สินค้าอาหารฮาลาลในตลาดอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 28, 2012 11:24 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สินค้าอาหารฮาลาลในตลาดอินโดนีเซีย

สินค้าอาหารฮาลาล หมายถึง อาหารที่ไม่มีส่วนผสมขององค์ประกอบและวัตถุดิบต่างๆ ที่เป็นที่ ต้องห้ามหรือขัดกับหลักการและกฎหมายของอิสลาม (Islamic Law) หรือเรียกว่า Haram Food/Material และไม่เป็นอาหารที่เป็นที่ต้องห้ามของชาวมุสลิม (หมู แอลกอฮอล์ สัตว์ที่ตายแล้ว ร่างกายมนุษย์) รวมทั้งไม่เป็นอาหารที่มีขบวนการและวิธีการผลิตที่ขัดกับหลักการและกฎหมายของอิสลาม เช่น สัตว์ที่ มิได้ผ่านการเชือด และสัตว์ที่ผ่านการเชือดอย่างไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลาม ทั้งนี้ ส่วนผสมที่เป็น สิ่งต้องห้ามจะรวมถึงสารต่างๆ ที่ได้จากส่วนประกอบของสัตว์ต้องห้ามโดยเฉพาะจากหมู เช่น กระดูก เลือด ไขมัน หนัง เครื่องใน โดยมีรายละเอียดของสิ่งต้องห้าม (Haram Food/Material - แผนผังที่ 1) เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตเจลลาตินจากหนังหมู เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตกลิ่น และส่วน ประกอบของไอศกรีม โยเกิร์ต ลูกอม เจลลี่ แคปซูลอาหารและยา เครื่องสำอางค์ ไส้กรอก ซึ่งหากไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานอิสลามก็ไม่ถือว่าเป็นอาหารฮาลาล

1. โอกาสทางการตลาด

1.1 ขนาดของตลาดอาหารฮาลาล

ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของอินโดนีเซียมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ทั้งในด้านการผลิตและการบริโภค เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่มีประชากรประมาณ 240 ล้านคน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 2,900 เหรียญสหรัฐ และประชากรร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น สินค้าอาหารฮาลาลทั้งที่อินโดนีเซียผลิตเองได้ และนำเข้าประมาณร้อยละ 90 จะเป็นสินค้า อาหารฮาลาล นอกจากนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (ปี 2011 อัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 6.5) ตลาดที่มีลู่ทางดีจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง และรายได้ปานกลาง-สูง (Upper Middle Class) โดยผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะคนจีน-อินโด ซึ่งจะอาศัยอยู่ในเมืองจาการ์ตา สุราบายา และเมืองเมดาน ที่เป็นเมืองหลักทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นตลาดที่สามารถรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำด้วย โดยเป็น ตลาดขนาดใหญ่อันดับ 4 ของจีนที่ต้องการนำสินค้าอาหารราคาถูกมาขยายตลาดนี้ รวมทั้งยังเป็นตลาด ที่มีศักยภาพในการลงทุนของบริษัทอาหารข้ามชาติรายใหญ่ของโลก เช่น Danone Group จากประเทศฝรั่งเศส Nabisco International จากสหรัฐอเมริกา และ Arnott’s Biscuit จากประเทศออสเตรเลีย และยังเป็นตลาดที่มีการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเข้ามาบริโภค และนำมาผลิตเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม อาหารด้วย

1.2 การนำเข้าและการบริโภค โดยในปี 2011 อินโดนีเซียมีการนำเข้าสินค้าหมวดอาหาร คิดเป็นมูลค่า 8,707.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็นสัดส่วน 7.58 % ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 114,863.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นการนำเข้า 2 ประเภท ได้แก่

1) วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (Auxiliary Materials) มีมูลค่า 5,155.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นวัตถุดิบที่ยังไม่แปรรูปมูลค่า 2,925.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และ วัตถุดิบที่ผ่านการแปรรูปที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมูลค่า 2,229.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยวัตถุดิบ ที่นำเข้าส่วนใหญ่ร้อยละ 90-95 เป็นอาหารฮาลาล ได้แก่ ธัญพืช แป้งสาลี ข้าวโพด นม ถั่วเหลือง ทั้งนี้เพราะกำลังการผลิตวัตถุดิบดังกล่าวในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะนำไปผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการอาหารของผู้บริโภค

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าวัตถุดิบบางประเภท เช่น แป้งสาลี ซึ่งยกเลิกมาตรการดังกล่าวในปี 1998 ทั้งนี้ ธัญพืช และแป้งสาลี ถือเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญในการผลิต บะหมี่สด บะหมี่สำเร็จรูป ขนมปัง และ ขนมอบกรอบ ที่เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาว อินโดนีเซีย จึงถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจในตลาดอินโดนีเซีย รวมถึงบริษัท ข้ามชาติ เช่น โคคาโคล่า เป๊ปซี่ ดานอน ที่เข้ามามีอิทธิพลในตลาดอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุตสาหกรรมอาหารบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมบะหมี่สำเร็จรูป ที่ยังครองตลาดโดยบริษัทผู้ผลิตท้องถิ่น ที่สำคัญคือ กลุ่มผู้ผลิตอาหาร IndoFood Group ที่มีส่วนแบ่งการตลาดของบะหมี่สำเร็จรูปสูงถึง 70% ของมูลค่าตลาดรวม 1.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ปริมาณการบริโภครวม 1 ล้านตันต่อปี ขณะที่อุตสาหกรรมเบเกอรี่และขนมอบ (Bakery and Pastry Industry) แต่เดิมเป็นของผู้ผลิตท้องถิ่นแบบดั้งเดิมรายเล็ก ๆ แต่ต่อมามีบริษัทข้ามชาติจากสิงคโปร์ Breadtalk ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดนี้ ที่สามารถขยายสาขาอย่างรวดเร็วด้วยระบบแฟรนไชส์ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมเบเกอรี่ยังคงเป็นการผลิตในครัวเรือน ร้านสมัยใหม่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 4 % ของตลาดในประเทศทั้งหมดที่มีขนาดของตลาดรวมที่มากถึง 1.3 ล้านตันต่อปี

2) อาหารที่นำเข้ามาเพื่อบริโภคในครัวเรือน (Food for Households) มีมูลค่า 3,552 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น อาหาร/เครื่องดื่มพื้นฐานในการบริโภคของครัวเรือนมูลค่า 1,267.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และอาหาร/เครื่องดื่มที่ใช้ในการผลิตของครัวเรือนมูลค่า 2,284.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ อาหารส่วนใหญ่ที่นำเข้าจะเป็นอาหารที่สามารถผลิตได้ในประเทศแต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความ ต้องการของผู้บริโภคในประเทศ หรือผลิตได้แต่เสียเปรียบด้านต้นทุนการผลิต ดังนั้นจึงต้องนำเข้า ทั้งสินค้าอาหารสำเร็จรูป และปัจจัยการผลิตบางส่วนจากต่างประเทศ เช่น ข้าว ขนมขบเคี้ยว ขนมอบกรอบ ลูกกวาด บะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น โดยสินค้าอาหารส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งมีความได้ เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมถึงการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เช่น มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้านำเข้าจากจีนมักจะมีปัญหาด้านคุณภาพที่พบสารเคมี/สาร อันตรายเจือปนอยู่ในอาหาร เช่น ฟอร์มารีน ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

2. พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอาหารฮาลาล

1 ด้านผลิตภัณฑ์

เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80-85 ของอินโดนีเซีย นับถือศาสนาอิสลาม และมีรายได้น้อย จึงนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทไก่ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูก (จากข้อมูลของบริษัท CP Group Indonesia ชาวอินโดนีเซียบริโภคเนื้อไก่ประมาณ 6 กิโลกรัม/คน/ปี) ขณะที่เนื้อวัวมีราคาค่อนข้างแพง และอาหารทะเลก็มีราคาสูง นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมอาหาร ที่ทำมาจากแป้ง โดยมีอัตราการบริโภคแป้งสาลีสูงถึง 17.7 กิโลกรัม/คน/ปี ได้แก่ บะหมี่สดและสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว อาหารจำพวกเส้น (Pasta) ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว ขนมอบกรอบ อาหารส่วนใหญ่ที่นิยม เป็นอาหารประเภทผัดหรือทอด (Goreng) ที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก ทั้งข้าวผัด หรือ ของทอดประเภททต่าง ๆ เช่น กล้วยทอด ข้าวโพด เผือก เต้าหู้ รองลงไป คือ อาหารประเภทย่าง (สะเต๊ะ : Sate เช่น ไก่สะเต๊ะ หรือ เนื้อสะเต๊ะ) รวมถึงอาหารประเภทต้ม เช่น SOTO ข้าวต้ม เป็นต้น

สินค้าอาหารของไทยจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้บริ โภคให้การยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี เช่น ผลไม้สดและแปรรูป ข้าวสาร ผลไม้กระป๋อง ซอสปรุงรสต่างๆ น้ำพริกเผา และของขบเคี้ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มมุสลิมจะให้ความสำคัญกับเครื่องหมายฮาลาลที่ติดบนผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีส่วนผสม/สารต้องห้าม (HARAM MATERIAL) ที่ขัดกับหลักศาสนา โดยสินค้าที่ผลิตในประเทศจะมีเครื่องหมายฮาลาลที่ออกให้โดยหน่วยงานรับรองฮาลาลของอินโดนีเซีย (MUI) อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารนำเข้าที่ติดเครื่องหมายฮาลาลที่ออกโดยหน่วยงานรับรองฮาลาลของแต่ละประเทศ จะต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองการตรวจสอบ/การออกเครื่องหมายฮาลาลจากหน่วยงานรับรองฮาลาล ของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในการนำเข้าสินค้าอาหารฮาลาลจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับตามกฎระเบียบของ หน่วยงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย (BPOM) ด้วย กล่าวคือ สินค้าที่นำเข้าได้จะต้องมีหมายเลข ML เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่วนสินค้านำเข้าจะติดหรือไม่ติดเครื่องหมายฮาลาลก็ไม่ได้เป็นกฎระเบียบ บังคับในการนำเข้าแต่อย่างใด แต่หากไม่มีหมายเลขทะเบียนอาหารและเครื่องดื่ม จะไม่สามารถนำเข้ามา จำหน่ายได้

2. ด้านราคา

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก เนื่องจากรายได้ที่ค่อนข้างน้อย อัตราค่าจ้างต่ำ จึงมักเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูก หรือมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา ขณะที่ผู้บริโภคที่มี รายได้สูงคิดเป็นสัดส่วน 10-15 % ของประชากรทั้งหมด มีอำนาจซื้อสูงมาก จะให้ความสำคัญกับตัว ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ตราสินค้า คุณภาพ รสชาติ ความแปลกใหม่ ความทันสมัย การออกแบบของร้าน คุณประโยชน์จากสินค้ามากกว่าราคา ดังนั้น สินค้าอาหารฮาลาลของไทยจึงเป็นที่ยอมรับ และมีรสชาติ ถูกปากของผู้บริโภคอินโดนีเซีย โดยสินค้าอาหารฮาลาลของไทยส่วนใหญ่จะวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต

3. ด้านการจัดจำหน่าย

ผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือ กลุ่มที่มีรายได้สูง จะนิยมบริโภคอาหารนอกบ้านที่เป็น อาหารฮาลาลตามศูนย์การค้าและร้านอาหาร ทั้งที่เป็นของท้องถิ่นและสาขาจากต่างประเทศ ดังนั้น ร้านอาหารส่วนใหญ่ แม้แต่ร้านอาหารไทย ก็มักจะต้องเปลี่ยนเมนูเป็นอาหารฮาลาลทั้งหมด โดยไม่มีอาหาร /สิ่งปนเปื้อนที่มิใช่อาหารฮาลาลอยู่ในร้าน ซึ่งหน้าร้านจะติดคำว่า “NO PORK” จึงจะเป็นที่ยอมรับ และมั่นใจว่าปลอดภัยจากการบริโภคอาหารในร้าน ในขณะที่คนที่มีรายได้น้อยจะนิยมบริโภคที่ร้านอาหาร ซุ้มอาหาร หรือ รถเข็นขายอาหารขนาดเล็กตามท้องถนน สำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป จะนิยมจับจ่ายสินค้าอาหารที่ ไฮเปอร์มาเก็ต (คาร์ฟูร์, ล๊อตเต้) และซุปเปอร์มาร์เก็ต (Hero, Food Hall, Diamond)

4. ด้านการส่งเสริมการตลาด

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบการส่งเสริมการตลาดประเภทการลดราคา โดยผู้จำหน่ายมักนิยมลดราคา ในช่วงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ โดยเฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่มีผู้บริโภคมาเลือกซื้อสินค้าจำนวนมาก รวมถึงการจัดรายการซื้อ 1แถม 1 หรือ ซื้อ 2 ชิ้นคิดราคา 1 ชิ้น

3. การนำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

สินค้าอาหารฮาลาลที่อินโดนีเซียนำเข้าจากไทย 10 อันดับแรก ในปี 2010 ได้แก่

1) น้ำตาลทราย นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 333.70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ร้อยละ 7.15 ของการนำเข้าน้ำตาลทรายทั้งหมด เนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ

2) แป้ง (Strach) ต่างๆ นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 69.046 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ร้อยละ 77.28 ของการนำเข้าแป้งสตาร์ชทั้งหมด เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และ ปริมาณการผลิตแป้งในประเทศไม่เพียงพอ

3) ผลไม้สด นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 51.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 1.09 หรือประมาณกว่าร้อยละ 90 ของการนำเข้าผลไม้สดทั้งหมด ทั้งนี้ ผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมได้แก่ ทุเรียน (หมอนทอง) ลำไย มะขามหวาน มะม่วง (เขียวเสวย) ฝรั่ง ชมพู่ มะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ เป็นต้น เนื่องจากความนิยมในผลไม้ไทยที่มีคุณภาพดี และมีความหลากหลาย

4) ข้าว นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 74.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 1.6 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด เนื่องจากนำเข้ามาแปรรูปในการผลิตอาหารสำเร็จรูปต่างๆ

5) ข้าวโพด นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 30.625 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 11.03 ของการนำเข้าข้าวโพดทั้งหมด

6) หัวหอม กระเทียม สด/แช่เย็น นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 16.691 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 11.50 ของการนำเข้าหัวหอม กระเทียม สด/แช่เย็นทั้งหมด

7) น้ำ / เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีรสหวาน นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 13.086 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 33.17 ของการนำเข้า น้ำ / เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีรสหวานทั้งหมด

8) แป้งที่ใช้ในอุตสาหกรรม นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 11.786 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 10.08 ของการนำเข้าแป้งที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งหมด

9) สารปรุงแต่งในอาหารสัตว์ นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 9.253 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 5.06 ของการนำเข้าสารปรุงแต่งในอาหารสัตว์ทั้งหมด

10) นม และครีม นำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 7.316 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 1.82 ของการนำเข้านม และครีมทั้งหมด

4. อาหารฮาลาลของไทยที่มีศักยภาพในการนำเข้า

เนื่องจากสินค้าอาหารของไทยได้รับความเชื่อถือ และไว้วางใจจากผู้บริโภคของอินโดนีเซีย ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี ดังนั้น สินค้าอาหารจากไทย จึงถือเป็นสินค้าที่มีโอกาสในตลาดอินโดนีเซีย สำหรับสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดนี้ ได้แก่ น้ำตาล ผัก/ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป เช่น ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ ทุเรียนกวน/อบกรอบ มะขาม บะหมี่สำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

5. กฎระเบียบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารฮาลาล

1. กฎระเบียบว่าด้วยการแต่งตั้งสถาบันตรวจสอบอาหารฮาลาล ตามพระราชกฤษฎีกาของกระทรวง การศาสนา (Ministry of Religious Affairs) เลขที่ 519/2001 และเลขที่ 518/2001 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 (เอกสารแนบ 1-2) สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ แต่งตั้งให้ The Indonesian Ulemas Council (MUI) เป็นหน่วยงานตรวจสอบอาหารฮาลาลทั้งที่ผลิตและนำเข้ามาเพื่อการจำหน่ายในอินโดนีเซีย โดยจะมีการ ตรวจสอบตั้งแต่ ขบวนการผลิต ห้องแล็บ/ห้องทดสอบ การบรรจุหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ การเก็บสต๊อค ระบบการขนส่ง การจัดจำหน่าย การตลาด ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการออกใบรับรองฮาลาล (Halal Certification) ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอใบรับรองจะต้องใช้แบบฟอร์มตามที่หน่วยงาน MUI กำหนด

ทั้งนี้ หน่วยงาน MUI ได้ก่อตั้งสถาบันอาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ (Institute for Foods, Drugs and Cosmetics (LP.POM-MUI) เพื่อกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ข้อแนะนำ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ยา และเครื่องสำอางที่ผู้บริโภคมุสลิมต้องบริโภค และใช้ให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะการผลิตอาหาร การเชือดสัตว์เพื่อการบริโภค และการได้รับการรับรองฮาลาล ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตจะต้องสร้างระบบความมั่นใจในการเป็นฮาลาล อย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบ Halal Assurance System (HAS) ภายในโรงงานผลิตของตนเองด้วย

2. กฎระเบียบว่าด้วยการแต่งบริษัทรับวิสาหกิจในการพิมพ์ฉลากเครื่องหมายฮาลาล ตามพระราช กฤษฎีกาของกระทรวงการศาสนา (Ministry of Religious Affairs) เลขที่ 525/2001 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2544 (เอกสารแนบ 3) สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ คือ มีการแต่งตั้งให้ State — Owned Money Printing Company (PERUM PERURI) เป็นผู้จัดพิมพ์ฉลากฮาลาลที่ติดอยู่กับบรรจุภัณฑ์ของอาหารฮาลาล ที่จำหน่ายในอินโดนีเซีย

3. กฎระบียบว่าด้วยรายชื่อหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาลของต่างประเทศที่ได้รับการรับรอง ตามพระราชกฤษฎีกาของคระกรรรมการมาธิการอิสลามอินโดนีเซีย (Indonesian Council of ULAMA (ICU) เลขที่ D-410/MUI/X/2009 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2552 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ (เอกสารแนบ 4)

3.1 หน่วยงาน MUI ได้กำหนดรายชื่อหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาลของต่างประเทศ ที่ได้รับการรับรองจาก MUI ซึ่งมีผลบังคับใช้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกพระราชกฤาฎีกา คือตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2552 โดยหน่วยงานดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนด รวมทั้งขั้นตอนการตรวจ สอบอาหารฮาลาลของ MUI

3.2 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) เป็นหนึ่งในรายชื่อของหน่วยงาน ตามข้อ 1 ที่ได้รับการรับรองจาก MUI โดยได้รับการรับรอง 2 กลุ่มเท่านั้น คือ 1. การฆ่าสัตว์ (Slaughtering) และ 2. อาหารที่ผ่านกระบวนการ (Processing Food) ทั้งนี้ อุตสาหกรรมผลิตกลิ่นอาหาร (Flavor Industry) นั้น คณะกรรมการกลางอิสลามฯ ของไทยยังมิได้มีรายชื่อที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงาน MUI โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนและกระบวนการตวจสอบ ซึ่งจะประกาศการรับรองต่อไป

4. กฎระเบียบว่าด้วยการขึ้นทะเบียนอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้ง ส่วนผสมของอาหาร ตามกฎระเบียบของ The Minister of Health เลขที่ 382/MENKES/PER/VI/1989 (เอกสารแนบ 5-6) โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องยื่นขอหมายเลขทะเบียนอาหารและเครื่องดื่ม (Merk Luar : ML No.) จากหน่วยงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย (BPOM) สำหรับสินค้าที่ผลิต/นำเข้า เพื่อการจำหน่าย ในอินโดนีเซีย

5. มาตรการใบอนุญาตนำเข้า (Special Import Licensing : NPIK) สำหรับสินค้าเกษตร ได้แก่ น้ำตาล ถั่วเหลือง ข้าวโพด เป็นต้น โดยผู้นำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้า และต้องจดทะเบียน /มีเลขทะเบียนของผู้นำเข้า ซึ่งมีหลายประเภท ได้แก่ PMDN หรือ PMA หรือ PMAA

6. มาตรการด้านสุขอนามัย (Food Safety : SPS) เช่น ผลไม้ต้องระบุในใบรับรองว่าเพาะปลูกในบริเวณที่ปราศจากแมลงวันทอง และปลอดจากสารเคมี และโลหะหนัก เป็นต้น

ทั้งนี้ หน่วยงาน MUI แจ้งว่า สินค้าที่ผลิตและนำเข้ามาเพื่อการจำหน่ายในอินโดนีเซียประมาณ 30,000 ชนิด หรือร้อยละ 80 ยังไม่มีใบรับรองฮาลาล

6. ช่องทางการกระจายสินค้าและการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาล

1. สินค้าอาหารกว่าร้อยละ 90 จะนำเข้าโดยผ่านผู้นำเข้าทั่วไป (General Importer) และ บริษัทการค้า (Trader)

2. การจัดจำหน่ายของสินค้าอาหารที่นำเข้า จะขายผ่านตัวแทนจำหน่าย 3 ประเภท ได้แก่

1) ตัวแทนจำหน่ายแต่พียงผู้เดียว (Sole Distributor)

2) ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง (Official Appointed Distributor)

3) การขายผ่านตัวแทนการขาย (Sale Agent)

อนึ่งซุปเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียมักจะไม่นำเข้าโดยตรงจากผู้ผลิต/ส่งออกของต่างประเทศ แต่จะซื้อผ่านผู้นำเข้า/ตัวแทนจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากการเป็นผู้นำเข้าเองต้องยื่นขออนุญาตตามกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งผู้บริหารของซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ต้องการรับผิดชอบกับภาระต้นทุน และปัญหาที่เกิดจากการนำเข้าเองโดยตรง ดังนั้น ขอให้ผู้ส่งออกไทยติดต่อโดยตรงกับผู้นำเข้า/บริษัทการค้า ในการเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ในอินโดนีเซีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงจาการ์ตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ