เศรษฐกิจจีน - Soft Landing ในปี 2012

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 31, 2012 15:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เศรษฐกิจจีน - Soft Landing ในปี 2012

ภาพรวมเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจจีนขยายตัวย่างรวดเร็วในช่วงปี 2009 และ 2010 เนื่องจากในช่วงปี 2008 รัฐบาลจีนมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตการเงินโลก จนถึงปี 2011 การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลง โดยปี 2011 มีอัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 9.3 ลดลงจากร้อยละ 10.4 ของปี 2010 ร้อยละ 1.1 กำลังซื้อภายในประเทศขาดแรงกระตุ้นส่งผลให้ยอดมูลค่าการค้าปลีกขยายตัวเพียงร้อยละ 17 ทั้งนี้หากตัดอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 6 แล้วมูลค่าการค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 11 ลดลงจากปี 2010 ร้อยละ 3.8 นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบต่อความต้องการของตลาดส่งออกจีน แม้ว่ายอดมูลค่าการส่งออกในปี 2011 ยังสูงถึง 1,743.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 แต่อัตราการขยายตัวมีแนวโน้มจะลดลงเหลือประมาณ ร้อยละ 10 ในปี 2012 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ GDP ปี 2012 อย่างแน่นอน

สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงมีหลายประการ ดังนี้

1. ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

  • ต้นทุนของแรงงานสูงขึ้น หลายปีมานี้ โครงสร้างของประชากรจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้อัตราค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น ในปี 2011 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้เซินเจิ้นและเหอหนานคือ 1,160 1,280 1,320 และ 1,080 หยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2005 ร้อยละ 100 85.5 91.3 และ 125 ตามลำดับ ต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัวใน 10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในจีนได้ปรับตัวสูงขึ้นจาก 0.6 USD ของปี 2000 เป็น 2.9 USD ของปี 2011ซึ่งเทียบเท่ากับ 1.5 เท่าตัวของค่าจ้างในประเทศไทย 2.5 เท่าตัวของฟิลิปปินส์และ 3.5 เท่าตัวของอินโดนีเซีย ดังนั้น เมืองอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
  • ต้นทุนของที่ดินสูงขึ้น ตามสถิติของปลายปี 2011 ค่าที่ดินในเมืองหลักๆ เฉลี่ยแล้ว 3,049 หยวน/ตารางเมตร เป็น 2.4 เท่าตัวของปี 2005 โดยเฉพาะที่ดินสำหรับการค้าการบริการที่พักและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากปี 2005 ร้อยละ 174 267 และ 32.5 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมดั้งเดิม - อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานได้ย้ายจากเมืองริมทะเลไปยังเมืองที่ด้อยพัฒนาหรือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บริษัท Nick ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม บริษัท Coach ได้ลดการผลิตในจีนจากร้อยละ 85 เหลือร้อยละ 45 และบริษัท MUJI ได้ลดโรงงานการผลิตในจีนจาก 229 แห่ง เหลือ 86 แห่ง

2. การพัฒนาของแต่ละภาคในจีนไม่เท่าเทียมกัน

30 ปีที่ผ่านมา การค้าและการลงทุนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในภาคตะวันออก โดยเฉพราะเขตสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียงและแม่น้ำฉางเจียง เป็นย่านการค้าที่คึกคักที่สุด แต่เนื่องจากปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น พร้อมกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป และจากการแข่งขันที่รุนแรงของปัจจุบันและอาศัยตลาดส่งออก ส่งผลให้รูปแบบการพัฒนาที่เน้นการใช้แรงงานและทรัพยากรณ์เริ่มเสียเปรียบ ในปี 2011 อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเมืองเซี่ยงไฮ้และกวางโจวคือร้อยละ 7.4 และ 7.3 อัตราการเพิ่มของการลงทุนถาวร ร้อยละ 0.3 และ 13.3 ซึ่งต่ำกว่าเมืองภาคกลางอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันค่าครองชีพของเมืองที่พัฒนาแล้ว เช่น กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้และกวางโจงสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 20 21 และ 38 ของโลก เมืองที่พัฒนาแล้วต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ภาคอื่นๆ ที่กำลังเดินตามรอยเท้าของภาคตะวันออกต้องคำนึงถึงปัญหาเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

3. โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น

ตามสถิติของปลายปี 2011 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีหรือขึ้นไปรวม 184.99 ล้านคน เป็นสัดส่วนร้อยละ 13.7 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 0.47 ประชากรที่มีอายุ 65 ปีหรือขึ้นไปมี 122.88 ล้านคน เป็นสัดส่วนร้อยละ 9.1 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 0.25 หากเทียบกับปี 2000 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีหรือขึ้นไปมีสัดส่วนมากขึ้นร้อยละ 3.38 และผู้ที่มีอายุ 65 ปีหรือขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14 ประชากรผู้สูงวัยมีสัดส่วนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ประชากรที่มีอายุระหว่าง 15-64 ซึ่งเป็นประชากรวัยทำงานเริ่มมีสัดส่วนลดลงในปี 2011 ซึ่งจะส่งผลให้จีนเกิดปัญหาการขาดกำลังซื้อและขาดแคลนแรงงาน

การคาดการณ์ของเศรษฐกิจจีนในปี 2012

การขยายการลงทุน การบริโภคภายในประเทศ และตลาดส่งออกจะชะลอลงในปี 2012

1.การลงทุน

เนื่องจากปี 2010-2011 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนมากขึ้น สัดส่วนของการลงทุนด้านอื่นๆลดลง เช่นอุตสาหกรรมการผลิต ส่งผลกระทบถึง การหมุนเวียนเงินทุนของอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลจีนได้มีนโยบายควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2011 คาดว่าจะเป็นแรงกระตุ้นในการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ นอกจากนี้ นโยบายการเงินในด้านการควบคุมภาวะเงินเฟ้อทำให้การหมุนเวียนของเงินตราในประเทศน้อยลง เอกชนกู้เงินลำบากมากขึ้น ส่งผลให้วิสาหกิจ SMEs เผชิญกับปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลงทุนลดน้อยลง

2.การบริโภค

CPI ในปี 2009-2011 อยู่ในระดับสูง โดยปี 2011 CPI ของจีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.4 ค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น แต่วิสาหกิจมีปัญหาการหมุนเวียนเงินทุน ทำให้อัตราการเพิ่มของค่าจ้างแรงงานน้อยกว่า จึงมีการคาดการณ์ว่าปี 2012 อัตราการเติบโตของการบริโภคจะมีแนวโน้มลดลง

3.ตลาดส่งออก

การส่งออกในปี 2012 จะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ คือ ตลาดอเมริกาและยุโรปยังไม่ฟื้นฟู แม้ว่าจีนได้พัฒนาตลาดส่งออกใหม่ เช่นตลาดอาเซี่ยน ซึ่งตลาดส่งออกใหม่ได้มีการเติบโตอย่างมั่นคง แต่ผลกระทบจากตลาดดั้งเดิมยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาการส่งออกในปี 2012 นอกจากนี้ ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นและค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้จีนเสียเปรียบในด้านราคาส่งออก

นโยบายของจีนในปี 2012

นโยบายของจีนในปี 2012 สรุปได้เป็นคำเดียวคือ "เสถียรภาพ" จะเน้น "การเปลี่ยนแปลง" ในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจะลดความสำคัญในอัตราการเพิ่มของ GDP และปรับสวัสดิการของประชาชนให้ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงนโยบายที่เน้นระบบการเงินเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ชะลอการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเปลี่ยนแปลงระบบการกระจายรายได้ของสังคม

ตามแผนการพัฒนา 5 ปี สมัยที่ 12 (ปี 2011-2015) ของจีน ประเทศจีนจะเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เปลี่ยน Made In China เป็น Created In China โดยมีนโยบายหลักๆ ดังนี้

1.เพิ่มความต้องการภายในประเทศ

ปรับระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ระดับต่ำและระดับกลาง เสริมสร้างระบบสวัสดิการด้านสุขอนามัยและลดค่าใช้จ่ายในด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ รักษาสิทธิของผู้บริโภค ส่งเสริมการบริโภคตลาดบน และพัฒนาการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ

2.รักษาตลาดส่งออกและส่งเสริมการนำเข้า

ผลักดันการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและธุรกิจบริการอย่างบูรณาการ รักษาตลาดหลัก ขยายตลาดใหม่ เพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออก ในขณะเดียวกันนำเข้าสินค้าที่เป็นวัดถุดิบและชิ้นส่วนเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยี่สูง

3.ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและขยายการลงทุนในต่างประเทศ

ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในด้านอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และขยายการลงทุนในต่างประเทศ ส่งเสริมให้วิสาหกิจจีน "ก้าวออกไป" ลงทุนหรือร่วมทุนกับวิสาหกิจในต่างประเทศ

4.ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมการใช้พลังสะอาด ปรับปรุงระบบการบริหารตลาดและอุตสาหกรรมโดยเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม

สรุป GDP ของไตรมาสแรกของปี 2012 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มของช่วงเดียวกันปี 2011 2010 และ 2009 และรัฐบาลจีนได้คาดการณ์ว่า GDP ของปี 2012 ประมาณร้อยละ 7.5 เศรษฐกิจจีนที่ได้พัฒนารวดเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และจะ Soft Landing ในปี 2012 ภายใต้นโยบายของรัฐบาลจีน

......................................

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ