ข้าวไทยยังครองใจผู้บริโภคจีน
หากพิจารณาการขยายตัวและความต้องการอาหารสำรองของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าการนำเข้าข้าวของประเทศจีนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้แหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญของประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม
อย่างไรก็ดี การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องสมัครโควตาภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะเพิ่มโควตานำเข้าข้าวให้ต่างประเทศในจำนวนที่สูงมาก และกำหนดภาษีนำเข้าข้าวของจีนเพียงร้อยละ 1 แต่ในทางปฏิบัติ ผู้นำเข้ารายใหม่และโรงงานผลิตอาหารแปรรูปที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบประสบปัญหาเกี่ยวกับกฏระเบียบและขั้นตอนการขอโควตานำเข้าข้าวอยู่มาก ทำให้ยากที่จะมีผู้นำเข้าข้าวรายใหม่เกิดขึ้น ในตลาดจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายในจีนจำเป็นต้องซื้อข้าวผ่านผู้จัดจำหน่ายในประเทศแทนการนำเข้าจากผู้ส่งออกไทยโดยตรง ในราคาที่สูงและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และหากต้องการนำเข้าข้าวนอกโควตา ผู้นำเข้าก็ต้องเสียภาษีนอกโควตาในอัตราสูงถึงร้อยละ 65 ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง
ไทยส่งออกข้าวมายังจีนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิแต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ข้าวหอมมะลิของไทยที่จำหน่ายในจีน เป็นข้าวที่ผู้นำเข้าจีนนำมาบรรจุหีบห่อในจีน รวมทั้งการนำข้าวเม็ดยาวชนิดอื่นที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาผสม เพื่อลดต้นทุนและจำหน่ายในแบรนด์ของตน ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากไม่รู้จักคุณภาพและรสชาติที่แท้จริงของข้าวหอมมะลิไทย ผู้บริโภคจีนขาดความมั่นใจในตัวสินค้าของไทย หลายคนหันไปบริโภคข้าวตัวอื่นแทน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกข้าวหอมมะลิแท้ ที่มีการบรรจุหีบห่อจากประเทศไทย ขาดโอกาสทางการตลาด ในการสร้างแบรนด์ข้าวหอมมะลิของตน และสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าวไทยที่ส่งมาจำหน่ายในจีน
ปัจจุบันข้าวไทยที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ณ เมืองเซี่ยเหมินโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข้าวที่นำมาบรรจุหีบห่อในจีนและและจำหน่ายในราคาที่ไม่แตกต่างไปจากข้าวไทยที่บรรจุหีบห่อมาจากไทย
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ
Rank Description 2552 2553 2554 สัดส่วน % Change % 2552 2553 2554 2554/2553 0 World 172.69954 227.309993 343.28881 100 100 100 51.02 1 Thailand 171.11334 203.678095 215.32431 99.08 89.6 63 5.72 2 Vietnam 1.038076 22.325866 122.87442 0.6 9.82 36 450.37 3 Pakistan 0.338662 0.410352 4.277969 0.2 0.18 1.3 942.51 4 Korea,South 0 0.30103 0.645086 0 0.13 0.2 114.29 5 Myanmar 0 0 0.101806 0 0 0 0 6 Uruguay 0 0 0.039182 0 0 0 0 7 Taiwan 0.041461 0.069648 0.023461 0.02 0.03 0 -66.31 8 Cambodia 0 5.00E-05 0.00177 0 0 0 3440 9 Germany 0 0 0.00599 0 0 0 0 10 Sri Lanka 0 0 9.40E-05 0 0 0 0
จากสถิติแสดงให้เห็นว่าภายในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาการนำเข้าข้าวจากไทยของจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในปีนี้มีรายงานว่าหลายบริษัทที่นำเข้าข้าวจากไทยหันไปนำเข้าข้าวขาวจากเวียดนาม ปากีสถานและบังคลาเทศ เนื่องจากราคาที่ถูกกว่า และลดปริมาณการนำเข้าข้างจากไทย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อข้าวหอมมะลิของไทยที่จำหน่ายในตลาดจีน เนื่องจากคุณภาพที่แตกต่าง และข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป็นสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป ซึ่งมักเลือกบริโภคสินค้าดีมีคุณภาพมากกว่าสินค้าราคาถูก ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น และกระจายตัวอยู่ในมณฑลตอนในของจีนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการสร้างความหลายหลายและแปลกใหม่ของแบรนด์ข้าวหอมมะลิไทยเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนนั้น จะส่งผลให้ข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป้นสินค้ายอดนิยมในตลาดจีน
จากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนไป สินค้าคุณภาพที่ถึงแม้จะมีราคาแพงยังคงมีกระแสตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนกระแสของสินค้าเพื่อสุขภาพที่มีราคาค่อนข้างสูง กลับมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพมากขึ้น บวกกับแนวโน้มประชากรวัยกลางคนที่มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ดังนั้นถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ในการส่งออกสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวออแกร์นิก เป็นต้น สินค้าดังกล่าวมีวางจำหน่ายไม่มากนักในตลาดจีน ยิ่งเฉพาะในมณฑลตอนในของประเทศ ที่ผู้ประกอบการไทยมักมองข้ามโดยหารู้ไม่ว่ามณฑลตอนในเหล่านั้นมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการบริโภคไม่น้อยไปกว่าเมืองท่าสำคัญต่างๆ
ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจีนเพียงเท่านั้นเพราะเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีนส่งผลให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศจีนที่นับวันจะมีจำนวนมากยิ่งขึ้น กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้มักเลือกบริโภคสินค้าคุณภาพและสินค้าเพื่อสุขภาพ ถือเป็นอีกกลุ่มลูกค้าสำคัญของสินค้าไทยเพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าสุขภาพเหล่านี้ ก่อนประเทศคู่แข่ง เพื่อรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวันในประเทศจีน
ที่มา World Trade Atlas Internet Edition
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
เดือนพฤษภาคม 2555