กฎระเบียบการเปิดบริษัทในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 15:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กฎระเบียบการเปิดบริษัทในเยอรมนี

ในยุคที่การค้าระหว่างประเทศก้าวไกลและการลงทุนข้ามชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการทั่วโลกอีกต่อไป ผู้ประกอบการไทยจึงมีโอกาสขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศหรือขยายธุรกิจร่วมกับบริษัท ต่างชาติมากขึ้น

ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนีประมาณ 55,000 บริษัท โดยเป็นบริษัทจากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปคิดเป็นอัตราร้อยละ 77 กลุ่มประเทศจากทวีปอเมริกาเหนือเป็นอัตราร้อยละ 8 และประเทศจากทวีปเอเชียเป็นอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้ การลงทุนจากประเทศในทวีปเอเชียได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต การเข้ามาลงทุนในประเทศเยอรมนีสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การก่อตั้งบริษัทใหม่ การเข้าซื้อโรงงานหรือบริษัทในเยอรมนี หรือการจ้างบริษัทในเยอรมนีผลิตสินค้า

กฏ ระเบียบ การเปิดบริษัทในประเทศเยอรมนี

โดยทั่วไปหากผู้ประกอบการชาวต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนเปิดบริษัทในประเทศเยอรมนีจะต้องดำเนินการดังนี้

1.1 จดทะเบียนตั้งบริษัทกับสำนักจดทะเบียน (Handelsregister) การจดทะเบียนตั้งบริษัทของชาวต่างชาติมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับชาวเยอรมัน โดยผู้จดทะเบียนสามารถเลือกรูปแบบของบริษัทได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  • Corporation โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกตั้งบริษัทได้ 3 แบบ คือ

1) GmbH - Limited Liability Company การจัดตั้ง GmbH จะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 25,000 ยูโร

2) Stock Corporation - Aktiengesellschaft (AG) การจัดตั้ง จะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 50,000 ยูโร

3) Partnership Limited by Shares - Kommanditgesellschaft auf Aktien (KGaA) การจัดตั้ง KGaA จะต้องมีเงินทุนอย่างน้อย 50,000 ยูโร

  • Partnerships โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกตั้งห้างหุ้นส่วนได้ 4 แบบ ได้แก่

1)Civil Law Partnership - GbR

2)General Commercial Partnership - oHG

3)Limited Partnership - KG

4)GmbH & Co. KG

  • Branch Offices หรือ สาขาตัวแทน ข้อมูลเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับการตั้งบริษัทในประเทศเยอรมนีhttp://www.gtai.de/GTAI/Navigation/EN/Invest/Investment-guide/establishing-acompany.html

1.2 บริษัทในประเทศเยอรมนีจะต้องจ่ายภาษีรายได้ต่างๆ ให้กับทางการเยอรมัน ได้แก่

  • Company Taxation โดยแบ่งเป็น Corporate Income Tax สำหรับบริษัทในรูปแบบ Corporation และ Personal Income Tax สำหรับ Partnership โดยอัตราภาษีจะแตกต่างกันไปในตามรัฐที่บริษัทตั้งอยู่ ผู้ประกอบการในประเทศเยอรมันเสียภาษี Company Tax โดยเฉลี่ยประมาณ 29.83%
  • Trade Tax หรือภาษีการค้ามีอัตราแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ (รายละเอียดเพิ่มเติม: http://www.gtai.de/GTAI/Navigation/EN/Invest/Investment-guide/The-taxsystem/Company-taxation/trade-tax.html)
  • Value-added Tax (VAT) ประเทศเยอรมนีมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 19%

1.3 เรื่องสำคัญอื่นๆ

  • การเปิดบัญชีธนาคาร - เพื่อความสะดวกในการบริหารธุรกิจ ผู้ประกอบการควรเปิดบัญชีธนาคารในประเทศเยอรมนี โดยการเปิดบัญชีผู้ประกอบการต้องยื่น Passport และหนังสือรับรองจากสำนักงานเขต (Citizen Registration Office - Brgeramt) พร้อมทั้งใบจดทะเบียนบริษัทกับทางธนาคาร
  • การโอนเงินลงทุน - ประเทศเยอรมนีไม่มีการจำกัดจำนวนการโอนเงินเข้า- ออก ยกเว้นการโอนเงินมากกว่า 12,500 ยูโร ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้ธนาคารกลางเยอรมัน (German Central Bank - Bundesbank) ทราบเพื่อเก็บเป็นสถิติ นอกจากนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีและบริษัทในเยอรมนีจะต้องแจ้งให้ธนาคารกลางทราบว่ามีบัญชีธนาคารในประเทศอื่นๆ เพื่อเก็บเป็นสถิติเช่นกัน
  • การเคลื่อนย้ายสินค้าและเครื่องจักร - การขนย้ายสินค้าและเครื่องจักรภายในประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียภาษีใดๆ แต่การนำเข้าสินค้าจากประเทศนอกสหภาพยุโรปนั้นจะต้องเสียภาษีตามระบบ TARIC-System (Integrated Tariff of the European Communities) ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบอัตราภาษีได้ที่เว็บไซด์ http://ec.europa.eu/taxation_customs/dds2/taric/taric_consultation.jsp?Lang=en
การเข้าซื้อบริษัท/โรงงานเพื่อเปิดฐานการผลิต

การซื้อบริษัท/โรงงานในประเทศเยอรมนีเพื่อเปิดฐานการผลิตนั้น นอกจากจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงแล้วยังมีค่าใช้จ่ายที่จะตามมาทั้งเรื่องค่าแรงงานและค่าใช้จ่ายที่อาจจะตกค้างจากเจ้าของบริษัทเดิม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องศึกษากฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแรงงานต่างๆ กฎระเบียบการสร้างสิ่งปลูกสร้าง และกฎระเบียบต่างๆของประเทศเยอรมนีให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา กฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับการซื้อบริษัท/โรงงานเพื่อตั้งฐานการผลิต ได้แก่

2.1 กฎหมาย Code of Commerce law (ง25) เจ้าของบริษัทคนใหม่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัทรวมถึงค่าจ้างแรงงาน และค่าใช้จ่ายที่ยังคงค้างอยู่ตั้งแต่ยังไม่ได้รับซื้อบริษัท

2.2 กฎหมาย German Civil Code (ง613a) ผู้เข้าซื้อบริษัทจะต้องจ้างงานพนักงานของบริษัททั้งหมดต่อไปตามสัญญาจ้างที่เจ้าของบริษัทคนก่อนเคยทำไว้

ทั้งนี้ การจ้างแรงงานในประเทศเยอรมนี ผู้จ้างจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับการประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสวัสดิการหลังการเกษียณอายุของลูกจ้างด้วย

การจ้างบริษัทเยอรมันผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย

การลงทุนโดยการเข้ามาตั้งบริษัทหรือซื้อบริษัทในประเทศเยอรมนีเป็นการลงทุนที่นอกจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากแล้วยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากอีกด้วย ปัจจุบันมีการลงทุนวิธีใหม่ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายในการก่อตั้งหรือซื้อบริษัท ได้แก่วิธีการจ้างบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนีเพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าในประเทศเยอรมนีและประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

นอกจากการจ้างบริษัทเยอรมันจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการก่อตั้งและซื้อบริษัทแล้วยังเป็นการเปิดทางการจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรปอีกด้วยเนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วสหภาพยุโรป นอกจากนี้สินค้าที่ผลิตในประเทศเยอรมันเพื่อกระจายการจำหน่ายในสหภาพยุโรปยังเป็นประหยัดค่าภาษีนำเข้าและส่งออก เนื่องจากการนำเข้า-ส่งออกสินค้าภายในประเทศสมาชิกนั้นได้รับการยกเว้นภาษี

การจ้างบริษัทเยอรมันผลิตสินค้ายังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการได้ กล่าวคือ ผู้ประกอบการสามารถเลือกส่งเฉพาะวัตถุดิบที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศเยอรมนีมาจากประเทศไทยเพื่อใช้ในการผลิต เช่น บริษัทผู้ผลิตเกี๊ยวซ่าจากประเทศเกาหลีได้จ้างบริษัทเยอรมันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราของบริษัทเกาหลี ในการผลิตบริษัทในสูตรเกี๊ยวซ่าตามแบบฉบับเกาหลีและนำเข้าเฉพาะแผ่นเกี๊ยวซ่าจากประเทศเกาหลี ส่วนเนื้อหมูบริษัทเลือกใช้เนื้อหมูในประเทศเยอรมนีเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้บริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกลงได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การจ้างบริษัทในประเทศเยอรมนีผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการยังสามารถคัดเลือกเฉพาะสินค้าที่ตรงตามรสนิยมของผู้บริโภคให้ประเทศเยอรมนีได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องผลิตสินค้าหลากหลายให้มากที่สุดเพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนเปิดหรือซื้อบริษัท การจ้างผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ ยังถือเป็นการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดเยอรมันก่อนการลงทุนที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่มากกว่าในอนาคตได้อีกด้วย

การจ้างบริษัทเยอรมันผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการถือเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายการผลิตไปยังต่างประเทศ (Internationalization) โดยเป็นวิธีที่ยุ่งยากน้อยที่สุด เพราะไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนมากสำหรับการก่อตั้งหรือการซื้อโรงงานในต่างประเทศ ทั้งยังสามารถเจาะตลาดของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ง่าย และประหยัดค่าต้นทุนการผลิตในเรื่องการขนส่งได้อีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

กรกฎาคม 2555


แท็ก เยอรมนี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ