รัฐบาลและภาคการธนาคารเร่งออกนโยบายกระตุ้นการทำธุรกรรมด้วยเงินหยวน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 14:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รัฐบาลและภาคการธนาคารเร่งออกนโยบายกระตุ้นการทำธุรกรรมด้วยเงินหยวน

หลังจากที่ปริมาณเงินฝากในรูปเงินหยวนในฮ่องกงลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ ๔ รัฐบาลและภาคการธนาคารของฮ่องกงได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนหันมาทำธุรกิจด้วยเงินหยวนมากขึ้น

Hong Kong Monetary Authority (HKMA) และตัวแทนจากธนาคาร ๗ แห่งในฮ่องกงได้หารือกับกระทรวงการคลังของอังกฤษเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจเงินหยวน อาทิ การส่งเสริมการใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศ การขยายช่องทางการลงทุนด้วยเงินหยวน การเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปเงินหยวน นอกจากนี้ ฮ่องกงยังได้ขยายเวลาการชำระเงินระหว่างประเทศถึง ๒๓.๓๐ น. เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในกรุงลอนดอน ทั้งนี้ นาย Benjamin Hung ผู้บริหารสูงสุดธนาคาร Standard Chartered ฮ่องกง ให้ความเห็นว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการผลักดันเงินหยวนสู่การเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ คือ การส่งเสริมการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเงินหยวน เนื่องจากจีนมีปริมาณการชำระเงินระหว่างประเทศในแต่ละปีจำนวนมาก

HKMA ได้ผ่อนปรนข้อจำกัดด้านฐานะสุทธิของตลาดเงินหยวน (yuan net open position: NOP) ทำให้ธนาคารในฮ่องกงสามารถกำหนดฐานะสุทธิของตลาดเงินหยวนได้เองโดยผ่านการอนุมัติจาก HKMA ซึ่งนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของเงินหยวนในภาคการธนาคาร และช่วยลดต้นทุนของกองทุนเงินหยวนในตลาดระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ยังมีนโยบายบริหารจัดการหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อส่งเสริมธุรกรรมการซื้อคืนหลักทรัพย์ในรูปเงินหยวน (yuan repo-transaction) ซึ่งอาจจะประกาศใช้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ๒๕๕๕

นาย Raymond Yeung นักเศรษฐศาสตร์จาก ANZ ให้ความเห็นว่า การผ่อนปรนนโยบายเกี่ยวกับเงินหยวนในช่วงที่จำนวนเงินฝากในรูปเงินหยวนในฮ่องกงลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากแผนการเปิดจำหน่ายพันธบัตรในรูปเงินหยวนจะทำให้ตลาดเงินหยวนมีสภาพคล่องลดลงอีก นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถนำนโยบายอื่นๆ ในการกระตุ้นเงินหยวนมาใช้ อาทิ การเพิ่มโควตาการซื้อเงินหยวนของชาวฮ่องกง การขยายโครงการกู้ยืมเงินหยวนข้ามพรมแดนไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจีน และการเพิ่มโควตาการซื้อพันธบัตรในรูปเงินหยวนในจีนของธนาคาร เป็นต้น ข้อดีของการใช้เงินหยวนในการค้ากับประเทศจีนมี ดังนี้

๑. ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

๒. ไม่ต้องทำประกันความเสี่ยง (hedging)

๓. ลดค่าใช้จ่ายจากสำรองความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้คู่ค้าสมารถต่อรองราคาสินค้าได้ง่ายขึ้น

๔. ไม่ต้องอ้างอิงเงินดอลลาร์สหรัฐ

๕. ลดขั้นตอนการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

สำหรับโครงการนำร่องใช้เงินสกุลหยวนทำการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนสอดรับการที่ทางการจีนอนุญาตให้ชาวจีนที่อยู่บริเวณชายแดนสามารถข้ามไปซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (การค้าชายแดน) ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ ๓,๐๐๐ หยวน/ต่อคน โดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นวันละไม่เกิน ๘,๐๐๐ หยวน/ต่อคน การเพิ่มวงเงินนี้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือน ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ รวมทั้ง ข้อมูลสถิติการค้าชายแดนกับกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า การค้าระหว่างจีนกับประเทศเวียดนามมากกว่าร้อยละ ๙๐ ใช้สกุลเงินหยวนในการชำระเงิน นอกจากนี้ สกุลเงินหยวนสามารถใช้ได้ทั่วประเทศเวียดนาม และธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (The State Bank of Vietnam) ได้เปิดบริการการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการฝาก-ถอนสกุลเงินหยวน

ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากผลสำรวจ ณ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ ประเทศจีนเป็นตลาดผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเป็นมูลค่ากว่า ๑๖,๑๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนมีมูลค่าสูงถึง ๑๗,๐๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน บริษัทไทยเป็นจำนวนมากหันมาพิจารณาใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างในกรณีผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยนำเข้าเครื่องจักรจากประเทศจีนก็สามารถเจรจาต่อรองราคาซื้อขายเป็นสกุลเงินหยวนได้ ทำให้คู่ค้าไม่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนเงินอีกต่อไป จะเป็นการลดการเสียเงินจากค่าแลกเปลี่ยนเงิน ๓ ครั้ง จากบาทเป็นดอลลาร์ จากดอลลาร์เป็นหยวน รวมทั้งไม่เสียส่วนต่างจากการซื้อขายเงินหยวนที่แต่ละธนาคารจะคิดแตกต่างกันไปด้วย

หมายเหตุ

พื้นที่โครงการนำร่อง ๒๐ แห่ง ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มณฑลเหลียว หนิง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลซานตง มณฑลหูเป่ย มณฑลกว่างตง เขตปกครองตนเองชนชาติกว่างซีจ้วง มณฑลไห่หนาน นครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลจี๋หลิน มณฑลเฮยหลงเจียง เขตปกครองตนเองทิเบต และเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

๕ มิถุนายน ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ