ตรารับรอง รับประกันคุณภาพและมาตรฐานสินค้าในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 12, 2012 13:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตรารับรอง รับประกันคุณภาพและมาตรฐานสินค้าในเยอรมนี

การบริโภคอาหารเป็นกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ ในอดีตอาหารที่บริโภคได้มาจากการล่าสัตว์และการเก็บเกี่ยวพืชผักที่เป็นของป่า หรือจากเกษตรกรรมในลักษณะพึ่งพาตนเอง ผลผลิตส่วนเกินจะนำไปวาง ขายหรือแลกเปลี่ยนกันที่ตลาดในหมู่บ้านของตนเอง หรือในพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงเวลาต่อๆ มา ความต้องการอาหารมีเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความสามารถในการขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว การคิดค้นวิธีการเก็บรักษาสินค้าไม่ให้เน่าเสียง่ายด้วยการหมัก การดอง และการแช่เย็น แช่แข็ง หรือในปัจจุบันด้วยกรรมวิธีแบบอื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพและความสดของอาหารให้ยาวนานขึ้น อุตสาหกรรมการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารได้ถูกพัฒนาให้มีการผลิตสินค้าที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคเพิ่ม มากขึ้นมาโดยตลอด การปรับปรุง พัฒนาในด้านการขนส่ง การบรรจุหีบห่อสินค้าให้เหมาะสม เหล่านี้มีส่วนช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารจากฟาร์ม จากโรงงานแปรรูปได้ถูกขนส่งไปยังตลาดผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะทางไกลขึ้นและอย่างรวดเร็ว เมื่อจำนวนผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดสินค้าอาหารมีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการแข่งขันระหว่างกัน และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และความปลอดภัยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย ทางการของแต่ละประเทศจึงได้ กำหนดมาตรฐานผลผลิตและสินค้าที่สามารถผลิตได้มาก ในส่วนของเยอรมนีที่สำคัญๆ ได้แก่ ธัญพืช ผัก และผลไม้ เป็นต้น สำหรับราคาของสินค้า นั้น ทางการไม่มีนโยบายการควบคุม หรือกำหนดใดๆ จะปล่อยให้ดำเนินไปตามกลไกของตลาด โดยจะมีการกำหนดไว้เพียงว่า ห้ามจำหน่ายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศได้มีการกำหนดอัตราภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อปกป้องตลาดภายในประเทศ จะมีการตั้งอัตราภาษีนำเข้าไว้สูงมากสำหรับสินค้าที่สามารถผลิตเองได้เพียงพอ ความต้องการภายในประเทศ ส่วนสินค้าที่ผลิตไม่ได้ มีน้อย แต่มีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในประเทศ ก็จะได้รับสิทธิพิเศษมีอัตราภาษีนำเข้าต่ำ หรือไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด

หลังจากที่อัตราภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ มีอัตราต่ำลงเรื่อยมาตามข้อตกลงขององค์กร การค้าโลก จึงได้มีการรณรงค์ ส่งเสริมเรื่องมนุษยธรรม ความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกร คนงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์ ถนอมทรัพยากรธรรมชาติ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมให้ทานผักแทนการทานเนื้อสัตว์ เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ผู้ประกอบการจากประเทศอุตสาหกรรมจำนวนมาก ได้เข้าไปลงทุนในแหล่งผลิต มีการตั้งโรงงานผลิต แปรรูปสินค้าเกษตรในประเทศผู้ส่งออกกันมากขึ้น สินค้านำเข้าสำคัญๆ ของประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ เป็นกิจการที่มีอำนาจสูงในการต่อรองกับเอกชนและภาครัฐบาลในเรื่องการกำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในประเทศผู้ผลิต และประเทศที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ ซึ่งบางครั้งจะไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร แต่ก็ไม่สามารถขัดขืนได้ จึงมีการรวมตัวก่อตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมากมาย (Fair Trade, Greenpeace) เพื่อช่วยเหลือ แก้ไข ต่อต้านกระบวนการต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ เนื่องจากสมาคมและองค์กรต่างๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคย ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน องค์กรต่างๆ เหล่านี้จะคิดค้นโลโกตราสัญลักษณ์กิจการของตนเองขึ้นมา ซึ่งปัจจุบัน ในส่วนของตลาดสินค้าอาหารในเยอรมนีมีตรารับรอง รับประกันสินค้าตามแนวความคิดต่างๆ กว่า ๕๐ ประเภท มีให้เลือกอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการรับรองคุณภาพ รับรองว่าได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว การรับรองแหล่งที่มาของสินค้า เป็นต้น

จากการสำรวจและสอบถามโดยสมาคมอุตสาหกรรมอาหารเยอรมนี พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ ๘๐ ยอมรับและเห็นด้วยกับการใช้ตราต่างๆ รับรองสินค้า แต่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการอนุญาตให้ใช้ตราต่างๆ เหล่านี้ ในขณะที่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าใช้ตราฯ เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจ ความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ให้เห็นความแตกต่างเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันได้อย่างชัดเจน แต่ที่สำคัญที่สุด คือ สามารถเสนอขายสินค้าในราคาแพงขึ้นได้ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่พร้อมที่จะซื้อสินค้าเหล่านี้แม้ราคาจะแพงขึ้นอีกร้อยละ ๕ หรือมากกว่านี้ก็ตาม เพียงขอให้เป็นสินค้าที่มีตรารับรอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงต่างคิดค้น ประดิษฐ์ตราใหม่ๆ เพื่อรับรองสินค้าเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งตรารับรองเหล่านี้มีหลายอันไม่คุ้มค่ากับราคาสินค้าที่แพงขึ้น

The Consumer View ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชน ด้านความไว้วางใจในสายตาของผู้บริโภคที่มีต่อตรารับรองคุณภาพสินค้าต่างๆ ในเยอรมนี โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้

๑. Stiftungwarentest ร้อยละ ๘๐

๒. Fairtrade " ๗๙

๓. Bioland " ๗๘

๔. Fresinius " ๖๔

๕. Rainforest Alliance " ๕๗

๖. Demeter " ๕๗

๗. Marine Stewardship Council (MSC) " ๕๖

๘. Bio-Siegel EU " ๔๘

ที่มา: ข้อมูลจาก The Consumer View ๒๐๑๑

๑. Stiftung Warentest เป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงเศรษฐกิจ เยอรมนี แต่มีการบริหารจัดการกิจการอย่างเป็นอิสระ ก่อตั้งเมื่อ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ทำการนำสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ที่วางจำหน่ายในตลาดมาตรวจสอบความถูกต้องด้านมาตรฐาน ความปลอดภัย ราคา ความเหมาะสมในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการถนอมทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าที่ถูกตรวจสอบจะมีการให้ คะแนนรวม ๕ ระดับ (ดีมาก ดี พอใช้ เพียงพอ และไม่ดีพอ) ในแต่ละปีจะมีการนำสินค้ามาตรวจสอบประมาณ ๒๐๐ ชนิด มีการตีพิมพ์วิธีการและผลการตรวจสอบในวารสาร test ที่จัดทำเป็นรายเดือน นอกจากสินค้าอุปโภค บริโภคแล้ว ปัจจุบันมีการตรวจสอบบริการต่างๆ อีกด้วย ได้แก่ กิจการธนาคาร การประกันภัย ภาษี บ้านเช่า และบ้านของตนเอง เป็นต้น ผลงานของ Stiftung Warentest มีส่วนช่วยทำให้สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดมีความถูกต้อง ปลอดภัยและเหมาะสมกับแนวความคิดต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สินค้าที่ไม่ดีพอจะถูกนำออกจากตลาดเพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป หรือเลิกผลิต เหล่านี้จะเป็นการรับประกันได้ว่า สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

๒. Fairtrade คือ การค้าที่เป็นธรรม การค้าโดยชอบธรรม เป็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความยุติธรรมในการค้า สนับสนุนมาตรฐานสากลในเรื่อง แรงงาน สิ่ง แวดล้อม และสังคม สำหรับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะที่ส่งออกจากประเทศโลกที่สาม ประเทศกำลังพัฒนา (แอฟริกา ลาตินอเมริกา เละเอเชีย) ไปยังประเทศอุตสาหกรรม มาตรฐานเหล่านี้อาจเป็นแบบสมัครใจ หรือแบบที่บังคับโดย รัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศ สินค้าที่ใช้ตรารับรองนี้ ในช่วงแรกๆ จะเป็นสินค้าหัตถกรรม เครื่องถักสานต่างๆ ปัจจุบัน จะมีทั้งสินค้าเกษตร ได้แก่ กาแฟ ชา โกโก้ ดอกไม้ ผลไม้ น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง เครื่องเทศ สมุนไพร ข้าว น้ำตาล เหล้าองุ่น และสินค้า non-food ได้แก่ ฝ้ายและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลูกบอลล์ การท่องเที่ยว เป็นต้น สินค้าที่ใช้ตรา Fair Trade นี้ จะมีการกำหนดและปรับเปลี่ยนราคาให้เหมาะสมเป็นประจำ เป็นราคาที่รับประกันได้ว่าผู้ผลิตจะไม่ถูกเอาเปรียบ หรือไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ในกรณีที่ราคาตามที่ Fair Trade กำหนดไว้ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าต้องจ่ายค่าสินค้าโดยตรงให้กับผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกตามราคาในตลาดโลก รวมทั้งค่าพรีเมี่ยมที่กำหนดไว้

ในเยอรมนี มีสินค้า Fair trade ของเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรจาก ๘๐ ประเทศทั่วโลก วางจำหน่ายที่ร้าน World Shop ตามสาขาต่างๆ ทั่วเยอรมนีราว ๑,๐๐๐ แห่ง และโดยพ่อค้าเร่ที่จำหน่ายสินค้า Fair Trade โดยตรงตามตลาดนัดในท้องที่ต่างๆ อีกกว่า ๖,๕๐๐ ราย สถานที่จำหน่ายอื่นๆ ที่สำคัญๆ คือ ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟและซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกกว่า ๓๕,๐๐๐ แห่ง นอกจากนี้ในโรงอาหารขนาดใหญ่ ตลอดจนโรงแรมได้มีการใช้สินค้าประเภทนี้อีกด้วย ในปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมามียอดการจำหน่ายสินค้า Fair Trade เป็นมูลค่าประมาณ ๓๐๐ ล้านยูโร สินค้าของไทยในปัจจุบันที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ ข้าว กาแฟ และน้ำสับปะรด และตามความนิยมของผู้บริโภคในเยอรมนี สินค้าเกษตรอินทรีย์มีบทบาทที่สำคัญเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบัน สินค้าที่ใช้ตรา Fair Trade และเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยมีส่วนแบ่งกว่าร้อยละ ๗๕ โดยมีแนวโน้มส่วนแบ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

๓. Bioland เป็นสมาคมเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญรายหนึ่งในเยอรมนี มีสมาชิกเป็นเกษตรกรเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์กว่า ๕,๐๐๐ ราย ซึ่งการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเยอรมนีเริ่มมีมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๓ ในช่วงแรก จะเป็นการผลิต การเพาะปลูก การ ค้าขายสินค้าเฉพาะในท้องที่ พื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาต่อๆ มาการขนส่งสินค้าทำได้สะดวกมากขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อเกิดมีปัญหาด้านสุขภาพ สุขอนามัยกับสัตว์เลี้ยงที่ใช้เป็นอาหาร ได้แก่ โรควัวบ้า (BSE) การปนเปื้อนสารพิษ ฮอร์โมน สารเคมีอันตรายตกค้างในอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโรคไข้หวัดนก เหล่านี้ ตลาดจึงให้ความสนใจและนิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลเยอรมัน รวมทั้งสหภาพยุโรป ยังได้ให้การสนับสนุน ส่งเสริมการเกษตรแบบนี้อีกด้วย เพื่อให้เป็นการผลิตแบบยั่งยืน เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเพิ่มคุณภาพสินค้าควบคู่กันไปด้วย ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นที่ต้องการของตลาดต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ปัจจุบัน เยอรมนีมีเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ราย มียอดการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นมูลค่าปีละประมาณ ๖,๒๐๐ ล้านยูโร (ประมาณ ๒๔๘,๐๐๐ ล้านบาท) หรือร้อยละ ๓ ของยอดการตลาดสินค้าอาหารทั้งสิ้น จำแนกตามประเภทของอาหาร สามารถจัดลำดับส่วนตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ ดังนี้

             สินค้า           ส่วนแบ่ง/อาหารทั่วไป  (ร้อยละ)
          ๑. ไข่ไก่                  ๑๑.๕
          ๒. มันฝรั่ง                  ๘.๕
          ๓. ธัญพืช ขนมปัง             ๗.๑
          ๔. ผัก                     ๖.๙
          ๕. ผลไม้                   ๖.๐
          ๖. นมสด                   ๕.๖
          ๗. เนื้อวัว                  ๒.๕
          ๘. เนื้อสุกร                 ๑.๐
               รวมทั้งสิ้น              ๓.๒

หลักเกณฑ์การผลิตสินค้า

เกี่ยวกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แบบเกษตรอินทรีย์ สมาคม Bioland นอกจากจะใช้ระเบียบข้อบังคับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของ EU แล้ว ยังมีการเพิ่มเติมข้อกำหนดเฉพาะของสมาคมที่เกี่ยวกับ

  • การเพาะปลูกพืชพันธุ์ไม้
  • กิจการปศุสัตว์
  • การแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อการจำหน่าย

มีสาระสำคัญๆ สรุปได้ ดังนี้

การเพาะปลูกพืชพันธุ์ไม้

ห้ามใช้พืชที่มีการดัดแปลงทางพันธุกรรม ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีต่างๆ พยายามปลูกพืชพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ในเขตนั้นๆ อนุรักษ์ ดูแลให้พื้นที่เพาะปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติปราบแมลงและวัชพืชต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับการผลิต รวมทั้งการทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูง การคำนึงถึงสภาพแวดล้อม การใช้ทรัพยากร ดินและน้ำที่เหมาะสม ประหยัด และไม่ทำให้เกิดอันตรายกับสภาพแวดล้อม

กิจการปศุสัตว์

การเลี้ยงสัตว์เป็นกิจการที่เหมาะสมกับการทำการเกษตรอินทรีย์ กำหนดให้การเลี้ยงเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด การจัดสร้างคอก บริเวณที่เลี้ยง กำหนดสัดส่วนและปริมาณของสัตว์เลี้ยงต่อพื้นที่ เช่น

  • ไก่ไข่เลี้ยงในคอก ๖ ตัวต่อคอก เลี้ยงกลางแจ้ง ๔ ตัว/ตารางเมตร
  • สัตว์ปีกอื่นๆ ในคอก ๑๐ - ๑๖ ตัว/ตารางเมตร
  • วัวเนื้อหนักไม่เกิน ๑๐๐ กก. มีพื้นที่ ๑.๕ ตารางเมตร/ตัว
  • วัวเนื้อหนักไม่เกิน ๓๕๐ กก. มีพื้นที่ ๔ ตารางเมตร/ตัว
  • วัวนม มีพื้นที่ ๖ ตารางเมตร/ตัว
  • สุกร ๗.๕ ตารางเมตร/ตัว
  • ประเภทกระต่าย ๐.๓
  • ๐.๘ ตารางเมตร/ตัว
การแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อการจำหน่าย

จุดประสงค์หลัก คือ การทำให้อาหารมีคุณค่าสูงสุด และมีรสชาดเป็นธรรมชาติที่สุด จะอนุญาตให้ใช้วัตถุดิบจากกิจการที่ผลิตสินค้าตามแนวทางการปฏิบัตของสมาคมฯ การใช้สารประกอบ สารผสมต้องเป็นไปตามระเบียบ EU ๒๐๙๒/๙๑ วัสดุ หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ควรเป็นประเภทที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ หรือเป็นภาชนะที่ไม่เกิดปัญหา ภาระต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินความจำเป็น

๔. SGS INSTITUT FRESENIUS GmbH เป็นบริษัทเอกชนก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๔๘ มีห้องทดลองใช้ตรวจสอบทางเคมี รับรองความถูกต้องตามระเบียบต่างๆ ของทางการ และในด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สินค้าอุปโภค บริโภคที่เป็นอาหารและที่มิใช่อาหาร ปัจจุบันมีสินค้าจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่นิยมใช้บริการของบริษัทนี้รับรองสินค้า ผลผลิตต่างๆ ทั้งที่มีวางจำหน่ายในตลาดและและสินค้าใหม่ๆ

๕. Rainforest Alliance เป็นองค์กรนานาชาติที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ผู้ประกอบการสามารถขอรับตรารับรองสินค้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กาแฟ โกโก้ กล้วย ผลส้มต่างๆ ดอกไม้ ต้นไม้ และชาที่ผลิตในประเทศเขตร้อน (tropical countries) สินค้าเหล่านี้มีวางจำหน่ายในร้านค้าของชำและภัตตาคารที่ใช้สินค้าเหล่านี้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร สินค้าที่จะใช้ตรารับรองนี้ ต้องมีส่วนประกอบตามข้อกำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ในกรณีที่มีสัดส่วนต่ำกว่าแต่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ อนุญาตให้ใช้ตรารับรองนี้ได้ โดยต้องระบุสัดส่วนเป็นร้อยละให้เห็นได้ชัดเจนด้วย อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การรับรองสินค้าตามระบบนี้ยังไม่รัดกุมมากพอ เป็นการเอื้ออำนวย สร้างผลประโยชน์ให้ผู้ผลิตมากกว่า เนื่องจากผู้ที่ใช้ตรารับรองนี้ ไม่มีข้อผูกมัดเรื่องราคาสินค้าขั้นต่ำ ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือเงินช่วยเหลือใดๆ ให้กับเกษตรกร เพื่อใช้ในการพัฒนาแหล่งผลิต จะมีเพียงการกำหนดให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าแรงเท่ากับอัตราขั้นต่ำสุดของประเทศนั้นๆ ซึ่งในบางประเทศไม่เพียงพอกับการอยู่รอด

๖. Demeter เป็นการเพาะปลูก การทำการเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร (Biodynamic Agricultural)ริเริ่มโดยนายรูดอล์ฟ ชไตน์เนอร์ ในปี ค.ศ. ๑๙๒๔ และต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๒๘ ได้เริ่มทำไร่กาแฟในประเทศเม็กซิโก ตามแนวความคิดนี้เป็นแห่งแรก ปัจจุบันมีเกษตรกรเยอรมันราว ๑,๔๐๐ รายเป็นสมาชิกของสมาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกใน ๔๓ ประเทศทั่วโลกเป็นจำนวน ๔,๓๐๐ ราย

๗. Marine Stewardship Council (MSC) ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัท Uniliver และ Worldwide Fund for Nature (WWF) ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ และเป็นองค์กรอิสระในปีค.ศ. ๑๙๙๙ มีจุดประสงค์หลัก คือ ส่งเสริมการทำการ การประมงให้เป็นแบบยั่งยืน ไม่จับปลามากเกินความต้องการ ซึ่งจะทำให้ปลานั้นๆ สูญพันธุ์ได้ แต่ Greenpeace ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการยังหละหลวมเกินไป ผู้ประกอบการที่ปฏิบัติได้ตามกฎข้อแรกเพียงข้อเดียวก็จะอนุญาตให้ใช้ตรารับรองได้แล้ว ปัจจุบันสมาชิกขององค์กรมีจำนวน ๑๖๓ ราย และอยู่ในระหว่างการพิจารณาอีก ๑๑๙ ราย สินค้าที่ใช้ตรามีจำนวน ๑๕,๐๐๐ ชนิดทั่วโลก และในเยอรมนีมีประมาณ ๔,๒๐๐ ชนิด

๘. VEBU ก่อตั้งที่เมืองไลพ์ซิกเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๒ เป็นสมาคมที่ต่อต้านการทานเนื้อสัตว์ ส่งเสริมการบริโภคผัก เนื่องจากการบริโภคเนื้อสัตว์จะมีผลข้างเคียงต่อโลก ทำให้อากาศแปรปรวน ป่าเสียหาย เกิดความหิวโหยทั่วโลก โรคภัยเจ็บป่วยของชาวโลก อุดมการณ์สำคัญๆ ของสมาคม ได้แก่ เพื่อน้ำที่สะอาด การคุ้มครองสัตว์ที่รัดกุม การเกษตรแบบยั่งยืน การแบ่งปันที่ยุติธรรม การไม่ใช้กำลังและอยู่ร่วมกันอย่างมีอิสระ และให้เกิดความเกรงกลัวในการดำรงชีวิต มีการจัดทำวารสารรายเดือนชื่อ natuerlichvegetarisch (https://vebu.de/vebu/natuerlich-vegetarisch)

สรุป

๑. การกำหนดมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมและส่งเสริมสินค้าให้มีคุณภาพไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดแก่เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ค้าสินค้าเหล่านี้

๒. ปัจจุบันมาตรฐานของสินค้าทั่วโลกจะใกล้เคียง สอดคล้องกัน ในส่วนของสินค้าอาหารที่สำคัญ จะเป็นไปตามมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosaniyary Measures : SPS) กำหนดโดยองค์กรการค้าโลก การกำหนดอัตราการปนเปื้อน การตกค้างของสารเคมี สารอันตราย การใช้ฮอร์โมน เป็นต้น จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

๓. ในด้านการแข่งขันของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ ความแตกต่างให้กับสินค้าตนเอง จะใช้อ้างด้านอื่นๆ ได้แก่ ความเป็นธรรม มนุษยธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติ การรักษาทรัพยากร ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน เหล่านี้ เป็นต้น เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและสร้างผลกำไรให้มากขึ้น

๔. ในด้านความคุ้มครอง การรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค จะมีหน่วยงานของทางการ สมาคมและองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ทำหน้าที่ควบคุม สอดส่องและดูแลการผู้ประกอบการ มีการตรวจสอบผลผลิตต่างๆ ที่วางจำหน่ายในตลาด ต้องถูกต้องเป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ หากไม่ถูกต้องจะถูกนำออกไปจากตลาด ในกรณีที่สร้างความเสียหายจะต้องรับผิดชอบ ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

๕. ตรารับรองสินค้าในด้านต่างๆ จะเพิ่มความเชื่อถือ ความไว้วางใจในสินค้าให้กับผู้บริโภคมากขึ้น แต่การที่ตรารับรองเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา ทำให้สับสน เกิดความคิดเรื่องความจำเป็นในการใช้ตรารับรองเหล่านี้ว่า มีมากน้อยเพียงใด ตรารับรองบางอย่างอาจไม่มีความจำเป็น ผู้บริโภคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมสำหรับสินค้าแต่ละรายการ และโดยเฉพาะเรื่องราคาว่าคุ้มหรือไม่กับการที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

มิถุนายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ