ภาวะการค้าและการลงทุนของจีนในเม็กซิโกและภูมิภาคลาตินอเมริกา
ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะครองตำแหน่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสองของเม็กซิโกรองจากสหรัฐฯ ความสำคัญของการค้าและการลงทุนจากจีนในเม็กซิโกเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยการส่งออกจากเม็กซิโกไปยังจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของการส่งออกทั้งหมดของเม็กซิโก มูลค่า 5,962 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 15 ของการนำเข้ารวม มูลค่า 52,248 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2011 ส่วนการลงทุนจากจีนในเม็กซิโกแทบจะไม่ปรากฏเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญแต่อย่างใด
รายงานเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงต่างชาติในภูมิภาคลาตินอเมริกา ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคลาตินอเมริกา-องค์กรสหประชาชาติ (ชื่ออักษรย่อภาษาอังกฤษ-ECLAC หรืออักษรย่อภาษาสเปน-CEPAL) ได้รายงานว่า ในปี ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา เม็กซิโกไม่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากจีนเลย เนื่องจากจีนมีความสนใจลงทุนในภาคเหมืองแร่และพลังงาน หรือการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคมากกว่า ในขณะที่โอกาสการลงทุนในภาคการผลิตต่างๆ ของเม็กซิโกเป็นการผลิตสินค้าบริโภคขั้นสูงมากกว่าการผลิตขั้นพื้นฐาน ในปี 2010 เม็กซิโกได้รับการลงทุนจากจีน ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐจากจำนวน 15,251 ล้านเหรียญฯ ที่จีนลงทุนในภูมิภาคลาตินอเมริกาโดยรวม และในช่วงระหว่างปี 1990-2009 เม็กซิโกได้รับการลงทุนจากจีนรวมเพียง 127 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของการลงทุนรวมของจีนในภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 7,336 ล้านเหรียญฯ ในช่วงดังกล่าว
ภูมิภาคลาตินอเมริกาได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติในปี ค.ศ. 2011 มูลค่ารวม 153.448 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงต่างชาติรวมของโลก นับว่าเป็นยอดการลงทุนจากต่างประเทศที่มากที่สุดในประวัติการณ์สำหรับภูมิภาคดังกล่าว ประเทศที่ไดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดได้แก่ บราซิล ซึ่งได้รับการลงทุนต่างชาติรวม 66.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเป็นร้อยละ 43.8 ของการลงทุนระหว่างประเทศรวมสำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา รองลงมาได้แก่ ชิลี มูลค่าการลงทุนต่างประเทศ 17.299 พันล้านเหรียญฯ โคลัมเบีย 13.234 พันล้านเหรียญฯ เปรู 7.659 พันล้านเหรียญฯ อาร์เจนติน่า 7.243 พันล้านเหรียญฯ เวเนซูเอลา 5.302 พันล้านเหรียญฯ และอุรุกวัย 2.528 พันล้านเหรียญฯ
สำหรับกลุ่มประเทศอเมริกากลาง ประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติมากที่สุด ในปี ค.ศ. 2011 ได้แก่ ปานามา ซึ่งได้รับเงินลงทุนต่างชาติมูลค่า 2.790 พันล้านเหรียญฯ ตามด้วยคอสตาริกา 2.104 พันล้านเหรียญฯ และฮอนดูรัส 1.014 พันล้านเหรียญฯ การลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับกลุ่มประเทศอเมริกากลางได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากปี 2010 ส่วนในกลุ่มประเทศแคริเบียน ประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐโดมินิกัน ซึ่งได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติมูลค่า 2.371 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา มีต้นกำเนิดมาจากสหภาพยุโรปเป็นแหล่งต้นกำเนิดเงินลงทุนที่สำคัญ ในสัดส่วนร้อยละ 40 ของการลงทุนโดยตรงต่างชาติภูมิภาคฯรวม มูลค่าเฉลี่ย 30 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับการลงทุนจากสหภาพยุโรปเป็นสำคัญ ได้แก่ ภาคการผลิตไฟฟ้า และการธนาคาร เมื่อแบ่งแหล่งลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับภูมิภาคลาติอเมริกาเป็นรายประเทศแล้ว แหล่งลงทุนที่สำคัญในปี 2011 ได้แก่ สหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 18 สเปนร้อยละ 14 และญี่ปุ่นร้อยละ 8 นอกจากนี้แล้ว การลงทุนระหว่างกันเองของประเทศในภูมิภาคฯ มีความสำคัญถึงร้อยละ 9 ของการลงทุนโดยตรงต่างชาติรวมของภูมิภาคดังกล่าว แต่ได้มีมูลค่าลดลงจาก 44.924 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2010 เป็น 22.605 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2011 เนื่องจากผู้ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญ คือประเทศบราซิล ได้ลงทุนในต่างประเทศน้อยลง เนื่องจากได้หันไปลงทุนภายในประเทศมากขึ้นในปีดังกล่าว ส่วนประเทศชิลี ได้กลายเป็นผู้ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญแทนบราซิลในปี 2011 โดยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ 11.822 พันล้านเหรียญฯ ตามด้วยเม็กซิโก 9.64 พันล้านเหรียญฯ และโคลัมเบีย 8.289 พันล้านเหรียญฯ
เลขาธิการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจภูมิภาคลาตินอเมริกาได้คาดการณ์ว่า การลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับภูมิภาคฯ สำหรับปี 2012 จะยังอยู่ในระดับที่สูง โดยจะมีอัตราการขยายตัวในอัตราร้อยละ 2-8 จากมูลค่าการลงทุนในปี 2011 หากสหภาพยุโรปไม่ประสบปัญหาวิกฤตการณ์การเงินที่รุนแรง
รัฐบาลของจีนได้เริ่มมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ที่เรียกว่า "Going Out Strategy" จากปี ค.ศ. 1999 เป็นต้นมา ในปี 2003 จีนได้มีมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศรวม 35 พันล้านเหรียญฯ ต่อมาได้ขยายตัวเป็น 230 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2009 ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับการลงทุนโดยตรงต่างชาติของประเทศเดนมาร์คในปีนั้น และเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงต่างชาติของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4 พัน พันล้านเหรียญฯ ก็จะเห็นว่ายังมีโอกาสการขยายตัวอีกมาก
อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยตรงของจีนในภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการกระตุ้นการค้าและเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก โดยประเทศจีนได้ลงทุนในด้านการผลิตโภคภัณฑ์และทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ อีกทั้ง ยังมีการปล่อยเงินกู้สำหรับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ในปี 2010 ยอดการส่งออก การลงทุน และการปล่อยกู้รวมจากจีนไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา มีมูลค่า 300 พันล้านเหรียญฯ โดยการส่งออกสินค้าขั้นพื้นฐานมีสัดส่วนร้อยละ 92 ของการส่งออกจากภูมิภาคฯ ไปยังจีน ร้อยละ 85 ของมูลค่าการลงทุนของจีนในภูมิภาคฯ เป็นการลงทุนในภาคเหมืองแร่ และร้อยละ 60 ของการปล่อยกู้ทั้งหมดของจีน เป็นการปล่อยกู้ไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา
ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากขยายการค้าการลงทุนจากจีนในภูมิภาคฯ มากที่สุดได้แก่ ประเทศบราซิล ชิลี และเปรู ส่วนประเทศที่ไม่ค่อยจะได้รับผลประโยชน์จากการขยายการค้าการลงทุนจากจีนในภูมิภาคนี้ ได้แก่ กลุ่มประเทศอเมริกากลางและแคริบเบียบ และเม็กซิโก นอกจากนี้แล้ว ประเทศกลุ่มนี้ ยังเสียเปรียบความแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตให้กับจีนในตลาดที่สามอีกด้วย
ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่สำคัญๆ เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการค้ากับจีนน้อยที่สุด การค้ากับจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของการค้ารวมของเม็กซิโก ในขณะที่ชิลีมีสัดส่วนการค้ากับจีนสูงถึงร้อยละ 22.3 เปรู ร้อยละ 17.7 บราซิล ร้อยละ 16.2 และอาร์เจนตินา ร้อยละ 7.1
กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโก หน่วยงานส่งเสริมการส่งออกของเม็กซิโก และบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน KPMG และ SinoLatin Capital ได้กล่าวว่า นักธุรกิจเม็กซิโกควรให้ความสนใจกับโอกาสการค้าการลงทุนในจีนให้มากกว่าที่มีอยู่ โดยมีความจำเป็นต้องมีการกระตุ้นความสนใจของภาคเอกชนเม็กซิกัน โดยการให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโอกาสการค้ากับจีนมากขึ้น รวมทั้งควรมีมาตรการส่งเสริมด้านการเงิน เช่น เงินกู้สำหรับผู้ที่สนใจส่งออกไปยังจีน นอกจากนี้แล้ว ภาครัฐบาลต้องกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทุกระดับให้มีความใกล้ชิดเข้าใจกันมากขึ้น และอาจจะมีการพิจารณาทำความตกลงด้านความร่วมมือในภาคต่างๆ ให้มากขึ้น
จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจเม็กซิกันต่าง ๆ พบว่า นักธุรกิจของเม็กซิโกมักจะมีอคติต่อกับการค้าขายกับจีน โดยมองว่าจีนไม่ปฏิบัติทางการค้าอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ แม้กระทั่งรัฐบาลของเม็กซิโกเอง ก็ได้มีข้อพิพาททางการค้า ใช้มาตรการด้านภาษีลงโทษสินค้าส่งออกจากจีนหลายครั้ง แต่รัฐบาลของเม็กซิโกได้เปลี่ยนทาทีแล้ว และในปัจจุบันเห็นว่า จีนเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลกที่ปฏิบัติตามกฏระเบียยการค้าได้ดีพอสมควร
- กฏระเบียบที่กำจัดการลงทุนต่างชาติในภาคเศรษฐกิจที่เม็กซิโกอาจสนในลงทุน เช่น โทรคมนาคม ภาคการผลิตรถยนต์ และการถ่ายทำหนัง เป็นต้น
- รายละเอียดขั้นตอนการทำธุรกิจ เช่น กฎระเบียยที่ควบคุมการทำบัญชี การรายงานสถานะการเงิน ซึ่งมีการลงโทษการละเมิดทางอาญาที่หนักเกินควร
- ข้อจำกัดในการส่งเงินโอนระหว่างประเทศระหว่างเครือข่ายของบริษัท ที่สร้างความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ
- ระบบภาษีการนำเข้าส่งออกที่สลับซับซ้อน
หน่วยงานส่งเสริมการส่งออกของเม็กซิโก (ProMexico) ได้มีการระบุโอกาสการค้าและการลงทุนสำหรับเม็กซิโกในจีน สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รองเท้า สิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ พลังงานทดแทน สินค้าวัตถุดิน และการท่องเที่ยว ส่วนภาคที่คาดว่าเม็กซิโกมีความได้เปรียบน้อย คือ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอีเลคทรอนนิกส์ และของเล่น
บริษัทสำคัญของเม็กซิโกที่ได้ลงทุนในจีนแล้ว มีบริษัท Nemak ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Grupo Alfa ซึ่งทำการผลิตแม่พิมพ์สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทต่างๆ ที่มณทลหนานจิง บริษัทด้านสารสนเทศ Softtek บริษัทผู้ผลิตท่อไอเสีย Katcon บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ San Luis Corporacin กลุ่มด้านผลิตภัณฑ์อาหาร Grupo Herdez บริษัทผลิตเครื่องดื่ม Jumex ผู้ผลิตแป้งสาลี Maseca กลุ่ม Carso สายการบิน Aerom"xico และกลุ่มยางสังเคราะห์ Kuo
http://www.cepal.org/publicaciones/xml/2/46572/2012-182-LIEI
WEB.pdfhttp://www.marketwatch.com/story/fitch-chinas-economic-rise-provides-mixed-benefits-
for-latinamerica-2012-05-09
http://www.elfinanciero.com.mx/index.php?option=com_k2&view=item&id=1865&Itemid=26
http://www.sinolatincapital.com/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในค่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก
มิถุนายน 2555