ผลกระทบของวิกฤตการณ์ยูโรในเม็กซิโก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 13, 2012 13:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผลกระทบของวิกฤตการณ์ยูโรในเม็กซิโก

นายออร์กัสติน คาร์ติน Augustin Carstens ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเม็กซิโก ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเม็กซิโก โดยกล่าวถึงผลกระทบของสถานการณ์การเงินของสหภาพยุโรปว่า เศรษฐกิจของประเทศเม็กซิโกยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก และจะคงรักษาภาวะเศรษฐกิจที่ดีต่อไปได้ หากสถานการณ์การเงินของยุโรปไม่ถดถอยจนเกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์ 2 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศเม็กซิโก อันได้แก่

1. ภาวะหนี้ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีภาวะที่รุนแรงมากขึ้น จนสภาพคล่องทางการเงินของภูมิภาคยุโรปอยู่ในขั้นวิกฤต ปริมาณเงินทุนไหลเวียนจากยุโรปไปสู่ตลาดเกิดใหม่น้อยลง

2. สภาวะของยุโรปเกิดผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของเม็กซิโก

ปัจจัยที่ช่วยต้านทานวิกฤติการณ์การเงินของเงินยูโรสำหรับประเทศเม็กซิโก ได้แก่
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งความสามารถเบิกเครดิตฉุกเฉิน ที่มีกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศ

เป็นมูลค่ารวม 200 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

  • อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในอัตราร้อยละ 3
  • ดุลบัญชีระหว่างต่างประเทศที่มีสภาพสมดุล
  • โครงสร้างระบบการเงินที่มีความมั่นคง และได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี
  • สภาวะการผลิตในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2012 ของประเทศที่แสดงการขยายตัวที่ดี ถึงแม้ว่าจะแสดง

การชะลอตัวลงเล็กน้อยในตอนท้ายไตรมาสฯ

  • สภาวะการผลิตที่สอดคล้องกับสภาวะส่งออกที่ยังคงอยู่ในระดับปกติ
  • ภาคการธนาคารของประเทศเม็กซิโกมีเงินทุนเพียงพอ และสภาวะหนี้สินยังคงอยู่ในสภาวะที่มั่นคง

ผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้น อาจจะมาจากระบบการเงินไม่ใช่การส่งออก เนื่องจากธนาคาร

ของประเทศเม็กซิโกหลายแห่งมีความสัมพันธ์กับธนาคารในยุรป เช่น ธนาคาร BBVA Bancomer

ของประเทศเม็กซิโกและธนาคารSantander ของประเทศสเปน

ผลกระทบต่อการส่งออก

สภาความมั่งคงของระบบการเงิน (CESF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อประเมินสถานการณ์การเงินของเม็กซิโกอย่างสม่ำเสมอภายหลังวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงในปี 1997 และสำนักงานสถิติแห่งชาติของเม็กซิโก (INEGI) ได้รายงานว่า การส่งออกของเม็กซิโกไปยังสหภาพยุโรปในไตรมาสแรกปีนี้ มีสัดส่วนร้อยละ 6.7 โดยมีเพียงร้อยละ 2 ที่เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่มีปัญหาการเงินกลุ่ม PIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน) ในขณะที่การส่งออกโดยส่วนใหญ่ของเม็กซิโกเป็นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 77.2 นอกจากนี้แล้ว เม็กซิโกมีการส่งออกไปยังแหล่งอื่นๆ อันได้แก่ ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียน ร้อยละ 11.1 ประเทศในทวีปเอเชีย ร้อยละ 4.5 กลุ่มประเทศโอเชียเนีย ร้อยละ 0.3 ประเทศในทวีปแอฟริกา ร้อยละ 0.1 และกลุ่มประเทศอาหรับร้อยละ 0.1

การส่งออกของเม็กซิโกไปสหภาพยุโรปจึงเป็นสัดส่วนที่ไม่สำคัญมากนัก และการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับการไหลเวียนของแหล่งเงินทุนภายในประเทศ ล้วนปัจจัยที่ปกป้องเศรษฐกิจของเม็กซิโกจากสถานการณ์การเงินของยุโรป ในขณะนี้ และเป็นตัวชี้ไปในทางบวกสำหรับเศรษฐกิจของเม็กซิโก

สภา CESF ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของยุโรป แต่ก็เป็นส่วนที่จำกัดในส่วนผลกระทบที่อาจจะมีต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกโดยรวม และในกรณีย์ที่จะเกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงินในยุโรป ไม่มีข้อกังวลในผลกระทบต่อการส่งออกเม็กซิโกโดยตรง

ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

สำหรับผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวนั้น ก็ยังไม่ปรากฎผลกระทบในทางลบ เนื่องจากค่าเงินของเม็กซิโกที่อ่อนตัวกว่าค่าเงินยูโร เป็นปัจจัยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากยุโรป ยังคงพิจารณาการเดินทางมาท่องเที่ยวในเม็กซิโกได้อยู่ เม็กซิโกรับนักท่องเที่ยวจากยุโรปในสัดส่วนร้อยละ 15 ในขณะที่รับนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 60 จากลาตินอเมริการ้อยละ 15 และจากเอเชียร้อยละ 5 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจากยุโรปมักจะมีความนิยมท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งทะเลแคริเบียน หาดทรายในแหล่งชายหาด เช่น ที่ฝั่ง Riviera Maya และในกรุงเม็กซิโก

ผลกระทบต่อสภาวะการลงทุน

สภาวะวิกฤตการณ์ในยุโรป จะเป็นปัจจัยชักจูงให้นักธุรกิจยุโรป ย้ายถิ่นฐานมาที่เม็กซิโกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศสเปน ในปัจจุบันมีบริษัทจากสเปนที่ดำเนินการลงทุนในเม็กซิโกมีจำนวน ประมาณ 4,000 บริษัท

ร้อยละ 37 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเม็กซิโก มีแหล่งเงินทุนมาจากสหภาพยุโรป เยอรมันเป็นผู้ลงทุนสำคัญ และได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของยี่ห้อโฟคล์สวาเก็น

มูลค่าการลงทุนในปี 2011 มีมูลค่ารวม 19,439.8 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2010 เป็นการลงทุนในภาคการผลิตร้อยละ 44.1 ด้านธุรกิจการเงินและธุรกิจการประกันภัยร้อยละ 18 ภาคการค้าร้อยละ 9.5 ภาคการก่อสร้างร้อยละ 6.4 ภาคธุรกิจข้อมูลสารสนเทศและสื่อสาร ร้อยละ 5.7 และภาคอื่นๆ ร้อยละ 16.3

ส่วนแหล่งเงินทุนโดยตรงระหว่างประเทศในปี 2011 มีมาจากประเทศสหรัฐฯ ร้อยละ 55 จากประเทศสเปนร้อยละ 15 จากประเทศเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 6.7 จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ร้อยละ 6.3 จากประเทศแคนาดาร้อยละ 3.4 ประเทศญี่ปุ่นร้อยละ 3.4 และประเทศอื่นๆ ร้อยละ 10

กรกฎาคม 2012

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ