สถานการณ์สินค้าอาหารในประเทศออสเตรีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 20, 2012 16:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์สินค้าอาหารในประเทศออสเตรีย

ประเทศออสเตรีย มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 8.4 ล้านคน จัดว่าเป็นประเทศขนาดกลางของยุโรป มีการใช้จ่ายในสินค้าเกี่ยวกับอาหารประมาณร้อยละ 12 ของรายได้ โดยมียอดจำหน่ายอาหารทั้งสิ้น 19.539 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่บริโภคสูงสุด ได้แก่ เนื้อ มีมูลค่าประมาณ 4.376 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขนมปังและซีเรียล 4.241 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นม ชีส และไข่ ประมาณ 3.274 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ผัก2.23 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำตาลและขนมหวาน 1.743 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลไม้ 1.544 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันและประเภทไขมัน 626 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปลาและอาหารทะเล 622 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอื่นๆ 884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แนวโน้มของผู้บริโภคออสเตรีย จะเพิ่มความนิยมสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งอาหารและในความเป็นอยู่ประจำวัน จะเห็นได้ว่าตลาดขายปลีกสินค้าออแกนิกส์ เติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 แม้ว่าอาหารประเภทปลา และผัก จะมีมูลค่าการค้าน้อยกว่าประเภทเนื้อ แต่หากพิจารณาการเติบโตจะเห็นได้ว่าทั้งสองประเภทนี้มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ในขณะที่เนื้อเติบโตลดลงร้อยละ 7.2 ซึ่งความนิยมดังกล่าวส่งผลดีสำหรับสินค้าอาหารเอเชีย โดยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยผู้บริโภคมองว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยกลุ่มที่นิยมบริโภคอาหารออแกนิกส์มากที่สุด จะอยู่ระหว่างอายุ 25-45 ปี มีรายได้ปานกลางถึงสูง และสินค้าออแกนิกส์ที่นิยมสูงสุด ได้แก่ ไข่ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 18 ตามมาด้วยกล้วย และกาแฟ

นอกจากนั้นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในออสเตรีย และเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีอิทธิพลต่อการพัฒนารูปแบบอาหาร ซึ่งไม่ได้ส่งผลเฉพาะความต้องการสั่งอาหารเอเชีย ในร้านอาหาร แต่รวมไปถึงการซื้อวัตถุดิบในร้านขายของชำ หรือในซุปเปอร์มาร์เกต เพื่อนำไปปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านด้วย ขณะนี้ ครอบครัวออสเตรีย จะเป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ดังนั้นคนจึงนิยมซื้อหาอาหารที่ปรุงง่าย สะดวก มาทำเองที่บ้าน แทนการซื้ออาหารสำเร็จรูป เพื่อการเรียนรู้และประสบการณ์ นอกจากนั้นคนรุ่นหนุ่มๆสาวๆ วัยทำงาน อาจต้องการความรวดเร็วในการรับประทานอาหาร จึงจะเห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของร้านอาหารแบบอาหารจานด่วน หรือการสั่งอาหารมาส่งที่บ้านก็จะมีมากขึ้น อาหารมื้อเที่ยงของคนทำงานอาจเป็นร้านค้าเล็กๆริมทาง ร้านอาหารที่มีรายการง่ายๆ เร็วๆ แต่สำหรับอาหารเย็นพบว่ามีการออกไปรับประทานอาหารในภัตตาคารหรู เช่น Plachutta and Do & Co ซึ่งมีผู้บริโภคซึ่งมีรายได้ดีและนิยมรับประทานอาหารที่คุณภาพสูง เข้าไปรับประทานเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ประเทศในสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับวิธีการผลิตสินค้า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา โดยจะพิจารณาเลือกซื้อสินค้าที่มีข้อมูลยืนยันว่าผลิตโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ความพอเพียง และการค้าที่เป็นธรรม โดยเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในเรื่องดังกล่าวผู้ขายจะมีเครื่องหมายที่เป็นที่รู้จักในด้านดังกล่าวแสดง บนสินค้า เช่น Fair Trade หรือเครื่องหมายมาตรฐานต่างๆ ขณะนี้มีผลไม้หลายประเภทมีเครื่องหมายนี้ติดอยู่บนสินค้าเช่น กล้วย สับปะรด มะม่วง อโวคาโด และส้ม เป็นต้น สำหรับตราสัญลักษณ์เหล่านี้จะเป็นเสมือนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ค้าไปแล้ว นอกจากนั้นมีผู้ผลิตบางรายมีตราสัญลักษณ์ออแกนิกส์เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งผู้ค้าผลไม้รายใหญ่ของสหภาพยุโรป "the Dutch Agrofair" มีสัญลักษณ์ทั้งสองแบบติดบนสินค้า

ช่องทางการจัดจำหน่าย

การนำเข้าสินค้าอาหารไปยังออสเตรีย จะมี 3 ระดับ คือผู้ผลิต ผู้นำเข้า/ผู้ขายส่ง/ตัวแทน และผู้จำหน่ายปลีก ซึ่งผู้บริโภคจะไปซื้อจากผู้จำหน่ายปลีก โดยสินค้าไทยจะส่งออกไปยังผู้นำเข้าในประเทศหลักๆ 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี และผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ในตลาดออสเตรียจะสั่งสินค้าไทยจากประเทศเหล่านี้ สำหรับคุณสมบัติสำคัญของผู้ส่งสินค้า จะต้องมีความสามารถในการจัดหา/ส่งสินค้าคุณภาพ/ปริมาณ ตามที่กำหนดได้ตลอดปี

ผู้จำหน่ายสินค้าอาหารในตลาดออสเตรีย

มูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารในตลาดมีทั้งสิ้นจำนวน 19,54 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแยกเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่(Hypermarket) ห้างสรรพสินค้าขนาดกลาง (Supermarket) และร้านค้าราคาพิเศษ (Discounter) ได้แก่

1. กลุ่ม REWE ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าในเครือ ได้แก่ Merkur, Billa, Penny Markt, Emma และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม BIPA มียอดการจำหน่ายปีละประมาณ 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสาขาทั้งสิ้น 2,626 สาขา มีคนทำงานทั้งหมด 37,000 คน โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มทุนจากประเทศเยอรมัน

2. สำหรับกลุ่มที่มีขนาดรองลงมา ได้แก่ SPAR ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าชื่อเดียวกัน แต่อาจเพิ่มคำเพื่อแสดงความแตกต่างสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ต่างๆ เช่น InterSpar เพื่อขายสินค้าและแข่งขันในระดับประเทศ โดย InterSpar มักจะตั้งอยู่ในย่านนักท่องเที่ยวหรือย่านเศรษฐกิจ EuroSpar and SuperSpar เป็นห้างขนาดกลาง จัดเป็นร้านสะดวกซื้อ จำหน่ายสินค้าให้กับชุมชนที่ตั้งอยู่ Spar Express เป็นร้านค้าขนาดเล็กสุดจำหน่ายในสถานีรถไฟ หรือบริเวณพื้นที่จำกัด มียอดการจำหน่ายปีละ 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสาขาทั้งสิ้น 1,632 สาขา มีคนทำงานทั้งสิ้น 35,000 คน

3. PRO Kaufland เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ดำเนินการเฉพาะในเมือง Linz ของจังหวัด Upper Austria มีทั้งสิ้น 3 สาขา มีคนทำงานประมาณ 700 คน

4. ADEG เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดกลาง มียอดการจำหน่ายปีละ 790 ล้านเหรียญสหรัฐ มี 480 สาขา มีคนงาน 799 คน

5. Mpreis ห้างขนาดกลาง อยู่ในจังหวัดแถบตะวันตกของออสเตรีย ในจังหวัด Tirol ขณะนี้ได้ขยายสาขาไปยังจังหวัด Carinthia และจังหวัด Salzburg เนื่องจากจังหวัด Tirol อยู่ไม่ไกลจากประเทศเพื่อนบ้าน Mpreis ได้ขยายสาขาเข้าไปในประเทศอิตาลีด้วย มียอดการจำหน่ายปีละ 478 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสาขา 145 สาขา มีคนทำงานทั้งสิ้น 2,156 คน

6. Markant มียอดการจำหน่ายปีละ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีสาขาทั้งสิ้น 950 สาขา

7. Hofer เป็นร้านค้าราคาพิเศษ ของกลุ่มทุนเยอรมัน เป็นร้านสำหรับย่านชุมชน มักมีสินค้าราคาประหยัด หรือ ลดราคาพิเศษ มีสินค้าทั้งของอุปโภคและบริโภค มีมูลค่าการจำหน่ายปีละ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มี 430 สาขา คนงานทั้งสิ้น 4,500 คน

8. Zielpunkt เป็นร้านค้าราคาพิเศษ ของกลุ่มทุนเยอรมันเช่นกัน เป็นร้านสำหรับย่านชุมชน มักมีสินค้าราคาประหยัด หรือลดราคาพิเศษ มีมูลค่าการจำหน่ายปีละ 838 ล้านเหรียญสหรัฐ มี 310 สาขา คนงานทั้งสิ้น 3,364 คน

9. Lidi เป็นร้านค้าราคาพิเศษ สำหรับย่านชุมชน มียอดจำหน่ายปีละ 826 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสาขา 190 สาขา มีคนงานทั้งสิ้น 2,200 คน

ในภาพรวมตลาดค้าปลีกอาหารยังมีความสำคัญในตลาดออสเตรีย อย่างไรก็ตามในปี 2554 ร้านค้าราคาพิเศษมีผลประกอบการขาดทุนเล็กน้อย เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคมีความกังวลและระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย แต่ในปีนี้ 2555 มีแนวโน้มจะดีขึ้น โดยมีการซื้อขายบน Internet เป็นตัวกระตุ้น เนื่องจากคนหันมานิยมซื้อสินค้าด้วยวิธีนี้ ร้านค้าใหญ่ๆ จึงมีบริการซื้อขายสินค้าบางประเภทผ่าน Internet ทั้งนี้จากการแข่งขันด้านการค้าปลีกสินค้าอาหารระหว่างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ ขนาดกลาง และร้านค้าราคาพิเศษ เป็นไปค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคในด้านราคา คุณภาพ (ด้านความสด ใหม่) และความหลากหลายของสินค้า

ตลาดสำหรับสินค้าไทย

เนื่องจากสินค้าของไทยจะเหมาะสมสำหรับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น ลูกค้าเอเซีย หรือผู้ที่เคยรู้จัก และคุ้นเคยกับสินค้าไทย ดังนั้นการจำหน่ายสินค้าของไทยในห้างสรรพสินค้ายังจำกัดเฉพาะในบางห้าง และห้างเหล่านั้นจะมีมุม เช่น exotic food หรือ fruit เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น สืบเนื่องจากคนออสเตรียหันมานิยมรับประทานอาหารไทย หรืออาหารเอเชีย เนื่องจากเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนั้นจะมีสินค้าไทยขายตามร้านค้าเอเชีย ซึ่งเป็นร้านขายของชำขนาดเล็กมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในออสเตรีย ดำเนินกิจการโดยชาวเวียดนาม จีน อินเดีย และไทย (1-2 ราย)

ปัญหาของสินค้าไทย

ปัญหาด้านการนำเข้าผักจากประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระหว่างการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป 16 ชนิด ได้แก่

1. กลุ่มพืช Ocimum spp. คือ กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า

2. กลุ่มพืช Capsicum คือ พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู

3. กลุ่มพืช Solannum melongena คือ มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาว

4. พืช Mormordica charantia คือ มะระจีน มะระขี้นก และ

5. กลุ่มพืช Eryngium Foetidum คือ ผักชีฝรั่ง โดยขณะนี้มีรายงานว่ามีผู้ส่งออกไทยประมาณ 12 รายที่ผ่านการตรวจสอบสามารถส่งเข้าสหภาพยุโรปได้แล้ว

ปัญหาด้านราคาสินค้าซึ่งสูงกว่าคู่แข่ง เช่น จีน เวียดนาม ดังนั้นสำหรับผู้บริโภคที่ระวังเรื่องราคา จึงเลือกซื้อสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกว่า ทั้งนี้อาจเนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่สูง นอกจากนั้นสินค้าสด เช่น ผัก ผลไม้ จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางอากาศเพื่อให้คงความสดไว้

ขณะนี้ประเทศคู่แข่งได้มีสินค้าลอกเลียนแบบสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมออกมา เช่น เครื่องปรุงรส น้ำพริกแกง และกะทิสด โดยขายราคาต่ำกว่า ผู้บริโภคไม่สามารถแยกความแตกต่างได้

สถิติการนำเข้าอาหารของออสเตรียกับทั่วโลก
                                       Imports in Mio USD       % Share    % Change
HS Food Categorie                   2009       2010      2011     2011      -11/10-
02 Meat                            994.4      987.9   1,147.4      0.6        16.1
08 Edible Fruit And Nuts           881.1      932.2   1,009.9      0.6         8.3
19 Baking Related                  928.9      877.3     995.6      0.6        13.5
04 Dairy,Eggs,Honey,Etc            792.8      807.6     918.8      0.5        13.8
20 Preserved Food                  679.4      727.2     840.6      0.5        15.6
07 Vegetables                      568.3      646.8     638.0      0.4        -1.4
09 Spices,Coffee And Tea           432.8      469.1     634.3      0.4        35.2
10 Cereals                         302.6      350.9     544.5      0.3        55.2
16 Prepared Meat,Fish,Etc          413.3      396.5     477.4      0.3        20.4
03 Fish And Seafood                237.3      244.9     284.2      0.2        16.0
Total imports top 10 food        6,230.9    6,440.1   7,490.6      4.1        16.3
 categories
Total imports incl food        136,332.7  150,955.6   182,529.2      100       20.92

สถิติการนำเข้าแยกเป็นรายสินค้า

02 - Meat

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Germany          674.2     58.8     18.9
2     Hungary          111.4      9.7     12.7
24    China              0.9      0.1     21.5
25    Thailand           0.8      0.1     28.2
29    Hong Kong          0.4     0.03        -
Total                1,147.4    100.0     16.1

19 - Baking Related

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Germany          583.5     58.6      8.6
2     Italy            122.2     12.3     11.9
20    China              2.1      0.2     25.5
23    Thailand           1.0      0.1     10.5
25    South Kora         0.6      0.1     83.1
Total                  995.6    100.0     13.5

08 - Edible Fruits and Nuts

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Italy            195.6     19.4     12.0
2     Spain            146.4     14.5     -0.3
17    China             11.1      1.1     -2.3
34    Vietnam            3.8      0.4     18.2
41    Thailand           2.7      0.3     -1.5
Total                1,009.9    100.0      8.3

03 - Dairy, Eggs, Honey etc.

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Germany          535.1     58.2     14.8
2     Italy             81.7      8.9     13.5
29    China              0.8      0.1    169.7
46    Hong Kong          0.1     0.01        -
-     Thailand           0.0      0.0        -
Total                  918.8    100.0     13.8

20 - Preserved Food

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Germany          173.2     20.6     -1.2
2     Italy            127.0     15.1     12.4
7     China             39.8      4.7     26.6
15    Thailand           7.9      0.9     34.1
29    Philippines        2.7      0.3     -5.5
Total                  840.6    100.0     15.6

09 - Spices, Coffee and Tea

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Germany          201.6     31.8     35.1
2     Switzerland      134.1     21.1     18.5
6     Vietnam           24.1      3.8     42.7
11    China              5.8      0.9     -1.0
45    Thailand           0.4      0.1     -7.4
Total                  634.3    100.0     35.2

16 - Prepared Meat, Fish etc.

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Germany          220.8     46.3      9.8
2     Italy             42.8      9.0     11.8
8     Thailand          11.0      2.3     56.9
11    Vietnam            7.2      1.5    107.6
16    Philippines        4.0      0.8    110.8
Total                  477.4    100.0     20.4

07 - Vegetables

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Italy            167.2     26.2     -1.5
2     Germany          133.6     20.9      0.3
9     China             16.8      2.6      8.1
21    Thailand           1.6      0.3    -26.9
24    India              1.5      0.2     11.1
Total                  638.0    100.0     -1.4

10 -Cereals

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Hungary          188.6     34.6     66.2
2     Germany          102.5     18.8     67.8
10    India              5.6      1.0    106.7
11    Thailand           5.2      1.0     -9.1
18    Singapore          0.8      0.2      0.0
Total                  544.5    100.0     55.2

03 - Fish and Seafood

Imports %Share %Change

Rank  Country           2011     2011   -11/10-
1     Germany           91.9     32.4     -3.9
2     Norway            27.6      9.7     26.9
7     Vietnam           12.3      4.3     11.6
8     China              6.9      2.4     57.4
15    Thailand           3.5      1.2     75.5
Total                  284.2    100.0     16.0

สถิติการนำเข้าอาหารของออสเตรียจากประเทศไทย

จะเห็นได้ว่าการนำเข้าสินค้าประเภทปลา อาหารทะเล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าเป็นอาหาร เพื่อสุขภาพและขณะนี้ผู้บริโภคออสเตรีย ให้มาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากขึ้น

     Food Categorie                  Imports in Mio USD   %Share    %Change
HS   Food Categorie                 2009    2010    2011    2011    -11/10-
16   Prepared Meat,Fish,Etc          9.2     7.0    11.0     1.9      56.9
20   Preserved Food                  7.5     5.9     7.9     1.4      34.1
10   Cereals                         5.8     5.7     5.2     0.9      -9.1
03   Fish And Seafood                2.7     2.0     3.5     0.6      75.5
08   Edible Fruit And Nuts           2.0     2.7     2.7     0.5      -1.5
07   Vegetables                      2.0     2.2     1.6     0.3     -26.9
19   Baking Related                  0.7     0.9     1.0     0.2      10.5
02   Meat                            0.4     0.7     0.8     0.2      28.2
09   Spices,Coffee And Tea           0.3     0.5     0.4     0.1      -7.4
04   Dairy,Eggs,Honey,Etc           0.02       -       -       -
Total imports top10 food categories 30.7    27.5    34.0     6.0      23.9
Total imports frpom Thailand       510.7   498.1   565.6     0.3      13.6
อัตราภาษีของสินค้าอาหารของไทยที่นำเข้ามาในประเทศออสเตรีย
HS  Description         Import Tariff
02  Meat                     0-20%
03  Fish And Seafood         0-16%
04  Dairy,Eggs,Honey,Etc  4.3-8.3%
07  Vegetables             0-14.4%
08  Edible Fruit And Nuts  0-14.4%
09  Spices,Coffee And Tea   0-12.5
10  Cereals                  0-15%
16  Prepared Meat,Fish,Etc   0-25%
19  Baking Related          5.8-9%
20  Preserved Food           0-40%
Source: http://exporthelp.europa.eu, accessd on May 17, 2012
GSP = Generalized System of Preferences

กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าอาหาร
          กฎระเบียบพื้นฐานความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรป เรียกว่า Regulation (EC)178/2002 หรือที่รู้จักในชื่อ General Food Law  ซึ่งได้กำหนดคำจำกัดความ หลักการ ระเบียบ ข้อปฎิบัติและข้อจำกัดซึ่งบังคับใช้กับทุกประเทศในสหภาพยุโรป
          กฎระเบียบ Regulation (EC) 882/2004 ออกระเบียบควบคุมด้านอาหาร ซึ่งจะบังคับใช้ทั่วไป ทั้งเมื่อสินค้าอยู่ ณ จุดนำเข้ามา เพื่อนำมาจำหน่ายในสหภาพยุโรป หากพบว่าสินค้าไม่ตรงตามข้อกำหนดก็จะปฏิเสธการนำเข้า ในกรณีพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำอีก จะมีมาตรการรุนแรงมากขึ้น โดยมีลำดับความรุนแรงดังนี้
          1.การควบคุมและตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่
          2.พบความผิดซ้ำจะเพิ่มมาตรการควบคุมมากขึ้น
          3.ใช้มาตรการฉุกเฉินเร่งด่วน
          กฎระเบียบ Regulation (EC) 852/2004 ขั้นตอนทางสุขอนามัยทั่วไปสำหรับอาหารในทุกขบวนการ ขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงมือผู้บริโภค (from-farm-to-fork approach)
          กฎระเบียบ Regulation (EC) 853/2004 ระเบียบเพิ่มเติม เพื่อกำหนดเฉพาะธุรกิจด้านอาหารที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าอาหารสัตว์
          กฎระเบียบ Regulation (EC) 854/2004 กฎเฉพาะสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่ควบคุม สินค้าของสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารของคน ซึ่งจะมีกฎระเบียบเพิ่มเติมอีกได้แก่ กฎระเบียบ Regulation(EC) 882/2004
          นอกจากนั้นยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ แต่จะเฉพาะเจาะจงลงไปเป็นเรื่องๆ เช่น EU legislation : Food contact materials, Fruit juices, Food labeling, Food supplement, Maximum residue levels of pesticides , Organic production and labeling, Microbiolocical contamination of food, Nutrition and health claims of food เป็นต้น


                                                                  สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา
                                                                                               พฤษภาคม 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ