สินค้าเครื่องแต่งกายของมณฑลกวางตุ้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 15:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สินค้าเครื่องแต่งกายของมณฑลกวางตุ้ง

สินค้าเครื่องแต่งกายของมณฑลกวางตุ้งมีความหลากหลายและมีกระบวนการแบ่งการผลิตภายในมณฑลที่ชัดเจนโดยมีเมืองเซินเจิ้นและตงก่วนเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าสตรี ขณะที่เมือง จงซานจะเน้นการผลิตชุดลำลอง ส่วนเมืองฝอซานจะเน้นการผลิตชุดสำหรับเด็ก ชุดชั้นในและ ชุดว่ายน้ำ และมีเมืองกวางโจวเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในจีน ในเมืองกวางโจวจึงมีตลาดค้าส่งขนาดใหญ่หลายแห่งที่ขายสินค้าที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายตั้งแต่ต้นน้ำ เช่นวัตถุดิบผ้า และวัสดุอะไหล่เครื่องแต่งกายต่างๆ ไปจนถึงเครื่องแต่งกายสำเร็จรูป ในรูปแบบ ดีไซน์ต่างๆกัน โดยภาพรวมของตลาดค้าส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายต่างๆในเมืองกวางโจวสามารถสรุปได้ดังนี้

(1) ตลาดผ้าจงต้า

เป็นแหล่งค้าส่งขนาดใหญ่ที่ขายส่งสินค้าผ้าหลากหลายชนิด และวัสดุอะไหล่เครื่อง แต่งกายต่างๆ เช่นกระดุม ซิป ลูกปัด ป้าย ฯลฯ รวมกว่าหมื่นร้านค้า และยังมีโรงงานรับออร์เดอร์ ตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดเล็กอีกหลายร้อยโรงอยู่ภายใน

(2) ตลาดเช้าสือซันหาง

เป็นแหล่งค้าส่งเสื้อผ้าสตรีในระดับประตูน้ำหรือแพลตินัมของไทย โดยถือเป็นแหล่ง ค้าส่งที่มีการอัพเดทแฟชั่นใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และเนื่องจากประเทศจีนมี 4 ฤดูกาล สินค้าในสือซันหางจึงมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและแฟชั่นในขณะนั้น โดยจะเป็นสินค้าจากผู้ประกอบการโรงงานของจีนเองนำสินค้ามาเปิดขาย รวมถึงสินค้าที่ผู้ค้ารายย่อยสั่งตัดเป็นล็อตมาวางขาย

(3) ตลาดเสื้อผ้าซาเหอ

เป็นแหล่งค้าส่งเสื้อผ้าสตรีอีกแหล่งในระดับใกล้เคียงกับตลาดสือซันหางโดยจับกลุ่มลูกค้าในระดับฐานราคาที่ต่ำกว่าตลาดสือซันหางอยู่ประมาณร้อยละ 10-30 โดยคุณภาพของตัวงานจะต่ำกว่าสือซันหางอยู่เล็กน้อย บริเวณตลาดเสื้อผ้าซาเหอจะมีตึกค้าส่งเสื้อผ้าทั้งชายและหญิงรวมถึงตึกค้าส่งกางเกงยีนส์อยู่หลายตึก

(4) ตลาดค้าส่งเครื่องแต่งกายบริเวณสถานีรถไฟ "หั่วเชอจ้าน"

เป็นแหล่งค้าส่งขนาดใหญ่ที่ขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในระดับบน โดยมีตึกค้าส่งที่มีการจัดวางรูปแบบเหมือนห้างแพลตินัมเมืองไทยอยู่หลายตึกเช่น ตึกไป่หม่า ตึกเทียนหม่า ที่ขายเสื้อผ้าเกรดบนโดยส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าดีไซน์จีน หรือตึกฮุ่ยเหม่ยที่ถนนจ้านซี ที่ขายเสื้อผ้าสไตล์เกาหลีทั้งหมดโดยมีทั้งนำเข้าจากเกาหลีหรือออกแบบสั่งทำที่จีนโดยใช้ดีไซน์ของเกาหลี รวมถึงตีกจินเสียงบริเวณถนน จ้านเฉียนที่ค้าส่งสินค้าชุดนอนชุดชั้นใน นอกจากนี้บริเวณรอบๆ ยังมีตลาดค้าส่งเสื้อผ้าสไตล์ต่างๆอีกหลายตึก ถือเป็นแหล่งค้าส่งเสื้อผ้าที่ขึ้นชื่ออีกแหล่งของนครกวางโจว

ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้ามีมาจากหลากหลายประเทศอาทิ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น ไทย เวียตนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น ประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกาและยุโรปก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งค้าส่งเหล่านี้ไปเป็นจำนวนมาก โดยมูลค่าผลผลิตรวมของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายของมณฑลกวางตุ้งคิดเป็น 149,827 ล้านหยวน ในปี 2554 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 12.1 โดยมีอัตราการเติบโตที่ลดลงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของปี 2553 ที่ร้อยละ 24.1 ทั้งนี้ตั้งแต่ในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา มณฑลเจ้อเจียงได้กลายเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้ามากที่สุดในประเทศแทนที่มณฑลกวางตุ้ง เนื่องจากการส่งออกเสื้อผ้าในมณฑลกวางตุ้งเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปี 2551 จากการแข็งตัวของค่าเงินหยวน ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย การปรับลดการคืนภาษีจากการส่งออก ค่าแรงที่สูงขึ้น รวมทั้งค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้น และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าลดลง โดยปัญหาหลักเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น การขาดแคลนที่ดินและแรงงาน การไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง การขาดความต้องการซื้อภายในประเทศ ผลกำไรที่น้อยลง และการแข่งขันกันเองภายในมณฑล โดยในปี 2552 มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าในมณฑลกวางตุ้งลดลงร้อยละ 12.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แต่ก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ในปี 2553 ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามจากผู้เข้าร่วมงาน Canton Fair ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการจำนวนมากให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ค่าต้นทุนวัตถุเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-50 ส่งผลให้ราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 15-20 ซึ่งการที่ราคาและต้นทุนได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ปริมาณการสั่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 8-10 เพราะลูกค้าจากยุโรปและอเมริกายกเลิกการสั่งซื้อบางส่วน โดยหันไปสั่งซื้อสินค้าระดับล่างจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ในขณะเดียวกัน ทางผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายส่วนใหญ่ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็กได้พยายามปรับกลยุทธหันมาทำตลาดภายในประเทศมากขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพก็ได้พยายามหันมาทำการตลาดโดยเน้นการสร้างแบรนด์ของตนเองมากขึ้น

เมื่อเทียบกับสินค้าเครื่องแต่งกายของไทยแล้ว ในอดีตอาจดูเหมือนสินค้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีนมีความได้เปรียบทางด้านราคา แต่ในปัจจุบันปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นรวมถึงการขาดการบริหารจัดการที่ดีของผู้ประกอบการและโรงงานรายย่อยของจีนทำให้ความแตกต่างทางด้านราคาลดลง นอกจากนี้เมื่อเทียบงานฝีมือของสินค้าเครื่องแต่งกายของไทยกับจีน ณ ราคาต้นทุนที่เท่ากันแล้ว งานฝีมือการออกแบบและการตัดเย็บของไทยเรามีความประณีตและสวยงามกว่า อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนแรงงานในตลาดที่มากทำให้จีนยังคงความได้เปรียบด้านความสามารถในการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass production) ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งถือเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายของไทยที่จะต้องเลือกวางแผนการจัดการให้ดีว่าต้องการจับกลุ่มลูกค้าใด และจะต้องมีกำลังในการผลิตระดับไหนเพื่อรองรับตลาดนั้นโดยที่จะไม่ทำให้เสียคุณภาพฝีมือในการผลิต หรือจะใช้การ Outsource การผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีกำลังในการผลิตที่สูงในต้นทุนที่ต่ำแต่ต้องวางแผนรับมือกับการควบคุมคุณภาพของสินค้าด้วยเช่นกัน

---------------------------------------

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ