HOT TOPIC: รัฐบาลอินโดนิเซียสร้างมาตการจำกัดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 28, 2012 11:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

HOT TOPIC: รัฐบาลอินโดนิเซียสร้างมาตการจำกัดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มส่งสัญญาณการออกกฎระเบียบใหม่ในการจำกัดปริมาณการนำเข้าจำพวกสินค้าสำเร็จรูปจากผู้นำเข้าทั่วไป (Traders) เพื่อเป็นการปกป้องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ โดยในวันศุกร์ที่ 13 เมษายนผ่านมา ณ สำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า นาย กิตา วีรชาวัน (Gita Wirjawan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานการลงทุน (BKPM) ได้กล่าวแถลงว่า อินโดนีเซียมีแผนจะออกมาตรการเข้าควบคุมตลาดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากผู้นำเข้ารายย่อย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนนักลงทุนที่ได้เทเงินทุนจำนวนมากในการลงทุนในภาคการผลิตในประเทศ ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะเริ่มมีการบังคับใช้ภายปลายปี 2555 นี้ และกฎระเบียบดังกล่าวอาจมีผลต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในหลายประเภทครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปนำเข้าสำคัญ จำพวกอาหารและเครื่องดื่ม, สิ่งทอ, ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลอินโดนีเซียจะอนุญาตให้ผู้ผลิตหลัก (Producers) สามารถนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปในช่วงระยะเวลาเชื่อมต่อ จนกว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสามารถถูกผลิตได้เพียงพอตามความต้องการตลาดโดยผู้ผลิตภายในประเทศ

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาหลังมีการเซ็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประชาคมอาเซียนอันรวมถึงประเทศสมาชิกอย่างอินโดนีเซียกับประเทศจีน (ASEAN CHINA-FTA หรือ AC-FTA) ผู้ผลิตอินโดนีเซียได้แสดงที่ท่าไม่พอใจมาโดยตลอดเกี่ยวกับผลกระทบทางการค้าระหว่างจีนกับอินโดนีเซียภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี AC-FTA โดยร้องว่าข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้มีการไหลบ่าเข้าของสินค้าสำเร็จรูปต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับสินค้าสำเร็จรูปในประเทศ ซึ่งทางผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียเองได้พยายามดำเนินการยื่นคำร้องอย่างต่อเนื่องที่จะผลักดันให้รัฐบาลอินโดนีเซียพิจารณาการออกมาตรการจำกัดการนำเข้าของสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ อันจะส่งผลในการปกป้องธุรกิจภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการปกป้องจากการไหลเข้าของสินค้าสำเร็จรูปคาถูกจากประเทศจีนซึ่งมีการนำเข้าในปริมาณมาก นาย กิตา วีรชาวัน ยังได้กล่าวย้ำว่า ในการตอบรับกับสถานการณ์ตามหลักขั้นพื้นฐานทั่วไปในฐานะรัฐบาล รัฐบาลอินโดนีเซียเองต้องการสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งนักลงทุนสัญชาติใดก็ตามที่เข้ามาลงทุนภายในประเทศ ที่ประสงค์จะลงทุนในภาคการผลิตในประเทศอินโดนีเซียให้ได้การสนับสนุนมากขึ้นจากทางรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยการออกนโยบายที่จะเอื้ออำนวยนักลงทุนภายในประเทศจากการจำกัดการนำเข้าจากผู้นำเข้าทั่วไปที่มีมูลค่าการลงทุนน้อยกว่าผู้ผลิต

ทั้งนี้กฎระเบียบใหม่ยังจะช่วยส่งเสริมการเพิ่มการผลิตภายในประเทศต่อไปในระยะยาว โดยวางนโยบายควบคู่เพื่อรองรับการปฏิรูปของตลาดภายในประเทศ ซึ่งจะผ่อนผันระยะเวลาของการนำเข้าที่จะยังให้อนุญาตการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากผู้นำเข้ารายย่อยจนกว่าผู้ผลิตภายในอินโดนีเซียจะสามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนจะวางกฎระเบียบใหม่จากการปรับปรุงกฎระเบียบการค้าของกระทรวงฉบับเดิมที่ 39/2010 เรื่องการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งหนึ่งในมาตราในกฎระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกการบังคับใช้ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยการตีความจากศาลฎีกาเนื่องด้วยมีเนื้อหาไปในทางส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป

ตามตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตนับเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักที่มีมูลค่าสูงและส่งผลกระทบโดยตรงกับการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกเหนือกว่านั้นเศรษฐกิจอินโดนีเซียเองยังจัดว่าเป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยในปีนี้คาดว่าภาคเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 7.1 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดได้ดีถึงมูลค่าความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีผลกับการเติบโตของเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย และความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอินโดนีเซียในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ นาย กิตา วีรชาวัน ได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในรายละเอียด เกี่ยวกับรายชื่อสินค้าจำเป็นที่จะยังได้สิทธิอนุญาตในการนำเข้า อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ อธิบดีฝ่ายการค้าต่างประเทศของกระทรวงการค้า นาย แดทดิ ซาเลฮ์ (Deddy Saleh) ได้เผยเป็นนัยๆว่า การนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจะยังคงได้รับอนุญาตในหลายกรณี เช่นในกรณีการนำเข้าจากบริษัทในเครือจากต่างประเทศ (overseas affiliations) ของผู้ผลิตในประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์การทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ๆ หรือในกรณีการนำเข้าเพื่อแลกเปลี่ยนประเภทสินค้าที่ผลิตจากบริษัทในเครือจากต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติ (MNC) และผู้ผลิตที่ได้นำเข้าสินค้าก่อนหน้านี้และจะต้องนำเข้าสินค้าทั้งหมดให้เสร็จสมบูรณ์ (complete their line ups)

รองเลขาธิการของสมาคมผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ (Gabel) นาง ยีอานี คีท (Yeane Keet) เห็นพ้องกับเรื่องการปรับปรุงแผนกฎระเบียบตามแผนรัฐบาล โดยกล่าวว่า รัฐบาลควรจะเข้าควบคุมการนำเข้าสินค้าของผู้นำเข้าทั่วไป(Traders) ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าทั่วๆไปสามารถนำเข้าสินค้าได้หลากหลายประเภทโดยที่ผู้นำเข้าหนึ่งรายสามารถถือใบอนุญาตนำเข้าสินค้าได้มากกว่าหนึ่งประเภท นาง ยีอานี ยังกล่าวทิ้งท้ายในแนวทางเดียวกันว่า อินโดนีเซียควรจะมุ่งเป้าไปที่การผลิตด้วยตนเองซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศในตลาดเวทีโลก

ประธานของสมาคมสิ่งทอแห่งประเทศอินโดนีเซีย (API) นาย อาดิ ซูดราชัต (Ade Sudrajat ) กล่าวในเชิงเปิดรับกับกฎระเบียบใหม่ว่า ทางสมาคมสนับสนุนกฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นได้มีโอกาสเติบโตและจะนำไปสู่การสร้างงานภายในประเทศ อย่างไรก็ตามนาย อาดิ ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลอินโดนีเซียควรให้มีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวดในการเข้าควบคุมการนำเข้าของสินค้าของผู้นำเข้าทั่วไป และรัฐบาลควรเข้าไปให้การดูแลกำกับการไหลเวียนของสินค้าในตลาดภายในประเทศอย่างใกล้ชิด

ตามตัวเลขสถิติจากกรมการส่งเสริมการส่งออก การนำเข้าสินค้าไทยของประเทศอินโดนีเซียในไตรมาสแรกที่ผ่านมายังมีแนวโน้มการเติบโตที่เป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 4.8 หรือมูลค่าประมาณ 2,754 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลช่วงไตรมาสแรกในปี2554 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 126.28ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การออกกฎระเบียบดังกล่าวแม้อาจจะไม่ส่งผลกับผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศรวมทั้งสินค้าจากประเทศไทยมากนักภายในสิ้นปีนี้ แต่มีแนวโน้มที่แน่นอนที่จะส่งผลกระทบทางลบกับผู้นำเข้าสินค้าสำเร็จรูปต่างประเทศรายย่อยในระยะยาว อย่างไรก็ตามกฎระเบียบดังกล่าวก็จะเปิดช่องทางโอกาสที่ชัดเจนสำหรับนักลงทุนข้ามชาติรายใหญ่รวมถึงนักลงทุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยที่ประสงค์จะเข้ามาเปิดฝ่ายการผลิตในประเทศอินโดนีเซียภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ กรุงจาการ์ตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ