สถานการณ์การส่งออกของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 14:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์การส่งออกของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

การส่งออกของจีนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ดูจะส่งสัญญาณในทิศทางที่ดี หลังจากที่ตัวเลขการค้าซึ่งประกาศจากกรมศุลกากรจีนระบุว่า การส่งออกได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ ๑๕.๓ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากยอดการส่งสินค้าไปสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดร่วมกับยอดการสั่งซื้อสินค้าจีนในประเทศยุโรปซึ่งเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์จีนออกมาเตือนว่า แม้ตัวเลขยอดการส่งออกจะออกมาในทิศทางที่ดีเกินคาด แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะวางใจว่าเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของจีนจะฟื้นตัวกลับมาหลังจากที่ซบเซาเนิ่นนานหลายเดือน โดยรัฐบาลจีนยังคงต้องจับตาสถานการณ์ต่างๆอีกทั้งความผันผวนของตัวแปรต่างๆทางเศรษฐกิจที่จะตามมาในอนาคต

ความกังวลที่เริ่มผ่อนคลายจากตัวเลขการค้าเดือนพฤษภาคม

เป็นที่เหนือความคาดหมายของหลายฝ่ายเมื่อกรมศุลกากรจีนออกมาประกาศตัวเลขการส่งออกล่าสุดของจีนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ว่าขยายตัวอย่างน่าพอใจที่อัตราร้อยละ ๑๕.๓ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นยอดการส่งออกทั้งสิ้นราว ๑๘๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกในเดือนเมษายน ๒๕๕๕ ออกมาที่เพียงร้อยละ ๔.๙ เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขการนำเข้าก็เป็นที่น่าพอใจเช่นกัน โดยการนำเข้าในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ขยายตัวที่ร้อยละ ๑๒.๗ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นยอดการนำเข้าทั้งสิ้นราว ๑๖๒,๔๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่ากระเตื้องขึ้นมาอย่างมากจากเดือนเมษายน ๒๕๕๕ ที่ตัวเลขการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ ๐.๓ แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการบริโภคโดยมวลรวมของประเทศจีนที่มากขึ้น รวมถึงความมั่นใจในการจับจ่ายของภาคเอกชนที่เริ่มจะกลับมา ส่วนยอดการค้า(ยอดการส่งออกรวมยอดการนำเข้า)ของจีนขยายตัวที่อัตราร้อยละ ๑๔.๑ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นยอดการค้าทั้งสิ้น ๓๔๓,๕๘๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอัตราการขยายตัวทางการค้าขยับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ขยายตัวที่ร้อยละ ๒.๗ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากตัวเลขด้านการส่งออกและการนำเข้าที่ออกมาแล้ว พบว่ายอดการค้าของจีนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ เกินดุลที่ราว ๑๘,๗๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาจากเดือนเมษายน ๒๕๕๕ ที่เกินดุลที่ราว ๑๘,๔๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

มองจากภาพรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ จะพบว่าการส่งออกขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ ๘.๗ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปี ๒๕๕๔ คิดเป็นยอดส่งออกตั้งแต่ต้นปีราว ๗๗๔,๔๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าตั้งแต่ต้นปีขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ ๖.๗ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นยอดนำเข้าตั้งแต่ต้นปีราว ๗๓๖,๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นตั้งแต่ต้นปีมา ยอดการค้าจีนรวมแล้วอยู่ที่ราว ๑,๕๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นยอดเกินดุลที่ ๓๗,๙๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แต่ทว่าด้านกระทรวงการคลังออกมาให้ความเห็นว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคมยังไม่สามารถยืนยันถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากต้องรอผลจากเดือนต่อๆไปที่ตามมาเพื่อพิจารณาประกอบก่อนว่าการส่งออกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวกลับมาอย่างแท้จริงแล้วหรือไม่ แต่หากว่ามองในแง่ดีแล้ว อย่างน้อยตัวเลขดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในสัญญาณดีที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ด้านภาคการส่งออกของจีนไม่ได้เลวร้ายดังที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้แต่ต้น โดยเศรษฐกิจภาคต่างประเทศของจีนต่างต้องเผชิญกับการความเสี่ยงจากการชะลอตัวของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าหลักมานานหลายเดือนตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในยุโรปอุบัติขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้คาดการณ์ว่าภาคการค้าของจีนในปี ๒๕๕๕ ทั้งปีจะขยายตัวที่ราวร้อยละ ๑๐ ภายใต้สภาวะที่ตลาดฝั่งยุโรปเริ่มจะฟื้นตัวกลับมาในปีนี้ ซึ่งถือว่าปรับค่าลงจากปีก่อน โดยจากเดิมปี ๒๕๕๔ ยอดการค้าทั้งปีขยายตัวถึงร้อยละ ๒๒.๕

ปัจจัยภายนอกเบื้องหลังการส่งออกที่ฟื้นตัว

ด้านคณะพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ(The National Development and Reform Commission)ได้ให้ความเห็นถึงปัจจัยแวดล้อมที่อยู่เบื้องหลังการขยายตัวอย่างน่าพอใจของการส่งออกนี้ว่า การที่ยอดส่งออกจะเพิ่มขึ้นได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยเสริมหลายปัจจัย โดยปัจจัยภายนอกที่จะมาช่วยเสริมการส่งออกได้นั้น ได้แก่ เศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัว การคุมต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงกระแสการยอมรับสินค้าจีนจากต่างชาติที่มากขึ้น ทั้งนี้สภาพเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยุโรปถือเป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุดเนื่องจากว่า ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนในปัจจุบัน ดังนั้นสถานการณ์การค้าในยุโรปจึงมีผลอย่างมากต่อทิศทางของการค้าต่างประเทศของจีน โดยตอนนี้สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปเองเริ่มจะทุเลาลงบ้างแล้ว หลังจากที่การอนุมัติเงินกู้เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มได้รับการอนุมัติจากธนาคารกลางของภูมิภาค อย่างสเปนเพิ่งได้รับการอนุมัติเงินเพื่อเยียวยาสถาบันการเงินในประเทศ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ ที่จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ล้านยูโร(ราว ๑๒๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

โดยปัจจัยภายนอกที่ผลักดันให้การส่งออกจีนกลับมาทะยานอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ เมื่อวิเคราะห์แล้วสามารถแบ่งออกได้ สามด้านหลัก ได้แก่ ประการแรก สถานการณ์ของตลาดที่เริ่มจะฟื้นตัวในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของจีน ประการที่สอง การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่เสถียรภาพของกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (Emerging Economies) อย่างอินเดีย บราซิล หรือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประการสุดท้าย ความกังวลเรื่องการแข็งค่าของค่าเงินหยวนที่เบาบางลง อันเป็นผลให้สถานการณ์การสั่งซื้อสินค้าประเภททุนจากจีนในหลายประเทศเริ่มที่จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งถ้าสถานการณ์ในยุโรปยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อะไร ก็คาดการณ์ได้ว่าการขยายตัวของภาคการส่งออกในเดือนต่อไป จะไม่ประสบปัญหาซบเซาดังที่เป็นมา แต่ก้าวย่างได้อย่างมั่นคง

สถานการณ์ตัวเลขภายในประเทศยังน่าเป็นห่วง

แต่หากพิจารณาปัจจัยภายในของเศรษฐกิจจีนในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ประกาศออกมาจะพบว่ายังน่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับปัจจัยภายนอก โดยตัวเลขจากสนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ราว ร้อยละ ๓ ส่วนการขยายตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ ๑๐ เป็นเดือนที่สองติดต่อกันแล้ว ซึ่งปรากฎการณ์ด้านความตกต่ำของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลังจาก ๓ ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นเองจีนยังต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินในสหรัฐฯอยู่ ส่วนตัวเลขการค้าปลีกก็ขยายตัวต่ำสุดในรอบ ๖ ปีขณะที่ด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็พบว่ายอดการขยายตัวเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ๒๕๕๕ อยู่ที่เพียงร้อยละ ๒๐.๑ ซึ่งเป็นการช่วง ๕ เดือนแรกของขยายตัวในภาคดังกล่าวที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี ๒๕๔๖

ผู้ส่งออกจีนกับการต้องปรับตัวตามทิศทางที่เปลี่ยนไป

แม้อุปสงค์สินค้าในยุโรปจะยังคงหดตัวอันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังชะลอตัวอยู่แต่ภาคธุรกิจจีนที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ดังกล่าวบ้างแล้ว โดยภาคธุรกิจได้ปรับตัวผ่านทางมาตรการและกลยุทธ์ต่างๆทางธุรกิจเพื่อที่อย่างน้อยจะรักษายอดการค้าไม่ให้ลดลง ดังเช่นบริษัทส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนหลายบริษัทซึ่งมียอดการส่งออกไปยังประเทศยุโรปราวร้อยละ ๘๐ ของยอดการค้าทั้งหมด บริษัทเหล่านี้ต้องเพิ่มมาตรการควบคุมมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้สินค้าของบริษัทผ่านเกณฑ์มาตรฐานสินค้าของทางยุโรป ซึ่งตรงส่วนนี้ก็ช่วยให้ผู้บริโภคในยุโรปยังให้การไว้วางใจในสินค้าของทางบริษัทอยู่ และช่วยรักษายอดการค้าของบริษัทไม่ให้ตกลงตามกระแสเศรษฐกิจมากนัก ขณะเดียวกันบริษัทส่งออกของจีนหลายแห่งก็ให้ความสนใจตลาดในประเทศมากขึ้น โดยหลายบริษัทที่มีสัดส่วนการค้าหลักผูกพันกับตลาดในยุโรปอยู่ก็เริ่มที่จะมองหาโอกาสของตลาดในประเทศบ้าง เพื่อเตรียมรับมือกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในยุโรปหากว่าเลวร้ายไปมากกว่านี้ ทั้งนี้บริษัทส่งออกหลายแห่งของจีนแม้จะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ตลาดในปีนี้ได้แล้ว แต่ก็ยังเห็นว่าอนาคตของภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ยังไม่สู้จะดีมากนัก ซึ่งทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐของจีนเองก็ต้องเตรียมตัวรับกับสภาพที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งความผันผวนที่จะตามมาต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ