แรงกดดันของบริษัทจีนต่อบริษัทข้ามชาติที่มากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 14:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แรงกดดันของบริษัทจีนต่อบริษัทข้ามชาติที่มากขึ้น

ความแข็งแกร่งของบริษัทจีนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ดี หรือบริษัทเอกชนก็ดีกำลังเป็นสิ่งที่สื่อและแวดวงธุรกิจเฝ้าจับตามองอยู่ในทุกวันนี้ โดยล่าสุดผลการสำรวจในปี ๒๕๕๕ ของ China Europe International Business School เรื่อง “ความท้าทายและความสำเร็จของบริษัทข้ามชาติในจีน” ได้ระบุว่า ขณะนี้การแข่งขันจากบริษัทจีนในท้องถิ่นที่รุนแรงขึ้นเป็นความท้าทายอันดับสองของเหล่าบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศจีน รองจากอันดับหนึ่งคือเรื่องการระดมทรัพยากรบุคคล โดย ๙๐ จาก ๒๕๔ บริษัท (ราวร้อยละ ๓๕.๔) ที่ได้ทำแบบสอบถาม(ในจำนวนนี้รวมถึงผู้บริหารระดับสูงรวมอยู่ด้วย)ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าบริษัทจีนในทุกวันนี้ได้พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างรวดเร็วจนเป็นหนึ่งในความท้าทายที่บริษัทต่างชาติต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ขณะที่หอการค้าของสหรัฐอเมริกาในจีนก็ได้จัดทำแบบสอบถามในเชิงเดียวกันว่าด้วยเรื่อง “ปัญหาและอุปสรรคที่บริษัทต่างชาติต้อง้ผชิญในการในการทำธุรกิจที่จีน” โดยเก็บตัวอย่างจาก ๓๐๓ บริษัทต่างชาติในช่วงปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ผลปรากฏว่า กว่า ๒ ใน ๓ (ราวร้อยละ ๖๘)ของผู้ทำแบบสอบถามระบุว่ากำลังเผชิญกับการการแข่งขันและแรงกดดันจากบริษัทจีนในท้องถิ่นที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ๑ ใน ๓ ของจำนวนนี้หรือราวร้อยละ ๒๒ ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมดระบุว่าการแข่งขันและแรงกดดันดังกล่าวเพิ่มขึ้นในระดับมากที่สุด(increasing greatly) จึงเห็นได้ว่าบริษัทต่างชาติต่างกำลังพะวงกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเหล่าบริษัทจีนที่กำลังพัฒนาไล่กวดหลังมา อันจะทำให้การแข่งขันภายในตลาดของประเทศจีนเพิ่มความยากมากขึ้นไปอีก

การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือน

จากผลการศึกษาของหอการค้าสหรัฐอเมริกาในจีนได้บ่งชี้ว่าการแข่งขันด้านธุรกิจระหว่างบริษัทจีนกับบริษัทต่างชาติในประเทศจีนเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม กล่าวคือ บ่อยครั้งที่บริษัทจีนได้รับสิทธิพิเศษและการปฏิบัติหลายประการที่เป็นอภิสิทธิ์กว่าบริษัทต่างชาติ อาทิเช่น การให้สินเชื่อหรือเงินกู้ในอัตราดอกเบื้ยที่ต่ำกว่า การชำระภาษีที่จ่ายแก่รัฐในอัตราที่ต่ำกว่า หรือจะเป็นเรื่องกฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับทางธุรกิจที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐบาลในท้องที่ จนถึงขั้นได้รับการงดเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางประการด้วย ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่บริษัทต่างชาติหลายๆบริษัทที่เข้ามาลงทุนในจีน เนื่องจากทำให้บริษัทเหล่านั้นเสียเปรียบทางการแข่งขันในหลายๆกรณี ทั้งนี้บริษัทต่างชาติต่างเข้าใจดีว่าการเข้ามาปกป้องผู้ประกอบการจีนในท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สมควรกระทำและเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในระดับสากล เพียงแต่บริษัทต่างชาติต้องการเพียงให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใสมากกว่านี้เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ประเทศจีนก็ไม่ใช่ประเทศที่การแข่งขันระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือนจะเป็นไปได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในบางภาคธุรกิจอย่าง อุตสาหกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ธุรกิจบริการทางการเงิน หรือการสื่อสารโทรคมนาคม สามตัวอย่างอุตสาหกรรมที่กล่าวมาต่างได้รับการสงวนไว้ให้แก่บริษัทสัญชาติจีนเท่านั้นจึงจะประกอบการได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าควบคุมโดยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีทั้งเงินทุนและบุคลากรมหาศาลให้การหนุนหลัง

วิกฤตการณ์ทางการเงิน : สมดุลของอำนาจที่เปลี่ยนไป

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายต่างให้ความเห็นที่ตรงกันว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินปี ๒๕๕๓ ในสหรัฐฯถือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สมดุลทางธุรกิจในประเทศจีนระหว่างบริษัทต่างชาติกับบริษัทจีนเกิดการเอนเอียง เนื่องจากผลของวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วส่งผลให้บริษัทจากชาติตะวันตกหลายชาติต้องลดขนาดการลงทุนในจีนลงเช่นเดียวกับที่ต้องลดการลงทุนของบริษัทลูกในอีกหลายประเทศในปีที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อมาดูที่บริษัทจีนในช่วงเวลาดังกล่าว จะพบว่ายังมีฐานทางการเงินการลงทุนที่แข็งแกร่งร่วมกับการให้การเข้าสนับสนุนประคับประคองจากภาครัฐ นอกจากนี้บริษัทจีนยังมีการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศในด้านการระดมทุนที่น้อยกว่า ทำให้ในช่วงดังกล่าวบริษัทจีนหลายบริษัทอาศัยโอกาสเข้ากว้านซื้อหุ้นหรือเข้าควบรวมกิจการของบริษัทต่างชาติในภาวะที่ราคาสินทรัพย์ในยุโรปและสหรัฐฯอ่อนค่าลง โดยเป็นไปเพื่อมุ่งหวังที่จะเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่บริษัทจีนในเรื่องของเทคโนโลยีจากต่างชาติรวมทั้งเข้าครอบครองฐานการตลาดในต่างประเทศ โดยตัวอย่างของกรณีการเข้าควบรวมกิจการดังกล่าวได้แก่ บริษัท Fosun ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือธุรกิจเอกชนชั้นนำของจีนได้ใช้ทุนกว่า ๒ พันล้านเหรียญสหรัฐฯเข้าไปซื้อสิทธิ์ถือหุ้นของบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดกลางหลายแห่งในประเทศเยอรมณีช่วงหลังเกิดวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ ซีงวิกฤตการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกกล่าวได้ว่าเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้แก่บริษัทจีนได้เติบโตและก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

ค่าแรง ทรัพยากรบุคคล และรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป กับการแข่งขันที่ยากลำบากขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยนอกเหนือจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ทำให้การแข่งขันระหว่างบริษัทจีนกับบริษัทต่างชาติเป็นไปอย่างดุเดือดคือ รูปแบบการประกอบธุรกิจของเอกชนจีนที่เปลี่ยนไป โดยธุรกิจเหล่านี้ได้เริ่มจากอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นแรงงานเป็นปัจจัยหลักในการผลิต(ขณะที่พึ่งพาเทคโนโลยีระดับต่ำ) มาเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงร่วมกับการมุ่งเน้นประสิทธิภาพภายในองค์กร ซึ่งแต่เดิมแล้วรูปแบบหลังถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของบริษัทต่างชาติที่ยึดถือมานานซึ่งบริษัทจีนเริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุที่เอกชนจีนต้องปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบตามต่างชาติก็เพราะถูกกดดันจากต้นทุนค่าแรงในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้การแข่งขันด้วยรูปแบบเดิมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำแต่พึ่งแรงงานจำนวนมากนั้นไม่เป็นผลดีกับธุรกิจจีนอีกต่อไป และหากว่าบริษัทจีนยังคงยึดติดกับรูปแบบดังกล่าวแล้ว นั่นหมายถึงการต้องแบกรับสัดส่วนด้านต้นทุนการผลิตส่วนของค่าแรงมหาศาลจนอาจทำให้การดำเนินกิจการต้องติดขัดได้จนถึงขั้นต้องปิดกิจการในอนาคต โดยร้อยละ ๘๒ ของผู้ทำแบบสอบถามของหอการค้าสหรัฐฯในจีนระบุว่า ค่าแรงที่สูงขึ้นในจีนได้กระทบกับธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างมาก ในจำนวนนี้ที่ ๑๓๐ จาก ๒๕๔ บริษัทยังระบุด้วยว่าการระดมทรัพยากรบุคคลกลายเป็นปัญหาและความท้าทายสูงสุดที่ธุรกิจต้องเผชิญในสภาวะทางเศรษฐกิจดังกล่าวซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นอานิสงค์จากค่าแรงที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจจีน

ด้วยเหตุนี้ สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจในจีนจึงถือได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กล่าวคือ การที่ค่าแรงสูงขึ้นทำให้การแข่งขันภายในหลายตลาดที่บรรษัทข้ามชาติเป็นผู้นำตลาดอยู่ก่อน มีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างบริษัทจีนเข้ามาแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่ ทำให้การแข่งขันในแต่ละตลาดเพิ่มความยากและความดุเดือดมากขึ้น

การพากันเลื่อนชั้นทางการแข่งขันของบริษัทจีน

ประเทศจีนได้กำลังเลื่อนชั้นทางการผลิตและการทำธุรกิจของตนในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม นี่เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญรวมถึงหอการค้าของชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ต่างเห็นพ้องตรงกัน ซึ่งนี่ก็ได้ส่งเสริมให้การทำธุรกิจของต่างชาติในจีนเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยคำว่าห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม(Value Chain)ในที่นี้เปรียบเหมือนกับห่วงโซ่อาหารในระบบชีววิทยาที่จีนจะไม่คงความเป็นผู้ผลิตอาหารหรือผู้ล่าในระดับล่างอีกต่อไป แต่ในหลายภาคส่วนของธุรกิจจีนกำลังเลื่อนระดับชั้นขึ้นมาเป็นผู้ล่าในระดับที่สูงขึ้น นั่นหมายถึง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทจีนเหล่านี้ทั้งในด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคล การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ฯลฯ ได้พัฒนาขึ้นจนสามารถไล่กวดหลังเหล่าบริษัทข้ามชาติซึ่งอยู่ในตำแหน่งห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มระดับสูงในระบบเศรษฐกิจได้แล้ว

ซึ่งการเลื่อนชั้นทางห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มดังกล่าวทำให้เหล่าบรรษัทข้ามชาติต่างสูญเสียตำแหน่งความได้เปรียบในตลาดไปบางส่วน แต่เดิมนั้นวิธีการที่เหล่าบริษัทตะวันตกจะใช้ในการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดก็ด้วยการรักษาระยะห่างทางเทคโนโลยีไม่ให้บริษัทจีนตามทันได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในสภาวะดังกล่าว ผู้บริโภคก็จะตระหนักได้ว่าสินค้าจากบริษัทต่างชาติสามารถตอบโจทย์เรื่องของคุณภาพสินค้าและมาตรฐานของการบริโภคได้ในระดับที่สูงกว่าสินค้าของบริษัทจีน แต่ทว่าทุกวันนี้จากสภาพการณ์และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ระยะห่างทางช่องว่างดังกล่าวได้เริ่มจะแคบลง อันเป็นผลจากการเข้าถึงทางเทคโนโลยีที่ง่ายขึ้น การพัฒนาของการวิจัยและบุคลากรในจีน หรือจะเป็นการที่ผู้บริโภคให้การยอมรับคุณภาพสินค้าจีนมากขึ้น ได้ทำให้บริษัทข้ามชาติไม่ได้มีตำแหน่งผูกขาดเบ็ดเสร็จในตลาดดังเช่นเดิมอีก

แม้บริษัทจะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีความคล่องตัวที่มากกว่า

จุดแข็งที่จะทำให้บริษัทจีนสามารถก้าวข้ามคู่แข่งชาวต่างชาติได้ก็คือองค์กรที่มีขนาดเล็กซึ่งทำให้การตัดสินใจและการดำเนินกลยุทธ์เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ประโยคข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจและเคยทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนจีนคงจะทราบเป็นอย่างดี อีกทั้งบริษัทจีนยังมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างยืดหยุ่น จนถึงขั้นในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้เปรียบเปรยความแตกต่างระหว่างบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติไว้ดังนี้ ขณะที่บริษัทต่างชาติง่วนอยู่กับการวางแผนด้านกำหนดการธุรกิจในห้องประชุม ตอนนั้นเองบริษัทคู่แข่งชาวจีนก็ก้าวไปถึงขั้นกำลังพูดคุยกับลูกค้าเพื่อปิดการขายแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่าบริษัทจีนเป็นต่อในเรื่องของความเร็วและความคล่องตัว นอกจากนี้ บริษัทจีนยังมีความกล้าเสี่ยงและมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้กลยุทธ์ต่างๆที่พลิกแพลงเนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังดำเนินการด้วยผู้ก่อตั้งในชุดแรกทำให้มีความตื่นตัวในการทำธุรกิจสูง กล่าวโดยสรุปจะพบว่าด้วยขนาดทางการบริหารจัดการที่กะทัดรัดกว่านี้เองได้ทำให้บริษัทจีนมีความเหมาะสมที่จะประกอบธุรกิจในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังเช่นประเทศจีน

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าบริษัทจีนยังคงห่างชั้นอยู่

แม้บริษัทจีนจะมีพัฒนาการที่น่าตกใจช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่าผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดระดับโลกก็ยังยืนยันว่ามีเพียงบริษัทจีนไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่จะสามารถเทียบความแข็งแกร่งของแบรนด์สินค้าได้กับแบรนด์ต่างชาติระดับโลก ถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำยืนยันจากกกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการในจีน โดย Eric Schmidt ประธานของกลุ่มเครือข่ายฯกล่าวเสริมว่า เพียงดูจากจำนวนทุนที่บริษัทยักษํใหญ่ระดับโลกทุ่มไปที่การวิจัยและพัฒนา(Research and Development)รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์(Product Design) ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัทจีนที่ยังถือว่าแบเบาะในโลกธุรกิจจะมาแข่งขันในระดับเดียวกันได้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นบริษัท Procter& Gamble ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคจากสหรัฐฯซึ่งปัจจุบันได้ขยายกิ่งก้านสาขาผลิตภัณฑ์ครอบคลุมแล้วแทบทุกกลุ่มตลาดในจีน หรือจะเป็นบริษัทกลุ่มธุรกิจบริการด้านอาหารอย่าง KFC หรือ McDonald ที่สามารถพลิกแพลงและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของตลาดทั่วประเทศจีนจนดูเหมือนเป็นผู้ผูกขาดด้านธุรกิจฟาสต์ฟูดส์ในจีนแล้ว ซึ่งจากตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมา จะเห็นว่าบริษัทจีนยังคงเป็นรองอยู่มากในเรื่องของประสบการณ์และเงินทุน

ซึ่งจากความเสียเปรียบทางธุรกิจที่ยังห่างชั้นอยู่นี้จะพบว่าบริษัทจีนพร้อมที่จะลบจุดด้อยดังกล่าวด้วยการเข้าครอบครองแบรนด์ดังแทนที่จะสร้างแบรนด์ดังขึ้นมาเอง ทั้งนี้บริษัทจีนก็พร้อมที่จะเข้าซื้อแบรนด์สินค้าจากต่างชาติเช่นกันหากว่าบริษัทตนไม่สามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้นมาเองได้ โดยปัจจุบันบริษัทจีนต่างตระหนักถึงพลังของแบรนด์สินค้าว่ามีความสำคัญและกำหนดการแพ้ชนะในธุรกิจได้แค่ไหน นอกจากนี้ แบรนด์สินค้ายังถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้แก่สินค้าและบริการของบริษัท และแน่นอนเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์หล่าผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเลือกสินค้าที่แบรนด์มากกว่าการใช้งานของผลิตภัณฑ์ได้ดี ซึ่งบริษัทจีนต่างก็ทุ่มเทในการพัฒนาแบรนด์สินค้าของตนให้ดังติดตลาดอย่างเต็มที่ หากว่าบริษัทเหล่านี้พบว่าแบรนด์ของตนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันไม่เพียงพอและตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างมาก บริษัทก็เลือกที่จะเข้าไปซื้อแบรนด์(ซื้อสิทธิ์การใช้)จากบริษัทต่างชาติแทนการพัฒนาแบรนด์ที่ดูไม่มีอนาคตทางการตลาดดีกว่า

บทสรุป : บริษัทจีนกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

การที่บริษัทเอกชนจีนเข้าไปลงทุนแข่งขันในภาคธุริจที่ต่างชาติเคยผูกขาดอยู่เป็นแนวโน้มที่ปรากฎชัดในตลาดจีนแล้ว แม้ว่าสถานการณ์ของตลาดในปี ๒๕๕๕ จะชะลอตัวลงตามดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวที่ปรากฎออกมา ภายใต้ภาวะดังกล่าว ทั้งบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติต่างพร้อมที่จะตัดทอนการลงทุนหรือลดขนาดของบริษัทลงเช่นกันหากว่าจะทำให้สามารถนำหน้าคู่แข่งไปได้อีกก้าวหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เองกลับเสริมให้การแข่งขันในตลาดทวีความเข้มข้นขึ้น ถ้าหากเรามองในภาพรวมจะพบว่า ด้านบริษัทจีนแม้ว่าเป็นเจ้าถิ่นแต่ก็ต้องประสบปัญหาในการทำธุรกิจที่ไม่ต่างจากต่างชาติในเรื่องตลาดที่ซบเซา ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น หรือการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล จะมีจุดแข็งก็คือเรื่องความคล่องตัวและเข้าถึงตลาดได้เป็นอย่างดี ส่วนบริษัทต่างชาติแม้จะเสียเปรียบบ้างเนื่องจากอยู่ในฐานะผู้มาเยือน แต่ก็ยังมีภาษีดีกว่าในด้านการสามารถเข้าถึงตลาดโลก(Global Reach)ซึ่งเป็นฐานการตลาดหลักของบริษัท

ท้ายที่สุด ถ้าบริษัทจีนต้องการไล่กวดเพื่อเข้าใกล้บริษัทต่างชาติให้มากขึ้น จะทำได้ก็ด้วยการเข้าไปลงทุนโดยตรงในประเทศต่างๆ เพื่อค่อยๆเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน โดยจะเห็นว่าการที่จีนเข้าไปเป็นผู้เล่นในตลาดโลกที่มากขึ้นย่อมมีความสำคัญ เนื่องจากจะทำให้บริษัทจีนซึ่งยังเยาว์วัยในตลาดโลกนี้สามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของผู้บริโภคชาวต่างชาติได้มากขึ้น รวมถึงเป็นอีกหัวขบวนหลักที่จะช่วยชักนำเศรษฐกิจโลกให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

๔ มิถุนายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ