ข้อมูลประกอบการประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สถานการณ์เศรษฐกิจการค้ากลุ่มประเทศนอร์ดิกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 14:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลประกอบการประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

สถานการณ์เศรษฐกิจการค้ากลุ่มประเทศนอร์ดิกส์

1. สถานการณ์เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์โดยรวมแล้วมิได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจยุโรปโดยตรง เนื่องจากเดนมาร์กและสวีเดน มิได้เข้าร่วมสกุลเงินยุโรป แต่ได้รับผลกระทบเนื่องจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ภายในประเทศสหภาพยุโรป จึงทำให้อัตราการเจริญเติบโตเป็นไปอย่างช้าๆ (Slow Growth) ในปี 2555 เศรษฐกิจเดนมาร์กยังมีความเปราะบาง คาดว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณร้อยละ 1 สวีเดนค่อนข้างคงที่ หรือศูนย์ เนื่องจากในปี 2554 มีอัตราความเจริญเติบโตสูงมากคือร้อยละ 4 สูงที่สุดในประเทศกลุ่มนอร์ดิกส์ ฟินแลนด์ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การเจริญเติบโตประมาณที่ร้อยละ 0.5 ส่วนนอร์เวย์เศรษฐกิจแข็งแรงจากการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การว่างงานลดลง คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3 และไอซ์แลนด์เติบโตอัตราร้อยละ 3.1

2. สถานการณ์การค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์

2.1 จากปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจการค้าของโลก ได้ย้ายศูนย์มาในเอเชีย ทำให้กลุ่มนักลงทุนในประเทศนอร์ดิกส์หันไปลงทุนในแถบเอเซียมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มยาและเภสัชกรรม กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น George Jensen, Royal Copenhagen, Pandora และ ECCO เป็นต้น

2.2 กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ 1 ใน 5 ของโลก ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในแถบนี้ เพื่อใช้เป็นหน่วยศึกษาวิจัย (R&D) ทั้งด้านออกแบบ (Design) เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม พลังงานทางเลือก หรือพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศแถบนี้ และกระจายแหล่งผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตถูก เช่น จีน เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย ยุโรปตะวันออก เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เดนมาร์กเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ (Nordic headquarter) เช่น Nestle และ Airbnb เป็นต้น

2.3 เนื่องจากกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ 3 ประเทศ เดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และอีก 2 ประเทศ คือนอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ต่างก็เป็นสมาชิกกลุ่ม EFTA ซึ่งใช้มาตรฐานกฎระเบียบเดียวกับสหภาพยุโรปผู้ส่งออกไทย อาจใช้กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ เป็นทางเลือกในการเข้าสู่ตลาดยุโรปเหนือและประเทศแถบทะเลบอลติก เนื่องจาก ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่ยอมรับสินค้าใหม่ๆ โดยง่าย นิยมสินค้าที่มีนวัตกรรม ดีไซน์ที่แปลกใหม่ รักษ์สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าที่อำนวยความสะดวกสำหรับสังคมสูงวัยหรือชะลอความแก่ ซึ่งใกล้เคียงกับไลฟ์สไตล์ของยุโรปทั่วไป และแม้ว่าภาษาที่ใช้โดยทั่วไปในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ประชากรส่วนใหญ่เข้าใจภาษาอังกฤษจนสามารถนับเป็นภาษาที่สองได้ ตลาดนอร์ดิกส์จึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในการทดลองตลาดสำหรับผู้ส่งออก

2.4 จากแนวโน้มผู้บริโภคกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย นิยมสินค้าเพื่อสุขภาพ ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม การซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น (1) และนิยมสินค้าอิเลคทรอนิกส์ที่ทันสมัย ผู้ส่งออกไทยจึงต้องเน้นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าวนี้ เช่น ในภาคการประกอบธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร จากแนวโน้มที่ผู้บริโภคนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกส์ ผู้ประกอบการจึงต้องใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สถานที่ประกอบการต้องมีมาตรฐานความสะอาดสูง เป็นระเบียบเรียบร้อย สินค้าที่สามารถตีตลาดในนอร์ดิกส์ได้ ควรมีจุดเด่นและมีความใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกกับสินค้า เช่น ISO 14000/14001 มีมาตรฐานคุณภาพได้รับการยอมรับ หรือเลือกใช้สัญลักษณ์หรือตรารับรองเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป (EU Organic Logo) หรือสัญลักษณ์เกษตรอินทรีย์ของนอร์ดิกส์ เป็นต้น

3. ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุน
3.1 การค้า

3.1.1 ตลาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยมีประชากรรวมเพียงแค่ 25 ล้านคน ยอดสั่งซื้อแต่ละครั้ง จึงอาจมีปริมาณไม่มากหรือต้องมีการรวมตู้ ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญผู้ซื้อนอร์ดิกส์มากนัก อีกทั้งมีการใช้เงินสกุลที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

3.1.2 การติดต่อค้าขายส่วนใหญ่จะนิยมค้าขายกับกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ และสหภาพยุโรปด้วยกันเอง ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60-70 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ นอกจากกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ด้วยกันเองแล้ว ก็มี เยอรมัน อังกฤษ จีน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันสินค้าไทยบางรายการยังคงมีราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าคู่แข่งอื่นจากกลุ่มประเทศเอเซีย เช่น จีน เวียดนาม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นในปัจจุบัน

3.1.4 ปัญหาการค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาภายใต้กรอบของสหภาพฯ เนื่องจากสหภาพยุโรปให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยได้ออกมาตรการด้าน Food Safety, Integrated Product Policy (IPP) และนโยบาย Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้างในสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักสด กุ้งและไก่ นอกจากนั้น สหภาพยุโรปยังได้ตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับสินค้าไทยและเรียกเก็บภาษี AD และ CVD กับสินค้าไทยด้วย ซึ่งสินค้าอาหารของไทยหลายรายการมีการตรวจพบเชื้อโรคและสารตกค้างปนเปื้อนเป็นระยะๆ

3.1.5 ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองเมื่อ 2 -3 ปีก่อน และต่อเนื่องมาถึงปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามเวลา หรือสม่ำเสมอ ส่งมอบไม่ได้ตามแผนงาน ทำให้ผู้นำเข้าบางรายมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศอื่น อีกทั้งปัญหาภาวะวิกฤติการเงินในยุโรป ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าบางรายการหยุดชะงักลง เช่น อัญมณีเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร อะไหล่ รถยนต์ ของขวัญของชำร่วย

3.1.6 ปัญหาการค้าระหว่างภาคเอกชนไทยและเดนมาร์กอื่นๆ ที่ควรระวัง เช่น ปัญหาผู้ส่งออกไทยไม่ส่งมอบสินค้าตรงเวลา ผู้นำเข้าเดนมาร์กไม่ชำระเงินค้าสินค้า เป็นต้น

3.2 การลงทุน

3.2.1 การลงทุนจากประเทศไทยในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์นั้นยังมีน้อยมาก ยังไม่มีนักธุรกิจรายใหญ่จากประเทศไทยเข้ามาลงทุนในแถบนี้โดยตรง ส่วนมากจะอยู่ในอุตสาหกรรมภัตตาคารไทย ร้านอาหารแบบ Takeaway ร้านนวดแผนโบราณและสปา นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดย่อมจากผู้อยู่อาศัยชาวไทยในกลุ่มประเทศเหล่านี้ เช่น ธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ของขวัญของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

4. จุดอ่อน
- จุดแข็งของกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์

จุดอ่อน :

  • ตลาดในแต่ละประเทศมีขนาดค่อนข้างเล็ก (เดนมาร์ก 5.53 ล้านคน สวีเดน 9.34 ล้านคน ฟินแลนด์ 5.35 ล้านคน นอร์เวย์ 4.86 ล้านคน และไอซ์แลนด์ 0.31 ล้านคน) ซึ่งรวมแล้วมีประชากรประมาณ 25 ล้านคนใน 5 ประเทศ
  • เป็นกลุ่มประเทศที่จัดเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก (นอร์เวย์ อันดับ 1 เดนมาร์ก อันดับ 2 สวีเดน อันดับ 3 ฟินแลนด์ อันดับ 7 และไอซ์แลนด์ อันดับ 12 ) ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงตามไปด้วย เช่น ค่าเช่าสถานที่ประกอบการธุรกิจ ค่าจ้างแรงงาน ภาษีนิติบุคคล ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ
  • นิยมทำการค้าระหว่างกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ หรือยุโรปด้วยกัน เนื่องจากความแตกต่าง เรื่องรสนิยม วัฒนธรรม ระยะทาง ระยะเวลา ภาษา เป็นต้น
  • นิยมสินค้าที่มีคุณภาพสูง มีความเข้มงวดในมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ต้องสามารถตรวจสอบ ย้อนกลับได้

จุดแข็ง :

ประชากรมีรายได้สูง นิยมจับจ่ายใช้สอย ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงอันดับต้นของโลก ทำให้มีอำนาจซื้อสูง และนิยมจับจ่ายใช้สอยมากกว่าการออม

ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานสินค้า ความปลอดภัยและห่วงใยสุขภาพ การตรวจสอบย้อนกลับ การค้าที่เป็นธรรม การรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าเรื่องราคา และนิยมทำการซื้อขายแบบยั่งยืน เมื่อซื้อจากผู้ส่งออกแล้วก็ไม่เปลี่ยนไปหาผู้ผลิตรายอื่นๆง่ายๆ

เป็นตลาดที่มีมาร์จิ้นสูง เนื่องจากเป็นตลาดสินค้าคุณภาพดี ทำให้สามารถนำกำไรจากตลาดนี้ไปถัวเฉลี่ยต้นทุนใน ตลาดที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งเป็นตลาดที่ยอมรับสินค้าใหม่ๆ ได้ง่าย เหมาะสำหรับการเป็นตลาดทดลองสินค้าที่มี ความคิดสร้างสรรค์ หรือมีนวัตกรรมใหม่

เป็นกลุ่มประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ เนื่องจากภูมิอากาศและภูมิประเทศไม่ค่อยอำนวย ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น น้ำมันและก๊าซ ปลา ป่าไม้ ตลอดจนมีนวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง เช่น ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ พลังงานทางเลือก มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบเป็นที่ยอมรับของโลก โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ฯลฯ สินค้าต่างๆ เน้นการออกแบบลักษณะ Scandinavian Design และ Minimalist ซึ่งมีรูปแบบเน้นความเรียบง่าย สะดวกสบาย ดูดีมีสไตล์เฉพาะ โดยเน้นด้านประโยชน์ใช้สอยซึ่งไทยสามารถนำพัฒนาสินค้า

มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมรัฐสวัสดิการ ประเทศมีความมั่งคงทางด้านการเมือง และเสถียรภาพที่ดีของรัฐบาล ทำให้การดำเนินงานตามแผนและนโยบายเป็นไปอย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง ระบบการค้านำเข้า ส่งออกมีความโปร่งใส การคอร์รัปชั่นต่ำที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก

ประชากรได้รับการศึกษาสูง สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานดี การคมนาคมสะดวกทั้งทางบก อากาศและทางน้ำ ทำให้การติดต่อซื้อขายสะดวก โดยเฉพาะนอร์เวย์ การซื้อขายออนไลน์โดยรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

5. โอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย

กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์นับเป็นตลาดสินค้าและบริการดั้งเดิมของไทยที่มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าที่ดีกันมายาวนาน และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการการค้ามาตลอด นอกจากนี้ ยังมีการลงทุน และเดินทางไปท่องเที่ยวในไทยอีกมาก ซึ่งไทยยังสามารถพัฒนาความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ได้อีกหลายสาขา เช่นอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม พลังงานสีเขียว (Green Energy & Green Technology) เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดเด่นของนอร์ดิกส์ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในกรีนแลนด์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งสินค้าเกษตรกรรมเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเดนมาร์ก รวมถึงการออกแบบดีไซน์ต่างๆ ไทยสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาพัฒนาระบบการผลิตให้ทันสมัย รักษ์สังคม และสิ่งแวดล้อม และเป็นระบบที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่ากลุ่มประเทศนอร์ดิกส์จะเป็นตลาดขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในยุโรป แต่กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ นับว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็ง แม้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจในยุโรปก็ได้รับผลกระทบไม่มาก อัตราการเจริญเติบโตรายได้ประชาชาติยังอยู่ในแดนบวก นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ที่ไทยสามารถนำไปช่วยพัฒนาประเทศ และเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจสำหรับไทย สามารถเป็นตลาดรองรับสินค้าในยามที่ตลาดอื่นมีปัญหา หรือเป็นแหล่งทดลองตลาดสำหรับสินค้าระดับ High end Products ของไทย

ไทยจึงควรให้ความสนใจในตลาดแห่งนี้ให้มากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารระดับสูง เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศรวมทั้งบริการสินค้าของไทย เนื่องจากการเยือนของผู้นำระดับสูงจะมีสื่อมวลชนท้องถิ่นเข้ามาเผยแพร่ข่าว นอกจากนี้ ควรสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง เช่น สินค้าที่มีเรื่องราวความเป็นมา สินค้าที่มีการค้าซื้อขายที่เป็นธรรม เป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบที่ดี ทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าสินค้า เป็นต้น ปัจจุบันมีสินค้าไทยที่เข้าตลาดนอร์ดิกส์ได้ด้วยแบรนด์ของตนเองมากมาย เช่น สินค้าอาหาร C.P สินค้าของใช้ในครัวเรือน Rice และ Propaganda สินค้าประเภทสปา THANN และ HARNN เป็นต้น อีกทั้ง กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์มีแนวโน้มเข้าไปทำการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น นักธุรกิจไทยสามารถเรียนรู้ความชำนาญต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการขยายการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในยุโรป และทั่วโลกได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

มิถุนายน 2555

(1)ในปี 2554 ตลาดนอร์เวย์เป็นประเทศที่มีการซื้อขายออนไลน์มากที่สุดในโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ