษัท

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ รถบรรทุกขนาดกลาง เครื่องจักรขนาดใหญ่ เครื่องบรรจุหีบห่อ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ การผลิตโซดา ยาฆ่าแมลง เกลือฟอสฟอรัส กาวแป้งเปียกผสมเส้นใย (Fiber paste) และเป็นฐานของอุตสาหกรรมอินฟราเรด รวมถึงฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าครบวงจร ทั้งการออกแบบ การก่อสร้าง การแยกแร่ การหลอม การม้วน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางการผลิตเหล็กกล้าของประเทศจีน

รากฐานของระบบอุตสาหกรรมของมณฑลหูเป่ยมีลักษณะพิเศษที่ถูกออกแบบให้เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประเภทรถยนต์ เหล็กกล้า และอินฟราเรด ทั้งยังมีอุตสาหกรรมเสริมเป็นอุตสาหกรรมเบา ยารักษาโรค สิ่งทอ และอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และมีเขตพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง East Lake High-Tech Development Zone (ELHTZ) เป็นเขตทำการสาธิตทางนวัตกรรมในระดับชาติแห่งที่สอง รองจาก "จงกวานชุน" ในนครปักกิ่ง

2. ภาคการเกษตร

มณฑลหูเป่ยถูกเรียกว่าเป็น "ดินแดนของปลาและข้าว"เป็นฐานการผลิตหลักที่ผลิตธัญพืช ฝ้าย และพืชที่ให้น้ำมัน และเป็นฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของจีน สินค้าเกษตรที่มีผลผลิตมากที่สุดในประเทศจีน ได้แก่ ปลาน้ำจืด และเมล็ดผักกาดขาว มณฑลหูเป่ยมีความสามารถในการผลิตฝ้ายและข้าวเปลือกในปริมาณสูงมาก ทำให้สินค้าเกษตรของมณฑลหูเป่ยได้รับความเชื่อมั่นสูง

3. อุตสาหกรรมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

การผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน มีการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมณฑลหูเป่ยเป็นผู้นำในประเทศจีนและในโลกทางด้านการผลิตอุปกรณ์ทางวิศวกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

4. อุตสาหกรรมการบริการ

ในมณฑลหูเป่ย อุตสาหกรรมการบริการได้รับการพัฒนาอย่างสูง โดยมีท่าเทียบเรือสินค้าที่เมืองอู่ฮั่นเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าโภคภัณฑ์ตั้งแต่ยุคโบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มณฑลหูเป่ยสามารถใช้ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการเชื่อมต่อดินแดนทางทิศตะวันออกกับตะวันตก ทิศเหนือกับใต้ โดยได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบริการ ตัวอย่างเช่น การขนส่งสินค้า การเงิน การท่องเที่ยว บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานที่เป็นสื่อกลาง มณฑลหูเป่ยมีการบูรณาการโดยใช้ปริมาณการบริโภคที่ทำให้เงินไหลเวียนในตัวเมืองอู่ฮั่นร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจการบริการในชนบท ตัวอย่างเช่น ศูนย์กลางทางการเงินระดับภูมิภาค ศูนย์จำหน่ายสินค้าทัณฑ์บนประเภทB โครงการทดลองอุตสาหกรรมการบริการระดับชาติในเขตเจียงฮั่น ท่าเรือใหม่ในเมืองอู่ฮั่น การขนส่งระหว่างเมืองด้วยรถไฟ โดยที่เขตปลอดภาษีสำหรับโครงการเทคโนโลยีระดับสูง East Lake High-Tech Development Zone (ELHTZ) กำลังจะได้รับการอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการบริการในอู่ฮั่นได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีกมาก

เขตอุตสาหกรรมในเมืองอู่ฮั่น มี 4 เขต คือ

1. Wuhan East Lake High-Tech Development Zone (ELHTZ)

เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติ โดยเน้นอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น Optical-electronics โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์และซอฟแวร์ เป็นที่ตั้งของ Wuhan Changfei Optical Fiber and Cable company ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเคเบิ้ลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Wuhan Huaruan Software Park ซึ่งเป็นฐาน Multi-media Software จึงทำให้มณฑลอู่ฮั่นมีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมากมาย

2. Wuhan Economic and Technological Development Zone (ETDZ)

เป็นเขตพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ (ผลิตรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ และอุปกรณ์ปรับแต่งรถยนต์) เทคโนโลยีชีวภาพ เภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมหนักและอุปกรณ์การสื่อสาร

3. Wuhan Export Processing Zone (EPZ)

ตั้งอยู่ในเขต Wuhan Economic and Technological Development Zone เป็น 1 ใน 5 ของศูนย์กลางด้านการส่งออกของจีน โดยตั้งอยู่ติดกับท่าเรือของมณฑลอู่ฮั่น สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทาง รถไฟระหว่าง ปักกิ่ง-กวางโจว ได้อย่างสะดวก ถือเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศจีน

4. Wuhan Optical Valley Software Park

ตั้งอยู่ในเขต Wuhan East Lake High-Tech Development Zone จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและพัฒนาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของซอฟแวร์ในระดับนานาชาติ และบริการธุรกิจด้าน outsourcing โดยได้รับการขนานนามว่าเป็น "Chinas Service Outsourcing Base & Model Park" ซึ่งWuhan Optical Valley Software Park นี้พัฒนาร่วมไปกับเขตEast Lake High-Tech Development Zone และ Dalian Software Park Co., Ltd. (DLSP) มีบริษัทจัดตั้งในเขตพื้นที่ประมาณ 110 บริษัท และคาดว่าในอนาคตจะมีถึง 500 บริษัท

ยุทธศาสตร์การพัฒนา "สองวงกลมหนึ่งเข็มขัด"

ยุทธศาสตร์การพัฒนา "สองวงกลมหนึ่งเข็มขัด" ทำให้เกิดการพัฒนาระดับภูมิภาคในรูปแบบใหม่ โดยมีเมืองอู่ฮั่นเป็นศูนย์กลาง มีพื้นที่วงกลมรอบเมืองอู่ฮั่นหนึ่งวง มีพื้นที่วงกลมทางตะวันตกของมณฑลหูเป่ยหนึ่งวงและมีแม่น้ำแยงซีเป็นเส้นเข็มขัดทางเศรษฐกิจเชื่อมแกนกลาง

พื้นที่วงกลมรอบเมืองอู่ฮั่นถือเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในมณฑล โดยในปี 2007 พื้นที่ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบให้เป็นพื้นที่นำร่องในการปฏิรูปเพื่อให้เกิดสังคมที่ประหยัดการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า "สองรูปแบบในหนึ่งสังคม" ซึ่งมีโครงร่างขอบข่ายงานเรียกว่า แผนงาน 56531 โดยย่อมาจาก 5 แผนการพิเศษ, 6 นโยบายสนับสนุน, 5 แผนการปฏิบัติงาน, 3 ปีสำหรับแผนการดำเนินงาน และ 1 รายการโครงการต่างๆ ที่สำคัญ

พื้นที่วงกลมทางตะวันตกของมณฑลหูเป่ยได้รับการทุ่มเทความพยายามทั้งหมดในการพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นไปที่การท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์และเชิงวัฒนธรรม มณฑลหูเป่ยได้ทำการปรับปรุงนโยบายในหลายๆ ด้าน ได้แก่ การสร้างระบบนิเวศน์ทดแทน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การช่วยเหลือทางด้านภาษี การกระตุ้นการพัฒนาในพื้นที่ด้านตะวันตกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ระบบนิเวศน์ และการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจภายในมณฑล

พื้นที่เข็มขัดทางเศรษฐกิจบริเวณแม่น้ำแยงซีถือเป็นแกนกลางในการส่งเสริมในเกิดปฏิสัมพันธ์และการพัฒนาร่วมกันระหว่างพื้นที่วงกลมทั้งสอง โดยมีพื้นที่ครอบคลุม 25 อำเภอริมฝั่งแม่น้ำแยงซี พื้นที่บริเวณนี้จะถูกพัฒนาให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดของโรงงานที่ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี

บุคคลากรและแรงงาน

ในช่วงสิ้นปี 2009 แรงงานในมณฑลหูเป่ยมีจำนวนทั้งสิ้น 36.22 ล้านคน โดยที่ 13.57 ล้านคนเป็นแรงงานที่ทำงานในเมือง และมีแรงงานที่จดทะเบียน 6,652,000 คน มณฑลหูเป่ยมีมหาวิทยาลัย 87 แห่ง วิทยาลัย 31 แห่ง โดยในช่วงสิ้นปี 2010 มณฑลหูเป่ยมีการรับนักศึกษาเข้าเรียนในระดับปริญญาเป็นจำนวน 423,700 คน โดยมีนักศึกษาที่กำลังเรียนในระดับปริญญาตรี 1.4 ล้านคน มีบัณฑิตที่จบการศึกษา 354,100 คน กำลังเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก 103,100 คน เรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอก 22,800 คน โดยที่มหาวิทยาลัย 84 จาก 87 แห่งตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่น รองรับนักศึกษา 1,144,200 คน จึงถือเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยและนักศึกษามากที่สุดในประเทศจีน ค่าจ้างโดยเฉลี่ยในภูมิภาคตอนกลางของประเทศจีนจะมีราคาถูกกว่าค่าจ้างทางตะวันออกและทางใต้ โดยในปี 2009 ค่าจ้างแรงงานที่จดทะเบียนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 23,709 หยวนต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.27% แต่ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของประเทศจีน

มณฑลหูเป่ยถือเป็นอีกมณฑลที่มีความน่าสนใจในการลงทุนของธุรกิจไทยเนื่องจากถือได้ว่าเป็นตลาดเมืองรองที่กำลังพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางรัฐบาลจีนเอง ก็มีนโยบายกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติที่มุ่งเน้นไปที่บริเวณภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีนมากขึ้น นับเป็นโอกาสสำคัญที่ธุรกิจและสินค้าไทยจะสามารถขยายช่องทางการค้าเข้าไปในตลาดเมืองรองตลาดใหม่นี้ โดยหากวิเคราะห์จากทิศทางการพัฒนาและนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะสามารถจำแนกโอกาสในการลงทุนได้ ดังนี้

(1) เทคโนโลยีทางการเกษตร

(2) การพัฒนาด้านเกษตรกรรม

(3) แหล่งพลังงาน

(4) ระบบการขนส่ง

(5) วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรม

ซึ่งโอกาสของทางผู้ประกอบการไทยจะอยู่ในภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากประเทศไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญรวมถึงเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรเป็นอย่างดี ในส่วนของนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจภายในมณฑลนั้นนับเป็นโอกาสทองของธุรกิจสปาและความงาม รวมถึงธุรกิจร้านอาหารของไทยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหารไทยซึ่งมีจุดเด่นที่รสเผ็ดเช่นเดียวกับอาหารหูเป่ย ทั้งนี้สภาพทางภูมิศาสตร์ของมณฑลหูเป่ยที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทางภาคกลางของประเทศจีน ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวจะทำให้โอกาสทางธุรกิจในภาคบริการมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการที่มณฑลหูเป่ยเน้นไปที่การกระตุ้นการท่องเที่ยงเชิงนิเวศน์และเชิงวัฒนธรรมนั้นยังถือเป็นช่องทางที่ดีของสินค้าโอทอปไทยทั้งอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ เครื่องสานและหัตถกรรมต่างๆ เป็นต้น ที่จะเข้ามาทำตลาดในมณฑลหูเป่ย นอกจากนี้ เมื่อดูจากลักษณะประชากรจะเห็นได้ว่าหูเป่ยเป็นเมืองแห่งการศึกษา ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคการเลือกซื้อซึ่งจะหันไปสู่สินค้าที่ดีมีคุณภาพ โดยจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยในในการมุ่งเจาะเซ็กเม้นท์ตลาดระดับบนของลูกค้าเหล่านี้ได้

ในทางกลับกัน การที่มณฑลหูเป่ยเป็นศูนย์กลางของการผลิตเครื่องจักรนั้นถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการ sourcing หาซื้อเครื่องจักรในราคาที่ถูกลง ทำให้สามารถลดต้นทุนทางการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

---------------------------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ