ข้อมูลประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 15:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

1. สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ
1.1 ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2554 โดย

  • อัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4 คาดการณ์ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดย ภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมง ขยายตัวร้อยละ 3.7 , ภาคการผลิต ขยายตัวร้อยละ 4.3 ภาคการค้าและบริการ ขยายตัวร้อยละ 21.6
          - การส่งออก มูลค่า         33.4     พันล้านเหรียญสหรัฐ    เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1
          - การนำเข้า  มูลค่า        33.6     พันล้านเหรียญสหรัฐ    เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4
          - ขาดดุลการค้ามูลค่า        176      ล้านเหรียญสหรัฐ      คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการส่งออก
  • อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 14.57
  • การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) (มกราคม-มีนาคม 55) มูลค่า 2.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มีโครงการใหม่ 120 โครงการ มูลค่า 2.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่ลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 2.098 พันล้านเหรียญศหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.6 รองลงมาได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (46.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) เกาหลี (25.8 ล้าเหรียยศหรัฐ) และอันดับ 4 คือ ไทย มูลค่า 25.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
1.2 สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ

นับแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เวียดนามปะสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.2.1 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 18.58

1.2.2 การขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

1.2.3 ความไม่มีเสถียรภาพของเงินสกุลท้องถิ่น (เงินเวียดนามด่ง)

เพื่อให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 6 ในปี 2555 และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลเวียดนามจึงได้ดำเนินมาตรการหลายมาตรการ อาทิเช่น การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด โดยธนาคารแห่งชาติได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทั้งในส่วนของการจำกัดการให้สินเชื่อ การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ปรับปรุงระบบธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่องโดยการควบรวมกิจการ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการสร้างเสถียรภาพของเงินสกุลท้องถิ่น

ผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเวียดนามในช่วง 4 เดือน (มกราคม —เมษายน 2555) พบว่า

1. ตลาดเงินตราต่างประเทศของเวียดนามส่อเค้าดีขึ้น ค่าของเงินสกุลเวียดนามด่งมีเสถียรภาพขึ้น โดยในช่วงต้นเดือนมกราคม 2555 อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 21,036 เวียดนามด่ง ในเดือนมีนาคม 2555 อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 20,800-20,850 เวียดนามด่ง ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการในอัตราคงที่ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 20,828 เวียดนามด่ง

2. ธนาคารแห่งชาติของเวียดนาม ได้ออกมาตรการควบคุมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ลงวันที่ 8 มีนาคม 2555 มีผลใช้บังคับวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ตามมาตรการดังกล่าว ธนาคารกลางจะยกเลิกสินเชื่อเงินตราต่างประเทศแก่ผู้ส่งออก สำหรับธุรกรรมที่ใช่เงินตราต่างประเทศภายในประเทศ กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์จะเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินสกุลเวียดนามด่งทันทีที่มีการถอน หรือสั่งจ่ายเงินในประเทศ และไม่อนุญาตให้กู้เงินตราต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าและบริการโดยไม่มีแผนการส่งออก เพื่อนำเงินตราต่างประเทศมาชำระเงินกู้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้เครดิตสำหรับเงินตราต่างประเทศถูกจำกัดให้แคบลง โดยจะอนุญาตให้ผู้สงออกกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการในต่างประเทศได้เท่านั้น

3. มาตรการจำกัดสินเชื่อมิได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังธุรกิจอื่นๆในประเทศด้วย ปัจจุบันมีธุรกิจปิดกิจการลง จำนวน 21,800 ราย (มกราคม-พฤษภาคม 2555) เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2554 (เป็นการแถลงข่าวจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ในวันที่ 15 มิถุนายน 2555) ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดสินเชื่อ ทำให้ไม่สามารถหาเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ในกิจการได้ ทั้งนี้ ธุรกิจประมาณร้อยละ 80 ในเวียดนามเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

4.ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ มีแนวโน้มว่าเวียดนามอาจจะสูญเสียส่วนแบ่งของการลงทุน FDI ให้กับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค โดยนักลงทุนรายใหญ่บางรายประกาศจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้ ในปี 2555 เวียดนามได้รับการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นในการลงทุน ว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับที่ 14 จากทั่วโลก ลดลงจากปี 2554 ที่เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 12

2.สถานการณ์การค้าและการลงทุนไทย/เป้าหมายการส่งออก
2.1 สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-เวียดนาม

2.1.1 จากตัวเลขสถิติฝ่ายไทย พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — เมษายน 2555 ไทยส่งออกมายังเวียดนาม มูลค่า 1,976.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.34 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 จากการสำรวจข้อมูลพบว่า มีปัจจัยหลัก 2 ประการที่ทำให้มูลค่าการส่งออกจากไทยมายังเวียดนามลดลง ได้แก่

(1) เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวในอัตราที่ต่ำ โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่มีอัตราการขยายตัว เพียงร้อยละ 4.1 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากเวียดนามได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ได้แก่ สหภาพยุโรป และอเมริกา ทำให้การส่งออกในตลาดดังกล่าวหดตัวลงในช่วงปลายปี 2554 ส่งผลให้มีสินค้าค้างสต๊อคจำนวนมาก และโดยที่เวียดนามนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งวัตถุดิบจากไทยมาผลิตเพื่อการส่งออก เมื่อการผลิตลดลง ปริมาณความต้องการวัตถุดิบก็ชะลอตัวลงด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นประกอบ อาทิเช่น ภาวะน้ำท่วมจากไทย ทำให้สินค้าบางรายการไม่มีส่งออก ตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทรถยนต์และส่วนประกอบ/รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ มีมูลค่าลดลงมาก

(2) จากมาตรการที่เข้มงวดในการจำกัดสินเชื่อทั้งในส่วนของเงินตราต่างประเทศ และสินเชื่อภายในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการขาดเงินทุนหมุนเวียน ผู้นำเข้าขาดเงินที่จะนำไปชำระค่าสินค้า การสั่งซื้อจึงลดลง

2.1.2 ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ในช่วงเดือนมกราคม — เมษายน 2555 มูลค่า 786.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.68

2.1.3 ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า มูลค่า 1,189.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในปี 2554 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับเวียดนาม มูลค่า 5,032.1 ล้านเหรียญสหรัฐ)

2.1.4 ไทยส่งออกไปยังเวียดนามมากเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มอาเซียน และอันดับ 9 ของการส่งออกของไทยไปทั่วโลก

2.1.5 ในปี 2554 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของเวียดนาม โดยเวียดนามนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 6 และส่งออกไปยังไทยเป็นลำดับที่ 13

2.2 สถานการณ์การลงทุน

ปี 2554 ไทยลงทุนในเวียดนามเป็นลำดับที่ 10 ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม และเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน มูลค่าการลงทุน 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาขาที่ลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร อาหารสัตว์ โรงแรม การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร การลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย ด่องไน บินห์เยือน บาเรีย-วุงเต่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ของไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ, นิคมอุตสาหกรรม Thai Hoa, สยามซีเมนต์กรุ๊ป (SCG) , CP Group , โรงงานกระดาษ, ปตท. โรงกลั่นน้ำมัน,ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ,บริษัทพฤกษาเรียลเอสเตท เป็นต้น

ปี 2555 (มกราคม —เมษายน) ไทยลงทุนในเวียดนามเป็นลำดับที่ 4 มูลค่า 25.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.3 เป้าหมายการส่งออก

ในช่วงต้นปี 2555 สคต.ฮานอย ร่วมกับ สคต.โฮจิมินห์ ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกขยายตัวร้อยละ 15 ทั้งนี้ จากสถิติการส่งออก ในปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 24.94 /ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 20.76 และเมื่อคำนวณจากสถิติปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 4,678.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 7,059.2 ล้านเหรียญสหรัฐ จะพบว่า ในช่วง 3 ปี การส่งออกของไทยมายังเวียดนาม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.89 เป็นเหตุให้ฐานการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับอาจกล่าวได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในช่วงถดถอย จึงกำหนดเป้าหมายการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

จากสถิติการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม — เมษายน 2555 พบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยมายังเวียดนาม ลดลงร้อยละ 11.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 แต่จากการสำรวจรายการสินค้าที่ไทยส่งออก มายังเวียดนาม จำนวน 80 รายการ จะพบว่า สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง เป็นสินค้าอุตสาหกรรม/กึ่งอุตสาหกรรม เกือบทั้งสิ้น ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 363.11 ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 102.3 ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 292.97 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 161.95 และอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.76 เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก แสดงว่า สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วงนี้ลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อ /การจำกัดสินเชื่อ ของรัฐบาลเวียดนาม ทำให้ผู้นำเข้าไม่มีเงินชำระค่าสินค้า จึงต้องชะลอการสั่งซื้อ

3. ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนที่ต้องการการผลักดันในระดับนโยบาย

ปัญาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่

3.1 นักธุรกิจต่างชาติไม่ได้รับสิทธิในการทำธุรกิจนำเข้า และค้าปลีก

3.2 มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง

3.3 ขาดข้อมูลข่าวสารด้านการค้าและการลงทุนที่ทันสมัย ข้อมูลเดียวกันแต่มาจากแต่ละแหล่งไม่ตรงกัน

3.4 ไม่มีมาตรฐานในการกำหนดราคากลางสินค้านำเข้าเพื่อคำนวณจัดเก็บภาษีศุลกากร

3.5 การดำเนินการด้านเอกสารใช้เวลานาน

3.6 ส่วนกลาง กับท้องถิ่น มีทั้งสอดรับนโยบาย และการตัดสินใจเอง

4. จุดอ่อน-จุดแข็งของประเทศเวียดนาม
4.1 จุดอ่อน
  • ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน (ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ)
  • สถาบันทางการตลาดยังไม่สมบูรณ์(เป็นระบบตลาดการค้าเสรีภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ)
  • ความไม่โปร่งใส
  • สภาพแวดล้อมทางธุรกิจยังอ่อนแอ
  • แรงงานขาดทักษะ
  • การใช้เงินทุนไม่มีประสิทธิภาพ
  • ภาวะการแข่งขันไม่สมบูรณ์ (ขึ้นกับการต่อรอง)
4.2 จุดแข็ง
  • ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
  • เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
  • แหล่งแรงงานขนาดใหญ่ (ปัจจุบันเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่)
  • เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางบกและทางทะเล
  • การส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ
  • ภาคเอกชนเข้มแข็ง
  • ตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
5. โอกาสการค้าการลงทุนของไทย
5.1 โอกาสทางการค้า
  • เป็นตลาดขนาดใหญ่ สามารถรองรับสินค้าและบริการจากไทย
  • มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
  • ชาวเวียดนามมีกำลังซื้อแฝงมาก จากเงินที่ได้รับโอนจากญาติที่อยู่ต่างประเทศ
  • สินค้าและบริการไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
  • ความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบกผ่านช่องทางการค้าตลอดพรมแดนไทย-กัมพูชา, ไทย-ลาว /ทางเรือ และทางอากาศ
  • ต้นทุนการขนส่งต่ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งไปยังภูมิภาคอื่น
  • การกีดกันสินค้ายังมีน้อย ทำให้มีโอกอาสในการขยายการส่งออก
  • กรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น GMS, ACMECS, BIMSTEC,ASEAN, AEC etc. ส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
5.2 โอกาสทางการลงทุน
  • แรงงานราคาถูก จำนวนมาก
  • แหล่งวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์/ทรัพยากรมีความหลากหลาย
  • มีเสถียรภาพทางการเมือง
  • นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ
  • อาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทำให้เกิดความได้เปรียบในด้านการคมนาคมและขนส่ง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

15 มิถุนายน 2555

บุษบา บุตรรัตน์ จัดทำ/รวบรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ