รายงานประเด็นด่วน : วิกฤตเศรษฐกิจสเปน ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 13, 2012 13:46 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานประเด็นด่วน : วิกฤตเศรษฐกิจสเปน

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เมื่อวันพุธที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายมาริอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีของสเปนประกาศมาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายรับครั้งใหญ่ อันประกอบด้วยการเพิ่มอัตราภาษีการค้า (VAT) จากร้อยละ ๑๘ เป็นร้อยละ ๒๑ สำหรับสินค้าทั่วไป และจากร้อยละ ๘ เป็นร้อยละ ๑๐ ในสินค้ากลุ่มอาหาร สุขภาพและการคมนาคม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ นอกจากนี้รัฐบาลสเปนยังจะปรับลดเงินเดือนและงดการจ่ายเงินโบนัสประจำปีของข้าราชการทั่วประเทศ ปรับลดเงินช่วยเหลือคนว่างงานเกินกว่า ๖ เดือน ปรับโครงสร้างงบประมาณองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และเร่งรัดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการรถไฟ การบินและการขนส่งทางเรือ

การประกาศมาตรการรัดเข็มขัดครั้งนี้นับเป็นการปรับลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ครั้งที่สองตั้งแต่พรรค Popular Party เข้าบริหารประเทศตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๔ โดยในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะตัดลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายภาครัฐให้ได้จำนวน ๖๕,๐๐๐ ล้านยูโรภายในสองปีครึ่ง เพื่อให้การขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือร้อยละ ๓ ของ GDP ภายในปี ๒๕๕๗ ตามที่สหภาพยุโรปได้เห็นชอบให้เลื่อนออกไปอีกหนึ่งปีจากในปี ๒๕๕๖

เศรษฐกิจของสเปนยังคงอยู่ในสภาพเปราะบาง ทั้งจากวิกฤตสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารซึ่งสเปนเพิ่งจะประกาศรับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินของยุโรปจำนวน ๖๒,๐๐๐ ล้าน ยูโร และจากปัญหาวิกฤตด้านหนี้สินจำนวนมโหฬารทั้งของภาครัฐและเอกชนส่งผลให้ธุรกิจล้มละลายและจำนวนคนว่างงานสูงถึง ๕.๖ ล้านคน หรือร้อยละ ๒๔.๔ ของจำนวนแรงงาน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ดังจะเห็นได้จากการจัดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศบ่อยครั้ง

มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสเปนได้รับผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจของสเปนอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง ๕ เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - พฤษภาคม) มูลค่าการส่งออกของไทยมายังสเปนลดลงร้อยละ ๓๔.๔ มีมูลค่า ๓๖๙.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมมูลค่าการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ ๕.๗ มีมูลค่า ๗๕.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งจากไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้นหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี ๒๕๕๔

สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคมได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน (+๓๘.๗) เครื่องใช้ไฟฟ้า (+๖๙.๕) รองเท้าและชิ้นส่วน (+๑๓๖) อัญมณีและเครื่องประดับในกลุ่มเครื่องเงิน (+๒๐.๘) และสินค้าในกลุ่มอาหาร ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง (+๕๕.๕) ข้าว (+๑๙.๑) และผลไม้กระป๋อง (+๑๙.๑) ขณะที่สินค้าที่ยังมีมูลค่าลดลงได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (-๙.๙) ยางพารา (-๘.๗) เครื่องนุ่งห่ม (-๗.๘)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ