การวางแผนจัดตั้งกลไกพื้นฐานในการซื้อขายแร่โลหะหายาก (Rare earth Elements)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 14:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การวางแผนจัดตั้งกลไกพื้นฐานในการซื้อขายแร่โลหะหายาก (Rare earth Elements)

นอกเหนือจากน้ำมันแล้วแร่โลหะหายากถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีอำนาจในการต่อรองที่สูง

จีน ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีแร่โลหะหายากในปริมาณที่สูงที่สุดในโลก โดยประเทศจีนมีแร่นี้ถึงร้อยละ ๙๗ ของโลก แร่โลหะหายากนี้ ได้ใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ยานยนต์ เทคโนโลยี Hybrid โทรศัพท์มือถือและอื่นๆ ทุกปีประเทศต่างๆนำเข้าโลหะหายากจากจีนในปริมาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น

แร่โลหะหายาก คือแร่ที่มีธาตุโลหะหายากอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกันไป มีแร่มากกว่า ๒๐๐ ชนิด ที่มีธาตุโลหะ หายาก ถ้าจะแบ่งแร่มีโลหะหายากสามารถแยกได้เป็น

๑. แร่ที่มีธาตุโลหะหายากต่ำมาก ได้แก่ แร่ประกอบหินทั้งหลาย

๒. แร่ที่มีธาตุโลหะหายากเล็กน้อย มีธาตุมากกว่า ๒๐๐ ชนิด ที่มี REE มากกว่า ร้อยละ ๐.๐๑

๓. แร่ที่มีธาตุโลหะยากเป็นองค์ประกอบหลัก มีประมาณ ๗๐ แร่ที่อยู่ในกลุ่มนี้ แร่ที่มีธาตุโลหะหายากที่สำคัญๆ แร่ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ๓ แร่คือ แบสต์นีไซต์ (Bastnaesite) โมนาไซต์ (Monazite) และ ซีโนไทม์ (Xenotime)

๔. แบสต์นีไซต์ (Bastnaesite) เป็นแร่คาร์บอเนตฟลูออลีน มี REO ร้อยละ ๗๕ โดยมากเป็นโลหะธาตุหายากน้ำหนักเบาแหล่งแร่ที่ให้แร่นี้ก็คือพวกคาร์บอเนไทต์ เช่น Mountain Pass แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และ Baiyun Obo ในมองโกเลีย ประเทศจีน

๕. โมนาไซต์ (Monazite) เป็นแร่ฟอสเฟตที่มีธาตุโลหะหายากน้ำหนักเบา โดยทฤษฏี มี REO ร้อยละ ๗๐ เป็นแร่ที่เกิดอยู่ในหินแกรนิต เนื่องจากเป็นแร่น้ำหนักสูงจึงมักไปรวมตัวในลานแร่ เป็นแร่พลอยได้จากการทำเหมืองแร่หนักจากลานแร่ พวก อิลเมไนต์ รูไทต์และเซอร์คอน

๖. ซีโนไทม์ (Xenotime) เป็นแร่ฟอสเฟตของธาตุอิตเทรียม โดยทางทฤษฏีมี REO ร้อยละ ๖๗ ปกติพบในแหล่งลานแร่เป็นแร่พลอยได้จากการทำเหมืองแร่ดีบุกในไทยและมาเลเซีย

๗. อะพาไทต์ (Apatite) เป็นแร่ฟอสเฟตของแคลเซียม ปกติทำเหมืองเพื่อเอาฟอสเฟตมาใช้ทำปุ๋ย แหล่งกำเนิดอาจเกิดในหินชั้นหรือหินอัคนี บางแหล่งมีธาตุโลหะหายากปนอยู่ ซึ่งเป็นธาตุพลอยได้จากการผลิตฟอสเฟต เช่น ในคาบสมุทรโคลา ในรัสเซีย ได้มีการทำเหมืองแร่นี้และได้ REO ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ตัน/ปี

๘. บรานเนอไรต์ (Brannerite) เกิดในเพกมาไทต์ ที่อาจจะเป็นแหล่งแร่ที่ให้ธาตุยูเรเนียม เช่นใน Eiliot Lake ในคานาดา หัวแร่จะมีธาตุอิตเทรียมซึ่งสามารถแยกเป็นธาตุพลอยได้จากการแต่งแร่

๙. Ion-Absorption Clays เป็นแร่ดินพวกเคโอลิน ที่มี REE ดูดซับอยู่ที่ผิว พบในมณฑลเจียงสี ประเทศจีน

รายงานจาก China Securities Journal ได้ระบุว่า รัฐบาลจีนมีการวางแผนที่จะจัดตั้งกลไกพื้นฐานซื้อขายและสำรอง แร่ธาตุหายากหรือ Rare earth elements แล้ว จากรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า หลังจากรายละเอียดการจัดตั้งเวทีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการประสานงาน เพิ่มเติมกับบริษัทผู้ประกอบการเกี่ยวกับแร่โลหะหายาก เมื่อราคาอยู่ในระดับที่คงตัวแล้ว บริษัทผู้ค้าจำเป็นต้องซื้อขายและสงวนแร่ดังกล่าวตามกลไกที่กำหนด เมื่อราคาถูกกำหนดอย่างแน่นอนแล้ว บริษัทถึงจะขายได้ ในเดือน พฤษภาคม ปี๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีจีนได้เสนอทิศทางการสนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรม Rare earth ให้แข็งแรง มีการจัดตั้งระบบกลยุทธ์ในการสำรองแร่ โดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสงวนผลิตภัณฑ์ และทรัพยากรแร่ธาตุโลหะหายาก จากราคาความไม่แน่นอนของแร่โลหะหายากในปี๒๕๕๔ ทำให้บริษัทหลายบริษัทได้รับผลกระทบและประสบปัญหาในการส่งออก คาดการณ์กันว่า กลไกที่จะตั้งขึ้นนี้จะมีปะโยชน์ในการควบคุมราคาแร่โลหะหายากและป้องกันการทำเหมืองเถื่อน

นอกจากประเทศจีนแล้ว เชื่อกันว่า เวียดนาม และประเทศไทย ยังมีทรัพยากรที่ยังไม่ขุดใช้ ที่ผ่านมาประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายลดโควต้าการส่งออกโดยอ้างเหตุผลด้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓ ได้มีเหตุการณ์เรือประมงจีนของจีนถูกจับบริเวณเกาะ Senkaku ซึ่งเป็นเกาะที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวในทะเลจีนใต้ โดยเกาะดังกล่างตั้งอยู่บนทะเลระหว่าง จังหวัด Okinawa และไต้หวัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางรัฐบาลจีนได้มีคำสั่งจำกัดโควต้าการส่งออกแร่โลหะหายากไปยังญี่ปุ่น จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นขาดแร่โลหะหายากในการผลิต และ ตัดสินใจปล่อยตัวชาวประมงชาวจีน เห็นได้ว่าแร่โลหะหายากนั้นถูกใช้เป็นอาวุธในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองต่อญี่ปุ่น โดยการที่ญี่ปุ่นได้ปล่อยตัวชาวประมงชาวจีนนั้นแสดงถึงมาตรการการงดส่งออกแร่โลหะหายากของญี่ปุ่นได้ผล

ในปีพ.ศ.๒๕๓๕ ประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยวผิงของจีน ได้ประกาศว่า “ประเทศในตะวันออกกลางมีน้ำมัน แต่แร่โลหะหายากมีในจีน” (Baotou National Rare-Earth Hi-Tech Zone) ประเทศจีนตั้งเป้าหมายที่จะใช้แร่โลหะหายากนี้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มน้ำหนักทางการต่อรองของการเมืองและเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ

สำหรับประเทศจีนแล้ว อุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่โลหะหายากได้แบ่งเป็นสองกลุ่มผู้ผลิตใหญ่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ โดยกลุ่มภาคเหนืออาศัยแหล่งผลิตใน Mongolia, Gansu และ Sichuan กลุ่มภาคใต้อาศัยแหล่งผลิตจากจังหวัด Guangdong Hunan Jianxi และJiangsu นอกจากจีนจะมีแร่โลหะหายากมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว จีนยังมีเทคโนโลยี ในการสกัดแร่โรหะหายากนี้ที่มีความละเอียดถึง ร้อยละ๙๙.๙๙๙ มากกว่าประเทศฝรั่งเศสซึ่งมี เทคโนโลยีที่สามารถสกัดให้แร่บริสุทธ์ได้เพียง ร้อยละ๙๙.๙๙๙ และมากกว่าญี่ปุ่นที่สามารถสกัดได้เพียง ร้อยละ๙๙.๙ จึงทำให้จีนสามารถผูกขาดตลาดแร่โลหะหายากได้ง่ายขึ้น

แนวโน้มของแร่โลหะหายากในอนาคต

๑. หากการตั้งกลไกราคามาตรฐานของโลหะหายากประสบความสำเร็จ และราคายังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง โดยที่ประเทศจีนยังควบคุมโควต้าการส่งออกต่อเนื่อง จะส่งผลให้ประเทศที่นำเข้าแร่หายากจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรม มองหาตลาดแหล่งทรัพยากรผลิต แร่โลหะหายากใหม่ และจะมีการสำรวจขุดหาทรัพยากรให้ประเทศที่คาดว่าจะมีแร่โลหะหายากอยู่ ทั้งนี้ประเทศที่คาดการณ์ว่าจะมีแร่โลหะหายากอยู่นั้นจะได้ประโยชน์ในเรื่องของแหล่งเงินทุนในการขุดเจาะจากประเทศอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแร่โลหะหายากสูง ทั้งนี้ประเทศไทยอาจได้รับประโยชน์จากการหาแหล่งผลิตใหม่ (Spill-over effect) `

๒. ด้วยความต้องการการใช้ แร่โลหะหายากเพิ่มขึ้นจากประเทศต่างๆ และจีนยังดำเนินนโยบายจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากอยู่ มีความเป็นไปได้จะเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ และ กดดันให้จีนส่งออกแร่ชนิดนี้เพิ่มขึ้น และความร่วมมือกันระหว่างประเทศอาจจะทำให้การขนส่งค้าขายแร่โลหะหายากนี้มีความคล่องตัวมากขึ้น

๓. ในระยะสั้น การลดหรือจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากของจีนจะทำให้จีนมีอำนาจในการต่อรองกับประเทศต่างๆทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาว ประเทศอุตสาหกรรมต่างๆจะต้องหาแหล่งผลิตอื่นๆ เช่น ใน ขณะนี้เหมืองแร่โลหะหายากหลายเหมืองใน สหรัฐอเมริกา ได้ทำการเปิดใช้ใหม่ (Reopen) และประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้มีความร่วมมือกับประเทศเวียดนาม ในการขุดหาแร่โลหะหายากนี้ คาดว่าในอนาคตหากจีนยังต้องการครองตลาดในรูปแบบ Monopoly จีนจำเป็นต้องลดราคาหรือใช้มาตรการ price-dumping policy เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติมานำเข้า แร่โลหะหายากจากจีน

แร่โลหะหายากเป็นแร่ที่มีสำคัญทางเศรษฐกิจเนื่องจากพบในไม่กี่ประเทศเท่านั้น อีกทั้งยังต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงในการสกัดให้บริสุทธิ์ ในอนาคตหากกลไกราคาได้ตั้งขึ้นแล้ว จะทำให้ตลาดแร่โลหะหายากของจีนมีความแน่นอนมากขึ้น อย่างไรก็ตามนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศของรัฐบาลประเทศจีนจะเป็นตัวแปรอีกตัวที่สำคัญสำหรับตลาดส่งออกแร่โลหะหายากให้กับตลาดโลก

สำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ