ความต้องการสินค้าอาหารของสวิตเซอร์แลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2012 15:50 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความต้องการสินค้าอาหารของสวิตเซอร์แลนด์

๑. ภาพรวมสินค้าอาหาร

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แม้ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็ก กล่าวคือมีประชากรเพียง ๗,๙๕๒,๕๕๕ คน เป็นประชากรชาวสวิส ๖,๑๓๗,๘๐๐ คน และชาวต่างชาติ ๑,๘๑๔,๗๕๕ คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ ๒๒.๘๒ ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศอื่นๆ เช่นในประเทศเยอรมนีซึ่งมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่คิดเป็นอัตราร้อยละ ๘.๘ ของประชากรทั้งหมด แต่การที่มีประชากรชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นจำนวนมากทำให้ชาวสวิสมีโอกาสทดลองอาหารของประเทศต่างๆ หลากหลายประกอบกับการที่ชาวสวิสมีรายได้มาก ทำให้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปพักผ่อนในต่างประเทศ และหนึ่งในประเทศที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวสวิสคือประเทศไทย ทำให้ชาวสวิสที่ได้รับประทานอาหารไทยในประเทศไทยติดใจในรสชาติอาหารและต้องการรับประทานอาหารไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีก

ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในสวิตเซอร์แลนด์มากกว่า ๖๐ ร้าน และมีร้านอาหารเอเชียมากกว่า ๒๐๐ ร้าน นอกจากนี้ยังมีสินค้าอาหารไทยจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต Mainstream อีกด้วยสวิตเซอร์แลนด์จึงถือเป็นตลาดสินค้าอาหารไทยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

๒. การผลิต

การผลิตสินค้าเกษตรกรรมอาหารในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยตำแหน่งงานประมาณ ๑ ใน ๗ ของตำแหน่งงานทั้งหมดในประเทศหรือประมาณ ๑๖๘,๔๐๐ ตำแหน่งเป็นตำแหน่งงานในภาคเกษตรกรรมการผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศคือการผลิตสินค้าอาหารจากสัตว์ โดยเฉพาะจากวัวและนมวัว (Dairy Product) โดยมีบริษัทเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งหมด ๓๖,๔๙๑ บริษัท จากจำนวนบริษัทเกษตรกรรมในประเทศทั้งหมด ๖๐,๐๓๔ บริษัท

นอกจากนี้ ผลผลิตทางเกษตรกรรมที่สำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ได้แก่ ธัญพืช มันฝรั่ง เมล็ดพืชสำหรับใช้ผลิตน้ำมัน ถั่ว และผักโขม ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังมีผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ ๔,๖๓๕ ราย ซึ่งถือเป็นอัตราร้อยละ ๗ ของผู้ผลิตสินค้าเกษตรกรรมทั้งหมด

แม้ภาคการเกษตรของสวิตเซอร์แลนด์จะเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่ความต้องการบริโภคอาหารในประเทศยังมีมากกว่าความสามารถในการผลิต

ตารางเปรียบเทียบความต้องการบริโภคอาหารและสัดส่วนการผลิตอาหารในประเทศของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
      สินค้า              ปริมาณการบริโภคราย          อัตราสินค้าอาหารที่ผลิตเอง
                     ปีต่อประชากร 1 คน(กิโลกรัม)           ในประเทศ
นมและผลิตภัณฑ์นม                 94.9                        97%
ผลไม้                          93.7                        38%
ผัก                              90                        52%
ธัญพืช                          74.9                        49%
มันฝรั่ง                         54.5                        94%
เนื้อสัตว์                        51.9                        81%
น้ำตาล, ไซรับ และน้ำผึ้ง           50.6                        44%
ชีส                            17.7                       120%
น้ำมันพืช                        14.2                        20%
ไข่                            10.4                        47%
ปลา และอาหารทะเล                 8                         3%
เนย                              6                        88%
ที่มา: www.sippo.ch

          จะเห็นได้ว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารทะเล ผลไม้ และ ผัก
          ในปี ๒๕๕๔ สวิตเซอร์แลนด์นำเข้าสินค้าอาหารทะเลถึง ๔๕,๓๘๒,๒๓๑ กิโลกรัม หรือคิดเป็นมูลค่า ๕๓๖.๘๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าอาหารทะเลที่สำคัญได้แก่ ๑) ฝรั่งเศส ๒) เดนมาร์ก ๓) นอร์เวย์ ๔) เนเธอร์แลนด์ ๕) เวียดนาม ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒๑
สำหรับการนำเข้าสินค้าผลไม้ สวิตเซอร์แลนด์นำเข้าผลไม้ในปี ๒๕๕๔ เป็นมูลค่า ๒๓๘.๗๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเป็นจำนวน ๑๑๖,๔๒๕,๖๒๓ กิโลกรัม ประเทศคู่ค้าผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ๑) สเปน ๒) อิตาลี ๓) ตุรกี ๔) สหรัฐอเมริกา ๕) คอสตาริก้า ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒๑
          นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังนำเข้าผักในปี ๒๕๕๔ เป็นจำนวน ๑๐๐,๑๒๒,๘๑๘ กิโลกรัม หรือคิดเป็นมูลค่า ๒๑๗.๕๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ ๑) สเปน ๒) อิตาลี ๓) ฝรั่งเศส ๔) โมนาโก ๕) เนเธอร์แลนด์ ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๓

๓. การบริโภค
          ชาวสวิสมีความตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพมาก จึงทำให้ชาวสวิสให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารมากและนิยมรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยตั้งแต่ปี ๑๙๙๒ เป็นต้นมา ชาวสวิสรับประทานเนื้อสัตว์น้อยลงและหันมารับประทานเนื้อปลามากขึ้น ประชากรมากกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์รับประทานเนื้อปลาสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย
          นอกจากชาวสวิสจะรับประทานเนื้อปลามากขึ้นแล้ว ชาวสวิสยังรับประทานผักและผลไม้สดมากขึ้น โดยมากกว่า ๗๕ เปอร์เซ็นต์ของประขากรสวิสทั้งหมดรับประทานผักและผลไม้สดทุกวัน นอกจากนี้ ประชากรมากกว่าร้อยละ ๖๐ ยังดื่มนมอย่างน้อย ๑ แก้วทุกวัน และประชากรมากกว่าร้อยละ ๗๕ ดื่มน้ำมากกว่า ๑.๕ ลิตรต่อวัน

๔. การจัดจำหน่าย
          สินค้าอาหารไทยถือเป็นสินค้าที่สามารถหาได้ไม่ยากในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ โดยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้า อาหารไทยได้จากร้านค้าหลากหลาย ได้แก่
          ๔.๑ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ห้าง Manor ซึ่งมาสาขาทั้งหมด 65 สาขา ห้าง Globus เป็นต้น
          ๔.๒ ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น Coop ซึ่งมีสาขาทั้งหมด ๑,๙๙๑ สาขา และ Migros ซึ่งมาสาขาทั้งหมด ๑,๗๖๘ สาขา ห้าง Prodega เป็นต้น
          ๔.๓ ร้านอาหารไทยและร้านอาหารเอเชียมากกว่า ๒๐๐ ร้าน
          ๔.๔ ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียกว่า ๒๐๐ ร้าน

๕. การนำเข้าและการส่งออก
          ๕.๑ ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี ๒๕๕๔ เป็นมูลค่า ๒๔.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ๐.๗ ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ ๒.๙๓ สินค้าที่ส่งออกมาที่สุด ๕ อันดับแรก คือ
          ๑) ข้าว เป็นมูลค่า ๑๓.๕ ล้านเหรียญฯ
          ๒) ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นมูลค่า ๔.๘ ล้านเหรียญฯ
          ๓) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นมูลค่า ๒.๑ ล้านเหรียญฯ
          ๔) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นมูลค่า ๑.๓ ล้านเหรียญฯ และ
          ๕) ไก่แปรรูป เป็นมูลค่า ๐.๓ ล้านเหรียญฯ
          ๕.๒ ไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากสวิตเซอร์แลนด์ในปี ๒๕๕๔ เป็นมูลค่า ๒๒.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี ก่อนหน้า ๔.๙ ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ ๒๗.๕๓ สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ๕ อันดับแรก ได้แก่
          ๑) ขนมหวานและช็อกโกแลต เป็นมูลค่า ๙.๘ ล้านเหรียญฯ
          ๒) นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นมูลค่า ๒.๒ ล้านเหรียญฯ
          ๓) ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เป็นมูลค่า ๒.๐ ล้านเหรียญฯ
          ๔) กาแฟ ชา เครื่องเทศ เป็นมูลค่า ๐.๘ ล้านเหรียญฯ และ
          ๕) สินค้าอาหารอื่นๆ

๖. ข้อเสนอแนะ
          ๖.๑ สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดที่สำคัญอีกตลาดหนึ่งของสินค้าอาหารไทย โดยเฉพาะสำหรับสินค้า ข้าว ผักและผลไม้ เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าทั้งสามชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค
          ๖.๒ เนื่องจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหารที่จำหน่ายอยู่ในประเทศมาก โดยจะมีการสุ่มตรวจสินค้าที่วางจำหน่ายตามห้างร้านต่างๆ เป็นประจำ สินค้าไทยที่ส่งออกมายังประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด กล่าวคือ ต้องไม่มีส่วนในประกอบของสารเคมี ย่าฆ่าแมลงและสิ่งปนเปื้อนมากกว่าที่กฎระเบียบกำหนดไว้ และต้องไม่มีส่วนประกอบของพืชผลตกแต่งพันธุกรรม GMO เนื่องจากพืช GMO เป็นสินค้าต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

                           -----------------------------------------------------


                                                            สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
                                                                                            พฤษภาคม ๒๕๕๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ