ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปต่อตลาดอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 28, 2012 13:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปต่อตลาดอินเดีย

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

อัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2555 (มกราคม-มีนาคม 2555) ชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และคาดว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.7 โดยนอกจากปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีปัญหาโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว สาเหตุหลักของการชะลอตัวดังกล่าว มาจากปัจจัยภายในของอินเดียเอง คือ ความอ่อนแอของภาคการผลิตและภาคการเกษตร รวมทั้งปัญหาในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการคมนาคมขนส่งและกระจายสินค้าที่อินเดียยังคงแย่อยู่มาก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ถึงแม้ว่าจะลดลงจากในปี 2554 ที่สูงถึงร้อยละ 8.9 เหลือร้อยละ 7.2 ในไตรมาสแรกของปี 2555 ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารชาติของอินเดีย (Reserve Bank of India) ต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง

เงินรูปีอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ จากแรงกดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออกจากประเทศอินเดีย ประกอบกับปัญหาต่างๆ ภายในประเทศอินเดียเอง ส่งผลให้ค่าเงินรูปีอ่อนลงอย่างมาก ซึ่งในระยะยาวน่าจะทำให้อินเดียมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการเป็นประเทศเป้าหมายในการลงทุนจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากความล้มเหลวในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ความน่าสนใจที่จะสามารถดึงดูดทุนจากต่างประเทศลดลง และส่งผลให้อินเดียมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นโดยอาจสูงถึงร้อยละ 4 ของ GDP ซึ่งจะทำให้เงินรูปียิ่งอ่อนค่าลงไปได้อีก

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าโดยรวมแล้วสถานการณ์เศรษฐกิจของอินเดียในขณะนี้ยังดีกว่าในช่วงกลางปี ที่ผ่านมา และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินรูปีมีส่วนช่วยให้อินเดียมีรายได้จาการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายที่แท้จริงของผู้บริโภคยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 5-6 และน่าจะขยายตัวมากขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างชัดเจน

ผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปยังตลาดอินเดีย

ผลกระทบทางตรง การอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินรูปีทำให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวมทั้งสินค้าจากประเทศไทยมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบเมื่อคำนวณราคาออกมาเป็นเงินรูปี ทำให้ผู้นำเข้าสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้น และสินค้ามีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่ผลิตในประเทศอินเดียเอง

ผลกระทบทางอ้อม การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอินเดียและอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่มากทำให้ผู้บริโภคอินเดียระมัดระวังด้านการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้านำเข้าที่มีราคาสูงกว่าราคาสินค้าทั่วไปในตลาด

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

มิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ