การส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบีย ปี 2555 ใน 4 เดือนแรก ขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 21

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 12, 2012 14:19 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบีย ปี 2555 ใน 4 เดือนแรก ขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 21

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ (นายศิวะลักษณ์ นาคาบดี) เปิดเผยว่าปี พ.ศ. 2555 (มค.-เมย.) การค้าระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3,449 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 26.17) โดยไทยนำเข้าสินค้า 2,550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยส่งออกสินค้าไปซาอุฯ 899 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปี 2555 (มค.-เมย.) สินค้าที่ไทยส่งออกไปซาอุฯ มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน (มูลค่า 378 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.10) เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (มูลค่า 91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 130.87) ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่า 57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 133.70) อาหารทะเลกระป๋อง (มูลค่า 47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 127.91) และสินค้าตู้เย็น ตู้แช่ และชิ้นส่วน (มูลค่า 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 45.21) ตามลำดับ

ช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยไปซาอุฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากสะสมของสินค้าที่ค้างส่งในช่วงปลายปี 2554 จากเหตุอุทกภัยในประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการนำเข้าที่แท้จริง (Real Demand) ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับ ปี 2555 มีการคาดการณ์ว่า ซาอุฯ จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 4.80 ตัวเลข GDP (Nominal) เพิ่มขึ้นเป็น 630 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.00 มีปัจจัยบวกภายนอกประเทศหลายประการสำหรับซาอุฯ เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงตัว อยู่ในระดับที่ ซาอุฯ รับได้ โดยซาอุฯ คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก ปี 2555 เฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 105 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในส่วนนี้จะนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก ปัจจัยบวกภายในประเทศ ได้แก่ การที่รัฐบาลซาอุฯ ยังมีนโยบายที่จะลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เศรษฐกิจในปี 2555 ยังคงได้รับแรงขับดันจากการที่รัฐบาลเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำให้กับข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าซาอุฯ มีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีศักยภาพสูงในการนำเข้าสินค้า

ในส่วนของปัญหาในยูโรโซนไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อซาอุฯ เนื่องจากมิใช่ตลาดส่งออกน้ำมันหลัก แต่การนำเข้าสินค้าจากยูโรโซนอาจเพิ่มขึ้นจากค่าเงินยูโรที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ซาอุฯ มองตลาดเอเชียตะวันออกเป็นตลาดน้ำมันสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยซาอุฯ ส่งน้ำมันไปในตลาดนี้ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 55 ของการส่งออกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยด้านลบที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจของซาอุฯ ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจุบันซาอุฯ ผูกค่าเงินซาอุดีรียัลไว้กับเงินเหรียญสหรัฐฯ หากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนตัวลง ค่าเงินรียัลก็จะอ่อนตัวลงด้วยในสัดส่วนเดียวกัน นอกจากนี้ การส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มลดลง อาจส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าน้ำมันจาก ซาอุฯ ลดลงด้วย

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยด้านบวกและลบที่กล่าวมาข้างต้น ในปี 2555 คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังซาอุฯ ทั้งปี น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณร้อยละ 10 หรือมูลค่าส่งออกประมาณ 2,480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้หากความต้องการนำเข้าที่แท้จริง (Real Demand) ของซาอุฯ เพิ่มขึ้นจริง ก็มีความเป็นไปได้สูงทีจะมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มเกินกว่าร้อยละ 10 ในปีนี้

ผู้อำนวยการ สคต. เจดดาห์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นปี 2555 สำนักงานฯ ได้รับคำร้องขอข้อมูลจากผู้นำเข้าซาอุฯ สนใจที่จะนำเข้าสินค้าบางกลุ่มจากไทยเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สินค้ากระดาษพิมพ์เขียน น้ำตาลทราย และสินค้าอาหารสดแช่เย็น/กระป๋อง

อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2554 การค้าระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9,640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 21.26) โดยไทยนำเข้าสินค้า 7,386 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ) และไทยส่งออกสินค้าไปซาอุฯ 2,254 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.45 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ปี 2554 สินค้าที่ไทยส่งออกไปซาอุฯ มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน (มูลค่า 855 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 22.23) สินค้าเคมีภัณฑ์ (มูลค่า 181 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 229.99) เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (มูลค่า 155 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 75.12) เครื่องจักรและชิ้นส่วน (มูลค่า 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 112.78) และ ผลิตภัณฑ์ยาง (มูลค่า 93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 68.13)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

10 มิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ