การบังคับใช้มาตรฐานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพิธีการทางศุลกากรในโครงการนำร่องของสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 17, 2012 15:27 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การบังคับใช้มาตรฐานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพิธีการทางศุลกากรในโครงการนำร่องของสหรัฐ

สหรัฐฯได้จัดทำโครงการ International Trade Data System (ITDS) ขึ้นในปี 2549 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือจาก 47 หน่วยงาน โดยมีกรมศุลกากรสหรัฐฯ (Custorm and Border Protection-CBP) และ กระทรวงการคลัง (Treasury Department) เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำระบบศุลกาการอิเล็คทรอนิกส์แบบจุดเดียว (Single Window) และพัฒนาระบบ Automated Commercial Environment (ACE) ให้กับ CBP เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องเอกสารทางศุลการกรสำหรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ

โครงการ ITDS ได้ริเริ่มการใช้ มาตรฐานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพิธีการทางศุลกากร (E-Commerce Standards at International Borders) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Supply chain และลดระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้าผ่านด่านศุลการกร โดยได้ดำเนินการโครงการนำร่องเมื่อปี 2554 ใน 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ของเล่น ไม้ตัดดอก และเนื้อสัตว์ โดยมีรายละเอียดการดำเนินการดังนี้

1. การจัดประเภทสินค้าให้เป็นภาษาอิเล็คทรอนิกส์สากล โดยการจัดทำรายละเอียดสินค้าประเภทต่างๆ ให้อยู่ในลักษณะข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสากล อาทิ Global Product Classification Codes (GPC) และ United Nation Standard Produts and Services Codes (UNSPSC) เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานทางศุลกากรดำเนินการตรวจสอบสินค้าได้เร็วขึ้น

2. การตรวจสอบสินค้าโดยใช้ Global Trade Items Numbers (GTINs) ซึ่งเป็นตัวเลขบาร์โค้ดที่บรรจุข้อมูลสินค้าได้แก่ เครื่องหมายการค้า ผู้ผลิต/ผู้ส่งออก และรุ่นของสินค้า โดย CBP จะพิจารณาจากประวัติการนำเข้าสินค้าตามหมายเลข GTINs ซึ่งหากเคยได้รับการตรวจสอบและอนุญาตให้นำเข้าแล้ว CBP จะไม่ทำการตรวจสอบสินค้าที่มีหมายเลข GTINs ดัลกล่าวซ้ำอีก ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบในสินค้าประเภทเดิมที่มีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

3. การใช้ประโยชน์จาก Industry-Standard Product Catalogues ซึ่งเป็นข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งจัดทำโดยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยมาตรฐาน Global Data Synchronization Network (GSDN) เพื่อบรรจุข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบทางศุลกากร

4. ผลการดำเนินโครงการนำร่อง พบว่า การตรวจสอบโดยใช้หมายเลข GPC และหมายเลข GTINs ร่วมกับ Industry-Standard Product Catalogues มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประมาณการว่าสามารถลดจำนวนการตรวจสอบสินค้าร้อยละ 80 เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเดิม (กลุ่มของเล่น) ลดเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบสินค้าร้อยละ 50(กลุ่มไม้ตัดดอก) และลดต้นทุนได้ 1.6 ล้านเหรียญฯใน 5 ปีแรก (กลุ่มเนื้อสัตว์)

5. CBP และหน่วยงานด้านศุลการกรที่เกี่ยวข้องจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวตามความสมัครใจ ในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม 2555 โดยจะพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าให้สามารถยื่นส่งข้อมูลสินค้าและหมายเลขประกอบสินค้าดังกล่าวเพื่อการตรวจสอบที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะใช้ระบบได้อย่างสมบูรณ์ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

6. รายละเอียดโครงการ ITS ทั้งหมด สามารถดูได้ที่ www.itds.gov

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

16 กรกฎาคม 2555

ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตันดีซี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ