อินเดียเร่งกระตุ้นการส่งออกและลดการนำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2012 16:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อินเดียเร่งกระตุ้นการส่งออกและลดการนำเข้า

จากแผนเพิ่มเติมรายปีในนโยบายการค้าระหว่างประเทศของอินเดียฉบับปี พ.ศ. 2552 - 2557 รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการที่จะสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นการส่งออก โดยจะใช้งบประมาณ 18,500 ล้านรูปีหรือประมาณ 370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.8) ทั้งนี้ เนื่องจากอินเดียได้รับผลกระทบจากตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียที่ซบเซาโดยในปี 2554 มีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 6.5 ซึ่งมาจากผลประกอบการภาคการผลิตที่ลดลง จึงจำเป็นต้องกระตุ้นภาคการผลิตภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการส่งออก

วัตถุประสงค์ของแผนฉบับใหม่

1.สร้างงานภายในประเทศ

2.กระตุ้นการผลิตภายในประเทศ

3.ลดการพึ่งพาการนำเข้า

4.หาตลาดใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น

5.ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมของผู้ส่งออก

เป้าหมายการส่งออก

รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของยอดส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือประมาณ 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปีที่แล้ว และคาดว่าในปีหน้าจะมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ทั้งนี้ ตามนโยบายการค้าระหว่างประเทศฉบับนี้ อินเดียได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่มูลค่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557

แผนส่งเสริมการนำเข้าสินค้าทุนสำหรับการผลิตเพือการส่งออก (Export Promotion Capital Goods: EPCG)

แผนส่งเสริมการนำเข้าสินค้าทุนสำหรับการผลิตเพือการส่งออกหรือ EPCG ถือเป็นแผนหนึงภายใต้แผนเพิ่มเติมรายปีในนโยบายการค้าระหว่างประเทศของอินเดียที่มีความสำคัญและได้รับงบประมาณมากที่สุด

โดยแผน EPCG นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ต้องการนำเข้าเครื่องจักรขนาดกลางและขนาดเล็กในการผลิตสินค้าส่งออกโดยที่ยังต้องใช้แรงงานเป็นหลัก ตามแผน EPCG ดังกล่าว รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในการซื้อเครืองจักรร้อยละ 2 และยกเว้นอัตราภาษีนำเข้าเครืองจักรต่อไปอีก 1 ปี จนถึงเดือนมีนาคม 2556 ในอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าผ้าทอมือ ผ้าเช็ดหน้า พรม และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งสินค้าของเล่น เครืองเล่นกีฬา สินค้าเกษตรแปรรูป และผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

อนึ่ง การให้ความช่วยเหลือภายใต้แผน EPCG ในช่วงปี 2554 - 2555 ทีผ่านมา รัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนคิดเป็นมูลค่า 199 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประมาณการว่าการขยายแผนดังกล่าวต่อไปอีก 1 ปีจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ใบอนุญาตยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบแก่ผู้ส่งออก

มาตรการสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจในการผลิตภายในประเทศของอินเดีย คือการให้ใบอนุญาตยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่เป็นวัตถุดิบแก่ผู้ส่งออก และใบอนุญาตนี้ยังสามารถใช้ในการยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับวัตถุดิบภายในประเทศด้วย ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้ามากขึ้น และลดการขาดดุลทางการค้าลงเหลือร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ ทั้งนี้ ในปี 2554 ดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียลดต่ำลงจนเหลือร้อยละ 4 ของGDP ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินรูปีของอินเดียเป็นอย่างมาก โดยในปี 2554 อินเดียมีการส่งออก 303 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่มีการนำเข้า 489 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ขาดดุลการค้า 186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแผนกระตุ้นการส่งออกของอินเดียทำให้รัฐบาลขาดรายได้จากการเก็บภาษีรวมทังสินมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มาตรการอื่นๆ

แผนเพิ่มเติมรายปีนี้ยังประกอบไปด้วยการขยายตลาดเป้าหมายการส่งออก ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์ในการผลิตเพื่อการส่งออกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และสิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าจากกรุงเดลี่และเมืองมุมไบ รวมทั้งสนับสนุนการซื้อขายผ่านระบบE-Commerce

นอกจากนี้ รัฐบาลจะออกแนวทางสำหรับการกระตุ้นการส่งออกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ซึ่งเป็นเขตปลอดภาษี เนื่องจากที่ผ่านมาการส่งออกจาก SEZ ลดลงจากการที่รัฐบาลได้เรียกเก็บภาษีรายได้ขั้นต่ำในอัตราแบบคงที่และเรียกเก็บภาษีเงินปันผลที่จ่ายให้กับนักลงทุน

ข้อสังเกต

การประกาศแผนเพิ่มเติมรายปีในการกระตุ้นภาคการผลิตนี้ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมันมากขึ้นและถือว่าเกินความคาดหมายของภาคเอกชนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าความล้มเหลวของภาครัฐที่

ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจ เช่น การอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการประกอบธุรกิจ การปรับปรุงมาตรการต่างๆ ของกฎหมายแรงงาน และปัญหาการใช้ที่ดินเพื่อสร้างโรงงาน ยังคงเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อการเติบโตในภาคการผลิตของอินเดีย นอกจากนี้ ภาคการบริการ เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 55 ของ GDP โดยมีมูลค่าส่งออกสูงกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละปี ก็ยังไม่มีนโยบายใดๆ จากรัฐบาลในการส่งเสริมอย่างจริงจัง

นายศศินทร์ สุขเกษ/ นางสาวภัทรมน กนิษฐานนท์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

มิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ