แนวโน้มอาหารในอิสราเอล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 2, 2012 16:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แนวโน้มอาหารในอิสราเอล

อิสราเอลเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ แต่การผลิตดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงทำต้องมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อมาบริโภค อาหารที่นำเข้าได้แก่ ผักและผลไม้ เช่น พริกเป็บเปอร์ มะเขือเทศ แครอท ทับทิมอโวคาโด ส้ม อินทผาลัม น้ำมันมะกอก น้ำผลไม้ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ เนื้อวัว แกะ เนื้อปลา อาหารแปรรูปต่างๆ เป็นต้น

โดยทั่วไป อาหารในอิสราเอล จะมีลักษณะเด่น คือ เป็นอาหารแบบ Mediterranean and ethnic โดยภูมิศาสตร์ อิสราเอลตั้งอยู่ระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้อาหารอิสราเอลเป็นอาหารผสมผสาน อาหารโคเชอร์ (Kosher) ซึ่งเป็นหลักการของอาหาร “Kashrut” ที่คนยิวรับประทานได้ตามหลักศาสนาจูได โดยจะต้องมีการรับรองว่าอาหารนี้เป็นโคเชอร์ ซึ่งไม่ใช่วิธีการปรุงอาหาร อาหารไทย อาหารเอเชียสามารถเป็นอาหารโคเชอร์ได้เช่นกัน แต่ส่วนผสมต้องเป็นโคเชอร์ อาหารออร์แกนนิค (Organic food) ซึ่งจะมีทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และอาหารแปรรูป เป็นสินค้าที่นิยมมากขึ้นในอิสราเอล จะมีร้านขายสินค้าออร์แกนนิคเฉพาะ ร้านอาหารออร์แกนนิค ในซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีมุมขายอาหารออร์แกนนิค อาหารออร์แกนนิคจะขยายตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคนคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ อิสราเอลยังเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และมีประโยชน์ต่อการบริโภค เพราะมีเทคโนโลยีการเกษตรที่ดี และอาหารเพื่อสุขภาพ (Health food) สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ อิสราเอลมีการผลิตอาหารที่ไม่มีแลคโตส (Lactose Free) หรือ ไม่มีกลูเตน (Gluten Free) สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และช่วงเทศกาล Passover คนยิวจะไม่ทานอาหารที่มีส่วนผสมของยีสต์และกลูเตน

ในอิสราเอล ผู้นิยมบริโภคอาหารเอเซียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารจีน ญี่ปุ่น และไทย ทั้งนี้ คนอิสราเอลจะมาเที่ยวเมืองไทยเป็นจำนวนมากต่อปี จึงทำให้คนอิสราเอลชอบอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยมีรสชาติ มีสมุนไพร และคุณค่าทางอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงไม่ยาก ผู้บริโภคจึงนิยมซื้อเครื่องปรุงไปปรุงเองที่บ้าน จึงทำให้ความต้องการอาหารไทยขยายตัวสูงขึ้น

ปี 2554 อิสราเอลมีการมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดี่ม* รวม 4,938 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 6.7 ของการนำเข้ารวม โดยสินค้าที่นำเข้ามาก คือ ข้าวสาลี เนื้อวัวแช่เย็น แช่แข็ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทราย อาหารแปรรูป บุหรี่และยาสูบ เนื้อปลาแช่เย็น แช่แข็ง ซอสปรุงรสต่างๆ เป็นต้น ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร อิสราเอลมีการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารคิดเป็นมูลค่า 2,140 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของการส่งออกรวม สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ผัก เช่น พริกเป็บเปอร์ น้ำผักและผลไม้ ผลไม่แช่เย็นแช่แข็ง อาหารแปรรูป ส้ม อินทผาลัม อโวคาโด เมล็ดพันธุ์ ไม้ตัดดอก แครอท บิสกิต เป็นต้น

ด้านการนำเข้าไทย ในปี 2554 อิสราเอลนำเข้าอาหารจากไทยมีมูลค่า 101 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็รร้อยละ 2.1 ของการนำเข้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่นำเข้าจากไทยมาก ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ปลาทูน่าปรุงแต่ง น้ำสับปะรด ซอสและของปรุงแต่ง ของผสมที่ใช้ปรุงรส สัปปะรดกระป๋อง เครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอล เส้นก๋วยเตี๋ยว กุ้งแช่เย็น แช่แข็ง เป็นต้น

พฤติกรรมผู้บริโภค

สำหรับคนอิสราเอลที่มีรายได้สูง จะสนใจซื้อสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพหรืออาหารออแกนนิคแม้ว่าคนอิสราเอลจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ โดยจะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ แต่ในระยะที่ผ่านมา คนเริ่มมีรายได้ปานกลางถึงต่ำมีถึงร้อยละ 55 ราคาจึงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ ดังนั้น คนอิสราเอลจะเลือกราคาสินค้าถูกเป็นหลัก หากคุณภาพหรือรสชาติดีกว่าแต่ราคาสูงกว่าเล็กน้อย ก็จะเลือกสินค้านั้น แต่ถ้าราคาต่างกันมาก แต่คุณภาพหรือรสชาติใกล้เคียงกัน ผู้บริโภคจะเลือกที่ราคาต่ำ ทั้งนี้ ร้อยละ 70 ของคนยิวจะชอบซื้ออาหารจากซุปเปอร์มาร์เก็ต

ช่องทางการตลาด

ช่องทางการตลาดของอาหาร ร้อยละ 60 ของอาหารจะถูกส่งไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยซุปเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นผู้นำเข้าเอง หรือบางครั้งผ่านผู้นำเข้าหรือผู้ค้าส่ง อีกร้อยละ 20 จะส่งให้สถาบันต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึง The Israeli Defense Forces ซึ่งเป็สถาบันที่บริโภคอาหารมากที่สุดร้อยละ 16 เป็นร้านค้าเล็กๆ และร้อยละ 4 จะส่งไปตลาดสด

สินค้าไทยที่มีจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ที่ได้ใบรับรองโคเชอร์ ได้แก่ ซอสถั่วเหลือง น้ำจิ้มไก่ ซอสพริก ซีอิ๊วดำ น้ำมันรำข้าว น้ำปลา ซอสผัดไทย กะทิ ข้าวหอมมะลิ ถั่วเขียว เส้นก๋วยเตี๋ยว แป้งแผ่น ผักและผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่มีใบรับรองโคเชอร์จะมีตลาดใหญ่กว่า เพราะสามารถจำหน่ายให้กับโรงแรม โรงพยาบาลได้ด้วย นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่โคเชอร์ ซึ่งจะมีสินค้าไทยที่จำหน่ายได้มากกว่า เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปูแช่เย็น แช่แข็ง ซอสต่างๆ น้ำพริกแกง เป็นต้น อาหารไทยที่ได้รับความนิยมมากในอิสราเอล คือ ข้าวหอมมะลิ ผลไม้กระป๋อง น้ำจิ้มไก่ โดยเฉพาะน้ำจิ้มไก่ ทำให้ผู้ผลิตไทยออกแบรนด์ใหม่ๆ มาตัดราคากันเอง ผู้ส่งออกสามารถติดต่อแผนกนำเข้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ได้โดยตรง นอกจากซุปเปอร์มาร์เก็ต จะเป็นจำหน่วยในโกรเซอร์รี่ทั่วไปและร้านจำหน่ายอาหารเอเซีย

การนำเข้าอาหาร

อิสราเอลมีหน่วยงานชื่อ Food Control Service ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ควบคุมการผลิตอาหารในประเทศ การตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร และการขออนุญาตนำเข้าอาหารมาอิสราเอล โดยมีความรับผิดชอบตั้งแต่การปลูก การฆ่าสัตว์ การตรวจรับน้ำนมที่ฟาร์ม ตรวจไข่ไก่หลังจากคัดเกรด ปลาหลังจากจับ เป็นต้น ทั้งนี้ Food Control Service เป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตการนำเข้าอาหาร รวมทั้งการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และจะมีการเตือนผู้บริโภคให้ระวังการซื้ออาหารในแหล่งต่างๆ ด้วย นอกจากนั้น ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานอาหารภาคบังคับจากสถาบันมาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และแรงงาน

รัฐบาลอิสราเอลกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารและสุขภาพต้องจดทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนที่จะนำสินค้ามาจำหน่ายในอิสราเอล โดยทั่วไปการจดทะเบียนจะใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ และเอกสารที่ใช้ประกอบการตรวจ เช่น

1. ภาพตัวอย่างของแพคเกจอย่างที่ขายในต่างประเทศ

2. ผลของการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการสำหรับสินค้าที่มีมาตรฐานหรือตามกฎหมายอย่างเป็นทางการมีอยู่ต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานของอิสราเอล หากสินค้าดังกล่าวไม่มีการกำหนดมาตรฐาน ผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต้องสอดคล้องกับมาตรฐานทั่วๆไป จะต้องเป็นที่ผลิตให้สอดคล้องกับองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์รวมทั้งสารเคมีและการวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา ทั้งนี้ ผลการวิจัยของห้องปฏิบัติการโรงโปรเซสเซอร์ต้องอ้างถึงวันที่ผลิตสินค้านั้น และผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการจะต้องไม่เกินหกเดือนก่อนยื่นใบสมัคร

3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร: วิตามินเกลือแร่และสมุนไพร ส่วนในกรณีที่ชื่อผลิตภัณฑ์ที่ระบุชื่อวิตามินหรือแร่ธาตุเช่น วิตามิน A, วิตามิน C, แคลเซียม เป็นต้น สินค้าอาจจะนำเข้าผ่านหน่วยงานเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวิตามินเพิ่มและ/หรือแร่ธาตุในปริมาณที่ไม่เกินที่กำหนด สมุนไพรต้องเป็นรายชื่อสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับจาก Food Control Administration อิสราเอล

4. ใบรับรองจากโรงงานที่ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารตามมาตรฐานของประชาคมยุโรปหรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา

5. ฉลากอาหารต้องมีฉลากภาษาฮิบรู ผลิตภัณฑ์อาหารถึงอิสราเอลจะต้องมีข้อความภาษาฮิบรูกำกับด้วย ซึ่งฉลากก็ต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน และต้องมีข้อมูลโภชนาการที่บรรจุภัณฑ์ด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องนำผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้าใหม่ไปจดทะเบียนกับ The Food Inspection and Nutrition Services, Ministry of Health ซึ่งจะมี The New Food Committee พิจารณาการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี การขออนุญาตนำเข้าอาหารนั้น ผู้นำเข้าอิสราเอลจะเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการรับรองอาหารโคเชอร์ด้วย เพื่อความมั่นใจในสินค้าที่จะนำเข้าและเข้าใจในรายละเอียดได้ดีกว่า แต่กระนั้น ผู้ผลิตก็ต้องทราบเพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎระเบียบเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในการนำเข้า

แนวโน้มการตลาด

คนอิสราเอลมีความต้องการมากขึ้น ได่แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารออร์แกนนิค อาหารไขมัน เกลือ และน้ำตาลต่ำ อารหารที่มีเส้นใย เพิ่มวิตามิน อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ คนอิสราเอลยังมีการเพิ่มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ แนวโน้มตลาด ยังมีความต้องการสินค้า private labels มากขึ้น เพื่อต้องการลดราคาขายปลีกให้โดยที่ยังคงคุณภาพไว้ ดังนั้น อาหารไทยโดยทั่วไปจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผู้ส่งออกจึงควรจะเจาะตลาดเหล่านี้ ซึ่งอสราเอลมีร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนนิคและสุขภาพปอยู่ประมาณ 250 ร้านแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ ดังนี้
  • Food Control Service, Ministry of Health เกี่ยวกับเรื่องการขออนุญาตนำเข้าและเรื่องฉลาก Nutritional labeling เลขที่ 12-14 Ha’arba’a St., Tel Aviv 61203 Israel, Tel: 972-3-6270112 Fax: 972-3-6270126 Web site: http://www.health.gov.il/english/
  • Standards Institute of Israel ข้อมูลมาตรฐานอาหาร 42 Haim Levanon St. Tel Aviv 69977, Israel Tel: 972-3-6465154; Fax: 972-3-6419683; E-mail: vered@sii.org.il.
  • อัตราภาษีศุลกากร website : http://62.219.95.10/TaarifEnglish/TaarifList.aspx
  • ใบรับรองโคเชอร์ Chief Rabbinate of Israel, Head of Imports Division, Kashrut Department, Jerusalem, Tel: 972-2-624-3484
  • สถิตินำเข้า-ส่งออก www.cbs.gov.il

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

มิถุนายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ