รายงานผลการเข้าร่วมการสัมมนา ASEAN's Economic Outlook and Business Opportunities

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 11, 2012 15:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานผลการเข้าร่วมการสัมมนา ASEAN's Economic Outlook and Business Opportunities

May 30, 2012 at Taipei International Convention Center

1. บทนำ

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไต้หวันพึ่งพาตลาดจีนแผ่นดินใหญ่มากจนเกินไป รัฐบาลไต้หวันได้ดำเนินนโยบาย Go South เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับในปีนี้ Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) ซึ่งเป็นหน่วยงาน NPO (Non-profit organization) ของรัฐบาลไต้หวันที่มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมพิเศษตามโครงการ ASEAN Business Day เพื่อส่งเสริมการส่งออกกับประเทศอาเซียนขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยเชิญผู้ซื้อรายสำคัญในสินค้าต่างๆ จากประเทศไทย (11 ราย) มาเลเซีย (10 ราย) อินโดนีเซีย (10 ราย) และเวียดนาม (6 ราย) รวม 37 รายเดินทางมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมี TAITRA เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้ซื้อแต่ละรายคือ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน 1 ที่นั่งและค่าที่พัก 1 ห้องจำนวน 3 คืน

หลังจากพิธีเปิดงานซึ่งมี Mr. Wayne W. Wu, Deputy Chairman ของ TAITRA เป็นประธานเสร็จสิ้นลง ก็เป็นส่วนของการบรรยายย่อยแบ่งเป็นการบรรยายด้านนโยบายการจัดซื้อของ Buyer แต่ละประเทศที่เชิญมาโดยมีการคัดเลือกผู้ซื้อรายใหญ่จากประเทศมาเลเซีย 1 ราย (7-11 Malaysia Sdn. Bhd.) อินโดนีเซีย 1 ราย (P.T Dharma Polimetal) และไทย 4 ราย (Samart Corporation PLC., Central Trading Co.,Ltd., Sabina PLC. และ Orbit Int'l Corp.) ขึ้นทำ Presentation บรรยายแนะนำบริษัทและสินค้าที่ต้องการสั่งซื้อจากไต้หวัน และอีกส่วนหนึ่งจะแยกบรรยายเรื่องโอกาสในตลาดอาหารฮาลาล โดย Ms. Foo Meow Yee, General Manager, Yeo Hiap Seng Sdn. Bhd. และระบบการขอตราสินค้าฮาลาลโดยผู้แทนจาก Taiwan Halal Integrity Development Association หลังจากนั้นจึงเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง ASEAN's Economic Outlook & Business Opportunities โดยผู้เชี่ยวชาญจาก TAITRA (Mr. Lan Ker Ming, Market Specialist)ซึ่งได้พูดถึงโอกาสทางการค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไต้หวันในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ด้วย (เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดของอาเซียนอันดับ 1 และ 2)

2. ASEAN's Economic Outlook & Business Opportunities, by Mr. Lan Ker Ming, Market 2. Specialist, TAITRA

อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับสองของไต้หวันรองจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยในปี 2011 ตั้งในปี ไต้หวันส่งออกไปยังอาเซียนคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 48,578 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยมูลค่าการค้าและมูลค่าส่งออกนำเข้าของไต้หวันกับประเทศอาเซียน 10 ประเทศปรากฏตามตารางที่ 1 และ 2

ตารางที่ 1 มูลค่าการค้าของไต้หวันกับอาเซียนแยกตามรายประเทศ

หน่วย : US$ Million

Country                 2010             2011           Growth          Ratio to total trade
Singapore          19,732.23        24,832.63            25.85                   4.21
Malaysia           13,642.83        15,493.13            13.56                   2.62
Indonesia          10,529.63        12,264.69            16.48                   2.08
Thailand            9,117.22        10,532.93            15.53                   1.78
Vietnam             8,815.88        10,871.45            23.32                   1.84
Philippines         8,301.83         9,378.07            12.96                   1.59
Cambodia              487.24           664.00            36.27                   0.11
Myanmar               170.80           207.02            21.21                   0.03
Brunei                 36.53            79.50           117.63                   0.01
Laos                   10.92            13.50            23.64                  0.002
ASEAN              70,845.11        84,336.92            19.04                  14.30
Source: Board of Foreign Trade, Ministry of Economic Affairs, R.O.C.

ตารางที่ 2 มูลค่านำเข้าส่งออกของไต้หวันในปี 2011 กับอาเซียนแยกตามรายประเทศ
                                                          หน่วย : US$ Million
Country             Export          Growth(%)          Import          Growth(%)
Singapore        19,879.54           39.54           7,953.09            4.15
Vietnam           9.026.28           19.81           1,845.17           43.87
Philippines       6,964.16           16.42           2,413.91            4.05
Malaysia          6,891.61           15.87           8,601.51           11.78
Thailand          6,139.48           16.09           4,393.45           14.75
Indonesia         4,836.51            7.25           7,428.18           23.39
Cambodia            630.85           34.91              33.15           68.77
Myanmar             132.71           23.71              74.31           16.98
Brunei               37.74           47.60              41.75          281.09
Laos                  2.24          -42.76              11.26           60.70
ASEAN            51,541.13           22.83          32,795.79           13.54
Source: Board of Foreign Trade, Ministry of Economic Affairs, R.O.C.

2.1 อินโดนีเซีย
          1) ความต้องการภายในประเทศ
          อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของอาเซียนและเป็นประเทศอิสลามที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วยจำนวนประชากรประมาณ 240 ล้านคนทำให้ตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูง อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถูกกระตุ้นจากการบริโภคในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ประเทศส่วนใหญ่ของโลกจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2009 ค่อนข้างต่ำหรือติดลบ แต่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียยังสามารถเติบโตได้มากถึงร้อยละ 4.5 และเพิ่มเป็นร้อยละ 6.1 ในปี 2010 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเข้มแข็งของการบริโภคภายในประเทศได้เป็นอย่างดี
          นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของพลเมืองในปริมาณสูง (เพิ่มประมาณ 4 ล้านคน/ปี) มีสัดส่วนของพลเมืองอายุน้อยสูง (คาดว่าในปี 2030 จำนวนพลเมืองอายุต่ำกว่า 35 ปีจะมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนพลเมืองทั้งหมด) รวมไปจนถึงมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมาก (เพิ่มประมาณ 6 ล้านคน/ปี) ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ต่างก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้จ่ายของภาคประชาชนที่มีอยู่สูง
          2) Shopping Mall เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าปลีกในอินโดนีเซีย
          จากการที่สาธารณูปโภคพื้นฐานของอินโดนีเซียไม่สมบูรณ์นัก ทำให้ผู้คนไม่นิยมเดินช็อปปิ้งริมถนน อีกทั้งร้านค้าที่ตั้งอยู่สองข้างทางก็ไม่ค่อยดึงดูดใจ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่นิยมไปจับจ่ายซื้อของจากShopping Mall/ห้างสรรพสินค้ามากกว่า และด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้ห้างฯ มีอำนาจต่อรองที่สูงมากจนส่งให้ต้นทุนในการเข้าไปตั้งร้านในห้างสูงตามไปด้วย
          แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างรายได้ของประชากรแล้ว เห็นได้ชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียถือเป็นผู้มีรายได้น้อย โดยกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด (ประมาณ 168 ล้านคน) มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 500 เหรียญสหรัฐฯ การใช้จ่ายที่มีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงมาจากกลุ่มชนชั้นกลาง-สูงที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของประเทศ
          3) รัฐบาลดำเนินนโยบายถ่วงการนำเข้า
          หลังจากที่อินโดนีเซียต้องเปิดตลาดตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน+3 ทำให้มีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวนมากทะลักเข้าสู่ประเทศ จนรัฐบาลอินโดนีเซียต้องดำเนินนโยบายถ่วงดุลเพื่อลดความร้อนแรง เช่นกำหนดให้สินค้า 5 ประเภท (รองเท้า ของเล่น อีเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และอาหาร) ต้องนำเข้าผ่านทางท่าเรือหลัก 5 แห่งของประเทศเท่านั้น จนทำให้สินค้าติดค้างที่ท่าเรือเป็นจำนวนมากอันเนื่องจากความล่าช้าในการผ่านพิธีศุลกากร นอกจากนี้ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดต้องผ่านการตรวจมาตรฐาน NSI ของอินโดนีเซียเอง อีกทั้งผู้นำเข้าต้องแสดงหลักฐานว่าเป็นการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกจีนโดยตรง และการชำระค่าสินค้าต้องเป็นการโอนเงินไปยังจีนแผ่นดินใหญ่จึงจะสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้
          4) โอกาสทางการค้าของไต้หวันกับอินโดนีเซีย
          จากการดำเนินนโยบายถ่วงการนำเข้าทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ของการผลิตคือโรงงานประกอบสินค้าในประเทศอินโดนีเซียจะเพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยง

ปัญหาความล่าช้าในการนำเข้า สำหรับซึ่งสินค้าที่ TAITRA เห็นว่ามีศักยภาพในตลาดอินโดนีเซียได้แก่
          - สินค้าผลิตภัณฑ์ : รองเท้า, สิ่งทอ, เฟอร์นิเจอร์, จักรยานยนต์และชิ้นส่วน, สัตว์น้ำ, การสื่อสาร และโทรคมนาคม
          - สินค้าวัตถุดิบ : เครื่องจักร (เครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนยาง/พลาสติก, โมลล์, เครื่องมือต่างๆ), วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี,
            วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ,  วัตถุดิบในการผลิตรองเท้า, กล่องกระดาษ

2.2 ฟิลิปปินส์
          1) ความต้องการภายในประเทศ
          ฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 3 ของไต้หวันในอาเซียน และเป็นประเทศที่มีพลเมืองมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (ประมาณ 95 ล้านคน) โดยสภาพตลาดภายในประเทศของฟิลิปปินส์จะมีความคล้ายคลึงกับอินโดนีเซียกล่าวคือสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่สมบูรณ์นัก ทำให้ผู้คนไม่นิยมเดินช็อปปิ้งริมถนน ร้านค้าที่ตั้งอยู่สองข้างทางก็ไม่ค่อยดึงดูดใจ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่นิยมไปจับจ่ายซื้อของจากShopping Mall/ห้างสรรพสินค้ามากกว่า
          ทั้งนี้ ในฟิลิปปินส์จะมีการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามความสามารถในการใช้จ่ายคือ A B+ B- C และ D ดังนี้
          -D คือกลุ่มฐานปิระมิดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 300 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ประมาณ 54.78 ล้านคน)
          -C คือกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 300 เหรียญสหรัฐฯ แต่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯซึ่งจะเป็นกลุ่มรองลงมาคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ประมาณ 19.16 ล้านคน)
          -B- คือกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ต่ำกว่าประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกถือเป็นกลุ่มชนชั้นกลางร่วมกับกลุ่ม C คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ประมาณ 9.58 ล้านคน)
          -B+ และ A ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับ Medium-High และระดับยอดปิระมิดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 2,000 -3,000เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด  (ประมาณ 9.58 ล้านคน)
          ดังนั้นการทำตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในฟิลิปปินส์นั้น อาจจะต้องคำนึงถึง Target Group ที่แน่ชัดลงไปเพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้คนในแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
          2) การขาดแคลนโรงงานผลิต
          ในฟิลิปปินส์จะมีความแตกต่างของบรรยากาศการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากไต้หวันค่อนข้างมาก เพราะจะไม่ค่อยมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตในลักษณะต่างๆที่ไต้หวันคุ้นเคย เช่น การมารวมตัวอยู่ในละแวกเดียวกันของโรงงานในสินค้าใกล้เคียงกันแบบ Cluster Effect, การแบ่งงานเป็น Supply Chain, รวมไปจนถึงการหาโรงงานอื่นมาผลิตแทนในแบบ OEM เพราะธรรมชาติการประกอบธุรกิจในฟิลิปปินส์ที่จะถูกควบคุมโดยกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่จะไม่ค่อยวางใจให้บริษัทอื่นมาผลิตสินค้า/ชิ้นส่วนให้เพราะกลัวความลับทางการค้ารั่วไหล ส่วนใหญ่จึงนิยมการผลิตเองทั้งหมดมากกว่า ซึ่งธรรมชาติการประกอบธุรกิจแบบนี้เองที่ทำให้ต่างชาติลดการลงทุนในฟิลิปปินส์ไปมาก เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบจากในประเทศได้พอเพียงสำหรับการผลิต
          3) โอกาสทางการค้าของไต้หวันในฟิลิปปินส์
          แม้ตลาดฟิลิปปินส์จะขาดแคลนผู้ผลิตจนทำให้สินค้าและวัตถุดิบต่างๆต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก หากแต่การที่นักธุรกิจเชื้อสายจีนในประเทศเป็นผู้กุมช่องทางการตลาดส่วนใหญ่ในประเทศไว้ทั้งหมด การสร้างความร่วมมือกับช่องทางเหล่านี้จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรับผลิตในรูปแบบ OEM หรือการร่วมเป็นพันธมิตรในการขยายตลาดในประเทศร่วมกัน รวมทั้งเป็น Agent ในการ Sourcing สินค้าให้กับผู้ประกอบการฟิลิปปินส์ ต่างก็ถือเป็นช่องทางในการขยายตลาดที่น่าสนใจทีเดียว

3. ข้อเสนอแนะ
          การเชิญผู้ซื้อจากประเทศอาเซียนมาไต้หวันของ TAITRA ในครั้งนี้ มีความคล้ายคลึงกับการจัดคณะ Buying Mission ของกรมฯ เข้าไปประเทศไทยไม่น้อย แต่ TAITRA จัดในรูปแบบที่คล้ายกับการจัดเป็นงานสัมมนาที่เน้นการให้ผู้ซื้อแจ้งความต้องการที่ชัดเจนของบริษัทต่อผู้ที่ต้องการขาย ซึ่งน่าสนใจมาก และการจัดให้ผู้ซื้อรายใหญ่ของแต่ละประเทศ จัดเตรียม Power Point ขึ้นบรรยายถึงองค์กรของตัวเองและแจ้งให้ผู้เข้าฟังทราบถึงนโยบายการจัดซื้อและสินค้าที่บริษัทต้องการจัดซื้อในการเดินทางครั้งนี้ ทำให้ผู้ส่งออกไต้หวันได้มีโอกาสรู้จักกับผู้ซื้อจากต่างประเทศได้มากขึ้น ที่ผ่านมา กรมฯได้มีการเชิญแขกพิเศษทั้งระดับ Ex 1 และ Ex 2 เข้าไปชมงานแสดงสินค้าในประเทศไทยอยู่แล้ว หากปรับรูปแบบเป็นการจัดเวทีและเชิญให้แขกเชิญพิเศษเหล่านี้ขึ้นบรรยายถึงความต้องการในการจัดซื้อสินค้าและระบบการจัดซื้อของตนก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับความสำเร็จในการจับคู่ทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี




E-Mail :  thaicom.taipei@msa.hinet.net                                       สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
Tel : (886 2) 2723-1800                                                      ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
Fax : (886 2) 2723-1821                                                      มิถุยายน 2555

แท็ก ไต้หวัน   OPPO   2012  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ