สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่าง ไทย-เยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 16:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่าง ไทย-เยอรมนี

1. ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนและเป้าการส่งออก
1.1 อุปสรรคการค้า

ปัญหาเศรษฐกิจใน EU อุปสรรคด้านการค้าที่สำคัญที่สุดในประเทศเยอรมนีในขณะนี้คือปัญหาหนี้สินของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ที่มีผลทำให้อุปสงค์ในประเทศเยอรมนีขยายตัวช้าลง เนื่องจากผู้บริโภคชาวเยอรมนีต่างเกรงว่าประเทศเยอรมันจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษกิจเหมือนกับประเทศให้กลุ่มยูโรอื่นๆ เช่น ประเทศกรีก สเปน โปรตุเกส ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคชาวเยอรมันจึงจับจ่ายใช้สอยอย่างประหยัดเพื่อเตรียมตัวรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้

สิทธิ GSP การที่ประเทศไทยอาจจะถูกตัดสิทธิ GSP ในอีก 2 ปี ก็จะเป็นปัจจัยทำให้คู่แข่งทางการค้าของไทยที่ยังได้สิทธิพิเศษนี้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้ประเทศเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ในยุโรป ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทนประเทศไทย ทั้งนี้ หากไทยสามารถเจรจาขอทำ FTA กับ EU ได้ ก็จะช่วยลดภาระเรื่องภาษีที่อาจจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกลดลงได้

กฎระเบียบควบคุมคุณภาพสินค้า ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถแจรจา FTA กับ EU เป็นผลสำเร็จได้ แต่ถ้าหากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถผลิตและส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกฎระเบียบของ EU ก็จะไม่สามารถส่งออกสินค้ามายังยุโรปได้ ไทยจึงควรให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบต่างๆ แก่ผู้ส่งออกและสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษาหาความรู้เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ของ EU และความสำคัญของการตรวจสอบควบคุมสินค้าที่จะส่งออกให้มีคุณภาพอยู่เสมอ

1.2 อุปสรรคการลงทุนและนโนบายที่ควรผลักดัน

เงินทุน การลงทุนในประเทศเยอรมนีจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กมีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะขยายกิจการมายังประเทศเยอรมนีได้ ผู้ประกอบการจึงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศยังมีความเสี่ยงมากเนื่องจากตลาดผู้บริโภคในต่างประเทศแตกต่างจากในประเทศไทย หากรัฐสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเงินทุน เช่น การให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน ก็จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวเข้าสู่ตลาดสากลของภาคเอกชนได้

การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ การช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐฯเพียงด้านเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้การลงทุนในต่างประเทศประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากการทำธุรกิจในต่างประเทศนั้นมีความแตกต่างจากการทำธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งบริษัท การจ้างงานแรงงาน กฎระเบียบต่างๆ ไปจนถึงการทำการตลาดสำหรับลูกค้าชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมและรสนิยมที่แตกต่างจากคนไทย ผู้ประกอบการไทยที่ขยายการลงทุนในต่างประเทศจึงต้องการความช่วยเหลือจากรัฐฯในหลายๆ ด้าน หากไทยสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องการลงทุนในในต่างประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาทั้งด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย การตลาด ฯลฯ และช่วยภาคเอกชนแก้ปัญหาต่างๆ หลังจากการเริ่มลงทุนในต่างประเทศ ก็จะทำให้การลงทุนมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากขึ้น ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการขยายการลงทุนมายังต่างประเทศคือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้ก่อตั้ง JETRO (Japan External Trade Organization) Business Center ในประเทศต่างๆเพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจที่มาลงทุนในต่างประเทศ

2. จุดแข็ง-จุดอ่อนของประเทศเยอรมนี
2.1 จุดแข็ง

1)ประเทศเยอรมนีตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป นอกจากนี้ยังมีท่าเรือและสนามบินที่สำคัญของยุโรปตั้งอยู่ พร้อมทั้งมีระบบคมนาคมที่ดี

2)เยอรมนีเป็นประเทศเสรีที่อนุญาตให้ทำการค้าและการลงทุนในสาขาต่างๆได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆสำหรับชาวต่างชาติ

3)เยอรมนีมีระบบการร่วมมือวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่ดีที่สุดอันดับต้นๆของโลก

4)เยอรมนีเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป การลงทุนในประเทศเยอรมนีถือเป็นการลงทุนเพื่อเปิดตลาดในสหภาพยุโรปได้อีกทางหนึ่ง 2.2 จุดอ่อน

1)การลงทุนในสาขาต่างๆได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆสำหรับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆจะต้องถือปฏิบัติเช่นเดียวกันอย่างเคร่งครัดทั้งคนเยอรมันและชาวต่างชาติ แต่เนื่องจากระเบียบข้อบังคับต่างๆเหล่านี้เข้มงวดและรัดกุมมากและส่วนใหญ่จะใช้ภาษาเยอรมันเพื่อการสื่อต่างๆ จึงเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การค้าการลงทุนและการดำเนินการต่างๆไม่สะดวกเท่าที่ควร

2)ค่าจ้างแรงงานในประเทศเยอรมนีมีอัตราสูงเมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

3. โอกาสการค้าการลงทุนของไทย
3.1 การจ้างบริษัทในประเทศเยอรมนีผลิตสินค้า

การจ้างบริษัทในประเทศเยอรมนีผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศเยอรมนีและยุโรปสามารถทำได้ง่ายและใช้งบประมาณการลงทุนน้อยกว่าการขยายฐานการผลิตโดยการมาซื้อ/ตั้งโรงงานในประเทศเยอรมนี การจ้างบริษัทเยอรมันนอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการก่อตั้งและซื้อบริษัทแล้วยังเป็นการเปิดทางการจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรปอีกด้วย เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วสหภาพยุโรป นอกจากนี้สินค้าที่ผลิตในประเทศเยอรมันเพื่อกระจายการจำหน่ายในสหภาพยุโรปยังเป็นประหยัดค่าภาษีนำเข้าและส่งออก เนื่องจากการนำเข้า-ส่งออกสินค้าภายในประเทศสมาชิกนั้นได้รับการยกเว้นภาษี

นอกจากนี้ การจ้างบริษัทเยอรมันผลิตสินค้ายังสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการได้ กล่าวคือ ผู้ประกอบการสามารถเลือกส่งเฉพาะวัตถุดิบที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศเยอรมนีมาจากประเทศไทยเพื่อใช้ในการผลิต เช่น บริษัทผู้ผลิตเกี๊ยวซ่าจากประเทศเกาหลีได้จ้างบริษัทเยอรมันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราของบริษัทเกาหลี ในการผลิตบริษัทในสูตรเกี๊ยวซ่าตามแบบฉบับเกาหลีและนำเข้าเฉพาะแผ่นเกี๊ยวซ่าจากประเทศเกาหลี ส่วนเนื้อหมูบริษัทเลือกใช้เนื้อหมูในประเทศเยอรมนีเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้บริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกลงได้อีกด้วย

3.2 การเข้าร่วมลงทุนด้าน Research & Development ร่วมกับบริษัทในประเทศเยอรมนี

การร่วมลงทุนด้าน R&D ในประเทศเยอรมนีถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจและสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นมีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา การที่ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตและสามารถเข้าแข่งขันในตลาดสากลได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตและสามารถเข้าแข่งขันในตลาดสากลได้

ประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่มีระบบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยภาคการศึกษา ภาครัฐฯ และภาคเศรษฐกิจทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ ภาครัฐฯ และภาคเอกชนให้การสนับสนุนภาคการศึกษาทั้งด้านการเงินและด้านอื่นๆ เพื่อให้ภาคการศึกษาสามารถวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงภาคเอกชนเองก็ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าของตัวเองอยู่เสมอ การเข้ามาลงทุนกับประเทศด้าน R&D ร่วมกับบริษัทในประเทศเยอรมนีจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากระบบการวิจัยและพัฒนาในประเทศเยอรมนีได้

ทั้งนี้ การลงทุนด้าน R&D เป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูงแต่ก็ให้ผลตอบแทนในอนาคตที่คุ้มค่า และยังสามารถทำกำไรให้กับผู้ประกอบการในระยะยาวได้ ผู้ประกอบการจะสามารถลดค่าต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้มากเนื่องจากไม่จำเป็นต้องซื้อเทคโนโลยีหรือค่าสิทธิบัตรต่างๆ จากต่างประเทศเพื่อมาใช้ในการผลิตสินค้าอีกต่อไป

3.3 การลงทุนด้านพลังงานทางเลือก

ประเทศเยอรมนีจะเลิกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2020 การลงทุนด้านพลังงานทางเลือกในประเทศเยอรมนีจึงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมากในขณะนี้ เนื่องจากเยอรมนีจะต้องหาพลังงานทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการการใช้พลังงานในอนาคต พลังงานทางเลือกที่สำคัญที่น่าจะเข้ามาทดแทนพลังงานที่จะขาดหายไปหลังการเลิกใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อน

ปัจจุบันมีการวิจัยด้านการผลิตพลังงานทางเลือกใหม่ในประเทศไทย เช่น การวิจัยการใช้พลังงานความร้อนในการผลิตไฟฟ้า (Parabolic) โดยภาคเอกชนออสเตรเลียร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร หากไทยมีโอกาสพัฒนาเป็นฐานการผลิตเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถขยายการส่งออกได้ในอนาคต

3.4 การลงทุนด้านธุรกิจหลังการขายเพื่อสร้างตลาดส่งออกให้กับสินค้าไทย

สินค้าประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้อิเล็คโทรนิกส์ต่างๆ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย หากประเทศไทยมีการลงทุนด้านการบริการหลังการขายต่างๆ เช่น การซ่อมแซม การซ่อมแซมเครื่องจักร หรือการซ่อมแซมเครื่องใช้อิเล็คโทรนิกส์ต่างๆ ก็จะทำให้สามารถเพิ่มขนาดการส่งออกชิ้นส่วนของสินค้าดังกล่าวได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

กรกฎาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ