ภาคเกษตรกรรมและการผลิตสินค้าอาหารของอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 16:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาคเกษตรกรรมและการผลิตสินค้าอาหารของอินเดีย

ความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมของอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง โดยใช้พื้นที่มากกว่า ร้อยละ 52 ของประเทศในการเกษตร นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรของทั้งโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11 เนื่องจากอินเดียมีความได้เปรียบด้านความหลากหลายของสภาพอากาศและสภาพภูมิศาสตร์ จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงตามไปด้วยทั้งในด้านการเพาะปลูกพืชต่างๆ การปศุสัตว์ และการประมง โดยนับตั้งแต่ยุค Green Revolution ของอินเดียในช่วงปี 2503-2513 ความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมของอินเดียได้เพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่สามารถตอบสนองความต้องการภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ ถึงแม้ว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาภาคเกษตรกรรมของอินเดียจะประสบปัญหาการเสื่อมสภาพของทรัพยากรและขาดการสนับสนุนจากภาครัฐจนทำให้เกิดการชะลอตัวลงโดยมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ในปีเพาะปลูกที่ 2552-2553 และร้อยละ 5.4 ในปีเพาะปลูกที่ 2553-2554 แต่ก็ยังคงมีผลผลิตมากพอในระดับ ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้

ตารางแสดงผลผลิตทางการเกษตร 10 อันดับแรกของอินเดีย (เรียงตามมูลค่า)
 ที่       สินค้า           อันดับโลก          ผลผลิต(ปีเพาะปลูกที่ 2551-2552)
                                    มูลค่า (ล้าน USD)    ปริมาณ (ล้านตัน)
 1    นมกระบือ             1              30.4              60.9
 2    ข้าว                 2              30.2             148.7
 3    นมวัว                2              11.7              44.1
 4    ข้าวสาลี              2              11.7              78.6
 5    อ้อย                 2               6.7             348.2
 6    ผักสด                2               5.9              31.4
 7    ฝ้าย                 2               5.6              3.78
 8    มันฝรั่ง               3               4.6              34.7
 9    พริกและพริกไทย        1               3.7               1.3
 10   กล้วย                1               3.7              26.2

ภาคเกษตรกรรมของอินเดียมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 24 ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) และใช้แรงงานในการผลิตมากกว่าร้อยละ 58 ของแรงงานทั้งประเทศ จากข้อมูลสถิติ อินเดียเป็นผู้ผลิตสินค้าผักและผลไม้รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตนมได้มากเป็นอันดับ 2 ผลิตไข่ไก่ได้มากเป็นอันดับที่ 5 และมีการจับปลามากเป็นอันดับที่ 6 หรือเป็นปริมาณมากกว่า 5 ล้านตันต่อปี

การผลิตในภาคเกษตรกรรมที่สำคัญของอินเดีย

1. ธัญพืชและพืชน้ำมัน1. ธัญพืชและพืชน้ำมัน อาทิ ข้าว ข้าวสาลี พืชตระกูลถั่ว ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น การขยายตัวของผลผลิตสินค้ากลุ่มนี้ในระยะหลังค่อนข้างต่ำเนื่องจากข้อจำกัดในการขยายพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม พืชกลุ่มนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นอาหารหลักของคนทั้งประเทศ รัฐบาลอินเดียจึงต้องให้การสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อรักษาระดับผลผลิตไว้ให้เพียงพอ ในปีเพาะปลูกที่ 2553-2554 อินเดียสามารถผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ได้ในปริมาณ 553 ล้านตัน

2. อ้อย เป็นพืชที่มีอัตราผลผลิตแกว่งตัวอยู่ตลอดเวลาตามความต้องการของตลาดและราคาผลผลิต ในปีเพาะปลูกที่ 2553-2554 อินเดียสามารถผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ได้ในปริมาณ 3,405 ล้านตัน

3. ฝ้าย มีอัตราการขยายตัวของผลผลิตสูงมากจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้จนสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึงร้อยละ 13.58 ทำให้อินเดียสามารถเป็นผู้ส่งออกชั้นนำของโลกในสินค้านี้ ในปีเพาะปลูกที่ 2553-2554 อินเดียสามารถผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ได้ในปริมาณ 339 ล้านตัน

4. ชาและกาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของอินเดียโดยเฉพาะในด้านการส่งออก ในปี 2553 อินเดียส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้คิดเป็นมูลค่า 2,006 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

5. ผักและผลไม้ ซึ่งมีความต้องการสูงขึ้นในตลาดอินเดียเนื่องจากผู้บริโภคมีรายได้สูงขึ้นโดยเฉลี่ย ความสามารถในการผลิตผักของอินเดียมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นมากกว่าความสามารถในการผลิตผลไม้เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์มาใช้มากกว่า อินเดียสามารถผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ได้ในปริมาณมากกว่า 130 ล้านตันในแต่ละปี

6. ปศุสัตว์ อินเดียมีประชากรวัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของประชากรวัวรวมทั้งโลก และมีจำนวนประชากรกระบือ แพะ และแกะ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ร้อยละ 17 และร้อยละ 5 ของโลกตามลำดับ การเลี้ยงสัตว์ในอินเดียมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอินเดียเป็นอย่างมาก ทั้งเพื่อเป็นอาหารสำหรับการบริโภคโดยตรง และเพื่อการผลิตสินค้าอื่นๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ นม ขนสัตว์ และหนังสัตว์ รวมทั้งเพื่อ เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การนำมูลสัตว์มาผลิตเป็นปุ๋ยและเชื้อเพลิง เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น อินเดียน่าจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำในด้านสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารในตลาดโลกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ในข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอินเดียไม่เคยติดอันดับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารชั้นนำของโลกเลย นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้นได้เป็นจำนวนมากดังกล่าว แต่ปรากฏว่า มีผลผลิตปริมาณน้อยมากเพียงประมาณร้อยละ 2 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการจัดเก็บและแปรรูปตามมาตรฐานสากล โดยสัดส่วนการแปรรูปสินค้าเกษตรดังกล่าวในประเทศอื่นๆ อาทิ สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 80 ประเทศฝรั่งเศส ร้อยละ 70 ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 80 และสำหรับประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 30

การบริหารจัดการสินค้าเกษตรกรรมของอินเดีย

ปัญหาที่สำคัญที่สุดในภาคเกษตรกรรมของอินเดีย คือ อัตราการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร ที่สูงถึงร้อยละ 40 ของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด โดยสาเหตุหลักของการสูญเสียดังกล่าวนั้น ร้อยละ 80 เกิดขึ้นที่กระบวนการหลังการผลิต (Post Harvesting) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างขั้นตอนการขนส่งสินค้า ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียมุ่งเน้นให้ความสนใจเพิ่มกำลังการผลิตของเกษตรกรเพียงด้านเดียวโดยละเลยการพัฒนาโครงสร้างด้านอื่นที่เกี่ยวข้องจนทำให้ระบบต่างๆ ขาดประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ระบบการขนส่งในอินเดียที่มีปัญหา ทั้งในด้านของเครือข่ายการขนส่ง สภาพภูมิประเทศ สภาพถนน และยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งนอกจากจะขาดมาตรฐานสุขอนามัยที่ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้และขาดทักษะในการดูแลรักษาสินค้าที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าเกษตรกรรมที่สามารถเน่าเสียได้ง่าย ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ในอินเดียมักจะหลีกเลี่ยงการขนส่งสินค้าชนิดนี้เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีขั้นตอนการดำเนินการที่ซับซ้อน จึงทำให้สินค้าเกษตรกรรมส่วนใหญ่ในประเทศอินเดียถูกขนส่งและกระจายต่อไปยังผู้บริโภคโดยผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีมาตรฐานในการดำเนินการใดๆ

การมีระบบการจัดเก็บสินค้าโดยการควบคุมอุณหภูมิเพื่อป้องกันการเน่าเสีย (Cold Storage) ที่ได้มาตรฐานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถลดอัตราการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมาก และเป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า อินเดียยังขาดแคลนการจัดการในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ประมาณการว่าจากผลผลิตผักและผลไม้มากกว่า 130 ล้านตันในแต่ละปี อินเดียมีระบบ Cold Storage ที่จะสามารถนำมาใช้จัดเก็บสินค้าดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ การพัฒนาในด้านดังกล่าวต้องการความสามารถขั้นสูงในด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ และต้องการเงินทุนอีกเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการบำรุงรักษาระบบให้มีประสิทธิภาพ

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในกระบวนการหลังการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศอินเดีย คือ เรื่องบรรจุภัณฑ์ (Packaging) บรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยยืดอายุสินค้าเกษตรกรรมให้ยาวนานและลดความสูญเสียระหว่างการขนส่งได้อย่างมาก รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านระบบการจัดเก็บสินค้าแบบ Cold Storage ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงไม่มีการพัฒนาในด้านนี้มากนักและมีต้นทุนในการดำเนินการสูงมาก การลงทุนทำ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรในอินเดีย อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 10-60 ของต้นทุนการผลิตสินค้ารวมทั้งหมด

ตลาดสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารของอินเดีย

ผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือนอกจากที่สูญเสียไปดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะถูกกระจายต่อและ ใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากระดับความสามารถในการผลิตของอินเดียยังไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้มากนัก ทั้งในด้านคุณภาพของผลิตผล ความสะอาด และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ปัญหาหลักในเรื่องนี้มาจากผู้ผลิตที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการทำการเกษตรสมัยใหม่ โดยภาคเกษตรกรรมของอินเดียส่วนใหญ่เป็นการผลิตแบบดั้งเดิมโดยเกษตรกร รายย่อยเป็นจำนวนมาก ยังไม่ค่อยมีการนำระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่คงที่ และต้องเกษตรกรเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงด้านกลไกราคาของตลาดและอุปสงค์อุปทาน ความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิต ความเสี่ยงด้านการเมืองและนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้อินเดียยังคงไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารของโลกได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียในปัจจุบันได้ริเริ่มความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวทางที่จะกระตุ้นและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการ Free Trade Warehousing Zone โครงการ Food Processing Unit Scheme และโครงการ Food Testing Laboratories and R&D Scheme เป็นต้น โดยเชื่อว่าการดึงเอาภาคเอกชนเข้ามานั้น นอกจากจะเป็นการระดมทุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงแล้ว จะทำให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรที่สามารถได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาดังกล่าวโดยตรง

ตารางแสดงมูลค่าการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของอินเดีย

หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ

                       สินค้าเกษตร                  รวมทุกสินค้า                   จำนวนร้อยละของ
 ปีเพาะปลูก        ผลผลิตรวม     การส่งออก     ผลผลิตรวม       การส่งออก        (B) : (A)   (B) : (D)
                   (A)          (B)          (C)             (D)
2552-2553      200,918.8      17,904.4  1,173,662.2      169,025.0          8.91        10.59
2551-2552      179,675.6      17,192.2  1,045,730.0      168,150.8          9.56        10.22
2550-2551       163079.8      15,807.8    908,197.4      131,172.6          9.69        12.05

จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่าอินเดียมีการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในสัดส่วนที่น้อยมาก (ต่ำกว่าร้อยละ 10) เมื่อเทียบกับผลผลิตทางการเกษตรที่อินเดียผลิตได้ทั้งหมด และมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกรวมทุกสินค้าของประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคเกษตรกรรมของอินเดียมุ่งเน้นการผลิตเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไม่ได้เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศแต่อย่างใด

ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมของอินเดีย

นอกจากอินเดียจะมีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมที่ค่อนข้างจะเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศอยู่แล้วนั้น พฤติกรรมการบริโภคของชาวอินเดียเองที่มีความต้องการในการบริโภคอาหารที่หลากหลายและแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อในแต่ละพื้นที่ และส่วนใหญ่นิยมปรุงอาหารรับประทานเองในครัวเรือนโดยซื้อวัตถุดิบจากตลาดสดและร้านขายของชำแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น (Kirana Stores) ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารของอินเดียมีสัดส่วนที่ต่ำมากอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับ GDP เท่านั้น

ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมของอินเดีย

หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 ปีเพาะปลูก            GDP                  มูลค่าการนำเข้า                   จำนวนร้อยละของ
                     (A)           รวมทุกสินค้า       สินค้าเกษตร        (C) : (B)       (C) : (A)
                                      (B)             (C)
2552-2553        1,173,662.2      271,293.6        11,873.4            4.38            1.01
2551-2552        1,045,730.0      274,886.8         7,347.2            2.67            0.70
2550-2551          908,197.4      202,462.4         5,981.2            2.95            0.65

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาซึ่งอินเดียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมากและ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของอินเดียเริ่มเปลี่ยนแปลงไป อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 1,200 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ทั้งนี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีการคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีนี้ ถ้าวัดจาก GDP อินเดียจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ในปีงบประมาณอินเดีย 2553-2554 (1 เมษายน 2553-31 มีนาคม 2554) ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียอยู่ที่ 1,460,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 19.1 รายได้เฉลี่ยของผู้บริโภคอินเดีย (Per Capita Income) อยู่ที่ 1,097 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 จากในปีงบประมาณก่อนหน้า ทั้งนี้ ผู้บริโภคอินเดียจำนวนมากกว่า 40 ล้านคนมีรายได้ต่อเดือนสูงกว่าเดือนละ 1,495 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 45,000 บาท) และคาดว่าจำนวนผู้บริโภคดังกล่าวจะเพิ่มจำนวนเป็น 140 ล้านคนในปีงบประมาณ 2554-2555 นี้

ในด้านการเลือกใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคอินเดียพบว่าผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทจะใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่สำหรับสินค้าอาหาร โดยยิ่งค่าเฉลี่ยของรายจ่ายต่อเดือนยิ่งต่ำ สัดส่วนของการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าอาหารจะ ยิ่งสูงขึ้น จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทจะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 57 ในขณะที่ผู้บริโภคในเขตเมืองจะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารในสัดส่วนที่ต่ำกว่าคือ ร้อยละ 44.4

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อความต้องการนำเข้าสินค้าต่างๆ ของอินเดีย เนื่องจากภาคการผลิตของอินเดียเองมีความสามารถในการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะในด้านปริมาณแต่ในด้านคุณภาพเป็นประเด็นสำคัญด้วย

ตารางแสดงอัตราการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมของอินเดีย

หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    สินค้า                  มูลค่าการนำเข้า            อัตราการขยายตัว         (ร้อยละ)
                     ปี 2553     ปี 2552 ปี      2551 ปี    2553/2552    ปี 2552/2551
เกษตรกรรม          12,468.0     10,693.6     7,322.3        16.59          46.04
อื่นๆ               338,315.0    246,964.4   314,087.8        36.98         -21.37
รวมทั้งหมด          350,783.0    257,658.0   321,410.1        36.14         -19.83

จากตารางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อินเดียมีการนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มนี้ที่มีการนำเข้าสูงสุด คือ น้ำมันจากสัตว์และพืช ผักและผลไม้สด ถั่วต่างๆ น้ำตาล ชาและกาแฟ เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสินค้าที่อินเดียเองสามารถผลิตได้อยู่แล้ว แต่ยังคงมีปริมาณและคุณภาพไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นได้จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มเติม

การนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทยของอินเดีย

จากสถิติในปี 2553 อินเดียนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารคิดเป็นมูลค่า 12,468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแหล่งนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย อาร์เจนตินา บราซิล มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา มากที่สุดตามลำดับ สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 12 คิดเป็นมูลค่า 202 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.09 ของการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้ของอินเดีย ทั้งนี้ นอกจากสินค้าหลักในกลุ่มนี้ 2 รายการที่อินเดียมีความต้องการนำเข้าสูงสุด คือ น้ำมันจากสัตว์และพืช และน้ำตาลแล้ว สินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอาหารของไทยที่มีแนวโน้มจะสามารถขยายตัวในตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักผลไม้สด/แห้ง/แปรรูป ซอสและเครื่องปรุงรส ธัญพืชอบแห้งและแปรรูป และเครื่องดื่มชนิดต่างๆ

จุดแข็งสำหรับสินค้าในกลุ่มนี้ของประเทศไทยอยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการและแปรรูปผลผลิตได้หลากหลายและมีคุณภาพดีกว่าที่ผู้ผลิตในประเทศอินเดียเองจะสามารถผลิตได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสินค้าในกลุ่มนี้เป็นตลาดที่มีปริมาณค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาค่อนข้าง สูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลทั้งหมดดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรกรรมสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันยังขาดความสามารถในด้านการบริหารจัดการผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งการแปรรูปผลิตผลเหล่านั้นให้เป็นสินค้าอาหารที่มีคุณภาพ ดังนั้น อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่น่าจะนำมาพิจารณา คือ การนำเอาจุดแข็งในด้านการบริหารจัดการและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรไปลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศอินเดียเอง และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอินเดียเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วไปซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มที่จะสามารถขยายตัวได้อีกมากในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ