อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการประมงของอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 25, 2012 15:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการประมงของอินเดีย

สถาบัน Marine Research Fisheries Institute (MRFI) ของอินเดียค้นพบการลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรปลาบริเวณน่านน้ำชายฝั่งของรัฐเคราละ โดยเฉพาะปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลซึ่งเป็นปลาประเภท Fast-Breeding คือ สามารถขยายพันธุ์ได้เร็วและมีช่วงฤดูขยายพันธุ์สั้น ทำให้สามารถทำการประมงกับปลาในกลุ่มนี้ได้นานกว่าและจับได้มากกว่าปลาชนิดอื่น

ปลาในสายพันธุ์นี้มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิค่อนข้างสูง (ประมาณ 0.0-0.01 องศาเซลเซียส) และมักจะตอบสนองอย่างรวดเร็วโดยการย้ายถิ่นฐานไปอยู่บริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอย่างในปลาซาร์ดีน หรือไม่ก็เปลี่ยนระดับความลึกที่อยู่อาศัยใหม่อย่างในปลาแมคเคอเรล เป็นต้น นอกจากนี้จากกการศึกษาของสถาบันดังกล่าว ยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงช่วงฤดูการผสมพันธุ์ของปลาบางชนิด โดยอัตราการเพิ่มจำนวนของประชากรปลาสูงสุดจะย้ายไปอยู่ในช่วงของเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำหรือใกล้เคียงกับอุณหภูมิปกติเดิมที่ปลาสามารถอาศัยอยู่แลขยายพันธุ์ได้ การย้ายฤดูผสมพันธุ์นี้พบในปลาสายพันธุ์ Threadfin Bream บริเวณชายฝั่งเมืองเจนไน และแถบ Coromandel ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากการสำรวจและวิจัยต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงทั้งจากเมืองมุมไบและรับคุชราตสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณปลาซาร์ดีน ที่จับได้ในช่วงไม่นานมานี้ โดยฝูงปลาซึ่งเดิมมีแหล่งอยู่ทางใต้ได้ย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยขึ้นมาทางฝั่งตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ และทางตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยปัจจุบัน ชาวประมงบริเวณ รัฐทมิฬนาฑูก็สามารถจับปลาซาร์ดีนได้ในปริมาณที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน ปลาเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญและเป็นรายได้ของกลุ่มชาวประมงบริเวณชายฝั่งรัฐเคราละมาโดยตลอด จนกระทั่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปริมาณของปลาซาร์ดีนที่จับได้มีการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของรัฐคุชราตมีการจับปลาซาร์ดีนได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนทั้งที่ก่อนหน้านี้การจับปลาในบริเวณดังกล่าวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย จากการสำรวจน่านน้ำและเขตจับปลาของอินเดีย (Indian Exclusive Economic Zone - EEZ) และจากการสอบถามและทำการวิจัย สถาบัน MFRI ได้สรุปถึงผลกระทบต่างๆ จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ดังนี้

1. อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ปลาซาร์ดีนซึ่งเป็นปลาเขตร้อน (Tropical Species) ย้ายที่อยู่อาศัยไปยังบริเวณทางตอนเหนือขึ้นไป เนื่องจากมีระดับอุณหภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ทำให้ชนิดของปลาที่จับได้ในบริเวณทั้งสองเปลี่ยนแปลงไป

2. ปลาแมคเคอเรลซึ่งปกติจะอยู่บริเวณใกล้ผิวน้ำหรือในระดับความลึกไม่มากนัก (Surface or Pelagic Species) มีการย้ายที่อยู่อาศัยลงไปในระดับความลึกที่มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ทำให้ชาวประมงหรือเรือจับปลาต่างๆ ซึ่งเดิมใช้อวนน้ำลึก (Bottom Trawler) ในการจับปลาชนิดอื่นสามารถใช้อวนชนิดเดียวกันนี้จับปลาแมคเคอเรลได้

3. ปลาน้ำลึก (Bottom Sea or Demersal Species) เช่น Threadfin Bream มีการย้ายฤดูผสมพันธุ์ไปในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ทำให้ระยะเวลาและช่วงฤดูจับปลาที่สามารถทำการประมงกับปลาน้ำลึกชนิดนี้เปลี่ยนไป

และที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ ขณะที่มีการกังวลเรื่องการสูญเสียรายได้จากการประมงและอาหารจากการหายไปของปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลนั้น มีการค้นพบปลาน้ำลึกอีก 152 สายพันธุ์ โดยเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยอยู่ใน Indias Exclusive Economic Zone และย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในน่านน้ำที่ทำการประมงของอินเดียถึง 85 สายพันธุ์ โดยในจำนวนนี้มี 15 สายพันธุ์เป็นปลาฉลาม เช่น Baloon, Cat, Lantern, Gulper และมีการค้นพบปลาฉลามหายากอย่าง Triakid Shark ที่ระดับความลึกเพียง 500เมตร ที่ชายฝั่งของเมือง มังกาลอร์อีกด้วย

นายศศินทร์ สุขเกษ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

พฤษภาคม 2555


แท็ก อินเดีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ